ตร.ส่งสำนวนคดี “นิว-หมอทศพร” ชุมนุมแยกเกษตรฯให้อัยการ กล่าวหาทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พร้อมกัน

4 ม.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เดินเข้ารายงานตัวตามนัดของพนักงานสอบสวนสน.บางเขน ในคดีที่ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เหตุจากการร่วมชุมนุมใน #ม็อบ19ตุลา บริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหรับคดีนี้ ทั้งสองคนได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.บางเขน ไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 63 โดยมี พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รองผู้กำกับสืบสวนสน.บางเขน เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี เป็นพนักงานสอบสวนในคดี

พฤติการณ์ที่ทั้งสองคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนระบุว่าเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 เวลา 13.25 น. นายสิรวิชญ์ได้ใช้เฟซบุ๊ก “Sirawith Seritiwat” โพสต์ข้อความและภาพเพื่อเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้มารวมตัวกันที่ BTS วัดพระศรีมหาธาตุ ในเวลา 15.00 น. จนกระทั่งต่อมาเวลาประมาณ 15.04 น. นายสิรวิชญ์ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปที่ BTS มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เวลา 16.20 น. เริ่มมีกลุ่มมวลชนได้เดินทางมาร่วมชุมนุม โดยมีการนำแท่งเบริเออร์มาปิดการจราจรทั้ง 4 ด้าน ทำให้การจราจรที่ถนนพหลโยธิน ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ ติดขัด จนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ จนเวลา 16.43 น. นายสิรวิชญ์ได้เข้ามายังบริเวณที่ชุมนุม ก่อนทำการขึ้นปราศรัย และใช้โทรโข่งพูดกล่าวโจมตีรัฐบาล ต่อมาเวลา 19.12 น. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด ได้เดินเข้ามาในที่ชุมนุม และร่วมชุมนุมสาธารณะ โดยมีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนให้รายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมและเริ่มแยกย้ายกันไป

 

ภาพการชุมนุมที่สี่แยกเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)

 

พนักงานสอบสวนระบุว่าในช่วงเวลาขณะเกิดเหตุ เป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งได้มีการห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่ปรากฏว่าสิรวิชญ์ได้เป็นผู้ชักชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊ก จึงเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ส่วน นพ.ทศพร ได้เดินทางมาร่วมชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐพบการกระทำความผิดจึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีกับทั้งสองคน

พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี ได้แจ้งข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยทั้งสิรวิชญ์ และ นพ.ทศพร ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จนในวันนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวทั้งสองคนพร้อมกับสำนวนคดี ให้กับพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 โดยทางอัยการได้รับสำนวนไว้ และกำหนดนัดฟังคำสั่งในคดีต่อไปในวันที่ 23 ก.พ. 64 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าในคดีนี้ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคนในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกับ ข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

กรณีนี้ยังชัดเจนว่าไม่ได้เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 63 มีการออกข้อกำหนดให้การชุมนุมใดๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ทำให้เกิดความคลุมเครือและปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับ ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไปพร้อมกัน  ทำให้กล่าวได้ว่าคดีของสิรวิชญ์และน.พ.ทศพร พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

>> ดูเพิ่มเติม ผลที่แปลกประหลาดยิ่งทางกม.: เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกใช้พร้อมกัน

สำหรับทั้งสิรวิชญ์ และ นพ.ทศพร ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในคดีชุมนุมทางการเมืองไปแล้ว คนละ 5 คดี

 

X