เปิดคำร้องขอประกันครั้งที่ 2 “แอมมี่” ชี้ไม่ได้คิดหลบหนีหรือปิดบังตัวตน ก่อนศาลสั่งยกฯ นำตัวส่งเรือนจำธนบุรี

ภายหลังจากวานนี้ (3 มีนาคม 2564) มีการจับกุมและควบคุมตัว ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ แอมมี่นักร้องวง The Bottom Blues บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหมายจับของศาลอาญา จากกรณีวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรม ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 217 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

ก่อนทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง ศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัวจำนวนเงิน 90,000 บาท ให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง

ในวันนี้ (4 มีนาคม 2564) ทางพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ยังได้เข้ายื่นคำร้องผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญา ขอส่งตัวไชยอมรคืนต่อศาล เนื่องจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจได้ทำการตรวจรักษาแล้ว เห็นว่ามีอาการดีขึ้น จึงไม่ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต

ขณะเดียวกัน มารดาของไชยอมรและทนายความได้ทำเรื่องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างที่แอมมี่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยได้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท ก่อนในช่วงเย็น ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว ให้เหตุผลว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ใช่เพราะเหตุหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทำให้แอมมี่ถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

เนื้อหาในคำร้องประกอบขอประกันตัว ยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้พยายามจะหลบหนี เนื่องจากไม่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีนี้มาก่อน และก่อนถูกจับตามหมายจับของศาล ผู้ต้องหาเดินทางโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ และในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ผู้ต้องหาเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เนื่องจากมีอาการปวดหลังตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จึงออกมาพักรักษาตัว มีการพบแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามกระบวนการรักษา โดยแพทย์ให้พักร่างกายก่อนไปทำงาน ผู้ต้องหาจึงออกมาพักฟื้นร่างกายที่ห้องพัก ในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน และห้องพักอยู่ในย่านชุมชน

ผู้ต้องหาประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้อง และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิด อำพรางตน และผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักและผู้คนที่พักอาศัยในห้องพักข้างเคียงหรือในห้องพักอื่นก็พบเห็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

นอกจากนี้ ขณะเข้าจับกุม ผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ผู้ต้องหาจึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้องและวาดภาพ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน  นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

ผู้ต้องหายังขอเรียนว่า หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังต้องพักรักษาตัวจากอาการปวดหลัง และรักษาโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย (Keeatoconus) อย่างต่อเนื่อง การไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจให้มีผลกระทบกับกระจกตาและกระทบกับการมองเห็นในอนาคต    

ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี  ไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่  การถูกฟ้องคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุท ธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดและในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1)  ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” 

นอกจากนี้ ในบทบัญญัติข้อที่ 50 ของ ICCPR มีบทบังคับที่ชัดเจนกับรัฐภาคีว่า บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐร่วมโดยปราศจากข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใดๆและมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 กำหนดว่า ก่อนที่จะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำผิด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว การใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ให้ผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์กระทำผิดตามพนักงานสอบสวนกล่าวหาจริงแล้ว ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ผ่านการมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดย่อมถือว่าเป็นเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง

จนเวลา 17.14 น. ศาลอาญา โดยผู้พิพากษานายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวดังกล่าว ทำให้ทางราชทัณฑ์ได้ขอนำตัวไปแอมมี่ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีในเวลาราว 18.00 น. 

 

ย้อนอ่านรายงานข่าว

จับกุม “แอมมี่” แจ้ง ม.112-เผาทรัพย์-พ.ร.บ.คอมฯ ก่อนไม่ให้ประกันตัว กรณีเผารูป ร.10

X