วานนี้ (11 พ.ค. 64) เวลาประมาณ 19.30 น. ที่ สน.พหลโยธิน สามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คาดว่าถูกออกหมายจับจากกรณีชุมนุมบริเวณศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 และ 30 เม.ย. 64 ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์ และภัทรพงศ์ น้อยผาง เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงตัวต่อหน้า
เมื่อนักศึกษาทั้งสามมาปรากฏตัวต่อหน้า พนักงานสอบสวนจึงแสดงหมายจับออกโดยศาลอาญา โดยเบนจา ถูกแสดงหมายจับศาลอาญาที่ 714/2564 ลงวันที่ 7 พ.ค. 64 จากกรณีชุมนุมบริเวณศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 และ ที่ 730/2564 ลงวันที่ 11 พ.ค. 64 จากกรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64
ณัฐชนน ถูกแสดงหมายจับศาลอาญาที่ 716/2564 ลงวันที่ 7 พ.ค. 64 และที่ 731/2564 ลงวันที่ 11 พ.ค. 64 จากกรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 29 และ 30 เม.ย. 64 เช่นเดียวกับเบนจา
ด้านภัทรพงศ์ เจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลอาญาที่ 717/2564 ลงวันที่ 7 พ.ค. 64 จากกรณีการชุมนุมวันที่ 29 เม.ย. 64 เพียงกรณีเดียว
ก่อนจัดทำบันทึกการจับกุมทนายความกำชับให้พนักงานสอบสวนระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งสามเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเอง
บันทึกการจับกุมระบุว่าผู้ต้องหาทั้งสามถูกจับกุมวันที่ 11 พ.ค. 64 เวลาประมาณ 19.30 น. ที่ สน.พหลโยธิน โดยมี พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผกก.สน.พหลโยธิน และ พ.ต.ท.ธเนศ ศรีจำปา รอง ผกก.สส.สน.พหลโยธินเป็นผู้อำนวยการจับกุม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ต.เชษพัทธ์ วงศ์สวัสดิ์ สว.สส.สน.พหลโยธิน และคณะรวม 6 นายร่วมจับกุม
พฤติการณ์แห่งการจับกุมระบุว่า ก่อนทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ประจำสถานี ได้มีผู้ต้องหาทั้งสาม ได้ทราบว่าตัวเองเป็นบุคคลที่มีหมายจับ จึงเดินทางมาที่ สน.พหลโยธิน และได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมว่า ตนเองเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลอาญา มีความประสงค์เพื่อติดต่อขอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงทำการตรวจสอบ ปรากฏว่าทั้งสามเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นจริงและไม่เคยถูกจับดำเนินคดีตามหมายจับมาก่อน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงทำการแจ้งสิทธิและจับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ในชั้นจับกุมทั้งหมดให้การรับว่าตนเป็นบุคคลที่ระบุในหมายจับดังกล่าวจริง และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พฤติการณ์แห่งคดีและข้อกล่าวหา
คดีจากกรณีการชุมนุมวันที่ 29 เม.ย. 64 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ เบนจา, ณัฐชนน และ ภัทรพงศ์ รวม 6 ข้อหา ดังนี้
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
ส่วนคดีจากกรณีการชุมนุมวันที่ 30 เม.ย. 64 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ เบนจา และ ณัฐชนน รวม 5 ข้อหา ดังนี้
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 มิ.ย. 64
ได้ประกันในชั้นสอบสวน
เวลา 23.24 น. ทั้งสามได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยเบนจา และ ณัฐชนน พนักงานสอบสวนกำหนดวงเงินคนละ 200,000 บาท เนื่องจากทั้งสองถูกดำเนินคดี 2 คดี ด้านภัทรพงศ์ กำหนดวงเงินประกันตัว 100,000 บาท
รวมเงินประกันทั้งสิ้น 500,000 บาท จากกองทุนราษฎร มี ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายประกัน
วันเดียวกันนี้ (11 พ.ค. 64) นักกิจกรรมรวม 3 ราย ทยอยถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” และข้อหาอื่นรวม 6 ข้อหา จากเหตุชุมนุมหน้าศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 และถูกฝากขังต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก่อนได้รับการประกันตัว
รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา
มูลเหตุของคดีมาจากการชุมนุมหน้าศาลอาญารัชดาหรือ #ม็อบ29เมษา เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 หลังทนายความและครอบครัวของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยื่นประกันตัว 7 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ และ “พอร์ท ไฟเย็น” ปริญญา ปฐมชีวินกุล
ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 7 ในเย็นวันนั้น แม้มีการแจ้งว่าจะเลื่อนไปในวันถัดไป
ทำให้ในวันถัดมา คือวันที่ 30 เม.ย. 64 ครอบครัวได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวเพนกวินและรุ้งอีกครั้ง เพื่อให้ทั้งสองเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาล หลังเพนกวินอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลา 46 วันแล้ว และรุ้งได้อดอาหารมาร่วม 1 เดือนแล้ว พร้อมกับที่แม่เพนกวินโกนหัวบริเวณลานจอดรถศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่ลูกชาย โดยมีประชาชนเดินทางมาปักหลักรอผลการประกันตัวด้วย ทั้งยังมีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์โดยการเผาภาพหน้าปกหนังสือประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา