ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหา 112 หกวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

18 ก.ย. 61 ศาลจังหวัดพลเบิกตัวจำเลยวัยรุ่น 6 คน คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่น จากเรือนจำอำเภอพล จ.ขอนแก่น มาศาลเพื่ออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงวันที่ 11 ก.ค. 61 รวม 2 คดี คือ คดีเผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่ และคดีเผาซุ้มในอำเภอชนบท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ศาลจังหวัดพลได้อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในทั้งสองคดีดังกล่าว ต่อมา วันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความของจำเลยทั้งหกในคดีเผาซุ้มอำเภอบ้านไผ่ และจำเลยทั้งสี่ในคดีเผาซุ้มอำเภอชนบท ได้เข้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ เพื่อขอโอกาสให้จำเลยทั้งหกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดูแลครอบครัวต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการจำคุกจำเลยทั้งหกไว้เป็นเวลานาน

โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมีนายไตรเทพ กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย มีเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้

“…เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งหกจะให้การรับสารภาพ แต่หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตูซึ่งเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกมีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย และความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งหกย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ไม่ใช่มาตรา 210 วรรค 2 ทั้งนี้ กำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนี้เหมาะสมแล้ว

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งหกหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกกับพวกเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง แม้จำเลยทั้งหกจะได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งแล้วก็ตาม เห็นควรลงโทษจำเลยทั้งหกให้หลาบจำ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อบุคคลอื่น และแม้จะมีเหตุต่าง ๆ ตามที่จำเลยทั้งหกหยิบยกขึ้นกล่าวในอุทธรณ์ก็ยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอปราณีรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งหก

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

ส่วนคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอชนบท ซึ่งมีนายไตรเทพ กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้

“…เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสี่จะให้การรับสารภาพ แต่หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่มุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ซุ้มประตูอันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่เห็นพ้องด้วย และความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งสี่ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ไม่ใช่มาตรา 210 วรรค 2

มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า  การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้จำเลยทั้งสี่จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่

มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 958,117.72 บาท สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ได้ความผู้ร้องว่า ซุ้มประตูที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับพวกวางเพลิงเผานั้นก่อสร้างในปี 2550 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงิน 958,117.72 บาท หลังเกิดเหตุซุ้มประตูไม่สามารถใช้การได้ ต้องรื้อและสร้างขึ้นใหม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าซุ้มประตูดังกล่าวเมื่อก่อสร้างขึ้นแล้วย่อมมีความเสื่อมไปตามธรรมชาติและตามสภาพการใช้งาน ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จึงสูงเกินไป เห็นว่า แม้ซุ้มประตูที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกับพวกวางเพลิงเผาจะใช้งานไปนานหลายปี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าซุ้มประตูดังกล่าวชำรุด บกพร่อง หรือเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 958,117.72 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานซ่องโจร จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี เมื่อรวมโทษกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

 

หลังเสร็จการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลจังหวัดพลได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ในคดีที่สองปฏิบัติตามคำพิพากษาส่วนแพ่งภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกยึดทรัพย์ จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ขณะที่จำเลยวัยรุ่นทั้ง 6 คน และญาติ แสดงความดีใจที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพวกเขาในข้อหา มาตรา 112 และลดโทษจำคุกลง โดยฟลุค  จำเลยที่ 2 (นามสมมติ) ในทั้งสองคดี เหลือโทษจำคุกรวม 9 ปี ไตรเทพ, ฟิล์ม และเบล (นามสมมติ) เหลือโทษจำคุกรวม 6 ปี ส่วนแทนและเต้ย (นามสมมติ) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียว เหลือโทษจำคุก 3 ปี โดยปัจจุบันทั้งหกรับโทษจำคุกไปแล้ว 1 ปี 2 เดือนเศษ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพลได้มีคำพิพากษาชั้นต้น ยกฟ้องนายปรีชาและนายสาโรจน์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวม 3 คดี จากเหตุการณ์เดียวกับจำเลยวัยรุ่น 6 คนนี้ โดยนายปรีชาและนายสาโรจน์ถูกจับกุมดำเนินคดีภายหลังกลุ่มวัยรุ่นทั้งหก และจำเลยอีก 2 คน ที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

X