3 พ.ย. 63 เวลา 13.00 น. ที่สน.ชนะสงคราม 12 นักกิจกรรม ผู้ถูกออกหมายเรียกและมีรายชื่อว่าจะถูกดำเนินคดีในกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน
ในกรณีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 63 ก่อนหน้านี้มีการจับกุมดำเนินคดีแกนนำและผู้ปราศรัย 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยทั้งเจ็ดถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นหลัก
คดีจากการชุมนุมครั้งนี้ ยังถูกแยกดำเนินคดีแยกเป็น 2 คดีใหญ่ ได้แก่ กรณีเกี่ยวกับการจัดเวทีปราศรัยและการจัดชุมนุม ซึ่งมีพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับสน.ชนะสงคราม กับพวก เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา
อีกคดีหนึ่ง คือกรณีการฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งมีผู้กล่าวหาสองราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มอบอำนาจให้นายสุรเดช อำนวยสาร เป็นผู้แจ้งความ และกรมศิลปากร มอบอำนาจให้นายสถาพร เที่ยงธรรม เป็นผู้แจ้งความ
นอกจากการจับกุมแกนนำ ในทั้งสองคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามยังมีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝังหมุดมารับทราบข้อหาเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง โดยนักกิจกรรมบางส่วนก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่ได้รับแจ้งว่าอยู่ในรายชื่อที่ตำรวจออกหมายเรียก รวมจำนวนทั้งหมด 17 ราย
ขณะที่ในวันนี้มีผู้เดินทางมารับทราบข้อหาจำนวน 12 ราย นำโดยนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที, นายไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มนนทบุรีปลดแอก โดยมีนักกิจกรรมนำพวงมาลัยดาวเรืองมาให้กำลังผู้ถูกดำเนินคดีด้วย
ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากห้องสอบสวนของสน.ชนะสงครามมีขนาดเล็ก ทำให้มีการทยอยให้ผู้ถูกออกหมายเรียกเข้ามารับทราบข้อหาเป็นกลุ่มๆ โดยผู้ต้องหาแต่ละรายถูกแจ้งข้อกล่าวหาแตกต่างกันไป ตามพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
นักกิจกรรม 12 ราย ที่เดินทางมาตามหมายเรียกในวันนี้ ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไป 11 ราย โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียก 1 ราย มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าไม่ได้อยู่ในการชุมนุมดังกล่าว
ขณะที่นักกิจกรรม 11 ราย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา มีจำนวน 10 ราย ที่ถูกดำเนินคดีในทั้ง 2 คดี คือคดีจากการชุมนุมปราศรัย 19-20 ก.ย. และคดีการฝังหมุดคณะราษฎร ขณะที่มีนายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ถูกกล่าวหาคดีเดียว โดยไม่ได้ถูกกล่าวหาในคดีการฝังหมุดคณะราษฎรด้วย
.
คดีจากการชุมนุมและปราศรัย 19-20 ก.ย.
