“ผมจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท” นักมวยที่อาสาเป็นการ์ดครั้งแรก ถูกทำร้ายก่อนเผชิญ 6 ข้อหาชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

“ผมจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท”

นักมวยที่อาสาเป็นการ์ดครั้งแรก ถูกทำร้ายก่อนเผชิญ 6 ข้อหาชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

_____________________________________

“ตอนโดนกระทืบได้แต่ร้องด้วยความเจ็บ เจ้าหน้าที่เขาก็ตะโกนถามว่าร้องอะไรๆ เราก็คิดในใจไม่ร้องได้ไงเราโดนกระทืบ ผมจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท เราก็คิดว่ามันต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ”  

พัชรพล (สงวนนามสกุล) วัย 24 ปี ย้อนเล่าเหตุการณ์ขณะร่วมม็อบกลุ่ม ‘REDEM’ ประกาศจัดการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ค่ำคืนที่ 28 กุมภาพันธ์ คงเป็นวันธรรมดาสามัญของนักมวยคนหนึ่ง หากเขาไม่ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม ในตำแหน่งการ์ดอาสา หน้าที่ที่เขาไม่เคยทำ และหนำซ้ำไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันตัวแบบที่การ์ดคนหนึ่งจะพึงมี

คืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์  ยิมมวยแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ส่งพัชรพล มาฝึกซ้อมที่กรุงเทพมหานคร  เขาเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง ถึงเมืองกรุงช่วงเช้าวันที่ 28 ก่อนเข้าที่พักย่านสุขุมวิท จากนั้นไปยิมค่ายมวยต่างชาติที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เริ่มเทรนมวยถึงบ่ายสองโมง และตั้งใจซื้อตั๋วกลับมุกดาหารตอนสี่ทุ่มของคืนวันนั้น 

“เห็นว่าพอมีเวลาว่าง และผมสนใจม็อบอยู่แล้ว มีม็อบที่ไหนผมก็จะไปเกือบทุกที่” ชายหนุ่มบอกถึงความสนใจการเมือง จนอดไม่ได้ที่เข้ากรุงเทพฯ แล้วต้องมีส่วนร่วม

พัชรพลตัดสินใจเดินเท้าจากโรงแรม ไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิราว 4 กิโลเมตร ถึงที่นั่นราวบ่ายสามโมง จากนั้นติดต่อหาเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยคนที่เป็นการ์ดอาสาในที่ชุมนุมอยู่เสมอๆ ก่อนเพื่อนแนะนำให้รับหน้าที่การ์ดให้ทีมแพทย์อาสา

“เราอยากช่วยอยู่แล้ว เลยเดินตามเขาเข้าไปเลย แต่ตอนนั้นไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวอะไรสักอย่าง มีแค่กระเป๋าที่เตรียมจะกลับมุกดาหาร” 

แม้ทางที่ชุมนุมประกาศว่าใครไม่มีอุปกรณ์อะไรสามารถมาหยิบได้ แต่ด้วยความคิดว่าเอาไว้ให้คนอื่นใช้ดีกว่าและไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง เขาจึงไม่ได้หยิบอะไรติดตัวไปป้องกัน เพียงเริ่มเดินตามขบวน ประกบไปกับทีมแพทย์ คอยวิ่งเอายาดม หรือน้ำไปให้คนในที่ชุมนุม มือข้างหนึ่งถือน้ำ มืออีกข้างถือน้ำเกลือ

ก่อนพัชรพลจะสังเกตเห็นว่าเริ่มมีการดันกัน เมื่อเดินทางไปหน้ากรมทหารราบที่ 1 เขาเริ่มเห็นมีการยิงแก๊สน้ำตา และเจอชุดควบคุมฝูงชนถือโล่กระบองเข้ามา เขารู้สึกเริ่มแสบบริเวณดวงตาและใบหน้า จากการสัมผัสแก๊สน้ำตาครั้งแรก กระทั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีข้อตกลงว่าจะถอยคนละครึ่ง แต่เขาก็รู้สึกถึงการโกรธจากทั้งสองฝั่งโดยไม่รู้ว่าฝั่งไหนเป็นฝั่งไหน

ประมาณหนึ่งทุ่ม แถวทางด่วนดินแดง เจ้าหน้าที่เริ่มมีการใช้กระสุนยางยิงผู้ชุมนุม และมีการโยนข้าวของจากฝั่งผู้ชุมนุม

“ตอนกระสุนเริ่มมา เพื่อนแนะนำว่าถ้ามีกระเป๋าให้หันหลัง กันกระสุนยาง  เพื่อนถามว่าถ้ามีการจับกุมจะอยู่ต่อหรือจะหนี เราบอกว่าไม่หนีจะสู้” พัชรพลบอกไว้

ก่อนบรรยากาศตึงเครียดสุดขีด เริ่มมีการบอกมวลชนให้พากันถอย บางส่วนเริ่มทยอยกันกลับ พัชรพลในฐานะการ์ดอาสา ช่วยบอกทางที่สะดวกให้ประชาชนเดินทางกลับ พอเจ้าหน้าที่เริ่มยิงกระสุนยางถี่ขึ้น จึงจะเข้าไปหลบที่ปั๊มน้ำมันเชลล์ และพาผู้ชุมนุมเดินเข้าไปกันเรื่อยๆ 

“ตอนนั้นหันหลังครู่เดียว เริ่มไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่พุ่งเข้ามาชาร์จแล้ว แต่เราก็บอกมวลชนให้รีบไป แต่ไม่ต้องวิ่งเพราะมันจะเหยียบกัน ผมโดนพุ่งชนจากข้างหลัง มีคนอื่นล้มระเนระนาด ผมพยายามจะวิ่งไปทางปั๊ม แต่เจ้าหน้าที่จับผมได้แล้ว และเริ่มกระชากข้าวของผมเสียหาย เขาอาจจะเตะหรือผลักผมเพราะมันชุลมุนมาก จังหวะที่ผมนอนคว่ำลงไปจึงเห็นชัดว่าทั้งไม้กระบองและรองเท้าคอมแบท กระหน่ำตีมาที่ผม แล้วเขาใช้สายรัดพลาสติกมารัดมือผม และคุมตัวออกไปจากบริเวณปั๊ม”

พัชรพลเล่าด้วยน้ำเสียงคับแค้นใจอีกว่า “ระหว่างถูกคุมตัวไปขึ้นรถ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งวิ่งเอากระบองมาทุบที่ท้องผม ผมงงมากและจุกที่ท้องมาก เขาจะทุบผมทำไมอีก เพราะผมก็นิ่งแล้ว ยอมโดนจับแล้ว และไม่ได้ขัดขืนอะไรเลย”  

ส่วนสัมภาระของพัชรพลที่พกมาจากมุกดาหารก็หล่นตามทาง ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว และนวมมวย ตอนโดนกระทืบได้แต่ร้องด้วยความเจ็บ พัชรพลได้ยินเจ้าหน้าที่ตะโกนถามว่าร้องอะไรๆ เขาเพียงคิดในใจไม่ร้องได้ไงที่โดนกระทืบ ทั้งจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท เขาได้แต่ตะโกนร้องอยู่ในใจว่าต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าอย่าตุกติก หรือคิดหนี และพยายามบังไม่ให้สื่อถ่ายภาพ แต่ปรากฎว่ามีภาพถ่ายหลุดออกมาได้

“แต่ผมไม่มีแผลฟกช้ำ มีแต่แผลเสียดสี ร่องรอยตามนิ้วมือ เล็กๆ น้อยๆ ตอนที่ล้ม ส่วนแผลบนหน้าได้มาจากการต่อยมวย”

หลังนาทีบีบคั้นหัวใจ ตอนนั้นพัชรพลเข้าใจว่าโดนจับคนเดียว แต่พอเจ้าหน้าที่เอาตัวมา ก็เจอกับเพื่อนคนที่ชวนมาเป็นการ์ดโดนคุมตัวอยู่บนรถตำรวจเหมือนกัน

 “เราก็พยายามบอกเจ้าหน้าที่ในรถว่า ให้เขาแจ้งสิทธิ แจ้งข้อหาหน่อยได้ไหม เขาบอกว่าเดี๋ยวนายมาแจ้งให้ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้แจ้ง ส่วนเขาจะพาไปไหนตอนแรกเราคิดว่าไปสน.ใกล้ๆ พื้นที่ ตอนหลังถึงรู้ว่าขนไปที่ ตชด. ภาค 1”

หลังจากไปถึง บก.ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ในช่วงกลางดึก เจ้าหน้าที่เริ่มให้ฝากของ ทำประวัติบุคคล และยึดโทรศัพท์มือถือ ก่อนหน้านั้นบนรถที่คุมตัวมา พัชรพลพยายามใช้มือถือติดต่อญาติ เพื่อแจ้งญาติว่าโดนจับกุม รวมถึงโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าถูกจับแล้ว เพื่อให้ทุกคนรับรู้ความเป็นไป

