วันที่ 18 ม.ค. 64 เวลา 9.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีหรือไม่ ในคดีที่นายวสันต์ เสดสิทธิ์ หรือ “โต้ง” อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน ร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับสอบสวนสน.ชนะสงคราม ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และกลั่นแกล้งให้เป็นคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200
เหตุแห่งการฟ้องร้องในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีการจัดชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ก่อนมีการแจ้งรายชื่อว่ามีการออกหมายเรียกนายวสันต์ เสดสิทธิ์ และนายสุวิชชา พิทังกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสมาชิกกลุ่มดาวดินด้วย โดยที่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งสองคนไม่ได้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด
ในวันที่ 3 พ.ย. 63 ทั้งสองคนได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน ร่วมกับผู้ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำภาพผู้ชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการพังรั้วสนามหลวง และมีการระบุข้อมูลว่าเป็นทั้งสองคน ทั้งที่ไม่ใช่แต่อย่างใด ในส่วนนายสุวิชชาได้นำพยานหลักฐานว่าตนไปทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่ในวันเวลาดังกล่าว มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู ทางพนักงานสอบสวนจึงไม่แจ้งข้อกล่าวหาต่อเขา สุวิชชายังได้ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบหมายเรียกของตนเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ดู อ้างว่าอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
แต่กรณีนายวสันต์ ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงด้วย แม้จะแจ้งกับพนักงานสอบสวนว่าเขาไม่ได้มาร่วมชุมนุมด้วยและประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นแล้วก็ตาม แต่ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ยังคงแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาอีก โดยดำเนินคดีในสองคดี ได้แก่ คดีเรื่องการร่วมกันชุมนุม ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวายฯ) และคดีการทำลายรั้วสนามหลวง ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์)
ทั้งสองคนเห็นว่าการถูกออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นดำเนินการโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่กลับต้องเสียเวลาเดินทางมาสถานีตำรวจ เสียค่าเดินทางมาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะวสันต์ยังต้องมีภาระต่อสู้ในคดีต่อไปอีก และถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 63 นายวสันต์ เสตสิทธิ์ ร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ในข้อหาตามมาตรา 157 และมาตรา 200 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยเห็นว่า พ.ต.ท.โชคอำนวย มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ ศาลอาญาทุจริตฯ ได้รับคำฟ้องไว้ พร้อมนัดฟังคำสั่งว่าจะมีการรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ วันที่ 18 ม.ค. 64 เวลา 9.30 น.
เปิดคำฟ้อง: พนักงานสอบสวนต้องรับผิด จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน
ในการยื่นฟ้อง วสันต์ได้รวบรวมพยานหลักฐานว่าในวันที่ 19-20 ก.ย. 63 เขาประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และได้เข้าทำงานตามปกติ เพื่อยืนยันสถานที่อยู่ในช่วงวันเวลาเกิดเหตุ ประกอบคำฟ้องคดี
คำฟ้องบางส่วนระบุว่า พ.ต.ท.โชคอำนวยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี “มีหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และต้องตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่อย่างไรให้ครบถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป เพื่อให้จำเลยมีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะเชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยไม่อาจรับฟังคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนอย่างเพียงพอ”
แต่ พ.ต.ท.โชคอำนวย กลับไม่ทำการแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ ไม่ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา ให้ละเอียดครบถ้วนเพื่อให้มีหลักฐานตามสมควร แต่กลับทำการแจ้งข้อกล่าวหากับวสันต์ ทั้งที่มีเพียงเอกสารภาพถ่ายประกอบคดี เป็นภาพกลุ่มบุคคลกำลังยืนอยู่บริเวณแนวรั้วเหล็กสีเขียวและภาพบุคคลใส่เสื้อยืดสีดำแขนสั้นสวมหมวกผ้าสีดำปีกกว้างไม่เห็นใบหน้า มาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหา อ้างว่าบุคคลตามภาพถ่ายเป็นวสันต์ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ชัดแจ้ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 บัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”
และมาตรา 134 วรรคสองบัญญัติว่า “การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น” และวรรคสามบัญญัติว่า “ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม”
อีกทั้งตามบันทึกข้อความสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองคดีที่ 0004.6/3175 วันที่ 22 เมษายน 2557 เรื่อง การเรียกผู้ต้องหาไปพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ได้วางแนวปฏิบัติของพนักงานสอบสวนว่าจะมีอำนาจเรียกผู้ต้องหาไปพบได้ก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริง โดยมีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาเสียก่อน การมีคำร้องทุกข์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน พนักงานสอบสวนยังไม่มีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาไปพบได้
คดีตามข้อกล่าวหาทั้งสอง พ.ต.ท.โชคอำนวย จึงยังไม่มีอำนาจที่จะเรียกโจทก์ไปพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาได้ พ.ต.ท.โชคอำนวย ในฐานะพนักงานสอบสวนซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสอบสวนย่อมมีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเป็นอย่างดี ในการต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบหรือกลั่นแกล้งประชาชน
การที่ พ.ต.ท.โชคอำนวย ออกหมายเรียกให้วสันต์มาพบในฐานะผู้ต้องหาและมีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งยังทำการสอบสวนคดีอยู่เรื่อยมา โดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นเจ้าพนักงานโดยเจตนาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่วสันต์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเพื่อจะแกล้งให้ต้องรับโทษ ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทำให้วสันต์ได้รับความเสียหาย ต้องตกเป็นผู้ต้องหาถึงสองคดี ต้องถูกพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำทะเบียนประวัติอาชญากร มีประวัติอาชญากรในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภาระต้องเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
“การกระทำของจำเลยดังกล่าวตามฟ้อง ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์เกินความจำเป็น และในฐานะที่พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจพิเศษเหนือบุคคลธรรมดาทั่วไป การปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ประชาชนผู้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในฐานะผู้ต้องหา จึงต้องรับผิดจากการกระทำดังกล่าว” คำฟ้องระบุ
วสันต์และสุวิชชา พร้อมกับนักกิจกรรมผู้ถูกออกหมายเรียกในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63
อ่านรายงานกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร
แจ้งข้อหาคดีชุมนุม 19 ก.ย. อีก 11 คน อดีตสมาชิกดาวดินไม่ได้ไปชุมนุม แต่กลับโดนแจ้งข้อหาด้วย
อ่านประมวลสถานการณ์การชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร
อ่านภาพรวมการชุมนุม ประมวล #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร การชุมนุมที่ปักหมุดใหม่ให้ประวัติศาสตร์