ในวันที่ 25 เม.ย. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงลพบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 คดีนี้มีผู้ถูกฟ้องคดี 2 ราย ได้แก่ วิศรุต สมงาม อายุ 30 ปี และ ภาณุพล มาลัยหอม อายุ 19 ปี สองสมาชิกราษฎรลพบุรี ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังได้รับหมายเรียก ทั้งสองคนเข้ารับข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 โดยทั้งสองให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่อยมา อัยการมีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ก่อนมีการนัดหมายสืบพยานเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 17-18 และ 24 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา
>> คุยกับ 2 ราษฎรลพบุรี กับ 2 ปี ของการเคลื่อนไหว ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบ
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบคดีแรก ซึ่งมีขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2564 ที่มีการต่อสู้คดีในชั้นศาล และศาลจะมีคำพิพากษาออกมา ก่อนหน้านี้มีเพียงคดีคาร์ม็อบที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล หรือกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางคำพิพากษาในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี
ภาพรวมของการสืบพยานทั้งสามวัน มีการสืบพยานโจทก์จำนวน 7 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก ฝ่ายโจทก์ได้พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองคนมีบทบาทเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว โดยนำสืบว่าการกิจกรรมไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้อาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และจังหวัดลพบุรียังถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในช่วงดังกล่าวด้วย
ขณะที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ทั้งสองคนไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการป้องกันโควิด ทั้งการชุมนุมยังเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง ทั้งคู่ รวมทั้งผู้ชุมนุมมีการสวมหน้ากากอนามัย และพยายามเว้นระยะห่าง โดยไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกิจกรรมนี้ และไม่ได้มีความวุ่นวายหรือความไม่สงบเกิดขึ้น จึงเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
.
.
ตำรวจเบิกความวิศรุตช่วยดูแลการ์ด ภาณุพลไลฟ์สดในที่ชุมนุม แม้จัดสถานที่โล่ง แต่ไม่ได้เว้นระยะห่าง ไม่มีมาตรการป้องกันโรค
สำหรับพยานในฝ่ายโจกท์แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 4 นาย ได้แก่ พ.ต.อ.สมชาย ชูแก้ว อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองลพบุรี ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้, พ.ต.ท.สังวาลย์ ละโป้ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองลพบุรี, ร.ต.อ.บุญเสริฐ กิ่งเกศ รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลพบุรี และ พ.ต.ท.พงศ์พิชิต สุธรรมราช พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลพบุรี ส่วนพยานที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ อดีตนายอำเภอเมืองลพบุรี, นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองลพบุรี
ในภาพรวม พยานกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเบิกความในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองลพบุรี พบว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กในเพจ “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” มีข้อความเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุมขับไล่นายรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่บริเวณอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม บริเวณวงเวียนสระแก้ว อำเภอเมืองลพบุรี ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 เวลา 16.00 น.
รองผู้กำกับสืบสวน ได้ให้ ร.ต.อ.บุญเสริฐ เป็นผู้ตรวจสอบกิจกรรมดังกล่าว พบว่าในเพจดังกล่าว ยังมีการโพสต์เชิญชวนให้ร่วมบริจาคสนับสนุนการทำกิจกรรม โดยมีชื่อบัญชีธนาคารเป็นชื่อของจำเลยทั้งสองคน และยังมีการแจก QR โค้ด เป็นสติกเกอร์สำหรับให้ผู้ร่วมชุมนุมใช้ปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ
ต่อมาในวันเกิดเหตุ ผู้กำกับการ สภ.เมืองลพบุรี พร้อมชุดเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ชุดจราจร และชุดปราบจลาจล ได้เดินทางไปยังจุดที่ชุมนุม เวลา 15.30 น. พบว่าเริ่มมีประชาชนทยอยมาร่วมกิจกรรม โดยมีจำเลยทั้งสองคนเข้าร่วมด้วย โดยพบว่าจำเลยที่ 1 (วิศรุต) มีบทบาทเป็นผู้ดูแลทีมรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม โดยมีการยืนถือธงโบกไปมา และคอยจัดขบวนรถที่จะเข้าร่วม และจำเลยที่ 2 (ภาณุพล) ทำหน้าที่ไลฟ์ถ่ายทอดสดการชุมนุม และกล่าวขณะถ่ายทอดมีเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม
เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเมื่อประมาณด้วยสายตา มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 200 คน ซึ่งขัดต่อประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลพบุรีที่ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 100 คน และไม่ได้การขออนุญาตทำกิจกรรม จึงเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่มิชอบ พ.ต.อ.สมชาย ชูแก้ว จึงได้เข้าไปประกาศเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงว่า การชุมนุมผิดกฎหมาย ขอให้ยุติกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมยังไม่ยุติ
จากนั้น ผู้ชุมนุมได้ขับรถของแต่ละคนต่อกันไปเป็นขบวน ซึ่งมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ขับไปตามถนนพระนารายณ์ และถนนสาธารณะภายในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี โดยระหว่างการเคลื่อนขบวน ได้มีรถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียง และมีผู้สลับกันกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลไปตลอดทาง ก่อนจะวนกลับมายังลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. และมีการกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต่อ ก่อนมีการจุดไฟเผาหุ่นฟางเชิงสัญลักษณ์ และสิ้นสุดกิจกรรมในเวลาประมาณ 18.15 น.
เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วม ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และจุดลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นไทยชนะ แม้ผู้ชุมนุมจะมีการสวมหน้ากากอนามัยก็ตาม
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้อ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจังหวัดลพบุรี ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในช่วงดังกล่าวด้วย และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่าไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมนี้ และไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อทางเทศบาล
หลังการชุมนุม ร.ต.อ.บุญเสริฐ ได้จัดทำรายงานการสืบสวน รายงานต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีความเห็นให้ดำเนินคดี ทาง พ.ต.อ.สมชาย จึงได้เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564
.
.
ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ โดยตำรวจรับว่าไม่ได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” ว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลเพจ และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์การชุมนุมทั้งหมด
ในส่วนเรื่องการเริ่มต้นกิจกรรมในวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีประชาชนมารวมตัวกันหนาแน่น เพียงแต่ยืนกระจายกันอยู่ในจุดต่างๆ แต่พยานตำรวจบางส่วนระบุว่ามีบางส่วนที่เข้ามารวมตัวกันด้วย ส่วนในขณะที่ผู้กำกับ สภ.เมืองลพบุรี เข้าไปประกาศแจ้งเตือน มีเพียงจำเลยที่ 2 ที่เข้าไปยืนไลฟ์ถ่ายทอดสด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปยืนหรือพูดคุยกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ในกรณีเรื่องการเผาหุ่นฟาง ตำรวจทุกนายก็ระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เผา และจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ใช่ผู้ที่กล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในระหว่างการเคลื่อนขบวนรถ ทั้งตำรวจไม่ได้มีการติดตามกลุ่มการ์ดหรือผู้เข้าร่วมมาสอบถามถึงบทบาทของจำเลยทั้งสองคน
พยานตำรวจทุกปากยังรับว่า การชุมนุมเกิดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้ง ไม่ใช่สถานที่ปิด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่หน้ากาอนามัย และไม่ได้มีทรัพย์สินของราชการเสียหาย ไม่ได้มีการเกิดความวุ่นวายระหว่างการชุมนุม ไม่ได้มีการพบผู้ชุมนุมที่พกพาอาวุธใดเข้าร่วม และไม่ได้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น รวมทั้งรับว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
ในส่วนพยานเอกสารในสำนวนโจทก์นั้น ก็เป็นรายงานการตรวจสอบผู้ติดเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นวันที่ 1 ส.ค. 2564 เวลา 12.00 น. ก่อนการจัดกิจกรรมตามฟ้องนี้ และไม่มีนายตำรวจคนใดระบุได้ว่าการชุมนุมทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด หรือทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้น
ด้าน พ.ต.อ.สมชาย ได้ตอบอัยการถามค้าน ยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าว มีแกนนำหลายคน ซึ่งแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่ใช่กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคนเดียว และจำเลยทั้งสองได้ทำหน้าที่ของตนเองในกิจกรรม ลักษณะช่วยเหลือแกนนำในการชุมนุม นอกจากนั้นคำว่าการชุมนุมในสถานที่ “แออัด” นอกจากสถานที่ ยังต้องพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าร่วม และความใกล้ชิดของผู้ร่วมด้วย และผู้ปราศรัยบางคนยังมีการเปิดหน้ากากอนามัยลงในระหว่างปราศรัย ทำให้อาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรค
.
พยานฝ่ายปกครอง มายืนยันไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
ขณะที่ในส่วนพยานโจทก์ปากอดีตนายอำเภอเมืองลพบุรี มาเบิกความสั้นๆ ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้สอบถามทางอำเภอไปว่า มีผู้ชุมนุมมาขออนุญาตจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 หรือไม่ พบว่าไม่มีผู้มายื่นขอ โดยหากมีผู้มายื่นขอ ทางอำเภอก็จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการโรคติดต่อ
ส่วนพยานปากนายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี และเจ้าหน้าที่กองคลังของเทศบาล มาเบิกความยืนยันว่าไม่ได้มีผู้มาขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมวันที่ 1 ส.ค. 2564 ขณะที่พยานปากนายกเทศมนตรีถูกทนายจำเลยถามค้าน กรณีที่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากการแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาท กรณีจำเลยที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน
พยานปากเจ้าหน้าที่เทศบาลยังเบิกความว่าโดยปกติในแต่ละปี มีผู้มาขอใช้เครื่องขยายเสียงประมาณ 200-300 รายต่อปี แต่หลังจากสถานการณ์โควิดแทบไม่มีผู้มาแจ้งขออนุญาตใช้ นอกจากนั้นในการจัดกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ อย่างในช่วงปี 2563 หรือการชุมนุมของกลุ่ม “ทหารเอกพระนารายณ์” ก็ทราบว่าไม่เคยมีการมาขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
.
.
ฝ่ายจำเลยยืนยันกิจกรรมทำในพื้นที่โล่ง สวมหน้ากาก ไม่มีคนติดเชื้อ ใช้สิทธิตาม รธน.
ทางด้านจำเลยทั้งสองคน ได้ขึ้นเบิกความโดยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเบิกความว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมตามข้อกล่าวหา โดยทั้งคู่เพียงแต่เป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรมในจังหวัดลพบุรี และเข้าร่วมในฐานะผู้มีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่เห็นว่ารัฐบาลในปัจจุบันไร้ความสามารถในการบริหารงาน จึงต้องการร่วมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กิจกรรมคาร์ม็อบวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไมได้ถึงขนาดเป็นผู้สั่งการหรือดูแลจัดการให้มีการเคลื่อนขบวนไปทิศทางใด ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะไลฟ์สดถ่ายทอดกิจกรรม แต่ก็เป็นเพียงการทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม ส่วนที่มีการโพสต์รับบริจาคในการทำกิจกรรม ผ่านเพจ “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” นั้น ทั้งคู่ก็ไม่ได้เป็นผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าวลงเผยแพร่
ในวันจัดกิจกรรม ทั้งจำเลยที่ 1 และ 2 ยังเข้าร่วมโดยสวมใส่หน้ากากอนามัย และพยายามเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นๆ แล้ว ส่วนบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ต่างคนต่างมา เพราะสนับสนุนข้อเรียกร้องในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และมีการนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตนเองมาเข้าร่วม โดยในช่วงเคลื่อนขบวนรถ ต่างคนต่างก็อยู่ในรถของตน หรือในช่วงที่มีผู้ปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการพยายามเว้นระยะห่างกัน ไม่ได้ถึงกับรวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น อยู่กันกระจัดกระจาย
ฝ่ายจำเลยยังระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ กิจกรรมเกิดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้ง ไม่ได้มีความแออัดตามที่โจทก์กล่าวหา และหลังจากกิจกรรมก็ไม่ได้มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นจากกิจกรรมครั้งนี้
ทั้งกิจกรรมคาร์ม็อบนี้ ยังดำเนินคดีไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุรุนแรงหรือความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งไม่มีผู้เข้าร่วมที่พกพาอาวุธ จึงเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และจำเลยทั้งสองเข้าร่วมด้วยเชื่อว่าสามารถกระทำได้ตามสิทธิดังกล่าว
ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ และคำพิพากษายกฟ้องของศาลในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ เพื่อชี้ถึงแนวทางการวินิจฉัยเรื่องนี้ประกอบด้วย
.