จับกุม “แอมมี่” แจ้ง ม.112-เผาทรัพย์-พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนไม่ให้ประกันตัว กรณีเผารูป ร.10

วันนี้ (3 มีนาคม 2564) ช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องวง The Bottom Blues ได้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังศาลอาญาออกหมายจับ จากกรณีวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรม ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

บันทึกการจับกุมระบุว่า ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 9 นาย ซึ่งเป็นชุดเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวน 1 และ 2 ของกองบัญชาการตำรวจนครบบาล เป็นผู้เข้าจับกุมไชยอมร ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564

เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าไชยอมรได้กระทำผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในขณะจับกุม ส่วนเจ้าหน้าที่ได้ยังตรวจยึดของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, สมุดบันทึก 1 เล่ม 

หลังทำการจับกุมเจ้าหน้าที่พาตัวไชยอมรไปส่งโรงพยาบาลราชธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แพทย์รักษาอาการบาดเจ็บที่มีก่อนถูกจับกุม ก่อนระบุว่าจะส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจในช่วงเช้า และได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนสน.ประชาชื่น เจ้าของคดีได้รับทราบ

 

 

ต่อมาทนายความและครอบครัวได้รับแจ้งว่า ไชยอมรถูกพาตัวมาที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาประมาณ 9.00 น. แต่เมื่อเดินทางไปติดตามสอบถามกลับได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่พบชื่อไชยอมรเข้ารับการรักษา ด้านพนักงานสอบสวนสน.ประชาชื่น ระบุว่าจะเข้าแจ้งข้อกล่าวหาที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วง 13.30 น. ทนายความและครอบครัวจึงได้รอพบไชยอมร โดยมีการระบุว่าเขาถูกนำตัวมาที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าอยู่ในอาคารใด

จนเวลาราว 14.00 น. เศษ ทนายความและครอบครัวจึงได้พบกับไชยอมร พร้อมกับพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าสอบปากคำเขา และยังมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าขออนุญาตการเข้าถึงเครื่องมือสื่อสาร ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน

เวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนได้ไปยื่นขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง แต่ไม่ได้นำตัวไชยอมรไปด้วย เนื่องจากรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมกับได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างเรื่องเกรงว่าจะหลบหนี  จากนั้นมารดาของไชยอมรได้ยื่นเงินสดขอประกันตัวจำนวน 90,000 บาท ตามอัตราที่ศาลตีวงเงินประกันไว้ โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

เวลา 17.00 น. ศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง”

คำสั่งศาลดังกล่าว ทำให้ในคืนนี้ไชยอมรจะรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ 1 คืน และในวันพรุ่งนี้พนักงานสอบสวนเตรียมจะนำตัวไชยอมร พร้อมคำร้องและความเห็นแพทย์ที่ระบุผลการรักษา ไปให้ศาลพิจารณาออกหมายขังอีกครั้ง และจะทำให้เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าการเผาทรัพย์สินราชการ เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร การถูกดำเนินคดีครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไชยอมร ถูกแจ้งข้อหา 112 โดยนับเป็นผู้ถูกกล่าวหารายที่ 61 แล้ว ในจำนวน 48 คดี เป็นอย่างน้อย จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

ทั้งนี้เวลาประมาณ 16.15 น. ไชยอมรยังได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก The Bottom Blues ระบุว่า “การกระทำการเผาพระบรมในครั้งนี้เป็นฝีมือของผมและผมขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเคลื่อนไหว หรือ การเรียกร้องใดๆ เหตุผลของผมนั้นเข้าใจง่ายมาก เล่าไปถึงตอนผมโดนจับไปวันที่ 13 ตุลา ปีที่แล้ว เพนกวิ้นคือคนแรกที่โทหาผมบนรถห้องขัง และ ประกาศรวมพลมวลชนทันที แต่กลับกันในครั้งนี้กวิ้น และ พี่น้องของผม ต้องติดอยู่ในคุกนานกว่า 20 วันแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเค้าได้เลย ผมรู้สึกละอายและผิดหวังในตัวเอง

“การเผาพระบรมในครั้งนี้ ผมยอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลา และทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตราย แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเผาครั้งนี้ มีอยู่มากมาย เป็นเชิงสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่หวังว่าทุกคนเข้าใจและจะมองเห็นมัน หวังว่าจะได้พบกันใหม่ ขอให้ทุกคนสู้ต่อไป”

 

 

สำหรับเหตุในช่วงเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น กลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ร่วมจัดกิจกรรมเชิง​สัญลักษณ์​ บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ร้องเพลง และอ่านบทกวี ภายใต้ชื่องาน “ผมคิดถึงคุณ นักโทษการเมือง” นอกจากนี้ ยังมีการปราศัยย่อยเกี่ยวกับประเด็นที่ 4 แกนนำราษฎรไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนที่ในช่วงเช้ามืดของวันถัดมาจะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

ในเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยรายงานว่า 18 กันยายน 2561 ศาลจังหวัดพลเบิกตัวจำเลยวัยรุ่น 6 คน คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น จากเรือนจำอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มาศาลเพื่ออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงวันที่ 11 กรกรฎาคม 2561 รวม 2 คดี คือ คดีเผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่ และคดีเผาซุ้มในอำเภอชนบท โดยทั้ง 2 คดี ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามความผิดฐานซ่องโจร ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ยังมีการลงโทษในทั้ง 2 คดี

 >>> ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหา 112 หกวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

 

X