ไม่ให้ประกันอีก 3 แกนนำ จำเลย “112” หลังฟ้อง 18 “ราษฎร” คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

วันนี้ (8 มี.ค. 64) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดา อัยการได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” รวม 18 ราย ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาอื่นๆ อีก 9 ข้อหา ก่อนยื่นฟ้องต่อศาลอาญา และศาลให้ประกันตัวเฉพาะจำเลยที่ไม่ถูกฟ้องข้อหามาตรา 112 จำนวน 14 ราย แต่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งอัยการฟ้องในข้อหามาตรา 112 ขณะที่ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีแล้วในคดีเผารูป ร.10 หน้าเรือนจำ 

.

.

สืบเนื่องจากการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และสนามหลวง กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้จัดการชุมนุมและปราศรัย ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นไม่นานได้เคลื่อนย้ายพลไปปักหลักชุมนุมค้างคืนที่ท้องสนามหลวง โดยมีเนื้อหาการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กองทัพ และสถาบันกษัตริย์ ก่อนที่ัเช้าวันถัดไปได้มีการยื่นหนังสือ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันถึงประธานองคมนตรี พร้อมทั้งประกาศปักหมุดคณะราษฎรใหม่ที่ท้องสนามหลวง

.

#เดินทะลุฟ้า ให้กำลังใจ 18 ราษฎร ก่อนฟังคำสั่งฟ้องคดี

เวลา 09.30 น. บรรยากาศช่วงเช้า บริเวณหน้าประตูทางออกสำนักงานอัยการสูงสุด รัชดาฯ มีการตั้งจุดคัดกรองและมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตรึงกำลังเพื่อควบคุมการเข้าออกของประชาชนอย่างเข้มงวด มีการตรวจบัตรประชาชน จดชื่อและเบอร์โทรของผู้ติดต่อ และมีกล้องจับภาพคนเข้าออก

.

.

เวลา 09.35 น. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก นำขบวนผู้ชุมนุม #เดินทะลุฟ้า เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า MRT ลาดพร้าวเดินทางมาถึงหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเข้ารายงานตัวและฟังคำสั่ง ส่วนผู้ชุมนุมนั่งปักหลักอยู่บริเวณฟุตบาธด้านหน้าสำนักงานอัยการ เพื่อฟังปราศรัยและให้กำลังใจผู้ต้องหาที่เข้าฟังคำสั่งฟ้องวันนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ประกาศว่ามีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการโควิด ทำให้ต้องตรวจบัตรประชาชนและต้องผ่านจุดคัดกรอง อีกทั้งยังประกาศห้ามนำแผ่นป้ายข้อความต่าง ๆ และอาวุธเข้ามา

.

.

ในวันนี้ ผู้ต้องหา 17 คน ที่มารายงานตัวที่สำนักอัยการสูงสุด ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ชูเกียรติ แสงวงค์, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัทพัช อัคฮาด, ธนชัย เอื้อฤาชา, ธนพ อัมพะวัติ, ธานี สะสม, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, อะดิศักดิ์ สมบัติคำ, “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และณัฐชนน ไพโรจน์ ส่วน “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หนึ่งในผู้ต้องหาของคดีนี้ถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีในคดีเผารูป ร.10 หน้าเรือนจำ 

     >> จับกุม “แอมมี่” แจ้ง ม.112-เผาทรัพย์-พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนไม่ให้ประกันตัว กรณีเผารูป ร.10

ทั้งนี้ ทนายความได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาภาณุพงศ์และอนุรักษ์เพิ่มเติม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคท้าย (เป็นแกนนำในการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) และมาตรา 215 ตามลำดับ แต่ทนายความปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว ที่จะทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

เวลาประมาณ 11.30 น. อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย จากนั้น นักกิจกรรมที่มารายงานตัวทั้ง 17 ราย พร้อมทนายความได้เดินเท้าไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ และเข้ารอกระบวนการในห้องเวรชี้

.

อัยการยื่นฟ้อง 8 ข้อหาหลัก 18 ราษฎร ด้าน 3 แกนนำถูกฟ้อง “112” ด้วย

เวลา 12.45 น. พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา ด้วยข้อหามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.539/2564 จากนั้นศาลได้อ่านคำฟ้องโดยสรุปให้จำเลยทั้ง 18 ฟัง ผ่านทางจอภาพหรือวีดิโอคอนเฟอเรนซ์  ขณะที่ “แอมมี่” ไชยอมร เจ้าหน้าที่ศาลก็ได้วีดิโอคอนเฟอเรนซ์มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อรับทราบคำฟ้องด้วย

.

.

จากนั้น จำเลยให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี โดยศาลกำหนดนัดพร้อมวันที่ 15 มี.ค. 64 เวลา 09.00 น. และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 29 มี.ค. 64 เวลา 09.00 น. 

ทั้งนี้ จำเลยแต่ละคนถูกฟ้องด้วยข้อหาแตกต่างกันไป โดยมีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เป็นข้อหาหลัก อัยการระบุในคำฟ้องด้วยว่า ในการมั่วสุมมีปนัสยาและภาณุพงศ์เป็นผู้สั่งการ ส่วนข้อหาอื่นๆ ได้แก่

1. ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
3. กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385
4. กีดขวางการจราจร ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ
5. ตั้ง วาง กอง วัตถุบนถนน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
6. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

โดยส่วนอรรถพล, ณวรรษ, ชินวัตร, ธนชัย, และชูเกียรติ ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ด้วย กรณีปักหมุดคณะราษฎรลงบนพื้นซีเมนต์ในสนามหลวง ซึ่งอัยการระบุว่า เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณนั้นได้รับความเสียหาย ประเมินราคาเป็นเงินจำนวน 16,781.62 บาท

สำหรับไชยอมรและณัทพัช ยังถูกฟ้องข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” กรณีร่วมกันใช้กำลังพังรั้วเหล็กกั้นสนามหลวง 1 อัน ทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเสียหายเป็นเงินจำนวน 264 บาท

ขณะที่ปนัสยา, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย อัยการบรรยายฟ้องว่า ทั้งสามได้ปราศรัยข้อความที่หมิ่น ประมาท และดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์แก่ประชาชนหลายคนซึ่งอยู่บริเวณท้องสนามหลวง โดยปนัสยาปราศรัยถึง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ภาณุพงศ์ปราศรัยถึงการพำนักอาศัยของกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี ขณะที่ประชาชนทุกข์ยาก และจตุภัทร์ปราศรัยถึงประสบการณ์ถูกดำเนินคดี 112 หลังแชร์บทความของบีบีซี เกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10

อีกทั้งปนัสยาและภาณุพงศ์ถูกอัยการกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ “ทำให้เสียทรัพย์” กรณีปักหมุดด้วย ทำให้ปนัสยาและภาณุพงศ์ถูกฟ้องรวม 11 ข้อหา เช่นเดียวกับอานนท์และพริษฐ์ ส่วนจตุภัทร์ถูกฟ้องทั้งหมด 9 ข้อหา

คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์คดีสำหรับทั้ง 18 คนโดยสรุปว่า 

จำเลยทั้ง 18 ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน อาทิ จัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ทางราชการกำหนด และไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปนัสยา, ภาณุพงศ์, อรรถพล, ณวรรษ, ชินวัตร, ธนชัย และชูเกียรติ ได้ร่วมกันใช้เครื่องมือขุดเจาะพื้นคอนกรีตในพื้นที่สนามหลวง และได้ร่วมกันวางแผ่นโลหะทรงกลมแบนสีเหลืองในช่องที่ขุด เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณนั้นได้รับความเสียหาย ประเมินราคาเป็นเงินจำนวน 16,781.62 บาท อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โบราณสถานฯ

ส่วนไชยอมรและณัทพัช ได้ร่วมกันใช้กำลังพังรั้วเหล็กกั้น 1 อัน ทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเสียหายเป็นเงินจำนวน 264 บาท อันเป็นความผิดฐาน ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358

นอกจากนี้ ปนัสยา, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ยังได้ปราศรัยข้อความที่หมิ่น ประมาท และดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์แก่ประชาชนหลายคนซึ่งอยู่บริเวณท้องสนามหลวง โดยปนัสยาปราศรัยถึง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ภาณุพงศ์ปราศรัยถึงการพำนักอาศัยของกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี ขณะที่ประชาชนทุกข์ยาก และจตุภัทร์ปราศัยถึงประสบการณ์ถูกดำเนินคดี 112 หลังแชร์บทความของบีบีซี  เกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10

พนักงานอัยการยังระบุขอให้ศาลเพิ่มโทษจำคุกจตุภัทร์กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ด้วย เนื่องจากได้กระทำผิดซ้ำในฐานความผิดเดียวกันภายในเวลา 3 ปีนับแต่วันพ้นโทษ อีกทั้งขอให้เพิ่มโทษจำคุก 1 ใน 3 ของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ เนื่องจากได้กระทำผิดซ้ำภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ 

ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้องยังระบุว่า โจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากโทษในคดีนี้มีอัตราสูง และเกี่ยวข้องกับความมั่นคง

.

ศาลไม่ให้ประกัน 3 แกนนำ “จำเลย 112” ระบุเชื่อว่าจะกระทำซ้ำอีก

ต่อมาเวลา 16.00 น. หลังทนายความยื่นประกันตัวจำเลยทั้งหมด ยกเว้นแอมมี่ ระหว่างพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่อ่านคำสั่งศาลไม่ให้ประกันตัว 3 แกนนำ ระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวช่วยคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แม้ทนายและนายประกันจะยื่นขอคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรและตำแหน่งอาจารย์ ในวงเงินคนละ 90,000 บาท ก็ตาม

ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลอนุญาตให้ประกันในวงเงินคนละ 35,000 บาท โดยมี ส.ส.พรรคก้าวไกล และนักวิชาการใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงินสด

ทั้งนี้ มีสื่อหลายสำนักรายงานว่า ทั้งสามถูกคุมตัวขึ้นรถตู้และนำตัวออกจากประตูศาลไปเมื่อ เวลา 15.30 น. ขณะที่ 15.50 น. นายประกันระบุยังไม่ได้รับแจ้งผลการขอปล่อยตัวชั่วคราวของ 18 ราษฎร 

การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้ ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ ปนัสยา ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางทันที

ทั้งนี้ เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ต้องออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถนำตัวไปเรือนจำได้ทันที แต่โดยปกติแล้วในทางปฏิบัติ หากจำเลยยื่นประกันตัวเจ้าหน้าที่ก็จะรอให้ศาลมีคำสั่งและจำเลยเซ็นรับทราบคำสั่งก่อน แต่กรณีนี้ปนัสยา ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ยังไม่ได้เซ็นรับทราบคำสั่งไม่ให้ประกันของศาล 

ชี้ให้เห็นว่าทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวออกจากศาลขึ้นรถไปยังเรือนจำ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการจากสถาบันสิทธิ สิทธินายประกันของปนัสยาและจตุภัทร์ ไม่ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งของศาล

.

>> นายประกันปฏิเสธลงลายมือชื่อรับคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากทั้งสามยังไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำสั่ง

กรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร นอกจากนักกิจกรรม 18 รายที่อัยการยื่นฟ้องในวันนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 อัยการได้ยื่นฟ้องพริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข รวม 11 ข้อหา เช่นเดียวกันนี้ โดยมีข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย โดยทั้งสี่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีและถูกคุมขังมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว

>> เปิดคำฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยา- คดี MobFest ก่อนศาลไม่ให้ประกันสี่แกนนำ

ภายหลังศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันปนัสยา, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์  ทำให้มีผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัว จำนวนอย่างน้อย 18 คน โดยเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 9 คน

>> “ผู้ต้องขังทางการเมือง” ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา อย่างน้อย 18 คน แล้ว

.

X