เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศาลแขวงลพบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 คดีนี้มีผู้ถูกฟ้องคดี 2 ราย ได้แก่ วิศรุต สมงาม อายุ 30 ปี (จำเลยที่ 1) และ ภาณุพล มาลัยหอม อายุ 19 ปี (จำเลยที่ 2) สองสมาชิกราษฎรลพบุรี ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
การสืบพยานในคดีนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 และ 24 ก.พ. 2565 ฝ่ายโจทก์ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองคนมีบทบาทเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว โดยนำสืบว่าการกิจกรรมไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้อาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และจังหวัดลพบุรียังถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในช่วงดังกล่าวด้วย
ขณะที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ทั้งสองคนไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการป้องกันโควิด ทั้งการชุมนุมยังเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง ทั้งคู่ รวมทั้งผู้ชุมนุมมีการสวมหน้ากากอนามัย และพยายามเว้นระยะห่าง โดยไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกิจกรรมนี้ และไม่ได้มีความวุ่นวายหรือความไม่สงบเกิดขึ้น จึงเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
>>> ไม่ได้เป็นผู้จัด-ไม่เสี่ยงต่อโรค-ไม่มีความวุ่นวาย: บันทึกสืบพยานคดีคาร์ม็อบลพบุรี
>>> คุยกับ 2 ราษฎรลพบุรี กับ 2 ปี ของการเคลื่อนไหว ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบ
.
.
สำหรับคำพิพากษายกฟ้องในทุกข้อกล่าวหาของศาล แบ่งวินิจฉัยแยกเป็น 4 ประเด็นหลักโดยสรุป ได้แก่
พยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรม การกล่าวเชิญชวนมาร่วมชุมนุมไม่ได้เท่ากับเป็นผู้จัดฯ
ประเด็นแรก เรื่องข้อกล่าวหาร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองประกาศข้อความเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุม ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปบริจาคเงินสนับสนุนการชุมนุมในชื่อบัญชีจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ถือธงสัญลักษณ์เข้าร่วมชุมนุมและปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม จำเลยที่ 2 ทำการบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ชุมนุมและถ่ายทอดสดเผยแพร่พร้อมกล่าวเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปที่รับชมการถ่ายทอดให้เข้าร่วมการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าขณะเกิดเหตุระหว่างวันที่ 27 ก.ค. 2564 ถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้กำหนดให้เขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยอ้างคำสั่ง ศบค. ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 แต่เมื่อศาลตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวแล้ว พบว่าคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป อันเป็นวันและเวลาหลังเกิดเหตุในคดีนี้ ดังนั้นเขตพื้นที่ลพบุรีในช่วงเวลาเกิดเหตุจึงยังมีสถานะตามคำสั่ง ศบค. ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2564 ซึ่งกำหนดให้เขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีเป็นเพียงพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง
ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกาศข้อความเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปบริจาคเงินสนับสนุนการชุมนุมในชื่อบัญชีธนาคารของจำเลยทั้งสองนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง วางหลักให้พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ” เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในข้อหาอะไร และพนักงานสอบสวนกล่าวหาโดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ต้องหาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าใจข้อหาได้ดี เพื่อที่จะได้สามารถให้การแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง
แต่เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมให้จำเลยทั้งสองทราบ ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อเท็จจริงในส่วนของการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปบริจาคเงินสนับสนุนการชุมนุมในชื่อบัญชีของจำเลยทั้งสองผ่านเฟซบุ๊ก มีเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุม และพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองในวันชุมนุมเท่านั้น นอกจากนี้ในการสอบคำให้การจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงนี้เช่นกัน ทั้งไม่ได้สอบถามจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเลย ทำให้จำเลยทั้งสองคนไม่ทราบว่าจะถูกนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุม การไม่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง
ยิ่งไปกว่านั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 (5) วางหลักให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องคดีอาญาถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมชุมนุม โดยการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปบริจาคเงินสนับสนุนการชุมนุมโดยใช้ชื่อบัญชีธนาคารของจำเลยทั้งสอง ทำให้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงการกระทำดังกล่าวเอาไว้ การที่โจทก์เพิ่งมานำสืบพยานในทำนองว่าจำเลยทั้งสองร่วมเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมเนื่องจากเป็นผู้รับเงินบริจาคสนับสนุนการชุมนุมจากบุคคลทั่วไป ย่อมเป็นการนำสืบนอกเหนือจากที่บรรยายฟ้อง ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงนี้มาวินิจฉัยประกอบพยานหลักฐานอื่นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมได้
ศาลวินิจฉัยต่อมาในประเด็นพฤติการณ์ในการชุมนุมและการประกาศเชิญชวนให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุม จะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองคนเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมหรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวน มีข้อความที่ตอบพนักงานสอบสวนว่า ข้าฯ เข้าร่วมชุมนุมและร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ แต่ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดกิจกรรมอย่างไรโดยชัดแจ้ง และคำตอบดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตอบตามที่พนักงานสอบสวนถามนำเอาไว้ว่า จำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมหรือเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมหรือไม่ ซึ่งคำว่า “เข้าร่วมในการจัดกิจกรรม” อาจทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจว่าหมายถึง การเข้าร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้นก็ได้
อีกทั้งบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว มีการจัดพิมพ์โดยใช้ถ้อยคำเหมือนกันทุกตัวอักษรในลักษณะคัดลอกกันมา ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะตอบคำถามทุกข้อของพนักงานสอบสวนโดยใช้ถ้อยคำเหมือนกันทุกคำ ข้อความดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยและมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจความหมายของคำถามและตอบโดยยืนยันข้อเท็จจริงว่าร่วมเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมเช่นนั้นจริงหรือไม่ ทั้งที่จำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเอาไว้อย่างชัดเจน
.
ส่วนพฤติการณ์เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมการชุมนุม โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เขียนข้อความเชิญชวนให้บุคคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมในเฟซบุ๊กชื่อ “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กล่าวหรือประกาศชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมการชุมนุมอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุ ได้เป็นผู้ถ่ายทอดภาพและเสียงเหตุการณ์ขณะชุมนุม พร้อมกล่าวเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุม
ศาลเห็นว่าบทกฎหมายที่โจทก์บรรยายในฟ้องและคำขอท้ายฟ้องทั้งหมด มิได้บัญญัติบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมไว้โดยเฉพาะ อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่อาจปรับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กับการชุมนุมในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามมาตรา 3 (6) กรณีจึงไม่อาจนำคำนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งวางหลักให้หมายรวมถึง “ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” มาปรับใช้แก่คดีนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 452/2540
กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติกำหนดโดยแจ้งชัดให้ถือว่าผู้ชักชวนบุคคลให้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้นลักษณะของการกระทำอันเป็นผู้นัดหมายหรือเชิญชวน ก็แตกต่างจากการเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการนัดหมายเชิญชวนมิใช่การริเริ่มทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ผู้นัดหมายเชิญชวนอาจเพียงชักชวนบุคคลทั่วไป เพราะสนใจการชุมนุมที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมไว้อยู่แล้ว โดยที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุมเลยก็ได้ ประกอบกับหากมีการตีความให้ผู้นัดหมายเชิญชวนเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมแล้ว ย่อมทำให้ผู้นัดหมายเชิญชวนต้องมีหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันโรคและมีความรับผิดทางอาญาเมื่อไม่ปฏิบัติตามหน้าที่เช่นนั้น ทั้งที่ผู้นัดหมายเชิญชวนอาจไม่ได้มีส่วนในการจัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมเลย ซึ่งนอกจากจะขัดแย้งกับสภาพและขอบเขตการกระทำของผู้นัดหมายเชิญชวนแล้ว การตีความโดยขยายความให้ผู้จัดการชุมนุม หมายรวมถึงผู้นัดหมายเชิญชวนด้วย จึงเป็นการตีความอันเป็นผลร้ายแก่ผู้นัดหมายเชิญชวน ซึ่งขัดกับหลักการตีความกฎหมายทั่วไปที่ว่า การตีความการกระทำที่จะเป็นความผิดอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด อันเป็นเจตนารมณ์ป้องกันมิให้ผู้ใดต้องรับโทษอาญาโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด
เช่นนี้เอง เมื่อไม่มีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งอีกว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง จึงไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ
ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุม โดยจำเลยที่ 1 เดินอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมถือธงโบกไปมา และทำหน้าที่ดูแลและจัดการผู้เข้าร่วมชุมนุม เห็นว่าพยานโจทก์สามปากเพียงเบิกความลอยๆ แต่ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายหรือบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ชุมนุมที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลการชุมนุม หรือเข้าไปสั่งการและกำกับดูแลการชุมนุม หรือเข้าร่วมการประชุมของแกนนำ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมารับฟังสนับสนุนและเชื่อมโยงให้เห็นแจ้งชัด ทั้งที่ในวันดังกล่าวมีเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองลพบุรี หลายนายไปดูแลการชุมนุม และมีการบันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวการชุมนุมไว้เป็นหลักฐานจำนานมาก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด
กรณีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมจัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมโดยทำหน้าที่กำกับดูแลและจัดการผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมตามฟ้อง
.