ในส่วนคดีการชุมนุม ผู้ต้องหา 8 ราย ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาหลัก ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวางสิ่งของกีดขวางการจราจร และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งสามข้อหานี้มีโทษเป็นอัตราโทษปรับ
ในส่วนของนายธานี สะสม, นายณัฐชนน ไพโรจน์, นายภัทรพงศ์ น้อยผาง และสุวรรณา ตาลเหล็ก นอกจากถูกแจ้ง 3 ข้อหาดังกล่าว เหมือนผู้ต้องหาคนอื่นๆ ยังได้ถูกแจ้งทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเจ้าหน้าที่อ้างถึงพฤติการณ์ที่เข้าร่วมขึ้นปราศรัยโจมตีขับไล่นายกรัฐมนตรีด้วย
ขณะที่นายไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์, นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ, นายวสันต์ เสดสิทธิ์ นั้น ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เพียงข้อหาเดียว เรื่องการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท) จากกรณีพฤติการณ์พั้งรั้วกำแพงของกรุงเทพมหานคร เข้าไปภายในสนามหลวง และกรณีพบการตัดกุญแจรอบสนามหลวง
คดีจากการฝังหมุดคณะราษฎร
ในส่วนคดีฝังหมุดคณะราษฎร ผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ นายอรรถพล บัวพัฒน์, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง, นายธนชัย เอื้อฤาชา, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา จากพฤติการณ์การฝังหมุดลงบนท้องสนามหลวง
- ข้อหาร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง ต่อเติม โบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10 (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท)
- ข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท)
- ข้อหาติดตั้ง ตากวาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 (โทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท)
ในส่วนของนายไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ และนายวสันต์ เสดสิทธิ์ ถูกแจ้งเฉพาะข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เพียงข้อหาเดียว
ส่วนกรณีนายธานี สะสม, นายณัฐชนน ไพโรจน์, นายภัทรพงศ์ น้อยผาง และสุวรรณา ตาลเหล็ก ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เพียงข้อหาเดียว โดยในส่วนของณัฐชนนยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในเอกสารการแจ้งข้อหา เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนอ้าง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน
ภาพผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์หลังรับทราบข้อกล่าวหา และชุดเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามอยู่หน้าสน.ชนะสงคราม
อดีตสมาชิกดาวดินไม่ได้ไปชุมนุม ก็ถูกออกหมายเรียก-แจ้งข้อหาด้วย
ขณะเดียวกันกรณีของนายวสันต์ เสดสิทธิ์ และนายสุวิชชา พิทังกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งไม่ได้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. แต่อย่างใด แต่กลับได้รับแจ้งว่ามีการออกหมายเรียกให้ทั้งคู่มารับทราบข้อหา โดยเจ้าหน้าที่นำภาพผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวง และมีการคาดเดาว่าเป็นทั้งสองคน ทั้งที่ไม่ใช่แต่อย่างใด
กรณีของนายสุวิชชาจึงได้นำพยานหลักฐานว่าตนไปทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่ในวันเวลาดังกล่าว และไม่ได้เดินทางไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด เตรียมมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู โดยต้องการทราบข้อกล่าวหาที่ตำรวจอ้างว่าเขาถูกกล่าวหาก่อน ทางพนักงานสอบสวนจึงไม่แจ้งข้อกล่าวหาต่อเขา สุวิชชายังได้ขอเจ้าหน้าที่ดูหมายเรียกของตนเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ดู อ้างว่าอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
แต่กรณีนายวสันต์ ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงด้วย แม้จะแจ้งพนักงานสอบสวนว่าเขาไม่ได้มาร่วมชุมนุมแล้วก็ตาม แต่ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับสอบสวน ยังคงมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาอีก
ทั้งสองคนระบุว่าการถูกออกหมายเรียกดังกล่าว เป็นดำเนินการโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุมเลย ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางมาสถานีตำรวจ โดยในส่วนของวสันต์ยังต้องนั่งรถมาจากต่างจังหวัดอีกด้วย และกลับต้องมาต่อสู้คดีต่อ
เวลา 18.20 น. ในส่วนของวสันต์และสุวิชชา พนักงานสอบสวนยังยืนยันว่าจะลงบันทึกประจำวันในวันนี้ต่อการเดินทางมาของทั้งคู่ โดยจะระบุว่าสุวิชชามีการนำพยานหลักฐานมา แต่ไม่ได้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงยังไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งสุวิชชาได้โต้แย้งข้อความดังกล่าว
ในที่สุดจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าสุวิชชาได้มาพบ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ แล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และไม่ได้สอบปากคำ ทั้งที่ตนได้มาแสดงตัวแล้ว พร้อมกับได้นำพยานหลักฐานเตรียมมาให้การว่าตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63
ขณะที่ของวสันต์ เจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าเขาได้ถูก พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยเขาให้การปฏิเสธทั้งสองข้อหา
หลังจากการรับทราบข้อกล่าวหา กลุ่มผู้ต้องหาในคดีนี้บางส่วนยังได้ทำกิจกรรมเผาพริกเกลือที่หน้าสน.ชนะสงคราม พร้อมกับสวดมนต์ให้ประยุทธ์ไปดี ออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียที