ในวันที่ 6 ธ.ค. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและนักการเมือง รวม 3 ราย ได้แก่ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563
มูลเหตุของคดีนี้ เนื่องจากมีการประกาศนัดหมายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 หรือ #ม็อบ19ตุลา ที่แยกเกษตรและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและฝากขังในคดีจากการชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก หลังในช่วงดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เวลา 4.00 น. และใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของประชาชน
ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 19 ต.ค. นั้น ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวน 19 คน ในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน ทำให้มีประชาชนไปรอรับ โดยรวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าประตูเรือนจำกลางคลองเปรม
แม้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น มีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมจำนวน 3 รายดังกล่าว และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 โดยมีชลธิชา เป็นจำเลยที่ 1, ธัชพงศ์ เป็นจำเลยที่ 2 และ น.พ.ทศพร เป็นจำเลยที่ 3 ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจร, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
.
ภาพรวมของการสืบพยาน: จำเลยต่อสู้ ไม่ใช่การชุมนุม เพียงไปรอรับผู้ต้องขัง
คดีนี้มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 16, 28-30 ก.ย. 2565 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 9 ปาก โดยทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก ประกอบด้วยตัวจำเลยทั้งสามเอง และพยานพยาบาลอาสาในคณะทำงานของนายแพทย์ทศพร
ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์นั้นมีการพยายามเน้นย้ำว่ากิจกรรมในวันดังกล่าว ฝ่าฝืนคำสั่งตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน ทั้งมีการเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุม และใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยโดยไม่ได้ขออนุญาต
ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสาม คือ กิจกรรมบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมมิใช่กิจกรรมการชุมนุม เพียงแต่เป็นการรอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 19 ต.ค. 2563 เท่านั้น อีกทั้งการรอรับผู้ต้องขังดังกล่าว ยังไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วย โดยทั้งสามไม่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนนั้น
จำเลยที่ 1 ไม่ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนในลักษณะให้เข้าร่วมชุมนุมที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม แต่เป็นเพียงการให้ไปรอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัว และจำเลยที่ 2 และ 3 ก็ไม่ได้กระทำการในลักษณะการปราศรัย แต่ได้ช่วยประกาศจัดการรวมตัวของประชาชน ไม่ให้ปิดกั้นทางเข้าออกของเรือนจำ และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19
ทั้งทางเรือนจำยังมีการปิดประตูหน้าเรือนจำ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปรอรับผู้ต้องขังเหมือนปกติได้ ต้องไปรวมตัวกันอยู่ที่หน้าประตูแทน ทำให้ประชาชนและผู้สื่อข่าวจำนวนมากลงไปอยู่บนถนนบางส่วน แต่ก็ยังมีช่องทางเดินรถที่ใช้ได้ ขณะที่โดยภาพรวม กิจกรรมทั้งหมดก็เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่มีเหตุรุนแรง
ในส่วนของจำเลยที่ 3 ยังต่อสู้ว่าตนเข้าไปในกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากทำหน้าที่เป็นทีมแพทย์อาสาที่ติดตามการชุมนุม และยังมีบทบาทในการติดตามสังเกตการณ์การชุมนุมในฐานะคณะทำงานของกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรด้วย
.
.
พยานโจทก์ปากที่ 1 ผู้กำกับการ สน.ประชาชื่น ผู้แจ้งความดำเนินคดี
พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ วงษ์หอมหวล เป็นผู้กำกับการ สน.ประชาชื่น ในขณะเกิดเหตุ เบิกความว่า ในวันที่ 19 ต.ค. 2563 ช่วงบ่าย ตนได้รับแจ้งทางเฟซบุ๊กว่า มีการประกาศแจ้งให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงได้ออกคำสั่งให้ฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและนำมารายงาน โดยได้ร่วมมือกับฝ่ายสืบสวนของตำรวจนครบาล 2
พยานยังเบิกความอีกว่า ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนที่ลงพื้นที่ว่า การประกาศแจ้งการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ใครจะเข้าร่วมก็ได้ และพื้นที่หน้าเรือนจำเป็นพื้นที่สาธารณะ ประชาชนสามารถสัญจรเข้าออกได้ ในขณะเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และขับไล่นายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมมาก่อน ตนจึงได้ประชุมในฝ่ายสืบสวนและเห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงแจ้งความดำเนินคดี
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ เบิกความตอบว่า การที่นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลาออกได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น
ในขณะเกิดเหตุ พยานได้มอบหมายให้ฝ่ายสืบสวนเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพแกนนำและผู้ที่ขึ้นทำการปราศรัย ตนได้รับทราบว่าจะมีการปล่อยตัวแกนนำที่ถูกคุมขังในช่วงค่ำของวันที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงอธิบายข้อมูลที่ได้รับแจ้งว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการพกพาอาวุธหรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการ
ในส่วนที่ว่าหากมีท้องที่ใดมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะไม่มีการใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะนั้น พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ เบิกความว่าตนไม่ทราบ และไม่แน่ใจว่าในวันเวลาที่เกิดเหตุได้มีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 6 หรือไม่
ทนายจำเลยที่ 1 ได้ชี้ว่า ภาพถ่ายในพยานเอกสารโจทก์ ปรากฏภาพจำเลยที่ 2 และ 3 แต่ไม่ปรากฏภาพของจำเลยที่ 1 ในรายงานการสืบสวนของพนักงานสอบสวน ต่อมาจึงปรากฏภาพของจำเลยที่ 1 เวลา 20.35 น. ในที่เกิดเหตุ แต่การชุมนุมนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น.
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน โดยกล่าวถึงรายงานของฝ่ายสืบสวน ที่ระบุมีการตั้งสมมติฐานทำนองว่า แกนนำจะขึ้นมาปราศรัยและปลุกระดมให้มวลชนชิงตัวผู้ต้องขัง บุกทำลายสถานที่ราชการ และปล้นอาวุธ พยานได้อธิบายว่า เป็นแค่แบบฟอร์มการวางแผนหลักๆ เท่านั้น แม้ภายหลังการชุมนุมจะไม่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ก็ถือว่ามีความวุ่นวายในบ้านเมืองเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามพยานทราบว่าประชาชนเองมีสิทธิชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ
ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งว่าจะมีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันในเวลา 16.00 น. ทนายจำเลยที่ 2 ได้ให้พยานดูรายงานการสืบสวนที่ปรากฏภาพของจำเลยที่ 2 ในสถานที่ชุมนุม เวลา 22.12 น. พยานจึงกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 มาพื้นที่การชุมนุมเวลาใด เนื่องจากไม่ได้มีการรายงานก่อนหน้าเวลาที่จำเลยที่ 2 ปรากฏ และฝ่ายสืบสวนไม่ได้มีการส่งภาพหรืออธิบายเพิ่มเติม
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน ได้ให้การอธิบายถึงรายงานการสืบสวนว่า เอกสารที่ได้มาเป็นเอกสารที่ตนได้รับรายงานและตนไม่ได้ตรวจสอบทั้งหมด เอกสารส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยภาพผู้ร่วมชุมนุมทั่วไปที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เอกสารนั้นไม่ได้มีการระบุว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อใด โดยตนไม่ได้เป็นคนจัดทำเอง แต่ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้จัดทำขึ้นหลังเกิดเหตุ
พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ ได้ตอบจำเลยที่ 3 ถึงการชุมนุมว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 19 ต.ค. 2563 ไม่ได้มีการจัดการชุมนุมหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และตนไม่ทราบก่อนเกิดเหตุว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้ง 19 คน ในพื้นที่การชุมนุมไม่ได้รับรายงานว่ามีการพกอาวุธ เนื่องจากไม่ได้ทำการตรวจค้น ไม่มีการทำลายทรัพย์สินราชการ และไม่มีบุคคลได้รับอันตรายจากการชุมนุม แต่มีการแจ้งว่ามีการกีดขวางการจราจร แต่ไม่อยู่ในบันทึกรายงานการสืบสวน พยานเสริมว่า การพูดคุยในที่สาธารณะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย หากไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง และตนไม่ได้มีการออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุม
อัยการถามติง พยานตอบคำถามเรื่องรายงานการสืบสวนว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำ แต่มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายสถานี ภาพของจำเลยที่ 1,2 และ 3 ได้ปรากฏในเอกสารที่ตนได้รับรายงานมา และได้กล่าวต่อว่า ถึงแม้จะไม่ได้มีสถานการณ์ตามที่ได้ตั้งสมมติฐานไว้ แต่ก็เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้น คือบุคคลทั่วไปไม่สามารถสัญจรไปมาได้ในบริเวณที่มีการชุมนุม
.
พยานโจทก์ปากที่ 2 ตำรวจคณะทำงานฝ่ายสืบสวนและผู้ลงพื้นที่ชุมนุม
พ.ต.ท.สมใจ เมฆหมอก รองผู้กำกับการสืบสวน สน.ประชาชื่น ในขณะนั้น เบิกความว่าตนได้ทราบว่าจะมีการรวมตัวกันชุมนุม จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้ลงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ตั้งแต่เริ่มแรกจนจบ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีทั้งการชู 3 นิ้ว กินลาบ เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกคุมขัง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในช่วงเวลาเกิดเหตุเวลา 16.00 น. พ.ต.ท.สมใจ ไม่เห็นแกนนำ แต่เห็นว่าผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียง เมื่อกิจกรรมกินลาบยุติลงในเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนยังไม่เดินทางกลับ และได้มีการรวมตัวกันหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. ตนได้รับรายงานว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกทั้งยังทราบว่าขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน ใช้เครื่องขยายเสียงและมีแกนนำขึ้นปราศรัย ตนได้รับแจ้งว่ารวมถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งรู้จักว่าชื่อ “ลูกเกด” จากการสืบสวนหาข่าว ตนไม่พบเห็นจำเลยที่ 2 และ 3 แต่ทราบว่ามาร่วมชุมนุมด้วย
พ.ต.ท.สมใจ ได้อธิบายลักษณะการชุมนุมว่า ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม ลงไปยังริมถนนฝั่งหน้าประตูเรือนจำกลางคลองเปรม จนถึงช่องทางการจราจรช่องแรก หากเดินบนทางเท้าจะไม่สะดวก เนื่องจากมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งรถยนต์ก็ไม่สามารถสัญจรผ่านช่องทางเดินรถช่องแรกได้ แต่ยังสัญจรบนช่องทางเดินรถอื่นได้ การจราจรยังปกติไม่ติดขัดอะไร จุดที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้าออกได้ ในขณะเกิดเหตุตนไม่ได้ยินเครื่องขยายเสียงเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เรือนจำ
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พ.ต.ท.สมใจ ได้อธิบายตอบว่า ตนได้ลงพื้นที่ในเวลา 16.00 น. เพื่อคุมทีมฝ่ายสืบสวน ตนได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงไปด้วย โดยได้บันทึกเหตุการณ์เป็นช่วงๆ หากพบแกนนำก็จะรายงานไป
พ.ต.ท.สมใจ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังทั้ง 19 คน ในเวลาประมาณ 20.00 น. และนอกเหนือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตนไม่ทราบว่ามีการนัดชุมนุมที่อื่นอีกหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบการชุมนุมที่แยกเกษตรด้วย
ในการจัดทำรายงาน คณะทำงานเป็นผู้จัดทำ แต่ พ.ต.ท.สมใจ จำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง ตนเพียงลงชื่อรับรองในฐานะผู้บังคับบัญชาและตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชา จึงไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กเป็นของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แนวทางการสืบสวนของคณะทำงานคือการลงพื้นที่ชุมนุมเพื่อหาข้อเท็จจริง
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน พ.ต.ท.สมใจ เบิกความว่า กิจกรรมชุมนุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 16.00 น. จนถึงเวลา 18.00 น. ภายหลังเลิกกิจกรรม ผู้ชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บางส่วนได้เคลื่อนตัวไปยังหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ตนได้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง เวลา 20.00 น. ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันหน้าประตูใหญ่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นทางเข้าออกทางเดียว เนื่องจากประตูเรือนจำพิเศษปิดอยู่ตามที่หมดเวลาราชการแล้ว
พ.ต.ท.สมใจ เสริมว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่งการให้ตนไปควบคุมดูแลการจราจร แต่เป็นพนักงานตำรวจท่านอื่นซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นใคร
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน พ.ต.ท.สมใจกล่าวตอบว่า ตนได้รับข้อมูลว่าจะมีการจัดกิจกรรมหน้าเรือนจำจากเพจเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 เพียงช่องทางเดียว ฝ่ายสืบสวนไม่ได้หาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีบุคคลอื่นทำการชักชวนด้วยหรือไม่ และจากรายงานการสืบสวนเป็นเพียงแค่การแคปภาพ ไม่ได้ระบุ URL จึงไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นคนโพสต์
ในช่วงเกิดเหตุ พ.ต.ท.สมใจ อยู่ในขอบเขตรั้วเรือนจำ เพื่อคอยประสานงานกับทางเรือนจำ จึงไม่แน่ใจว่าจราจรมีความหนาแน่นหรือไม่ เพราะปกติในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ รถยนต์สามารถเคลื่อนตัวได้ แต่ก็มีการจราจรหนาแน่นเป็นบางวัน
ปกติแล้วประตูเรือนจำเปิดเป็นปกติให้ประชาชนเข้าไปได้ แต่ในวันที่ 19 ต.ค. 2563 เรือนจำต้องปิดประตูไม่ให้ประชาชนเข้าไปเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้าไปวุ่นวายแ ละตนไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่าไปเพื่อรอรับกลุ่มผู้ต้องที่ถูกปล่อยตัว
ในช่วงเวลา 16.00 – 18.00 น. พ.ต.ท.สมใจ ระบุว่าไม่เห็นจำเลยที่ 2 และ 3 มาร่วมชุมนุม ในช่วงนี้ทนายจำเลยที่ 3 ถาม พ.ต.ท.สมใจ ว่าทราบหรือไม่ว่ามี ส.ส. มาร่วมชุมนุมด้วย พ.ต.ท.สมใจ ตอบว่า ตนไม่เห็นและจำไม่ได้ แต่ได้ลงชื่อในรายงานไปแล้ว โดยภาพรวมไม่มีความเสียหายและไม่มีอาวุธในการชุมนุม
.
พยานโจทก์ปากที่ 3 หนึ่งในคณะทำงานตำรวจฝ่ายสืบสวน ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าเรือนจำ
พ.ต.ต.ประจบ ศรีแสง ในขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสืบสวนประจำ สน.ประชาชื่น ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้ลงพื้นที่ดูความสงบเรียบร้อยหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเมื่อมีการชุมนุมต่อเนื่องที่เรือนจำกลางคลองเปรม พ.ต.ต.ประจบ ไม่ได้ลงพื้นที่ในบริเวณนั้น แต่อยู่ในเขตรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
จนเวลาประมาณ 21.00 น. ผู้ต้องขังทั้ง 19 คน ได้รับการปล่อยตัว โดยออกทางประตูใหญ่เรือนจำกลางคลองเปรม พ.ต.ต.ประจบ ได้เดินตามผู้ต้องขังชาย 16 คน เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ แม้ว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังแล้ว ก็ยังมีการชุมนุมต่อ ทำให้บุคคลทั่วไปและรถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านช่องทางที่มีผู้ชุมนุมอยู่ การจราจรติดขัดหนาแน่น โดยผู้ชุมนุมได้มีการให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวและใช้เครื่องขยายเสียง
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พ.ต.ต.ประจบ เบิกความตอบว่า พยานอยู่ในที่เกิดเหตุเวลา 15.00 – 18.00 น. ตลอด และได้เตรียมอุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพ หากพบแกนนำหรือบุคคลสำคัญก็ได้ถ่ายรูปไว้ และพยานก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้หาข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่ภาพที่มีการแคปหน้าจอมา และไม่ได้ระบุ URL นั้น ตนไม่ได้เป็นคนจัดทำ แต่เป็นภาพที่ส่งมาจากหลายกลุ่มฝ่ายสืบสวน
พ.ต.ต.ประจบ ยังกล่าวอีกว่า ในขณะเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจมาอำนวยความสะดวกจัดการการจราจร แต่ไม่ได้มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมยกเลิกหรือยุติการชุมนุม ตนไม่ทราบว่าในขณะเกิดเหตุ มีกลุ่มผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินของทางราชการหรือมีคนได้รับบาดเจ็บ แต่เห็นว่ามีการนำเอาสติกเกอร์ไปติดตามกำแพงเรือนจำและเสาไฟฟ้า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มสลายตัว ตนพบเห็นจำเลยทั้งสามคนอยู่ด้านนอกประตูเรือนจำกลางคลองเปรม
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน พ.ต.ต.ประจบ ตอบว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ชุมนุมบางส่วนก็ชวนกันไปที่แยกเกษตร แต่บางส่วนก็ยังอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยตนไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมมารอรับผู้ต้องขังหรือไม่ ตนได้ยินการใช้เครื่องขยายเสียงแต่ไม่เห็นว่าใครเป็นคนนำเครื่องขยายเสียงมาและใครเป็นคนใช้บ้าง
.
.
พยานโจทก์ปากที่ 4 ตำรวจผู้ดูแลการจราจรหน้าเรือนจำ
ร.ต.ต.พนม ปฏิบัติหน้าที่รองสารวัตรงานจราจรประจำ สน.ทุ่งสองห้อง เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปดูแลการจราจรหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. เห็นว่าเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณพื้นผิวการจราจรเลนซ้ายสุดบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จากนั้นเริ่มมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง
ร.ต.ต.พนมเบิกความอีกว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน หากมีผู้คนจำนวนมากลงมาบนถนนหรือช่องทางเดินรถหายไป 1 ช่องจะทำให้การจราจรหนาแน่นมากกว่าเดิม อัยการจึงให้พยานทำสัญลักษณ์บนแผนที่เพื่อชี้ตำแหน่งของผู้ชุมนุม ร.ต.ต.พนม ยังเสริมอีกว่า มีการใช้แบริเออร์พลาสติกและกรวยยางปิดการจราจร ทำให้ไม่สามารถเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนงามวงศ์วานได้ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรแน่นกว่าเดิม ในช่องทางที่ถูกปิดทำให้รถสัญจรผ่านไม่ได้ แม้ช่องทางบางส่วนที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจะยังสัญจรผ่านได้ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการขออนุญาตจาก สน.ทุ่งสองห้อง ในการใช้พื้นที่บนถนนและปิดช่องทางการจราจร
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน ร.ต.ต.พนม เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาทางวิทยุสื่อสาร ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และมีการถ่ายภาพจากมุมสูงรายงาน แต่ไม่ได้นำส่งพนักงานสอบสวน จากนั้นตนได้บอกกล่าวให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่แต่บนทางเท้า ห้ามลงมาบนพื้นผิวการจราจร โดยเป็นการบอกปากเปล่ากับผู้ชุมนุมบางคน ตนไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมกลุ่มใดที่ปิดถนน เนื่องจากมีทั้งกลุ่มหน้าเรือนจำ และกลุ่มที่อยู่บนถนนในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ร.ต.ต.พนม ไม่ได้แจ้งข้อหากีดขวางการจราจรแก่ผู้ชุมนุมระหว่างเกิดเหตุแต่อย่างใด
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน ถึงประสบการณ์การทำงานของ ร.ต.ต.พนม ว่า ตลอดการทำงานเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมลงถนนอย่างนี้หรือไม่ ร.ต.ต.พนม ตอบว่า เคย และพยานพบเหตุความวุ่นวายหรือการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมหรือไม่ ร.ต.ต.พนม เบิกความตอบว่า ไม่พบความวุ่นวายและไม่พบการใช้ความรุนแรง แต่ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมพกอาวุธติดตัวไว้หรือไม่
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน ร.ต.ต.พนม ยอมรับว่า เรือนจำกลางคลองเปรมเป็นสถานที่ราชการ ที่ปกติแล้วเปิดให้ประชาชนเข้าไปได้ โดยไม่มีการปิดกั้นและปกติเข้าไปได้ถึงหลังเวลาราชการ ซึ่งหากไม่มีการปิดประตู ผู้ชุมนุมก็สามารถเข้าไปรอรับผู้ต้องขังได้ ทนายจำเลยที่ 3 ถามต่อว่าการที่เรือนจำปิดประตูไม่ให้ประชาชนเข้าออกได้ ทำให้เกิดความแออัด เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องมารวมตัวกันหน้าบริเวณเรือนจำใช่หรือไม่ ร.ต.ต.พนม ตอบว่า ใช่ ต่อมาเมื่อมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง ร.ต.ต.พนม เห็นว่าผู้มารอรับต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับ
อัยการถามติง ว่าเหตุใดจึงไม่ทราบว่ามีการชุมนุมบริเวณแยกเกษตร ร.ต.ต.พนม เบิกความตอบอัยการว่า ที่ตนไม่ทราบเป็นเพราะไม่ใช่ท้องที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแล จากนั้นอัยการได้ถามต่อว่า บริเวณแยกเกษตรมีระยะห่างจากบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมประมาณกี่กิโลเมตร ซึ่ง ร.ต.ต.พนม เบิกความตอบว่า ประมาณหนึ่งกิโลเมตร
.
พยานโจทก์ปากที่ 5 ตำรวจคณะทำงานฝ่ายสืบสวน ผู้ทำหน้าที่หาข่าว
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ พ.ต.ต.ธนพงศ์ เป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.ประชาชื่น โดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ได้ส่งข้อมูลมายัง สน.ประชาชื่น ว่าผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนไปรวมตัวกันหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ผู้บังคับบัญชาจึงแบ่งหน้าที่ภายในสถานี โดยพยานมีหน้าที่ไปสืบสวนหาข่าว
จากนั้น พ.ต.ต.ธนพงศ์ ได้ลงพื้นที่เวลา 18.00 น. หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ได้พบเห็นผู้ชุมนุมเดินทางมาด้วยรถส่วนตัว รถประจำทาง และเดินเท้ามา จับใจความได้ว่าผู้ชุมนุมต้องการเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกคุมขัง ผ่านเครื่องขยายเสียงและโปสเตอร์ที่ปิดอยู่หน้าเรือนจำ ในขณะนั้น มีรถยนต์จอดอยู่บนช่องทางเดินรถที่หนึ่งบริเวณหน้าเรือนจำ บางส่วนของผู้ชุมนุมยืนอยู่บนทางเท้าและถนน ต่อมาอัยการพยายามให้พยานทำสัญลักษณ์บนแผนที่ในบริเวณที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่ ศาลจึงติงว่าหากลงเครื่องหมายเยอะเกินไปอาจจะทับซ้อนกับพยานคนก่อนหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้
พ.ต.ต.ธนพงศ์ ได้เบิกความต่ออีกว่า พบเห็นจำเลยที่ 1 กำลังคุยกับผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อมีการพูดคุยกันเสร็จแล้ว ได้หันมาคุยกับผู้ชุมนุมว่า ทางเรือนจำจะปล่อยตัวผู้ต้องขังทั้ง 19 คน ในเวลา 21.00 น. พยานจึงได้ทำการถ่ายภาพนิ่งของจำเลยที่ 1 ไว้ เมื่อผู้ต้องขังออกมา ได้ให้ผู้ต้องขังแต่ละคนใช้เครื่องขยายเสียงพูด
จนเวลา 22.15 น. พยานพบจำเลยที่ 3 หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ขณะใช้เครื่องขยายเสียงพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่ตนจำรายละเอียดสิ่งที่พูดไม่ได้ จำได้เพียงว่าเป็นการพูดปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมสู้ต่อไป จากนั้น 22.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับ
นอกจากนี้ พ.ต.ต.ธนพงศ์ ยังเบิกความว่า เรือนจำต้องปิดประตูเพราะมีผู้ชุมนุมออกันอยู่หน้าเรือนจำ ทำให้รถยนต์สัญจรผ่านไม่ได้ อีกทั้งยังมีประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาจอดดูการชุมนุม ทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นกว่าเดิม
อัยการถามต่อว่า พ.ต.ต.ธนพงศ์ ทราบชื่อจริงของจำเลยที่ 1 และ 3 ได้อย่างไร พยานจึงตอบว่าเห็นทางสื่อโซเชียล เนื่องจากบุคคลทั้งสองออกสื่อและขึ้นปราศรัยเป็นประจำ ทำให้ทราบถึงรูปพรรณของบุคคลทั้งสองคน
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน ประเด็นพยานทราบหรือไม่จะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง 19 คน ในวันเกิดเหตุ พ.ต.ต.ธนพงศ์ เบิกความตอบว่า ในตอนแรกตนไม่ทราบเนื่องจากในเฟซบุ๊กไม่ได้มีแจ้งว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง ตนมาทราบจากข่าวและจากการประชุมกับผู้บังคับบัญชา แต่ตนไม่ทราบว่าผู้ต้องขังออกมาในเวลาใด และไม่ได้เป็นคนจัดทำรายงานการสืบสวน
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน ถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น พ.ต.ต.ธนพงศ์ ได้อธิบายตอบว่า ในช่วงเวลานั้นตนได้เข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุมโดยอยู่บริเวณด้านนอกทางเข้าเรือนจำ ขณะนั้นไม่มีผู้จัดกิจกรรมบอกให้ประชาชนทำอะไร แม้มีการกีดขวางการจราจร แต่ก็มิได้มีการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนทั่วไปสัญจรไปมา หลังจากนั้น พ.ต.ต.ธนพงศ์ ได้เจอจำเลยที่ 1 ก่อนมีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง พ.ต.ต.ธนพงศ์ ไม่ได้ยินว่าคุยอะไรกันกับผู้บัญชาการเรือนจำ มารู้ตอนที่จำเลยที่ 1 ประกาศกับผู้ชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 3 มาพบในตอนหลัง แต่ตนจำเวลาไม่ได้ ในขณะนั้นยังไม่มีใครใช้เครื่องเสียง
พ.ต.ต.ธนพงศ์ เบิกความต่ออีกว่า ผู้ชุมนุมปิดหน้าประตูทางเข้าออกเรือนจำ ทำให้เจ้าหน้าที่ในเรือนจำไม่สามารถเข้าออกได้ จึงต้องทำการปิดประตูเนื่องจากผู้ชุมนุมอยู่ด้านหน้า แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้กระทำการที่เป็นการขัดขวางทางเข้าออกเรือนจำกลางคลองเปรมแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่ร้องขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทางให้
เมื่อผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยตัวขึ้นพูดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ขึ้นพูดต่อ โดยเป็นการพูดให้กำลังใจกับผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวและรวมไปถึงผู้ชุมนุมด้วย ในระหว่างการชุมนุม พ.ต.ต.ธนพงศ์ ไม่ทราบว่ามีการออกข้อกำหนดให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามอย่างใดหรือไม่
ทนายจำเลยที่ 3 ถามอีกว่า เหตุที่พยานจำจำเลยที่ 3 ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 ปราศรัยอยู่ที่ต่างๆ เป็นประจำ พยานได้ส่งรายงานการปราศรัยอื่นๆ แก่ผู้บังคับบัญชาหรือไม่ พ.ต.ต.ธนพงศ์ เบิกความตอบว่า ตนไม่ได้ส่ง เพราะจำได้จากสื่อโซเชียล แต่ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ที่ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ชุมนุมอยู่ด้วย
อัยการถามติง ถึงเหตุที่พยานเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขึ้นพูดปราศรัยคืออย่างไร พ.ต.ต.ธนพงศ์ ตอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้พูดปราศรัยต่อเนื่องกัน พอมีข่าวจากผู้บัญชาการเรือนจำทีหนึ่ง ก็จะประกาศทีหนึ่ง เป็นครั้งคราวไป
.
.
พยานโจทก์ปากที่ 6 ฝ่ายสืบสวนตำรวจนครบาล 2 ผู้รับหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม
ร.ต.อ.สรกฤช นาคสุทธิ์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 2 ในคดีนี้ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการหาข่าว จึงได้ลงพื้นที่ในเวลา 20.00 น. เศษ บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เห็นผู้ชุมนุมยืนกันอยู่บริเวณทางเท้าหน้าเรือนจำ และบนถนนเลนซ้ายสุดติดฝั่งเรือนจำก็มีรถยนต์จอดอยู่
ร.ต.อ.สรกฤช เบิกความต่อว่า ตนอยู่ถึงช่วงเวลา 23.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สงบลง เห็นผู้ชุมนุมประมาณหลักร้อยคนและจำเลยที่ 3 ได้ขึ้นพูดให้กำลังใจอยู่ด้านหน้าผู้ชุมนุม ตนจำจำเลยที่ 3 ได้ เพราะเห็นจากสื่อว่าปราศรัยอยู่หลายแห่ง และยังเห็นจำเลยที่ 2 ในช่วง 20.00 – 21.00 น. กำลังพูดผ่านเครื่องขยายเสียงกับผู้ชุมนุมในเชิงให้กำลังใจ ตนจึงถ่ายภาพแล้วรายงาน
ร.ต.อ.สรกฤช ยังเบิกความอีกว่า ผู้ชุมนุมมีการกีดขวางทางเข้าออกเรือนจำ ทำให้รถยนต์ที่ต้องเข้าออกทำได้ไม่สะดวกนัก ประชาชนที่เดินผ่านทางเท้าก็ลำบาก โดยพยานรับว่าจากการลงพื้นที่ไม่ได้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน ร.ต.อ.สรกฤช ได้อธิบายตอบว่า ตนไม่ทราบว่าโดยปกติแล้ว เรือนจำสามารถให้คนเข้าออกได้หรือไม่ แต่ในวันที่เกิดเหตุประตูเรือนจำปิด พร้อมมีการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมต้องยืนบริเวณทางเข้าออก และตนก็ไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำกลางคลองเปรมได้เข้ามาเจรจาขอทางเข้ากับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
ในส่วนของการปล่อยตัวผู้ต้องขังนั้น ตนไม่ทราบ เนื่องจากฝ่ายสืบสวนมีหลายหน่วยและมีการแบ่งหน้าที่กัน และไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 ต้องการมาให้กำลังใจผู้ถูกปล่อยตัวในวันที่เกิดเหตุ เพราะไม่รู้ถึงแรงจูงใจ
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน ว่าในช่วงเวลา 20.00 น. ได้พบเห็นจำเลยที่ 2 ในที่เกิดเหตุหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.สรกฤช เบิกความตอบว่าไม่เห็น แต่พบเห็นในช่วงเวลา 21.00 น. ที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังแล้ว ทนายจำเลยได้ถามถึงเรื่องคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวน ว่าเหตุใดพยานถึงไม่ให้การในเรื่องการจราจรหรือการสัญจรบนทางเท้า พยานตอบว่า เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้าน ถึงการชุมนุมและการปฏิบัติหน้าที่ของพยานในวันเกิดเหตุ ร.ต.อ.สรกฤช เบิกความว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากพยานไปลงพื้นที่เพื่อดูแค่ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในส่วนนี้เป็นการทำงานของตำรวจในรูปแบบการทำงานบูรณาการร่วมกัน
ในส่วนเนื้อหาของการปราศรัย ไม่ปรากฏข้อความต่อต้านรัฐบาล มีแต่การให้กำลังใจ และไม่มีการเชิญชวนให้ไปชุมนุมต่อในพื้นที่อื่น ทั้งไม่มีความเสียหาย หรือมีเหตุปะทะจากการชุมนุม
.
พยานโจทก์ปากที่ 7 และ 8: พนักงานสอบสวนเวร
พ.ต.ท.ธรรมภณ วงษ์จันทร์เพ็ญ และ ร.ต.อ.อาทิตย์ รุ่งอมรศิลป์ พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจเวรประจำ สน.ประชาชื่น และได้รับแจ้งความจาก พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ วงษ์หอมหวน ต่อการกระทำของจำเลยสามคนในคดีนี้ โดยพยานทั้งสองไม่ได้มีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.อาทิตย์ เบิกความอ้างว่า เมื่อได้ตรวจสอบยข้อความที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “วันนี้เราไปเยี่ยมเพื่อนที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมกันเถอะค่ะ” พยานเห็นว่าข้อความเช่นว่านี้เป็นลักษณะเป็นการเชิญชวนให้มีการชุมนุมหรือรวมกลุ่มกัน อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยใช้โทรโข่งสอบถามเกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน และประกาศเกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ประชาชนทราบด้วย
ในส่วนของจำเลยที่ 2 ร.ต.อ.อาทิตย์ ได้รับแจ้งว่าขึ้นกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุ ทั้งนี้พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 2 ปราศรัยในลักษณะใด หรือมีถ้อยคำในการปราศรัยอย่างไร สำหรับจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ตรวจสอบว่ามีถ้อยคำในการปราศรัยอย่างไร แต่พยานได้รับแจ้งว่ามีการพูดให้กำลังใจและปลุกเร้าผู้ชุมนุม
ทนายจำเลยที่ 3 ถามพยานว่า พยานได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าจำเลยที่ 3 มีสถานะทางการเมืองอย่างไร พยานตอบว่า พยานไม่ได้สอบสวนในประเด็นนี้ ทั้งไม่ได้สอบสวนว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุด้วยเหตุผลหรือสถานะใด ทั้งนี้ พยานทราบว่าสัญลักษณ์กากบาทที่ติดบริเวณปอกแขนคือสัญลักษณ์ทางการแพทย์ แต่ไม่ทราบว่าผู้สวมใส่จัดทำขึ้นมาเอง หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่
ทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า ร.ต.อ.อาทิตย์ ได้สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลที่มีสถานะทางการเมืองที่เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้สอบสวนในประเด็นนี้ แต่ทราบว่ามีบุคคลที่มีสถานะทางการเมือง บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลในสถานะอื่นเข้าไปในพื้นที่ด้วย ทนายจึงยกประเด็นขึ้นว่า บุคคลเช่นว่านั้นไม่ได้ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ในขณะที่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีสถานะในลักษณะเดียวกันกลับถูกดำเนินคดี
.
พยานโจทก์ปากที่ 9: พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน
ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สังข์แก้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดี เบิกความว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 2563 พยานปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีในลักษณะการชุมนุมเช่นนี้เป็นคดีแรก เมื่อรับการแจ้งความแล้ว พยานรวบรวมพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ พบว่า จำเลยทั้งสามมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2562 และจำเลยทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุจริง อีกทั้งตรวจสอบว่าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 ได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนจริง
ต่อมา พยานได้ออกหมายเรียกจำเลยแต่ละคน ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งสามให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พยานทำการสอบปากคำจำเลยทั้งสาม และพยานเพิ่มเติมอีก 2 ปาก ประกอบด้วยนักข่าว และพยาบาลอาสาในคณะทำงานของจำเลยที่ 3
การชุมนุมตามฟ้อง ผู้ชุมนุมมีลักษณะยืนบนทางเท้าหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของ สน.ประชาชื่น ในขณะที่บางส่วนยืนล้นบนถนนช่องทางเดินรถหน้าเรือนจำ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของ สน.ทุ่งสองห้อง
ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า พยานทราบว่าในวันเกิดเหตุมีเหตุการณ์อยู่ 2 เหตุการณ์หลักๆ คือ กิจกรรมกินลาบที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และกิจกรรมของกลุ่มที่ไปรอรับผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรม
การชุมนุมตามฟ้อง มีการรวมตัวกันสูงสุดประมาณ 300 คน แต่สถานที่เกิดเหตุนั้นเปิดโล่ง โดยปกติประตูเรือนจำจะเปิด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าออกบริเวณดังกล่าวได้ตลอดเวลา แต่ในวันเกิดเหตุเรือนจำมีการปิดประตูไว้ ทำให้ประชาชนต้องยืนรวมตัวกันอยู่ด้านหน้า ไม่สามารถเข้าไปภายในเรือนจำได้
นอกจากนี้ พยานรับว่าการชุมนุมตามฟ้องเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง หรือทรัพย์สินเสียหายแต่อย่างใด เพียงแต่มีผลกระทบทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัด ประชาชนสัญจรผ่านได้ลำบาก โดยสามารถสัญจรได้เพียงช่องทางเดินรถเดียวเท่านั้น ส่วนอีก 3 ช่องทางเดินรถที่เหลือไม่สามารถสัญจรผ่านได้เลย แต่ไม่พบว่าจำเลยทั้งสามกระทำการกีดขวางการจราจรแต่อย่างใด
พยานเบิกความอีกว่าจำเลยทั้งสามมีการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่ว่าจะเป็นโทรโข่งหรือไมโครโฟน แต่ไม่ปรากฏว่าทั้งสามได้กล่าวยุยง ส่งเสริม ยั่วยุ หรือปลุกระดม ให้ประชาชนก่อความเสียหาย ความไม่สงบ หรือกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยในพยานเอกสารที่นำส่ง ก็ไม่มีการถอดถ้อยคำการปราศรัยของจำเลยทั้งสาม
พยานรับว่าจำเลยที่ 3 ได้สวมปอกแขนที่มีสัญลักษณ์ทางการแพทย์ แต่ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุในฐานะแพทย์ เพื่อดูแลการชุมนุมหรือไม่ นอกจากนี้ พยานทราบว่ามีพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลความปลอดภัยและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในช่วงดังกล่าวด้วย แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 3 มีสถานะทางการเมืองเช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลข้างต้นหรือไม่
.
.
พยานจำเลยปากที่ 1: ชลธิชา ยันไปเรือนจำวันเกิดเหตุ เพื่อรอรับเพื่อนที่ได้รับการปล่อยตัว
ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 1 ขึ้นเบิกความว่าในวันที่ 19 ต.ค. 2563 เวลา 20.00 น. พยานทราบข่าวจากบัญชีทวิตเตอร์ว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน จึงเดินทางไปเรือนจำกลางคลองเปรม พร้อมกับเพื่อน เพื่อรอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัว โดยบางคนเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่พยานรู้จักเป็นการส่วนตัวด้วย
เมื่อถึงเรือนจำพบว่า ประตูเรือนจำปิด ทำให้พยานและประชาชน รวมถึงญาติผู้ต้องหา ไม่สามารถเข้าไปภายในเรือนจำได้ จึงต้องรอรับกันที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำ ส่งผลให้มีประชาชนบางส่วนยืนล้นไปบนถนน การจราจรมีการชะลอตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ หากเรือนจำไม่ปิดประตู ประชาชนคงสามารถเข้าไปรอรับผู้ต้องหาภายในเรือนจำได้ ไม่ต้องรอด้านนอกบริเวณหน้าประตูและล้นออกไปยังพื้นถนน รวมทั้งยานพาหนะของประชาชนและญาติก็คงสามารถเข้าไปจอดรอภายในเรือนจำได้ ไม่ต้องจอดริมถนนดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ชลธิชา เบิกความว่าตนเป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับประชาชน เพื่อแจ้งข่าวให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ต้องหา อีกทั้งพยานได้ช่วยจัดระเบียบประชาชนบริเวณด้านหน้าเรือนจำ เพื่อไม่ให้ประชาชนยืนกีดขวางประตู ในระยะแรกพยานพูดด้วยปากเปล่า แต่เนื่องจากมีคนจำนวนมาก ทำให้บางคนไม่ได้ยินถ้อยคำที่พยานสื่อสาร พยานจึงจำเป็นต้องใช้โทรโข่งในการสื่อสาร โดยโทรโข่งนั้น มีบุคคลไม่ทราบชื่อนำมาให้
ในช่วงเกิดเหตุ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดระดับลงแล้ว ทั้งไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ มีเพียงผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น อีกทั้ง ประชาชนที่ไปรอรับบริเวณดังกล่าวมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัยด้วย
ชลธิชา เบิกความว่าตนไม่ได้เข้าร่วมและไม่ได้เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมกิจกรรม “กินลาบ” ที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยพยานเข้าใจว่า กิจกรรมนั้นจบไปก่อนที่พยานจะไปถึงเรือนจำกลางคลองเปรมแล้ว โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ช่วงตอบคำถามอัยการโจทก์ถามค้าน ชลธิชา เบิกความว่า พยานถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาว่า ทำการจัดการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการให้ปากคำเพิ่มเติม ตนได้ยืนยันไว้ว่า หากเป็นการชุมนุมแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเข้าร่วมชุมนุมได้ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศก็ให้สิทธิในข้อนี้ไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นเพียงการยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพ และเจตนารมณ์เกี่ยวกับการชุมนุมในเชิงหลักการเท่านั้น ในขณะที่ความจริงแล้ว พยานไม่ได้เข้าร่วมหรือจัดการชุมนุมแต่อย่างใด เพียงไปรอรับเพื่อนเท่านั้น
.
พยานจำเลยปากที่ 2: ธัชพงศ์ชี้ไปรับผู้ต้องหาซึ่งรู้จักกันที่หน้าเรือนจำ ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา
ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ จำเลยที่ 2 ในคดี ขึ้นเบิกความว่า ในวันที่ 19 ต.ค. 2563 ช่วงเวลาประมาณ 18.00-19.00 น. ตนได้รับข่าวสื่อออนไลน์ ยืนยันว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ที่เรือนจำกลางคลองเปรม โดยพยานรู้จักผู้ต้องหาบางคนเป็นการส่วนตัวด้วย จึงเดินทางไปรับ พร้อมกับญาติผู้ต้องหาบางส่วน
เมื่อพยานไปถึง พบว่าประตูเรือนจำปิด ทำให้พยานและญาติไม่สามารถเข้าไปรอรับผู้ต้องหาในจุดรอรับได้ จึงต้องนั่งรอกันบริเวณด้านหน้าเรือนจำ พร้อมกับประชาชนและนักข่าวที่ไปติดตามเหตุการณ์ พยานเคยไปรอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำดังกล่าวมาก่อน ทำให้ทราบว่าโดยปกติประตูเรือนจำจะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าออกได้ แม้ในช่วงค่ำ
ต่อมา มีประชาชนทยอยมารับผู้ต้องหาทั้ง 19 คนจำนวนมาก ตำรวจจึงขอร้องให้พยานแจ้งต่อประชาชนในบริเวณดังกล่าวไม่ให้ยืนขวางทางรถเข้าออกเรือนจำ พยานจึงตะโกนบอกประชาชนด้วยปากเปล่า พร้อมทั้งช่วยจัดแจงพื้นที่ไม่ให้ประชาชนยืนขวางประตูเรือนจำตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอให้ช่วย
ในเวลาประมาณ 21.00 น. พยานได้รับแจ้งจาก เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเข้าไปอยู่ภายในเรือนจำ ยืนยันเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน โดยแจ้งต่อพยานผ่านช่องว่างระหว่างประตู พยานจึงได้ตะโกนบอกประชาชนด้วยปากเปล่าว่าจะมีการปล่อยตัวแล้ว
ในเวลาต่อมา บุคคลไม่ทราบชื่อนำเครื่องขยายเสียงยื่นให้กับพยาน พยานจึงพูดผ่านเครื่องขยายเสียงในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหา และจัดแจงพื้นที่ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้รถของเรือนจำสามารถผ่านเข้าออกได้ โดยที่บริเวณช่องทางเดินรถหน้าเรือนจำ ยานพาหนะยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ปกติ
เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 19 คนออกมาจากเรือนจำแล้ว พยานจึงพูดจัดแจงให้ผู้ต้องหาขึ้นพูดทีละคน เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวและญาติของผู้ต้องหาทะเลาะกัน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการเข้าหาผู้ต้องหาทั้ง 19 คนก่อน หลังจากนั้น พยานได้พูดให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 19 คน รวมถึงให้กำลังใจประชาชนที่มารอรับด้วย ก่อนแยกย้ายกันกลับในเวลาประมาณ 22.00 น.
ช่วงตอบคำถามอัยการโจทก์ถามค้าน ธัชพงศ์ เบิกความว่า กิจกรรมเช่นนี้ไม่ใช่การชุมนุม จึงไม่ได้แจ้งขออนุญาตชุมนุม และที่พยานอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญในคำให้การว่า “หากเป็นการชุมนุมจริง ก็เป็นสิทธิที่พึงจะกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ” นั้นก็เป็นเพียงคำให้การในเชิงหลักการเท่านั้น
อัยการโจทก์ถามพยานว่า ได้มีการแจ้งหรือขออนุญาตว่าจะจัดการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้แจ้ง เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแจ้ง เพราะพยานเพียงแค่มารอรับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งรู้จักกันเป็นการส่วนตัวเท่านั้น
.
พยานจำเลยปากที่ 3: หมอทศพร เข้าไปในที่เกิดเหตุในฐานะแพทย์อาสา และสมาชิกคณะทำงานของ กมธ. ของสภา
ทศพร เสรีรักษ์ จำเลยที่ 3 ในคดี ขึ้นเบิกความว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์การชุมนุมและความรุนแรงเกิดขึ้น คณะกรรมาธิการการปกครอง ของสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามการชุมนุม โดยมีคุณสมคิด เชื้อคง สมาชิก ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานคณะทำงาน ด้วยความที่พยานเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและเป็นแพทย์ด้วย จึงเข้าร่วมคณะทำงานนี้ นอกจากนี้ พยานยังได้ตั้งกลุ่มแพทย์พยาบาลเพื่อมวลชนขึ้น โดยทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนทั้งในสถานการณ์การชุมนุมและสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งหน่วยแพทย์พยาบาลเช่นว่านี้จะมีสัญลักษณ์รูปกากบาทติดไว้บริเวณปอกแขนหรือบริเวณอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากล แสดงถึงการเป็นบุคลากรทางการแพทย์
ในวันที่ 19 ต.ค. 2563 ช่วงเย็น มีการชุมนุมที่บริเวณแยกเกษตร พยานและคณะแพทย์พยาบาลได้ตั้งเต็นท์ดูแลประชาชนในบริเวณดังกล่าว หลังจากจบการชุมนุม พยานทราบข่าวว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ที่เรือนจำกลางคลองเปรม และคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนมารอรับผู้ต้องหา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อต้องการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย พยานและคณะทำงานจึงเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพยานนำสเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดให้กับประชาชนบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย
ต่อมา เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 19 คนได้รับการปล่อยตัว และออกมายังบริเวณหน้าเรือนจำ ญาติผู้ต้องหาได้ให้พยานกล่าวให้กำลังใจผู้ต้องหา รวมถึงประชาชนที่มารอรับ เนื่องจากพยานนั้นเป็นแพทย์และเป็นที่เคารพของประชาชน พยานจึงขึ้นกล่าวให้กำลังใจสั้นๆ พร้อมถือโอกาสพูดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย
ในช่วงเวลา 16.00-18.00 น. บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พยานทราบว่ามีกิจกรรมกินลาบ แต่กิจกรรมดังกล่าวจบไปก่อนที่พยานจะไปถึงที่เกิดเหตุ โดยพยานไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกินลาบ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่แพทย์อาสาที่บริเวณแยกเกษตร
หมอทศพรยังเบิกความถึง สภาพการจราจรบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมว่า มีสภาพเดินทางรถได้ปกติ โดยพยานนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปยังที่เกิดเหตุ ก็สามารถเข้าไปได้ เพียงแต่ช่องเดินรถด้านซ้ายสุดติดกับเรือนจำนั้น มีการจราจรติดขัดบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีกรวยยางวางขวางอยู่เป็นบางจุด ส่วนจำนวนประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวขณะนั้นก็มีไม่มากแล้ว ทั้งสถานการณ์เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยดี โดยประชาชนเพียงแค่ไปรอรับผู้ต้องหาทั้ง 19 คนเท่านั้น ไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด
.
พยานจำเลยปากที่ 4: พยาบาลอาสา ชี้หน่วยแพทย์มีสัญลักษณ์รูปกากบาท เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่เลือกฝักใฝ่ฝ่ายใด
พยาบาลอาสาในคณะทำงานของจำเลยที่ 3 ผู้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 19 ต.ค. 2563 ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้ายว่า ในวันเกิดเหตุพยานในฐานะพยาบาลอาสาของคณะทำงาน ได้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่บริเวณแยกเกษตรต่อเนื่องไปจนจบการชุมนุม เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลังจากจบการชุมนุมบริเวณแยกเกษตร พยานทราบข่าวว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ที่เรือนจำกลางคลองเปรม พยาน, จำเลยที่ 3 และคณะทำงาน จึงเดินทางไปยังเรือนจำ เพื่อดูแลสถานการณ์
โดยคณะทำงานจะมีเต็นท์และป้ายอักษรย่อ พมช. ติดไว้ เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่ยังบริเวณที่ชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้ง บุคลากรในหน่วยแพทย์พยาบาลนี้จะมีสัญลักษณ์ของสภากาชาด กล่าวคือ มีสัญลักษณ์กากบาท ติดอยู่บริเวณเสื้อด้านนอกหรือปอกแขน พร้อมอักษรย่อ พมช. ซึ่งเป็นอักษรย่อของคณะทำงาน
.