แม้จะต้องรอกระบวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกินเวลานาน แต่สำหรับพัชรพลบรรยากาศที่ บก.ตชด.ภาค 1 กับบรรยากาศตอนเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม อารมณ์คนละเรื่องเลย 

“มีการเอาเตียง เอาผ้าห่มมาให้ มี ส.ส.พรรคก้าวไกล เอาของใช้ที่จำเป็นมาให้ ระหว่างสอบปากคำ จากนั้นเขาทำหนังสือแจ้งข้อหา โดยนั่งพิมพ์ตรงนั้นเลย แจ้ง 6 ข้อหา เราก็ให้การปฏิเสธ ที่ร้ายแรงที่สุดคือการทำร้ายเจ้าหน้าที่จนถึงแก่ชีวิต แล้วแม่ผมตอนนี้เป็นห่วงข้อหานี้มาก ทุกคนที่อยู่ในนั้นโดนข้อหาเดียวกันหมด”

พัชรพลย้อนเล่าอีกว่า ช่วงค่ำนั้นเป็นคืนอันยาวนานที่หลับๆ ตื่นๆ ลุกไปเซ็นเอกสารหลายรอบ กระทั่งข้ามวันมาที่วันที่ 1 มีนาคม 2564 มีการยื่นขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และต้องรอคำสั่งศาล ประมาณห้าโมงเย็นถึงมีคำสั่งว่าได้ประกันตัว ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวทั้งหมดไปปล่อยที่ สน.ดินแดง ในช่วงเย็นวันเดียวกัน 

“ผมไม่อาจทนกับสภาวะตรงนี้ได้จึงออกมา” เขาย้ำประโยคนี้บ่อยครั้งขณะพูดคุยกัน 

พัชรพลเล่าถึงชีวิตอีกด้านนอกจากการเป็นนักมวย เขาเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ที่ค่อนข้างเปิดโลกทางการเมือง ผ่านวิชาสื่อสารมวลชน หลากแขนงตั้งแต่งานข่าว ภาพยนตร์ แต่สิ่งที่เขาชอบที่สุดน่าจะเป็นการถ่ายภาพ  ตอนปีหนึ่งเคยไปทำสารคดี เหมืองทองคำที่วังสะพุง และทำหนังสั้นเกี่ยวกับการเมืองออกมาอยู่เสมอๆ 

กระทั่งเรียนจบมาทำงานฟรีแลนซ์ด้านตัดต่อภาพและอินโฟกราฟฟิก และใช้เวลาว่างซ้อมต่อยมวยสากลสมัครเล่นเพื่อแข่งขันรายการต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทดลองทำแล้วชื่นชอบ

ภาพตำรวจยิงกระสุนยาง โดยปฏิภัทร จันทร์ทอง

ตั้งแต่ปี 2563 เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด พัชรพลได้รับผลกระทบโดยตรงจากทั้งนโยบายรัฐและโรคระบาด อาจเพราะหลายงานผลิต ไม่อยากทำโปรดักส์ออกมาใหม่ ทุกฝ่ายต่างชะลอการใช้จ่าย ทำให้คนทำงานกราฟฟิกอิสระอย่างเขา งานหดหายหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งนำไปสู่การไม่มีรายได้ เขาพูดเสมอว่า การออกมาร่วมต่อสู้ ร่วมชุมนุมครั้งนี้ เพียงเพราะเชื่อว่าเรามีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ และพยายามทำให้คนอื่นตื่นตัวไปด้วยเท่าที่จะทำไหว

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา จัดโดยกลุ่ม REDEM ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมประชาชนรวม 23 ราย แบ่งเป็นประชาชน 19 ราย และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 4 ราย ก่อนแจ้ง 6 ข้อหาสำหรับ 22 ประชาชนที่ถูกจับกุมระหว่างสลายการชุมนุม และ 5 ข้อหาสำหรับประชาชนอีก 1 รายซึ่งถูกจับกุมที่สน.ดินแดง ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ด้านนักข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า ตำรวจอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ส่วนประชาชนอีก 18 ราย ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 35,000 บาท 


อ่านรายงานจากเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

เปิดข้อหาประชาชน-เยาวชนรวม 23 ราย กรณี #ม็อบ28กุมภา ก่อนศาลให้ประกันตัว

“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง

ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา

 

 

 

X