.
การชุมนุมยังไม่ถึงกับแออัดเต็มพื้นที่ ผู้ชุมนุม–ตร.ยังเคลื่อนย้ายไปมาสะดวก ทั้งเพียงปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล ใช้สิทธิตาม รธน.
ประเด็นที่สอง ประเด็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่
ศาลเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายลำดับรองที่บัญญัติบทความผิดห้ามการชุมนุม ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับบัญญัติองค์ประกอบความผิดของการร่วมชุมนุมไว้แตกต่างกัน จึงเห็นควรแยกพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับ
ในส่วนว่าจำเลยทั้งสองร่วมชุมนุมในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตาม ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 และ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 หรือไม่ ศาลเห็นว่า คำว่า “สถานที่แออัด” เมื่อตีความอย่างเคร่งครัดตามนิติวิธีโดยไม่ขยายความไปถึงกรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้ง อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยตามหลักกฎหมายอาญา ย่อมหมายถึง สถานที่ซึ่งมีผู้ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมอยู่กันอย่างหนาแน่นตลอดพื้นที่ ในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน ไม่ได้หมายความรวมถึงกรณีที่มีการรวมกลุ่มใกล้ชิดกันในพื้นที่เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุมเท่านั้น
เมื่อพิเคราะห์ลักษณะสถานที่ชุมนุมจากภาพถ่ายและบันทึกภาพเคลื่อนไหวของโจทก์ทั้งหมด พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์จอมพล ป. วงเวียนสระแก้ว เพียงประมาณ 25 นาที เมื่อเริ่มเคลื่อนขบวนรถไปตามถนน และย้อนกลับมาถึงลานดังกล่าวอีกครั้ง กลุ่มผู้ชุมนุมก็รวมตัวฟังปราศรัยและทำกิจกรรมเผาหุ่นฟางอีกประมาณ 15 นาที จึงยุติการชุมนุม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับกลุ่มผู้ชุมนุมรวมกลุ่มกันในสถานที่ซึ่งเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้ดี และใช้เวลารวมตัวไม่นานนัก ประกอบกับขณะเกิดเหตุมิได้มีผู้ชุมนุมอยู่เต็มพื้นที่ สถานที่ชุมนุมยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่มาก ไม่ได้อยู่ในสภาพคับแคบหรือหนาแน่นไปด้วยผู้คน ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งไปดูแลการชุมนุม ยังสามารถเดินเคลื่อนย้ายไปมาได้โดยสะดวก มีเพียงการรวมกลุ่มกันในพื้นที่เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุม เฉพาะในช่วงการฟังประกาศแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจ การล้อมวงฟังปราศรัย และการทำกิจกรรมเผาหุ่นบางช่วงเวลาเท่านั้น
ลักษณะการชุมนุมรวมกลุ่มกันจึงยังไม่ถึงขนาดฟังได้ว่า ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมอยู่กันอย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ตลอดเวลาในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน ตามความหมายของคำว่าสถานที่แออัด พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าสถานที่ชุมนุมมีสภาพเป็นสถานที่แออัด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด
ส่วนกรณีข้อกล่าวหาว่าการชุมนุมเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจล้วนเบิกความในทำนองเดียวกันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้พกพาอาวุธ ไม่มีการกระทบกระทั่ง หรือใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ และไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้นจากชุมนุม สอดคล้องกับบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่พบว่า การกล่าวปราศรัยและแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุม มีเนื้อหาเพียงแต่โจมตีและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้ใช้อำนาจรัฐตามวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ 44 ประกอบกับทางนำสืบได้ความว่าการชุมนุมไม่มีการใช้ถ้อยคำยุยงปลุกปั่นให้มีการทำผิดกฎหมายหรือให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ไม่พบว่ามีลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด
.
ประกาศ ผบ.ทสส. กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจ จึงไม่มีผลบังคับใช้
ประเด็นที่สาม ประเด็นจำเลยทั้งสองร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 (ลงนามโดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผบ.ทสส.) ข้อ 2 และ 3 หรือไม่
ศาลเห็นว่า แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 10 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แทนได้ แต่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะเป็น (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 หรือ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 กลับมีข้อความมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เฉพาะแต่เพียงการประกาศกำหนดเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น
แม้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 10 วรรคสอง ประกอบวรรคหนึ่ง กำหนดให้ในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงมีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสมในการจัดให้มีมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค แต่มาตรการดังกล่าวต้องมีลักษณะทำนองเดียวกับการให้จัดเวรยาม หรือตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว หรือให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามบทกฎหมายที่มีอยู่เท่านั้น
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และข้อ 10 วรรคสอง หรือ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 หรือ 5 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และ ข้อ 4 (1) (2) ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ไม่ได้มีการมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกข้อกำหนดเพิ่มเติม หรือกำหนดองค์ประกอบความผิดเพิ่มในการห้ามชุมนุมมั่วสุม นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้แล้วในข้อกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงจึงไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้าม อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา เพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งกำหนดไว้เพียงข้อห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเท่านั้น
ดังนั้น การออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ในส่วนที่ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค จึงเป็นการกำหนดองค์ประกอบความผิดของการห้ามชุมนุมเพิ่มเติมว่า “ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” โดยไม่มีอำนาจ ประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ศาลจึงไม่อาจนำมาลงโทษจำเลยทั้งสอง
.
.
พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมใช้เครื่องขยายเสียง ยกประโยชน์ความสงสัย
ประเด็นที่สี่ เรื่องจำเลยทั้งสองใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยโฆษณาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า และไม่มีบุคคลใดขออนุญาตใช้ แม้จำเลยทั้งสองให้การว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ใช้บังคับมาเนิ่นนาน ปัจจุบันไม่ได้ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานแล้ว หากประชาชนประสงค์จะใช้เครื่องขยายเสียง ก็ใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาต เสมือนว่ากฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยปริยายแล้ว แต่กฎหมายนั้นย่อมมีสภาพบังคับอยู่ตราบเท่าที่ยังมิได้ถูกยกเลิกโดยวิธีการทางนิติบัญญัติ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว และมิได้บัญญัติกฎหมายที่มีข้อความขัดแย้งกับ พ.ร.บ. เดิม อันจะส่งผลให้กฎหมายเก่าสิ้นผลโดยปริยาย พ.ร.บ. นี้จึงยังมีผลบังคับใช้ขณะเกิดเหตุคดีนี้
อย่างไรก็ตาม โจทก์มีเพียงบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวน ซึ่งมีข้อความที่ตอบพนักงานสอบสวนว่า “รถยนต์ที่ขนเครื่องขยายเสียงที่นำมาโฆษณาเป็นรถยนต์ที่พวกข้าฯ เช่ามา แล้วพวกข้าฯ นำรถไปติดตั้งเครื่องขยายเสียงเอง” แต่บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จัดพิมพ์โดยใช้ถ้อยคำเหมือนกันทุกตัวอักษรในลักษณะคัดลอกกันมาและใช้ถ้อยคำเหมือนกันทุกคำ ทั้งยังไม่มีรายละเอียดว่ารถยนต์หรือเครื่องขยายเสียงดังกล่าวเป็นของใคร เช่ามาจากผู้ใด การเช่าหรือติดตั้งเครื่องขยายเสียงใช้เงินจากบุคคลใด ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้อหานี้ในชั้นสอบสวนเอาไว้ ข้อความตามบันทึกคำให้การจึงมีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง
ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นพยานโจทก์สามปาก ยังต่างเบิกความว่าไม่เห็นจำเลยทั้งสองร่วมใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่บนรถยนต์ปราศรัยหรือโฆษณาประกาศในการชุมนุมเลย ทั้งทางนำสืบไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการร่วมใช้เครื่องขยายเสียงตั้งแต่เริ่มการชุมนุมจนกระทั่งยุติการชุมนุม โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าบุคคลที่ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยหรือโฆษณาประกาศขณะชุมนุม หรือบุคคลที่ขับรถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียงดังกล่าวเป็นใคร และมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับจำเลยทั้งสองอย่างไร
ประกอบกับข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น เมื่อคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดแจ้งตามข้อกล่าวอ้าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตในการชุมนุมหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
พิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาลงนามโดย นายอิทธิพล ดาววงศ์ญาติ
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบคดีแรก ซึ่งมีขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2564 ที่มีการต่อสู้คดีในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาออกมา ก่อนหน้านี้มีเพียงคดีคาร์ม็อบที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล หรือกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว
>> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง
.