ยื่นฟ้องคดี “ดูหมิ่นศาล” 3 นักกิจกรรม ชี้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวหน้าศาลอาญา 30 เม.ย. ทำให้ประชาชนเกลียดชัง-ต่อต้านศาล 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 – ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องณัฐชนน ไพโรจน์, เบนจา อะปัญ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 215, 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกขังระหว่างการต่อสู้คดีมาตรา 112 

หลังศาลรับฟ้อง ได้ออกหมายขังระหว่างพิจารณาณัฐชนนและเบนจา 2 นักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเดินทางมาฟังคำสั่งอัยการตามนัด และอัยการส่งตัวมาศาลพร้อมยื่นฟ้อง ก่อนทนายความจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดี โดยให้วางเงินสดคนละ 50,000 บาท เป็นหลักประกัน และนัดทั้งสองมาสอบคำให้การพร้อมกับสมยศ ในวันรุ่งขึ้น (1 ก.ค. 64)

ต่อมาวันที่ 1 ก.ค. 64 สมยศเดินทางมารายงานตัวต่อศาลตามนัดหลังครบฝากขังครั้งที่ 4 ศาลจึงได้อ่านคำฟ้อง พร้อมกับสอบคำให้การจำเลยทั้งสามพร้อมกัน โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น. ก่อนที่ทนายความจะยื่นประกันสมยศ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับเบนจาและณัฐชนน โดยใช้หลักประกันเดิมที่วางไว้ในชั้นสอบสวน 

สำหรับณัฐชนน จำเลยที่ 1, เบนจา อะปัญ จำเลยที่ 2 และสมยศ จำเลยที่ 3 ก่อนหน้านี้ ทั้งสามถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าว โดยเบนจาและณัฐชนนได้เข้ามอบตัวในวันที่ 11 พ.ค. 64 ก่อนพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนในคดีนี้ในวงเงินคนละ 100,000 บาท 

ส่วนสมยศเข้ามอบตัวในวันที่ 14 พ.ค. 64 หลังเข้ามอบตัว พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้คุมตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ก่อนที่จะได้ประกันในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมติดกำไล EM เป็นเวลา 30 วัน มีเงื่อนไขห้ามออกนอกเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ต่อมา หลังครบ 30 วัน ศาลมีคำสั่งให้ถอด EM และยกเลิกเงื่อนไขจำกัดการเดินทาง แต่กำหนดเงื่อนไขใหม่คือ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และห้ามร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

.

คำฟ้องชี้ การวิจารณ์คำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องขัง ม. 112 ว่าไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ทำให้ประชาชนเกลียดชังศาล ผู้พิพากษาได้รับความเสียหาย

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ณัฐชนน ไพโรจน์ (จำเลยที่ 1), เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 2) และสมยศ พฤกษาเกษมสุข (จำเลยที่ 3) ได้ทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ได้มีผู้ชุมนุมทางการเมืองในนาม “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” มารวมตัวกันที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อให้กำลังใจ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ในการยื่นประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยมีการใช้เครื่องกระจายเสียงจากรถยนต์ปราศรัย และตะโกนด้วยคําพูดโจมตีการทํางานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาลอาญา เพื่อกดดันให้ศาลอนุญาตให้มีคําสั่งปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์กับพวก รวม 7 คนในข้อหาข้อหาหรือฐานความผิดหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ 

ณัฐชนน, เบนจา และสมยศได้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ภาพกิจกรรมโกนหัวประท้วงหน้าศาลอาญา เมื่อ 30 เม.ย. 64 ภาพโดย ประชาไท

2. จำเลยทั้งสามยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กล่าวคือจำเลยทั้งสามกับพวกรวม 200-300 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมเพื่อร่วมกันชุมนุม หรือจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโกนผม การเผารูปถ่ายของผู้พิพากษา ประมวลกฎหมาย และดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ความอยุติธรรมของศาล และการส่งแผ่นกระดาษที่มีรายชื่อของผู้ที่ลงชื่อร่วมเรียกร้องให้ศาล หรือผู้พิพากษาพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว ติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ด้วยข้อความว่า “ปล่อยเพื่อนเรา”

