ประมวล #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร การชุมนุมที่ปักหมุดใหม่ให้ประวัติศาสตร์

ผ่านพ้นไปแล้วกับการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร โดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม การชุมนุมซึ่งเป็นที่จับตาตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เนื่องด้วยการประกาศถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมล้วนแล้วแต่ท้าทาย โดยเฉพาะ “การทวงคืนสนามหลวง”  และการฝังหมุดคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความหมายในเชิงพื้นที่และเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก และนับเป็นการยกระดับการชุมนุมในทุกๆ ด้านนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

การสกัดกั้นผู้ชุมนุมก่อนวันชุมนุมใหญ่

การล้อมรั้วสนามหลวงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการชุมนุมนับว่ารัดกุมเป็นพิเศษ พร้อมกระแสข่าวว่าสถานะของสนามหลวงทั้งการเป็น “โบราณสถาน” และ “พื้นที่ของสำนักพระราชวัง” อาจเป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนชุมนุมที่สนามหลวงไม่ได้สร้างบรรยากาศการป้องปราม

ภาพ: สถาบันทิศทางไทย

นอกจากนี้นักกิจกรรมและกลุ่มชาวบ้านหลายรายยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามเพื่อสอบถามถึงการไปร่วมชุมนุม เช่น สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนจากชุมชนโคกอีโด่ย จ.สระแก้ว และ บ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์ โดยที่ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่กล่าวกับสมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนว่า หากชาวบ้านจะไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษาที่ กทม. ขอให้แจ้งจะได้ไปติดตามคุ้มครองด้วย ด้านสมาชิกกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งต้องการร่วมชุมนุมเพื่อผลักดันนโยบายยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาช่วงกล่าวว่าพบตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งรอหน้าบ้านแต่เช้า

         สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนผูกริบบิ้นสีขาวและชูสามนิ้วแสดงจุดยืนร่วมกับการชุมนุมวันที่ 19

ที่ จ.กระบี่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองติดตามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รายหนึ่งถึงโรงเรียนเพื่อสอบถามเรื่องการชุมนุมครั้งนี้ ที่ จ.ขอนแก่น เกิดเหตุบุกที่พักและยึดป้ายผ้า ซึ่งกลุ่มดาวดิน เตรียมนำมาใช้ในการชุมนุมที่สนามหลวง ฯลฯ 18 ก.ย. 2563 เกิดการสกัดกั้นประชาชนจากต่างจังหวัดผู้ตั้งใจเดินทางมาชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. หลายพื้นที่ เช่น จังหวัดศรีษะเกษ ลำพูน พะเยา ฯลฯ

ปิดธรรมศาสตร์

ช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าหน่วยเก็บกู้ระเบิดได้เข้าติดตั้งประตูตรวจจับโลหะบริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัย และติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เหนือประตู จากนั้นในช่วงค่ำเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ลั่นกุญแจประตูมหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวงแล้วปิดป้ายว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดทำการชั่วคราวระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2563” โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าในวันชุมนุมจริงจะเปิดประตูฝั่งถนนพระอาทิตย์ให้เข้าออกโดยมีมาตรการคัดกรองและตรวจบัตรประชาชน ทว่าในวันจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เช้าวันที่ 19 กันยายน 2563 การตรึงกำลังอย่างหนาแน่นของเจ้าหน้าที่

19 กันยายน เวลา 06.28 น. ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 4 ประตู ได้แก่ ประตูฝั่งสนามหลวงทั้งฝั่งเข้าและออก ประตูฝั่งท่าพระจันทร์ และฝั่งถนนพระอาทิตย์ถูกลั่นกุญแจทั้งหมด ไม่เหลือประตูเปิดให้เข้าใช้ดังที่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยกล่าวไว้ตอนแรก

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มทยอยนำรั้วเหล็กมาตั้งตามจุดต่างๆ ที่ประชาชนจะผ่านเข้าสู่สนามหลวง ถนนหน้าโรงละครแห่งชาติ พร้อมการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่เต็มพื้นที่ ฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า มีรถตู้ในสังกัดของสถานีตำรวจภูธรราว 16 คัน และรถควบคุมผู้ต้องขังจอดอยู่ 8.30 น. ภายในโรงละครแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวนมากประจำอยู่ โดยสวมทั้งชุดสีกากี ชุดสีน้ำเงินเครื่องแบบของตำรวจควบคุมฝูงชน และมีเจ้าหน้าที่ซึ่งผูกผ้าพันคอสีเทา ฟ้า น้ำตาล และเจ้าหน้าที่กองร้อยหญิง

