ศาลปรับ 5 พัน คดีนำรถเครื่องเสียงไปชุมนุม MRT ท่าพระ แม้ไม่ใช่ผู้จัด-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช้ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 ศาลอาญาตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ลำไย จันทร์งาม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ “ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากเหตุที่ลำไยนำรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงไปเข้าร่วมการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎรฝั่งธน” บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 

ลำไย ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 บรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 จําเลยกับพวกอีกหลายคน ได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ด้วยการจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎรฝั่งธน” เพื่อเรียกร้อง แสดงความคิดเห็นในทางการเมืองโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและรัฐบาล ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมกันประมาณ 700 คน ที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า MRT บริเวณสี่แยกท่าพระ อันเป็นสถานที่สาธารณะ

ลำไยถูกกล่าวหาว่า ทําหน้าที่จัดหานํามาซึ่งรถยนต์กระบะไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จํานวน 1 คัน ที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า ให้ผู้ร่วมชุมนุมพูดปราศรัย และเปิดส่วนท้ายกระบะของรถใช้เป็นเวทีให้ผู้ร่วมชุมนุมยืนพูดปราศรัยเรียกร้อง และแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองดังกล่าว

ทั้งนี้ จําเลยกับพวกไม่แจ้งการจัดกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวต่อหัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลท่าพระ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นซึ่งเป็นผู้รับแจ้งตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ โดยตามกฎหมายว่าด้วยการการชุมนุมสาธารณะให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ลำไยให้การปฏิเสธข้อหาในคดีนี้ โดยศาลมีการนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 19-20 เม.ย. 2565  โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ 4 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก ก่อนศาลจะนัดฟังคำพิพากษาทันทีในอาทิตย์ถัดมา

.

ศาลลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปรับ 5,000 บาท ทั้งที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม 

คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า พยานโจทก์ พ.ต.ท.วิสิทธิ์ สายบัวทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนเบิกความยืนยันว่า ในขณะที่มีการชุมนุม จำเลยให้ผู้ขึ้นปราศรัยบนกระบะที่จำเลยขับมายังที่ชุมนุม โดยจำเลยยืนอยู่ข้างผู้ปราศรัย คอยดูแลเครื่องขยายเสียง ยกลำโพง เดินไปมาระหว่างผู้ปราศรัยและกลุ่มผู้ชุมนุม จำเลยใช้วิทยุสื่อสารพูดคุย ประกอบกับจำเลยเบิกความว่าได้กระทำดังที่พยานโจทก์เบิกความจริง 

ทั้ง พ.ต.อ.ปรีชา เพ็งเภา ผู้มีหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมในท้องที่ท่าพระ เบิกความว่า การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในข้อเท็จจริงส่วนนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้

จำเลยมีพยานเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ เบิกความว่า จำเลยประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและรับจ้างจัดหาเครื่องเสียง โดยวันเกิดเหตุได้รับจ้างบุคคลให้จัดหาเครื่องเสียงและขับรถเข้าไปกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นแกนนำแต่อย่างใด 

พันตำรวจโทวิสิทธิ์ก็ได้เบิกความว่า ไม่มีข้อมูลว่ามีชื่อจำเลย เป็นผู้เชิญชวนหรือประกาศชุมนุม และพยานโจทก์ พ.ต.ท.กิติ กิจประทุม พนักงานสอบสวน เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยคือแกนนำราษฎรฝั่งธน และยังไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นแกนนำ

อย่างไรก็ดี ทางการนำสืบของโจทก์ ขณะมีการชุมนุมจำเลยยืนอยู่ข้างผู้ปราศรัยและกลุ่มผู้ชุมนุมและใช้วิทยุพูดคุยสื่อสาร เจือสมกับที่จำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยถามว่า ช่วงเวลา 18.00 น. มีกลุ่มไม่ทราบชื่อได้จุดประทัดขึ้น เหตุที่ขึ้นไปยืนบนรถกระบะที่ตนขับมาเพราะกลัวว่าจะมีคนจุดประทัดลงมาอีก และที่จำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่าได้สื่อสารกับผู้ว่าจ้างทางวิทยุสื่อสาร การที่จำเลยใช้วิทยุสื่อสารคอยกระสานงานกับผู้ว่าจ้างและเดินไปเดินมาในลักษณะเดินตรวจความเรียบร้อย พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่ได้มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

ขณะเกิดเหตุมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การที่จำเลยได้รับการว่าจ้างให้นำเครื่องขยายเสียงมายังที่ชุมนุมและรถกระบะของจำเลยถูกใช้เป็นเวทีให้กับผู้ปราศรัย นับว่าจำเลยเป็นผู้นำอุปกรณ์สำคัญในการชุมนุมมาให้แก่ผู้ชุมนุม ทั้งยังคอยตรวจความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุม ถือว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้ร่วมจัดให้มีการชุมนุม จึงเป็นผู้จัดการชุมนุม ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธาณะ พ.ศ.2558  

เมื่อจำเลยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงมีความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม และเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 (2) โดยจำเลยมิใช่แกนนำหรือผู้มีอำนาจสั่งการในการจัดการชุมนุมสาธารณะ ทั้งการชุมนุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยเพียงแต่ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น

ศาลพิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 5,000 บาท 

คำพิพากษาลงนามโดย สุรเกียรติ เจียมจูไร และพีระศักดิ์ ใจเสงี่ยม

.

ก่อนจะถูกดำเนินคดีนี้ ลำไยเคยถูกตำรวจออกหมายเรียกในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำรถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ เหตุที่นายลำไยนำรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 และได้จ่ายค่าปรับจำนวน 700 บาท จากข้อหาดังกล่าวไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 

ก่อนที่ตำรวจจะออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ “จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งขออนุญาต” จากเหตุการณ์เดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) มีบทบัญญัติให้งดเว้นการบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ข้อตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ควรจะไม่สามารถนำมาใช้บังคับใช้ในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ศาลยังพิจารณานำข้อหานี้มาลงโทษ โดยที่ก่อนหน้านี้มีคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลพบุรี ที่ศาลแขวงลพบุรีมีคำวินิจฉัยในประเด็นว่า ช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่อาจปรับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ชุมนุม MRT ท่าพระ แม้ตร.เคยปรับข้อหาใช้เครื่องเสียงไปแล้ว

ดำเนินคดีซ้ำ ตร.สน.ท่าพระแจ้งข้อหาใหม่ผู้ชุมนุม MRT ท่าพระ ในคดีที่สิ้นสุดแล้ว

แจ้งข้อหา-ปรับผู้ชุมนุมหน้า MRT ท่าพระ #ม็อบ2พฤศจิกา ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

X