อีกทั้งมีการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งติดตั้งบนรถยนต์และแบบพกพา ปลุกระดมกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมด้วยถ้อยคําหยาบคาย เพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมตะโกน ด่าทอ ตําหนิ โห่ไล่ แสดงอากัปกิริยาไม่พอใจ เขียนข้อความลงบนกระดาษ และพ่นสีบนกําแพงของศาลอาญาด้วยถ้อยคําด่าหยาบคายอันมีความหมายลักษณะว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตําหนิ กดดัน ขู่เข็ญผู้พิพากษา องค์คณะผู้พิพากษา หรือศาล ในการใช้ดุลพินิจเพื่อพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย ได้แก่ พริษฐ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และจำเลยอื่นๆ ที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และระหว่างการสอบสวน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ความเกลียดชัง การใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา องค์คณะผู้พิพากษา หรือศาล

ทั้งยังมีการเปิดเพลงอันเป็นการก่อกวนการทํางานของศาล ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ของศาล ที่บริเวณด้านในรั้วของศาลอาญา ซึ่งมีข้อกําหนดในการปฏิบัติตัวของศาล บริเวณอาคารจอดรถอัตโนมัติของสํานักงานศาลยุติธรรม และบริเวณด้านนอกรั้วของศาลอาญา อันเป็นทางสาธารณะ เป็นเหตุเจ้าหน้าที่ตํารวจจําต้องปิดกั้นช่องทางการจราจรบนถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าสี่แยกรัชโยธิน จํานวน 2 ช่องทาง ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ติดขัด รถเคลื่อนตัวได้ช้า ส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นกับประชาชนทั่วไปที่ใช้ถนนสัญจรผ่านไปมาอยู่ในบริเวณดังกล่าวและใกล้เคียง

นอกจากนี้ เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงจำเลยทั้งสาม ที่ได้มั่วสุมกันเพื่อกระทําความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ให้เลิกไป โดยให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้งสามยังคงขัดขืนไม่เลิกกระทําการดังกล่าว

3. จําเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี กล่าวคือ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพริษฐ์ ในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #MobFest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 และยื่นฟ้องพริษฐ์และพวกในความผิดตามมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยจำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ยังถูกควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตัวตามหมายขังของศาลอาญา ได้แก่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, นายปริญญา ชีวินกุลปฐม และนายชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาและสอบสวน

ในระหว่างการพิจารณา สุรีย์รัตน์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพริษฐ์ในทั้งสองคดีรวม 11 ครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว 10 ครั้ง ในทั้ง 2 คดี ส่วนจำเลยและผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ได้ยื่นประกันต่อศาลอาญาประมาณ 6-7 ครั้ง แต่ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน

สำหรับการสั่งคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มอบหมายหน้าที่ให้ผู้พิพากษาทั้งหมด 5 นาย เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ได้แก่ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 3 นาย คือ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์, เทวัญ รอดเจริญ, พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ และผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์, ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด

จำเลยทั้งสามและผู้ชุมนุมได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี โดยได้ใช้เครื่องกระจายเสียงที่ติดตั้งบนรถยนต์ และแบบพกพากระจายเสียงบริเวณในศาลอาญาและหน้าศาลอาญา

ณัฐชนน (จําเลยที่ 1) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “ตอนนี้ เรามองว่าระบบความอยุติธรรมของไทย เป็นระบอบยุติธรรมที่มีความด่างพร้อย สมควรแก่การตั้งคําถามแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง รบกวนมวลชนนั่งลงนิดนึงครับ เพื่อนบอกมา ดังนั้น วันนี้คุณแม่สุ ได้โกนหัวประท้วงให้กับระบบความยุติธรรม ที่ไม่ให้ประกันเพื่อนๆ ของเราทุกคน”

“พวกเราต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สู้คนที่มีอํานาจ ความเลื่อมล้ำในสังคม และระบอบเฮงซวยในประเทศนี้ พวกเราทุกคนในที่นี้เป็นประจักษ์พยานและเห็นได้ชัดว่า ณ ศาลอาญา รัชดาแห่งนี้ หมดความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีใดๆ และหมดความชอบธรรมไร้ซึ่งความยุติธรรมไปแล้ว”

ด้านเบนจา (จําเลยที่ 2) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “การที่มีการฝากขังระหว่างพิจารณาคดีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวพันทางการเมือง ทั้งนี้พวกเค้าทั้งหมดยังถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดําเนินคดี และถูกฝากขังมาจนถึงวันนี้ ตอนนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคงอาจกล่าวได้ว่านี่คืออยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้กฎหมาย เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ ไม่ว่ามาตราใด กลับกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด”

ส่วนสมยศ (จำเลยที่ 3) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “ในเมื่อเราถูกคุมขัง ดังนั้น เราจึงบอกว่าถ้าเดินหน้าไปเนี่ยคําว่ายุติธรรม กระบวนการพิจารณาในศาลจะสู่กระบวนการของเรา เราจะเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะเราถูกขัง เราจะสู้คดีอะไรละครับ ผมก็แถลงต่อศาลว่า ผมจะสู้คดียังไง ฝ่ายพวกผมเป็นราษฎร…”

“ผมอยากให้น้ำตาของแม่เพนกวิน กลายเป็นน้ำกรดไปรดหัวใจผู้พิพากษาทั้งหมด ให้รับรู้ถึงความยุติธรรมมันหมายถึงอะไร..”

จำเลยทั้งสามยังได้พูดปราศรัยใจความอื่นอีกจำนวนมากตามเอกสารบันทึกถอดเทปคำปราศรัยท้ายคำฟ้อง ประกอบกับใช้เครื่องใช้เครื่องกระจายเสียงเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมตะโกน ต่าทอ ตําหนิ โห่ไล่ แสดงอากัปกิริยาไม่พอใจ ติดป้าย หรือเขียนข้อความแสดงความไม่พอใจการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคําร้องขอปล่อยชั่วคราวของจําเลย และผู้ต้องหาทางการเมืองดังกล่าว

ข้อความและพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นถือเป็นการกระทําที่ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาท ทําให้อับอาย และลดคุณค่าของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ว่าศาลหรือผู้พิพากษามีคําสั่งยกคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์และพวก เป็นการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ทำให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเกลียดชัง ไม่ยอมรับ และต่อต้านการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลหรือผู้พิพากษา เป็นเหตุให้ศาลหรือผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี

4. จำเลยทั้งสามและผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันทําการเปิดเครื่องกระจายเสียงแสดงความคิดเห็นต่อประชาชนโจมตีการทํางาน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือผู้พิพากษาศาล อันเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

หากไล่เลียงข้อหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ณัฐชนน, เบนจา และสมยศถูกฟ้องทั้งหมด 4 กรรม ใน 5 ข้อหา ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้ศาลนับโทษจำคุกของณัฐชนนและสมยศในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกทั้งยังขอให้เพิ่มโทษสมยศ 1 ใน 3 ของโทษจำคุกในคดีนี้ เนื่องจากสมยศเคยต้องโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อ 23 ม.ค. 56 และได้พ้นโทษเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 61 แต่กลับมากระทำผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังพ้นโทษ

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้าน ระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค.-มิ.ย. 64) มีการดำเนินคดีดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 อย่างน้อย 4 คดี โดยณัฐชนนและเบนจาถูกดำเนินคดี 2 คดี จากการชุมนุมหน้าศาลอาญาในวันที่ 29 และ 30 เม.ย. 64 เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง พร้อมทั้งถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากการชุมนุมทั้งสองวันดังกล่าวด้วย 

ในจำนวนคดีดูหมิ่นศาล 4 คดี คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี โดยอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา ที่หน้าศาลอาญา ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64 

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินทาง

3 นศ.มธ.เข้าแสดงตัว ก่อน ตร.แสดงหมายจับ “ดูหมิ่นศาล” 2 คดี จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

X