ตำรวจยึดหนังสือวิจารณ์พระราชอำนาจเกือบ 50,000 เล่ม ที่เตรียมมาแจกในการชุมนุม

10.40 น. เกิดความเคลื่อนไหวนอกสถานที่ชุมนุมแต่นับว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เมื่อตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เดินทางไปบ้านสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากนั้นพยายามยึดหนังสือ  “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยวิจารณ์พระราชอำนาจจากเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน  เมื่อ 10 ส.ค. 2563  จำนวน 49,990 เล่ม ที่นักศึกษาเตรียมนำมาแจกผู้ชุมนุมวันนี้ โดยหนังสือทั้งหมดได้รับการจัดเรียงอยู่ในรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว

เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายค้นซึ่งแสดงว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ค้น เจ้าหน้าที่มีจำนวนเท่าใด มีอำนาจใดในการค้น ตลอดจนต้องการค้นหาที่ใดของบริเวณที่พัก อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับ นักศึกษาจึงปฏิเสธที่จะให้หนังสือไปและนั่งคล้องแขนขวางรถขนหนังสือไว้ นักศึกษาเสนอให้ตำรวจนำหนังสือไปตรวจได้จำนวนหนึ่ง หากหนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาเข้าองค์ประกอบความผิดฐานการล้มล้างการปกครองดังกล่าว ให้ตามไปยึดได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ตำรวจอ้างว่าในรถอาจมีสิ่งของอื่นที่อาจผิดกฎหมายอีก ตำรวจ 3 นายเปิดประตูหลังของรถบรรทุกและตะโกนถามว่ามีอะไรผิดกฎหมายอีกหรือไม่

11.17 น. ตำรวจกว่า 20 นาย ล้อมกลุ่มนักศึกษาราว 10 รายไว้ จากนั้นกำลังตำรวจตามมาสมทบมากขึ้น ตำรวจด้านหน้ารถบรรทุกพยายามลากตัวนักศึกษา 2 คนออกไป จนเกิดเหตุชุลมุน นักศึกษาที่เหลือขอร้องไม่ให้พาตัวเพื่อนนักศึกษาออกไป ก่อนเหตุการณ์สงบลง

11.24 น. เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถบรรทุกเสร็จสิ้น ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย นักศึกษาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยืนยันก่อนว่าสิ่งของในรถไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.116 ยุยงปลุกปั่น ดังที่ตำรวจกล่าวอ้าง

11.28 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสนธิกำลังกันขนถ่ายหนังสือจากรถบรรทุกไปรถกระบะของตำรวจ นักศึกษากล่าวว่า “เราไม่ยินยอม แต่จำยอมด้วยกำลัง เจ้าหน้าที่มาเต็มซอยหอพักแล้ว”

11.39 น. นักศึกษาเดินทางไปลงบันทึกประจำวันเรื่องการตรวจยึดหนังสือ ที่ สภ.คลองหลวง ต่อมาได้รับการรายงานงานว่านักศึกษาคนดังกล่าวได้ถูกตำรวจพาไปห้องสอบสวนต่อเพื่อเตรียมการแจ้งข้อกล่าวหา ข้อหายุยงปลุกปั่น ม. 116 และห้ามการชุมนุม ตาม พรก. ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 

 

รถเครื่องเสียงถูกสกัด-รถเครื่องปั่นไฟยางแบน 

11.30 น. กลุ่มผู้จัดชุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ปักหลักหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งสนามหลวง คอยประกาศและสื่อสารข้อมูลต่างๆ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่​ตำรวจได้ปักหลักที่สนามหลวงฝั่งธรรมศาสตร์ ยืนประกาศผ่านรถเครื่องเสียงประจันหน้ากัน โดยมีสาระสำคัญว่าเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19​ จึงขอห้ามทำการชุมนุม

11.40 น. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประกาศว่าตำรวจกำลังสกัดรถขนอุปกรณ์สำหรับการชุมนุมที่มาถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ขอระดมมวลชนไปช่วยเอารถเข้าพื้นที่ โดยรถที่ถูกสกัดมีอย่างต่ำ 6 คัน ประกอบไปด้วยรถเครื่องเสียง รถขนอุปกรณ์ประกอบเวที รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และรถเครื่องปั่นไฟ

รถขนอุปกรณ์ที่ถูกสกัด

จากนั้น ปิยรัฐ จงเทพ ได้เข้าเจรจากับตำรวจ ในเวลาต่อมาประชาชนและสื่อมวลชนราว 100 คนซึ่งเดินข้ามสะพานปิ่นเกล้าเพื่อเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมได้มาถึง ประชาชนโห่ไล่ตำรวจที่บริเวณด่านสกัดและตะโกนว่า “ออกไป” หลายครั้ง ประชาชนส่วนหนึ่งร่วมคล้องแขนกั้นเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าถึงรถขนอุปกรณ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่เสนอเงื่อนไขว่าจะปล่อยรถทั้งหมดเข้าสู่บริเวณจัดชุมนุมแต่ต้องให้เจ้าหน้าที่ขับรถประกบรถขนอุปกรณ์อีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งปิยรัฐตกลงและให้อาสาสมัครคอยสังเกตการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกต่อหนึ่งอย่างใกล้ชิด

ประชาชนนับร้อยที่เดินเท้าจากเชิงสะพานปิ่นเกล้าไปสนามหลวง

11.56 น. มวลชนช่วยนำรถขนอุปกรณ์ประกอบเวทีมาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำเร็จ แต่ตำรวจถ่ายรูปบัตรประชาชนคนขับรถเครื่องเสียงไว้ ผู้จัดฯ จึงเข้าเจรจาขอให้ตำรวจลบรูปเนื่องจากไม่มีสิทธิทางกฎหมายที่จะทำเช่นนั้น ซึ่งตำรวจได้ลบออก

12.00 น. คนขับรถเครื่องปั่นไฟพบว่ารถยางแบน และตั้งข้อสันนิษฐานว่ายางรั่วขณะเดินทางมาถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ไม่ได้รั่วระหว่างการเดินทางก่อนหน้านั้น ปิยรัฐกล่าวว่ากรณีนี้ตำรวจต้องรับผิดชอบและเปลี่ยนยางให้

เข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ

12.05 น. ประชาชนเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวงได้สำเร็จ ซึ่งภายในมหาวิทยาลัยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำอยู่แล้วหลายจุด เช่นบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่และคณะนิติศาสตร์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพผู้ชุมนุมไว้ทั้งด้วยอุปกรณ์ที่เห็นได้ชัดอย่างโทรศัพท์มือถือและกล้องขนาดจิ๋ว

12.25 น.​รถปราศรัยเคลื่อนเข้าสู่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ปนัสยา และ ภานุพงศ์ จาดนอก ตะโกนปราศรัยอยู่บนรถ เนื่องจากรถเครื่องเสียงยังตามเข้ามาไม่ได้ขณะนั้น ต่อมารถเครื่องเสียงตามเข้ามาได้ในที่สุด

​12.57 น. ผู้ปราศรัยเริ่มผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีและเชิญชวนประชาชนมาให้เต็มพื้นที่  13.40 น. ที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์ ประชาชนจำนวนหนึ่งเจรจากับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจนฝ่าการปิดกั้นเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำเร็จ โดยมีมวลชนปรบมือต้อนรับกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่ม

13.50 น. กลุ่ม #นนทบุรีปลดแอก เดินขบวนเข้าสนามฟุตบอล​ โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายคลิป ราว 14.00 น. แกนนำการชุมนุม และผู้ปราศรัยทั้งหมดขึ้นรถเวทีและเดินทางออกจากธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าสู่สนามหลวง

ทวงคืนสนามหลวงฝั่งเหนือสำเร็จ : “วันนี้เป็นวันที่ประชาชนกลับมาชักว่าวที่สนามหลวงได้แล้ว”

14.20 น. จตุภัทร์ และกลุ่ม I-BLUE  ถือป้ายผ้า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เขียนขึ้นใหม่หลังถูกบุกยึดที่ขอนแก่นเข้าสู่สนามหลวงพร้อมอ่านข้อความในป้ายให้ผู้ชุมนุมฟัง จากนั้นรถปราศรัยได้เคลื่อนมากลางสนามหลวง ประชาชนย้ายแผงเหล็กกั้นที่ลานซีเมนต์สนามหลวงฝั่งเหนือออกแล้วขนข้าวของและเต็นท์เข้ามาตั้งใกล้เวทีเล็กหน้าศาลฎีกา มีคนนำว่าวมาเล่นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

14.30 น. ผู้จัดฯ ที่อยู่บนรถปราศรัยประกาศว่ายึดสนามหลวงได้แล้วและนี่คือสนามของประชาชน  จากนั้น “ภาคีเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเพศ” และผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งถือธง Pride เข้ามาใกล้เวทีเล็กหน้าศาลฎีกา พิธีกรประกาศว่าสนามหลวงเป็นของคนทุกเพศทุกวัย และวันนี้ประชาชนกลับมาชักว่าวที่สนามหลวงได้แล้ว เป็นสัญลักษณ์ว่าสนามหลวงกลับมาเป็นของประชาชนแล้ว จากนั้นเปิดเพลง “ประวัติศาสตร์” พิธีกรย้ำเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน” พร้อมชวนประชาชนร่วมเต้นบนธง Pride

เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมภายใน 1 ชั่วโมง ก่อนถอยร่นหลังมวลชนไม่ยอม

14.50 น. ที่สนามหลวงฝั่งถนนหน้าพระลาน ประชาชนช่วยลำเลียงอุปกรณ์ประกอบเวทีมาประชิดแนวรั้วบริเวณสนามหลวงฝั่งใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่และปิดถนนไม่ให้รถขาออกที่มุ่งหน้าไปทางพระบรมมหาราชวังผ่าน

14.57 น. เจ้าหน้าที่ขอเจรจากับจตุภัทร์ การเจรจาของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างสุภาพ ผลการเจรจาคือต้องรอทีมส่วนกลางของฝั่งประชาชนมาเจรจาอีกครั้ง

15.14 น. เจ้าหน้าที่ประกาศผ่านรถเครื่องเสียงว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ให้ยกเลิกการชุมนุมภายใน 1 ชั่วโมง ประชาชนล้อมรอบตำรวจ โห่ไล่ และชู 3 นิ้ว

15.22 น. ขบวนแห่ธง Pride เดินมาถึงบริเวณรถเครื่องเสียงของเจ้าหน้าที่จอดอยู่ พิธีกรกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจคะ เปิดสนามหลวงให้ประชาชนเถิดค่ะ” ผู้ชุมนุมตะโกนขอให้รถเครื่องเสียงของเจ้าหน้าที่ออกจากสนามหลวง จากนั้นรถเครื่องเสียงสองคันของตำรวจค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปจอดยังหลังแนวรั้วสนามหลวงฝั่งใต้

15.25 น. รถปราศรัยเคลื่อนจากสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสนามหลวงโดยพิธีกรให้ผู้ชุมนุมค่อยๆเคลื่อนตามหลังรถ จนผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงได้ทั้งหมด  15.30 น. บริเวณสนามหลวงฝั่งใต้หรือฝั่งพระบรมมหาราชวัง ภานุพงศ์เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอขยายขอบเขตพื้นที่การชุมนุม ผลปรากฏว่าตำรวจผ่อนปรนให้ขยายพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้พื้นที่ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่าถ้ามวลชนเพิ่มมากขึ้นจะเจรจาอีกครั้ง

 

รถสุขาที่ถูกสกัดเข้าพื้นที่ได้ในที่สุด

ย้อนกลับไปในช่วงสาย รถสุขากว่าครึ่งหนึ่งที่เข้ามาให้บริการผู้ชุมนุมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกักไว้ตรงบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพราะอาจมีการนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม ทำให้รถสุขาเข้ามาในที่ชุมนุมไม่ได้ รถสุขาอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาได้ กลับไม่สามารถหาที่จอดรถได้ เนื่องจากตำรวจขับรถจักรยานยนต์ไล่ตาม และห้ามไม่ให้จอดบริเวณรอบสนามหลวง ทำให้รถส่วนนี้ต้องขับวิ่งวนไปมา ทั้งวนรอบสนามหลวงและวนห่างออกไป โดยรถสุขาบางคันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขับไล่ไปถึงบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ประมาณ 15.30 น. เศษ ที่การชุมนุมเริ่มย้ายเวทีมาที่สนามหลวงแล้ว และคนเริ่มทยอยมามากขึ้น ทำให้รถสุขาส่วนหนึ่งหลุดเข้ามาจอดให้บริการผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ และต่อมาทยอยมาจอดได้ทั้งหมด 10 คัน

ประชาชนเข้าสู่สนามหลวง-ขยายขอบเขตพื้นที่การชุมนุม

15.48 น. มวลชนทยอยปักหลักภายในสนามหลวงจนเต็มพื้นที่ เจ้าหน้าที่เปิดรั้วให้รถพยาบาลเข้า

16.09 น. รถปราศรัยที่มีแกนนำชุมนุมอยู่บนรถเคลื่อนที่กระชับมายังกลางสนามหลวงมากขึ้น มุ่งหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง

16.14 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเสริมกำลังในสนามหลวงหลังแนวรั้วกั้น โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนถือเครื่องขยายเสียงความถี่สูงระยะไกล (Long Range Acoustic Device: LRAD) เข้ามาด้วย ประชาชนตะโกนไล่ตำรวจ แต่ไม่นานหลังจากนั้น

16.20 น. ประชาชนเข้าสู่สนามหลวงสำเร็จ โดยแทบไม่มีการผลักดันเกิดขึ้น หลังจากผู้ชุมนุมสามารถขยายขอบเขตพื้นที่การชุมนุมได้แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังมาตั้งแถวริมรั้วสนามหลวงฝั่งศาลฎีกา และเจ้าหน้าที่เปิดรั้วกั้นฝั่งศาลฎีกาให้ประชาชนเข้าออกได้

เจ้าหน้าที่ตั้งแนวรั้วกั้น “เขตพระราชฐาน” ไม่ให้ประชาชนเข้าใช้

16.29 น. เจ้าหน้าที่ตั้งแนวรั้วใหม่ กันเขต 150 ม. จากจากเขตพระราชฐาน ซึ่งเริ่มต้นนับจากวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังถึงส่วนหนึ่งของสนามหลวงและพื้นที่นอกสนามหลวงที่อยู่ในรัศมี 150 ม. ไม่ให้ประชาชนเข้าใช้  ด้านหลังแผงกั้นมีเจ้าหน้าที่ยืนประจำการกว่า 200 นาย

16.32  น. หลังแนวรั้วใหม่ รถฉีดน้ำราว 15 คันได้เคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ ประชาชนโห่ไม่พอใจ ประชนบางส่วนต้องการดันแนวรั้วใหม่ ปนัสยาประกาศบอกประชาชนว่าไม่จำเป็นต้องดันแนวรั้ว ใช้พื้นที่สนามหลวงแค่นี้ถือว่าเพียงพอ

16.38 น. เจ้าหน้าที่ชุด บก.น.5 ผูกผ้าพันคอสีเขียว และ บก.น.1 ผูกผ้าพันคอสีน้ำตาล เข้าเสริมกำลังตลอดหลังแนวรั้ว อาสาสมัครมาแจ้งมวลชนริมแนวรั้วฝั่งพระบรมมหาราชวังให้กลับไปทางเวทีใหญ่ก่อน คนเริ่มทยอยเดินกลับไปที่เวที รถฉีดน้ำของตำรวจนครบาลทยอยเข้ามาเพิ่มจนมีรถฉีดน้ำจอดอยู่หลังแนวรั้วไม่ต่ำกว่า 27 คัน

 

ประกาศให้บริเวณตั้งแต่พระบรมมหาราชวังจนถึงหน้าศาลฎีกาเป็นพื้นที่ควบคุม

16.40 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งภัตรคารเมธาวลัย ศรแดง เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองประชาชนที่เดินผ่านไปทางสนามหลวง ตำรวจควบคุมฝูงชนซึ่งผูกผ้าพันคอสีชมพูราว 30 คน เดินย้อนไปทางถนนราชดำเนินกลาง ส่วนด้านหน้าศาลฎีกามีเจ้าหน้าที่ผูกผ้าพันคอสีฟ้าประจำแนวรั้วเปิดช่องให้เข้าออก

17.16 น. พบโดรนบินอยู่กลางสนามหลวง 17.30 น. เวทีใหญ่เริ่มกิจกรรมตีกลองสะบัดชัย ผู้ชุมนุมตะโกน #ศักดินาจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของสนามหลวงเต็มไปด้วยประชาชน

17.50 น. เจ้าหน้าที่ติดตั้งแผงกั้นตรงถนนหน้าพระบรมมหาราชวังมุ่งหน้าไปศาลฎีกา และขอให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะประกาศให้พื้นที่หน้าพระบรมมหาราชวังจนถึงหน้าศาลฎีกาเป็นพื้นที่ควบคุม จากนั้นเจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังมาประจำหน้าศาลฎีการาว 60 นาย

17.58 น. ทีมอาสาสมัครของการชุมนุมเจรจากับตำรวจขอให้ประชาชนที่มารอที่แนวกั้นเดินออกไปก่อน ตำรวจเปิดทางให้บอกว่าขอให้เป็นชุดสุดท้าย จากนั้น 18.02 น. ตำรวจปิดแผงกั้น

 

การจัดปราศรัยวงย่อยและกิจกรรมรายรอบ

สำหรับบรรยากาศช่วง 18.00 น. เป็นต้นไป หลังตั้งเวทีสถานการณ์เริ่มนิ่งและคลายความตึงเครียดลง เกิดการจัดปราศรัยเวทีย่อยนำเสนอประเด็นอันหลากหลายรายรอบสนามหลวง เวทีเล็กบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมมีผู้ผลัดเปลี่ยนปราศรัยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ขาดสาย และตั้งฟลิปชาร์ตแสดงจำนวนผู้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระยะ กลุ่มประชาชนเบียร์ซึ่งสนับสนุนการทำคราฟท์เบียร์และต่อต้านการผูกขาดธุรกิจเบียร์ทำกิจกรรมต้มเบียร์ในกรงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

จุดถ่ายรูปจำลองเหตุการณ์จริงที่คนขับแท็กซี่ นวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่ชนรถถัง เพื่อแสดงออกถึงการต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

18.29 น. กลุ่มผู้หญิงปลดแอกปราศรัยเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของคนเพศหลากหลาย และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก รวมถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

18.45 น. เวทีเล็กหน้าศาลฎีกา ซึ่งกลุ่มศิลปะปลดแอกจับจองพื้นที่ ทำการแสดงชุด “99 Death Performance Art” ที่สื่อถึงการตายของผู้คนตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จนถึงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 โดยใช้นักแสดงเป็นจำนวนมาก ในช่วงหนึ่งของการแสดงมีการอ่านรายชื่อของคนเสื้อแดง 99 คนที่ถูกสังหารในปี 2553 ทีละคนพร้อมๆ กับที่ให้นักแสดงล้มลงทีละคนเป็นสัญลักษณ์ถึงการเสียชีวิต โดยการแสดงครั้งนี้มีพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกสังหารในวัดปทุมวนารามร่วมแสดงด้วย

พบกล้องแปลกปลอมที่ท่าช้าง

19.05 น. บริเวณทางขึ้นลงท่าช้าง หรือเส้นทางจากถนนมหาราชไปท่าเตียน พบแผงเหล็กตั้งไว้ 1 แผง และมีกล้องติดไว้ที่แผงเหล็กในลักษณะคล้ายตั้งใจบันทึกภาพผู้ชุมนุม ในบริเวณใกล้กันพบรถยนต์สังกัดตำรวจนครบาลจอดติดเครื่องอยู่ และตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นายยืนประจำจุด  บริเวณถนนหน้าพระบรมมหาราชวังพบแผงรั้วกั้นไว้และมีตำรวจเฝ้าอยู่แต่เปิดทางให้ประชาชนเดินผ่านได้ ส่วนถนนมหาราช ก่อนถึงมหาวิทยาศิลปากร มีการตั้งแนวรั้วประกาศสถานะเขตพระราชฐาน ในจุดนี้มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนผูกผ้าพันคอสีชมพูประจำอยู่ราว 10 นาย ซึ่งให้คนกลับจากการชุมนุมเดินผ่านไปได้โดยไม่มีการสอบถามใดๆ

รอง บช.น.ชี้ ได้ปิดการจราจรโดยรอบสนามหลวงและวางกำลังหลายจุด

20.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แถลงกรณีการปิดการจราจรโดยรอบสถานที่ชุมนุมว่า ขณะนี้ปิด 8 เส้นทาง ตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถึงถนนราชดำเนินใน ถนนสนามไชย ถึงแยก รด. ถนนท้ายวัง ถนนมหาราช ถนนท่าพระจันทร์ ถนนหน้าพระธาตุ ถนนหน้าพระลาน โดยปิดมาตั้งแต่เวลา 14.00 น. ไปจนถึงพรุ่งนี้ เวลา 06.00 น. จะเปิดให้สัญจรตามปกติ

 

ธรรมศาสตร์เปิดประตูเล็ก ประชาชนเข้าใช้ห้องน้ำและพักค้าง

21.11 น. หัวสนามหลวงฝั่งราชดำเนิน มวลชนเริ่มกางเต็นท์เพื่อปักหลักพักค้าง ส่วนบริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ มีการเตรียมกางเต็นท์และปูเสื่อนอนเช่นกัน โดยมวลชนที่ปักหลักจุดนี้ส่วนใหญ่เป็นมวลชนเสื้อแดงราว 100 คน ในบริเวณนี้มีการแสดงลิเกเนื้อหาเสียดสีการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจัดแสดงอย่างครึกครื้น

21.26 น. รถกระบะตำรวจแล่นเข้ามาบริเวณหน้าศาลฎีกามุ่งหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง​ โดยบรรทุก​โล่มาจำนวนหนึ่ง

21.44 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดประตูเพิ่มสามประตู คือประตูเล็กทั้งประตูเข้าและออกฝั่งสนามหลวง กับประตูเล็กฝั่งถนนพระอาทิตย์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใช้ห้องน้ำและนอนหลับพักค้างในมหาวิทยาลัยได้ ส่วนประตูใหญ่ฝั่งท่าพระจันทร์ที่มวลชนเข้ามาในช่วงกลางวันยังเปิดให้เข้าออกเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อย 15 นายกระจายหลายจุดในมหาวิทยาลัย และที่ด่านตรวจอาวุธหน้ามหาวิทยาลัยยังมีเจ้าหน้าที่กองร้อยหญิงเฝ้าอยู่

21.46 น. มีโดรนบินจากบริเวณด่านตรวจหน้ากระทรวงกลาโหมมุ่งจากนั้นเลี้ยวเข้าสนามหลวง

22.00 น. พบตำรวจในชุดควบคุมฝูงชน 3 นาย ยืนเฝ้าพระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกา จากการสอบถามตำรวจแจ้งว่าเนื่องจากมีเหตุเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จึงต้องมายืนเฝ้าไว้ ในช่วงดึกการปราศรัยและการแสดงต่างๆ เป็นไปอย่างเข้มข้น

รถสูบส้วมถูกสกัด รถสุขาจำต้องออกจากพื้นที่

ในช่วงค่ำ รถดูดส้วมที่ต้องเข้ามาถ่ายเทสิ่งปฏิกูลออกจากรถสุขาที่ประชาชนจัดหามา ถูกเจ้าหน้าที่กักรถไว้บริเวณท่าช้าง ไม่สามารถกลับเข้ามาในที่ชุมนุมได้อีก โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจใดในการกักรถไว้ เมื่อรถดูดส้วมไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้รถห้องน้ำเริ่มเต็มในช่วงดึก

หลัง 24.00 น. รถสุขาได้ทยอยออกจากที่ชุมนุม ทั้งเนื่องจากส้วมเต็ม ไม่สามารถใช้งานได้ และบางส่วนถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ออกจากพื้นที่ ทั้งอ้างว่าส้วมเต็มแล้ว และอ้างเรื่องว่าการชุมนุมครั้งนี้จะผิดกฎหมาย

ช่วงราวหลัง 2.00 น. ของวันที่ 20 ก.ย. ได้เกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย เนื่องจากมีการประกาศข่าวว่าทางตำรวจได้ยึดรถสุขาไว้ ทำให้ประชาขนไม่พอใจ มารุมล้อม ทั้งผู้ขับรถสุขากรงจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย จึงนำรถออกไปจากที่ชุมนุม และไม่มีรถคันใดกลับมาอีก ทำให้ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 20 ก.ย. ไปจนกระทั่งการชุมนุมสิ้นสุด จึงไม่มีรถห้องน้ำให้บริการในที่ชุมนุมอีก

รถสุขาขณะทยอยออกจากสนามหลวงเพราะส้วมเต็ม

การชุมนุมหลังเที่ยงคืน พบการปิดกั้นบริเวณโดยรอบสนามหลวงหลายจุด

การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ก้าวเข้าสู่วันใหม่ 20 ก.ย. 2563 ในเวลาหลังเที่ยงคืน การชุมนุมยังคงดำเนินไปและมีผู้ขึ้นเวทีปราศรัยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้มีรายงานถึงการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตลอดจนการปิดกั้นพื้นที่หลายจุดในช่วงหลังเที่ยงคืน ดังนี้

00.59 น. มีผู้พบเห็นรถตู้ตำรวจไม่ต่ำกว่าสิบคันเคลื่อนจากหลายบริเวณ เช่น ถนนนางเลิ้ง แยกอรุณอัมรินทร์ วงเวียนใหญ่ ฯลฯ มุ่งหน้ามาทางสนามหลวง

01:03 น. สำนักข่าว PPTV รายงานว่าบริเวณแยกมัฆวาน เส้นทางจากถนนราชดำเนินมุ่งหน้าเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล พบเจ้าหน้าที่นำรถยกแบร์ริเออร์คอนกรีต และลวดหนามหีบเพลงมาติดตั้ง เพื่อเป็นแนวป้องกันผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ ตามแผนของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ประกาศเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 20 ก.ย.

01.10 น. ด้านหน้าโรงละครแห่งชาติพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนราว 2 กองร้อยตั้งแถวอยู่ ส่วนบริเวณถนนหน้าศาลฎีกาพบตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่ประมาณ 1 กองร้อย โดยด้านหลังแนวตำรวจ มีแนวรถเมล์สีครีมแดงจอดปิดกั้นถนนไว้ 3 คัน

01.40 น. มีรายงานการนำรถเมล์สีครีมแดงและแบร์ริเออคอนกรีตมาปิดกั้นถนน และพบหน่วยควบคุมฝูงชนมาตรึงกำลังทั้งบริเวณศาลหลักเมือง หน้าศาลฎีกา และหัวมุมถนนหน้าพระลาน คาดว่าเป็นการป้องกันการเข้าถึงรอบพระบรมมหาราชวัง

01.57 น. พบรถเมล์สีครีมแดง 9 คันจอดเรียงตรงด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี

อย่างไรก็ตามในคืนนี้ไม่มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นดังที่ผู้ชุมนุมกังวล

 

ชุมนุมวันที่สอง ปักหมุดคณะราษฎรใหม่ ก่อนยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถึงประธานองคมนตรี

เช้าวันใหม่ของวันที่ 20 ก.ย. 2563 ลวดหนามและแบร์ริเออถูกวางไว้หลายจุดทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ ในสถานที่ที่คาดว่าผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปเรียบร้อยแล้ว

6.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยตื่นและเก็บเต็นท์ ผู้จัดชุมนุมเริ่มขยับย้ายเต็นท์หน้าเวที และคลุมผ้าดำรอบเต็นท์ เตรียมฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ทั้งมีการนำรถปราศรัยไปประกาศเชิญชวนประชาชนที่พักผ่อนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มาร่วมกิจกรรม

6.20 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้ามาเดินอยู่ภายในพื้นที่ชุมนุม อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอีก 3 นายเข้าไปด้านหลังเวที นำโดยพล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เจ้าหน้าที่ชุดนี้ได้เดินกลับไปยังด้านธรรมศาสตร์ ราว 6.40 น.

06.30 พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวรำลึกถึงผู้มาก่อนกาล ทั้งคณะราษฎร และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งยังกล่าวถึงการหายไปของมรดกคณะราษฎรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางผู้ชุมนุมจึงขอปักหมุดของประชาชนอันใหม่

06.40 น. นักเรียนที่ไม่ระบุชื่อ มาเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ในการปักหมุดคณะราษฎรหมุดที่สอง ซึ่งเป็นรูปมือชูสามนิ้ว และข้อความ “20 กันยา 2563 เวลาย่ำรุ่ง” พร้อมมีข้อความรอบหมุดว่า “ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศไทยนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” โดยระหว่างการทำพิธีฝังหมุด มีตัวแทนสวดทางพราหมณ์อีกด้วย

6.54 น. พริษฐ์และปนัสยา สองแกนนำ สลับกันอ่านประกาศคณะราษฎร 2563 โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ย้ำถึงปัญหาสถานะอำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน และย้ำ 10 ข้อเรียกร้อง ในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย หลังอ่านแถลงการณ์ ผู้จัดประกาศให้มารวมตัวกันอีกครั้งเวลาประมาณ 8.00 น.

8.05 น. หลังเคารพธงชาติร่วมกัน ผู้จัดการชุมนุม ประกาศจะไม่เดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จะไปยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องและ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี ซึ่งอยู่บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ ไม่ไกลจากสนามหลวง เพื่อหวังให้องคมนตรีผู้เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ แจ้งเจตจำนงของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ แกนนำประกาศให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้สันติวิธี ไม่มีการปะทะ และเดินไปร่วมกัน

หลังการประกาศ มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน ฝั่งพระบรมมหาราชวังและหน้าศาลฎีกา พร้อมทั้งมีการสตาร์ทรถฉีดน้ำที่จอดเป็นแนวกั้นเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้เตรียมพร้อม แกนนำประกาศบนรถปราศรัยว่าในส่วนของผู้ชุมนุมจะแค่เดินไปนั่งตรงหน้าเจ้าหน้าที่บนถนนข้างสนามหลวงหน้าศาลฎีกาเท่านั้นระหว่างการเดินขบวนของผู้ชุมนุม ได้มีกลุ่มชายไม่ทราบฝ่ายพกวิทยุสื่อสาร ขับมอเตอร์ไซต์ราว 20 คัน เข้ามาด้านหน้าของขบวนประชาชนที่ออกจากสนามหลวงและบีบแตรส่งเสียงก่อกวน

8.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินมานั่งลงประชิดแนวรั้วกั้นที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนราว 400 คน บริเวณหน้าศาลฎีกา ก่อนแกนนำปราศรัยเรียกร้องให้องคมนตรีส่งตัวแทนมารับหนังสือ 3 ข้อเรียกร้อง และ 10 ข้อเสนอ จากประชาชน

หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ตำรวจยิมยอมให้ตัวแทนผู้จัด ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องได้หลังแนวกั้นของตำรวจ โดยให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพด้วย

9.00 น. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยพล.ต.ท.ภัคพงศ์รับปากจะยื่นให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานองคมนตรีต่อไป หลังยื่นหนังสือ ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันอยู่บนถนนหน้าศาลฎีกา พริษฐ์ได้ปราศรัยประกาศแนวทางการต่อสู้อยู่บนรถเครื่องกระจายเสียง

9.30 น. พริษฐ์ประกาศถึงแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อที่ประชาชนทำได้จากที่บ้านและในชีวิตประจำวัน พร้อมเชิญชวนติดตามการประชุมสภา ในวาระแก้ไขรธน. และปิดสวิตซ์วุฒิสภา วันที่ 24-25 ก.ย. นี้ ที่รัฐสภา ก่อนขอบคุณทุกคนที่มาร่วมแสดงพลังและประกาศยุติการชุมนุม

ขอขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Mob Data Thailand, บ้านราษฎร์โฟโต้, ประชาไท, Twitter, นิรนามปลดแอก  

 

 

X