เปิดข้อหาประชาชน-เยาวชนรวม 23 ราย กรณี #ม็อบ28กุมภา ก่อนศาลให้ประกันตัว

ค่ำวานนี้ (28 ก.พ. 64) เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมประชาชนรวม 23 ราย แบ่งเป็นประชาชน 19 ราย และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 4 ราย ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา จัดโดยกลุ่ม REDEM ก่อนแจ้ง 6 ข้อหาสำหรับ 22 ประชาชนที่ถูกจับกุมระหว่างสลายการชุมนุม และ 5 ข้อหาสำหรับประชาชนอีก 1 รายซึ่งถูกจับกุมที่สน.ดินแดง 

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ด้านนักข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า ตำรวจอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ส่วนประชาชนอีก 18 ราย ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 35,000 บาท 

ขณะที่ศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้ประกันตัว 4 เยาวชน โดยให้ผู้ปกครองสายชล (นามสมมติ) วางเงินสดจำนวน 15,000 บาทเป็นหลักประกัน ส่วนเยาวชนอีก 3 คนนั้นศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้ผู้ปกครองเซ็นสัญญาประกันให้มารายงานตัวตามนัด หากผิดสัญญาจะปรับผู้ปกครองเป็นเงิน 5,000 บาท 

สรุปแล้วทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว และให้มารายงานตัวที่ศาลอาญาอีกครั้งวันที่ 19 เม.ย. 64 เวลา 08.00 น. สำหรับประชาชน 19 คน และที่ศาลเยาวชนและครอบครัวในวันที่ 20 เม.ย. 64 เวลา 08.30 น. สำหรับ 4 เยาวชน

 

สรุปลำดับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางครั้งแรก

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากกการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ของกลุ่ม RESTART DEMOCRACY หรือ REDEM ซึ่งนัดหมายเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ภายในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กฯ รักษาพระองค์ที่ 1 เพื่อเคลื่อนไหวถึง 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ 2. ไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมกับการเมือง 3. เรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า  

เวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปตาม ถ.ราชวิถี มุ่งหน้าแยกดินแดง ถ.ดินแดง ก่อนเลี้ยวเข้า ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อไปยังกองพันททหารราบที่ 1 (ราบ 1)

ราว 17.30 น. หัวขบวนของผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงแนวรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ขวางทางไปหน้าราบ 1 ผู้ชุมนุมบางคนขึ้นไปตัดลวดหนามบนตู้คอนเทนเนอร์ และต่อมาหลัง 17.54 น. เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนรถตู้คอนเทนเนอร์ที่วางหน้าราบ 1 ออก พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่เป็นจำนวนมาก 

เวลา 18.00 น. บริเวณหน้าปั๊มปตท. มวลชนเริ่มเอารั้วตั้งแนวขวางเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่กำลังเคลื่อนกำลังเข้ามา และเมื่อเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาในแนวรั้วที่มวลชนตั้งไว้ ผู้ชุมนุมเริ่มไม่พอใจ และขว้างปาขวดน้ำไปที่เจ้าหน้าที่ และเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนวิ่งแตกแถวและวิ่งเข้าหาผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมแจ้งว่ามีผู้ถูกทำร้ายและจับกุมไปอย่างน้อย 3 ราย

ประมาณ 18.20 น. รถฉีดน้ำแรงดันสูงเคลื่อนเข้ามาที่หน้าปั๊มปตท. และติดเครื่องปั๊มน้ำเตรียมฉีดน้ำ ส่วนผู้ชุมนุมตะโกน “เอารถน้ำออกไป” และจากนั้นรถน้ำค่อยๆ ถอยออกจากพื้นที่ในเวลา 18.40 น. พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่า  “ตำรวจมามือเปล่าทุกคนนะครับ ไม่มีอาวุธ ไม่มีอะไรนะครับ” 

18.45 น. จากการรายงานสดของวอยซ์ทีวี มีเสียงดังคล้ายระเบิดหน้าเดอะพาเลซเก่า และในเวลา 18.58 น. มีเสียงระเบิดดังขึ้นพร้อมควันสีขาว หน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก 

ต่อมาเวลา 19.50 น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งกรณี ไปป์ (นามสมมติ) ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนดึงตัวไปในแนวของเจ้าหน้าที่และถูกทำร้ายร่างกาย จากนั้นเขาถูกนำตัวไปที่สน.ดินแดง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปตรวจร่างกายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายขณะเข้าจับกุม แต่ยังไม่ได้รับแจ้งว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ไปป์หรือไม่ 

20.20 น. ขณะผู้ชุมนุมทยอยกลับ บริเวณหน้าปั๊มปตท. ตำรวจตั้งแถว รถฉีดน้ำเริ่มฉีดน้ำระยะสั้นๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ผู้ชุมนุมตะโกนต่อกันว่ามีแก๊สน้ำตา ขณะที่ฝั่งรพ.ทหารผ่านศึก เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตั้งแนวอีกครั้ง เตรียมเคลื่อนขบวน  

20.25 น. วอยซ์ทีวีรายงานหน้าปั๊มปตท. ว่า ได้กลิ่นคล้ายของไหม้ ผู้ชุมนุมประกาศขอให้ส่งน้ำเปล่าและน้ำเกลือไปด้านหน้า มีการตะโกน “ขี้ข้าเผด็จการ” หลังตู้คอนเทนเนอร์ พบกลุ่มคนนอกเครื่องแบบใส่หมวกนิรภัยสีขาวยืนอยู่จำนวนมาก จากโพสต์เฟซบุ๊กของวาสนา นาน่วม ยืนยันว่าบุคคลเหล่านี้เป็นทหารนอกเครื่องแบบ

20.28 น. บริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึก มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในเวลา 20.43 น. 

20.48 น. ประชาไทรายงานว่า ตร.ยิงกระสุนยางที่หน้าพหลโยธิน ซอย 2 โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ผู้ชุมนุมแตกหนีออกมา ผู้ชุมนุมนำกรวยและบังเกอร์นาวางขวางทาง 

20.52 น. หน้าพหลโยธิน ซอย 2 มีการยิงกระสุนยางและแก๊สต่อเนื่องหลายนัด ชุดควบคุมฝูงชนเดินเข้าหาผู้ชุมนุมซึ่งวิ่งหลบเข้าข้างทาง ตำรวจประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่

20.55 น. เสียงดังหยุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีกลิ่นดินระเบิดและกลิ่นแก๊ส และมีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1 ราย

21.21 น. ตำรวจมีการฉีดน้ำ ใช้กระสุนยาง และปาแก๊สน้ำตา พร้อมๆ กัน บริเวณด่านเก็บเงินขึ้นทางด่วน ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่นไปยังอีกฝั่งถนน

21.45 น. บริเวณหน้า ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี ผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมข้ามไปเอารถ แต่เมื่อผู้ชุมนุมข้ามไปกลับถูกตำรวจจับไป 1 คน สร้างความโกรธให้ผู้ชุมนุมตะโกนด่าตำรวจ

21.48 น. มีเสียงดังคล้ายปืนอีกหลายนัด

22.02 น. กำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนข้ามถนนเข้าไปในปั๊มเชลล์ข้าง ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี ไล่จับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 2 ราย พบ 1 ราย นอนกับพื้น 

22.20 น. วอยซ์ทีวีรายงานมีการห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าพื้นที่ ทำให้ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งยืนอยู่บริเวณปั๊มเชลล์ และยังมีรายงานกรณีผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยถูกเจ้าหน้าที่พยายามจับกุมตัว ขณะกำลังถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมรายอื่น ก่อนยืนยันว่าเป็นผู้สื่อข่าวด้วยการให้ดูปลอกแขน จึงได้รับการปล่อยตัว

เวลา 23.30 น. ประชาชนที่ไม่พอใจการสลายการชุมนุมหน้าราบ 1 รวมตัวกันหน้า สน.ดินแดง มีการขว้างปาสิ่งของ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิง และมีกลุ่มมวลชนอีกฝ่ายเดินทางมารวมตัวกัน

 

ตำรวจจับกุม 23 ประชาชน ขณะสลายการชุมนุม 

ขณะเดียวกันเวลา 22.50 น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ว่าถูกจับกุมอยู่ในรถคุมขัง ซึ่งจอดอยู่ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 และมีผู้ถูกจับกุมอยู่ในรถรวม 19 คน เป็นชายทั้งหมด โดยเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี  2คน ตำรวจยังไม่ได้แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด

จากคลิปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กแนวร่วมราษฎรศาลายาเพื่อประชาธิปไตย ทุกคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนรถ ถูกรัดข้อมือไว้ด้านหน้าหรือด้านหลัง ส่วนสายชลถูกยิงด้วยกระสุนยาง 3 นัด และถูกทำร้ายระหว่างการจับกุมด้วย

ภาพภายในรถผู้ต้องขังจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมราษฎรศาลายาเพื่อประชาธิปไตย

23.15 น. ผู้ถูกจับกุมได้รับการยืนยันจากตำรวจแล้วว่าจะควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 หรือ บก.ตชด. ภาค1 จังหวัดปทุมธานี ต่อมายืนยันว่ามีจำนวนผู้ถูกจับกุมรวม 22 ราย แบ่งเป็นประชาชน 18 ราย และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 4 ราย 

เมื่อเวลา 23.15 น. ผู้ถูกจับกุมบนรถแจ้งว่าเยาวชน 4 ราย ถูกควบคุมตัวแยกไปบนรถอีกคัน และในกลุ่มผู้ชุมนุม 18 ราย ก็ถูกแยกควบคุมตัวไปด้วยรถควบคุมผู้ต้องขังสองคัน

เวลาราว 00.30 น. รถควบคุมตัวเยาวชน 4 ราย เปลี่ยนจุดหมายไปที่ สน.สุทธิสาร ขณะที่อีกผู้ถูกจับกุม 18 ราย ถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 

 

เยาวชน 4 รายถูกแจ้ง  6 ข้อหา รวมทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน แม้มีเยาวชน 1 รายได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง

เยาวชนทั้งสี่คนที่ถูกจับกุม ได้แก่ สายชล (นามสมมติ) เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กรณีการสวมเสื้อครอปท็อปไปชุมนุม #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน ชุมนุมหน้าวัดแขก สีลม, พี (นามสมมติ) เยาวชน อายุ 15 ปี, ซี (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี และกาย (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี โดยมีทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเดินทางติดตามไปที่สน.สุทธิสาร 

ก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่นำตัวกลุ่มเยาวชนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจก่อน เนื่องจากทั้งสี่คนระบุว่าถูกตำรวจใช้ความรุนแรงในระหว่างการจับกุม และมี 1 ราย ยังมีอาการเจ็บหน้าอกรุนเเรง

จนเวลา 4.00 น. เยาวชนทั้งสี่ได้ถูกนำตัวกลับมาแจ้งข้อกล่าวหาที่สน.ดินแดง ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ โดยพนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 เวลาประมาณ 15.30 น. ผู้ต้องหากับพวกได้รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 600 – 700 คน และเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ แต่ผู้ชุมนุมพากันเดินลงถนนมุ่งหน้าไปยังถนนดินแดง มุ่งหน้าไปทางถนนวิภาวดี เพื่อไปที่บ้านพักของท่านนายกรัฐมนตรี 

แต่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนประมาณ 5 – 6 กองร้อย ตั้งแนว ขวางเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปยังบ้านของนายกรัฐมนตรีพร้อมนําตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามวางขวางเอาไว้ กลุ่มผู้ ชุมนุมได้ช่วยกันดัน ลากตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามออก เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ประกาศเครื่องขยายเสียงบอกให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและประกาศแจ้งให้ทราบว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย 

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมฟังกลับพยายามผลักดันแผงเหล็กออก เข้าประชิดแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนพร้อมขว้างปาขวดน้ํา อิฐตัวหนอน ระเบิดปิงปองและประทัดยักษ์ใส่ เจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งมีเพียงโล่บังป้องกัน ทําให้เจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับบาดเจ็บจํานวนหลายนาย บางนายได้รับบาดเจ็บจากอิฐตัว หนอนที่กลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปามาถูกบริเวณใบหน้าเป็นเหตุให้ฟันหักจํานวน 2 ซี่ และมีเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เสียชีวิต จํานวน 1 นาย ซึ่งสาเหตุการตายอยู่ระหว่างการชันสูตร 

เวลาต่อมา แกนนํากลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้าย แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนซึ่งผู้ต้องหากับพวกประมาณ 200 คน ไม่ยอมแยกย้ายกลับลงถนนและยืนขวางพร้อมทั้งขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนจึงได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมกับพวกได้จํานวน 4 คน ควบคุมตัวเพื่อส่งสถานีตํารวจนครบาลดินแดง 

แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้พากันไปยัง สน.ดินแดง เพื่อปิดล้อมเจ้าหน้าที่ตํารวจ จึงพาผู้ต้องหาไปที่ สน.สุทธิสาร เพื่อความปลอดภัย 

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาที่เหลือจํานวนหนึ่งได้พากันไปยัง สน.ดินแดง พร้อมทั้งขว้างปาสิ่งของ เผารถยนต์หลวง และทําลายรถชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจํานวนมาก ภายหลังเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงพากลับมายัง สน.ดินแดง เพื่อทําบันทึกจับกุมต่อไป 

ดังนั้น จึงแจ้งข้อหาแก่เยาวชนทั้งหมด 6 ข้อหา  ดังนี้ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  2.  พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. มาตรา 215 ตามประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง”  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. มาตรา 216 ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. มาตรา 140 ตามประมวลกฎหมายอาญา  ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. มาตรา 296 ตามประมวลกฎหมายอาญา  ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เยาวชนทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยมิชอบ และมีการทำร้ายร่างกายขณะจับกุม 

สายชลเล่าเหตุการณ์ให้กับนักข่าวประชาไทฟังว่า ระหว่างที่ตนกำลังช่วยผู้หญิงที่วิ่งหนีการจับกุมหลบเข้ามาในปั๊มเชลล์ มีกระสุนยางยิงเข้ามาถูกที่หลัง ทำให้เขาวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ไม่ทัน จนเขาถูกเจ้าหน้าที่เข้าตะครุบและกดตัวลงกับพื้น ก่อนเขาจะถูกกระทืบและกระบองฟาด จากนั้นจึงถูกล็อคแขนไว้ด้านหลัง และถูกเจ้าหน้าที่รุมกระทืบอีก 

ขณะที่เขาถูกทำร้าย เขาได้ยินเจ้าหน้าที่ถามว่า “มึงทำเพื่อนกูทำไม” ซ้ำๆ เขาถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย จนมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งเข้ามาบอกว่า “พอ ๆ กูให้มึงจับ ไม่ได้ให้มึงกระทืบ” เจ้าหน้าที่จึงหิ้วสายชลไปอีกที่หนึ่ง โดยขณะที่เขาถูกควบคุมตัว เขาถูกเคเบิลไทร์มัดมือไว้ด้วย 

ทั้งนี้ สายชลเผยอีกว่า เยาวชนอีก 3 คนที่ถูกจับกุมก็ถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกจับกุมเช่นเดียวกัน และมีเยาวชนอายุ 15 ปีคนหนึ่งมีอาการแน่นหน้าอก

>> สายน้ำ เยาวชน 16 ปี เล่าเหตุการณ์ถูก จนท.จับกุม-ยิงด้วยกระสุนยาง #28กุมภา

ต่อมา เวลา 06.00 น. หลังเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวน ทั้ง 4 ได้รับการปล่อยตัว โดยพนักงานสอบสวนนัดให้เยาวชนไปตรวจสอบการจับกุม ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวในเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกัน

เวลา 18.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว 4 เยาวชนที่ถูกจับกุม โดยให้ผู้ปกครองสายชล วางเงินสดจำนวน 15,000 บาท เป็นหลักประกัน ส่วนเยาวชนอีก 3 คนนั้น ศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้ผู้ปกครองเซ็นสัญญาประกันให้มารายงานตัวที่ศาลตามนัด หากผิดสัญญาจะปรับผู้ปกครอง เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท 

ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ศาลเยาวชนฯ นัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 20 เม.ย 64 เวลา 8.30 น.

 

ประชาชน 18 ราย ถูกจับกุมมาที่บก.ตชด. 1 ก่อนพนักงานส่งของอีก 1 รายถูกจับเพราะไปผ่านไปเซเว่น ใกล้สน.ดินแดง

ด้านประชาชนอีก 18 รายถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดเดินทางถึงที่บก.ตชด.ภาค 1 เวลา 00.30 น. โดยมีทนายความเดินทางติดตามไปถึงที่ในเวลาประมาณ 01.00 น. 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาประมาณ 01.40 น. เจ้าหน้าที่ได้มีการจับกุมชายอีก 1 คน ชื่อธีรยุทธ อุดทา ประกอบอาชีพส่งของ จากเหตุชุมนุมบริเวณสน.ดินแดง โดยถูกนำตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 เช่นกัน ทำให้รวมแล้วมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 23 ราย ชายคนดังกล่าวเปิดเผยว่า ตนเป็นเพียงพนักงานส่งของที่กำลังเดินทางกลับบ้านผ่านถนนประชาสงเคราะห์ หลังส่งของรอบสุดท้าย และจอดรถไว้ที่เซเว่นเพื่อดูเหตุการณ์และถ่ายคลิปวิดีโอไว้เท่านั้น ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด  

สรุปจำนวนผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 19 ราย ที่ถูกนำตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ได้แก่  (เปิดเผยชื่อสกุลตามความสมัครใจของผู้ถูกควบคุมตัว)

  1. พล (นามสมมติ) อาชีพค้าขาย 
  2. พร (นามสมมติ) อาชีพค้าขาย 
  3. ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อายุ 18 ปี
  4. พีรวุฒิ (สงวนนานนามสกุล) ประกอบธุรกิจส่วนตัว
  5. ฐาปนพงศ์ (สงวนนามสกุล) ประกอบอาชีพครีเอทีฟ
  6. วัฒน์ (นามสมมติ) อาชีพอิสระ
  7. พัช (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่ม We Volunteer 
  8. ซู (นามสมมติ) รับจ้างทั่วไป 
  9. ขวัญน้อม (สงวนนามสกุล) รับจ้างทั่วไป
  10. ใต้ (นามสมมติ) รับจ้างทั่วไป 
  11. บัญชา (สงวนนามสกุล) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า 
  12. พัด (นามสมมติ) นักศึกษา
  13. อรรถพล (สงวนนามสกุล) นักศึกษา
  14. บูรณ์ (นามสมมติ) ลูกจ้าง
  15. ปีใหม่ (นามสมมติ) อาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
  16. วีระชาติ เกตุแก้ว อาชีพก่อสร้าง 
  17. พรชัย โลหิตดี อาชีพรับจ้าง 
  18. ธนพล พันธุ์งาม นักศึกษาปริญญาโท 
  19. ธีรยุทธ อุดทา พนักงานส่งของ

ทั้งหมดได้ถูกตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เดินทางเข้ามาภายใน บก.ตชด.ภาค 1 โดยพบว่ามีผู้ชุมนุม 4 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บมาก จึงถูกส่งตัวออกไปตรวจที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก่อน

หลังเวลาผ่านมากว่า 4 ชั่วโมง เวลา 6.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มทำบันทึกจับกุมผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม และได้ทำหนังสือคัดค้านการควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถานที่ควบคุมตัวโดยมิชอบ จะกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหา ยื่นต่อพนักงานสอบสวนเอาไว้ด้วย 

ในบันทึกจับกุม พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ในลักษณะคล้ายกับกรณีของเยาวชน โดยพนักงานสอบสวนแจ้ง 6 ข้อกล่าวหากับ 18 ผู้ถูกจับจากพื้นที่ชุมนุมในลักษณะเดียวกับข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งกับเยาวชน และแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา แก่พนักงานส่งของในลักษณะเดียวกัย ยกเว้นไม่ได้มีการแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานต่อเขา

กระทั่งเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับและจัดทำบันทึกสอบปากคำเสร็จสิ้น ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ต่อมา พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวนักข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้าในชั้นสอบสวน ส่วนผู้ถูกจับกุมอีก 18 คนที่เหลือนั้น พนักงานสอบสวนสน.ดินแดง ได้นำตัวไปขออนุญาตศาลอาญาฝากขัง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างเรื่องการสอบพยานเพิ่มเติมอีก 10 ปาก รอผลตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออนุญาตฝากขังเป็นเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่จะร่วมกันชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองอีก ซึ่งอาจทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายเหมือนที่ผ่านมา

 

ศาลอนุญาตฝากขัง 12 วัน ก่อนให้ประกันในวงเงินคนละ 35,000 บาท

จนเวลา 16.30 น. ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง 18 ผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา 14 คน โดยใช้หลักทรัพย์จาก “กองทุนราษฎรประสงค์”  เป็นเงินคนละ 35,000 บาท  และอีก 4 คน ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลเป็นนายประกัน

ต่อมา ราว 19.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ทั้ง 18 คน โดยมีผู้ต้องหารายหนึ่ง ที่เคยมีประวัติการกระทำความผิด ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เพิ่มเป็น 70,000 บาท 

ศาลนัดรายงานตัวทั้งหมดอีกครั้งวันที่ 19 เม.ย. 64 เวลา 08.00 น. 

 

X