29 เมษายน 2564 – เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังจากคดีความข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำ #ราษฎร63 4 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกคุมขังจากคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันรายละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมยอมรับหากศาลกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัว ขณะที่กรณีของพริษฐ์ ยังยื่นขอประกันตัวในคดีชุมนุม #MobFest เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท ด้วยเช่นกัน
อีก 3 รายได้ แก่ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวใน 2 คดี คือคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งแอมมี่ถูกตั้งข้อหลักตามมาตรา 116 โดยมารดาของแอมมี่วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 35,000 บาท และอีกคดีคือคดีสืบเนื่องจากการเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม วางหลักประกันเงินสด 200,000 บาท ถูกตั้งข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 217
รายต่อมาคือ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์ ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนจากการแปะสติ๊กเกอร์ข้อความบนรูปของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ถูกตั้งข้อหาหลักมาตรา 112 โดยในวันนี้ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท
และรายสุดท้ายคือ “พอร์ท วงไฟเย็น” ปริญญา ชีวินกุลปฐม ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนเช่นเดียวกันจากกรณีโพสต์เพลงและข้อความ “ตุรกีไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองรปห.” ตั้งแต่ปี 2559 ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท
บรรยากาศการยื่นประกันตัวในวันนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่มาติดตามสถานการณ์ที่ศาลอาญาเป็นจำนวนมาก มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และการพยายามยื่นรายชื่อผู้ลงชื่อถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง กว่า 11,035 รายชื่อ ต่อมายังได้มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 2 คันรถเข้ามาที่ศาลอาญา
เวลา 16.00 น. ศาลแจ้งว่าจะยังไม่อ่านคำสั่งเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยจะอ่านคำสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลในวันพรุ่งนี้แทน หากยังมีการชุมนุมรวมตัวอยู่ในพื้นที่ศาล
เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ครอบครัวของผู้ต้องขังและประชาชนที่มารวมตัว ยังคงไม่ยินยอม และยืนยันว่าจะปักหลักรอคำสั่งศาลต่อไป
จนเวลา 18.00 น. ศาลได้อ่านคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้ง 7 คนในทุกคดี โดยระบุเหตุในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
ทุกคำสั่งยกคำร้องถูกลงนามโดย นาย เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
สำหรับการยื่นประกันตัวครั้งนี้ ในกรณีของพริษฐ์ นับเป็นครั้งที่ 9 ทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี #MobFest ซึ่งนับว่ามากครั้งที่สุดกว่าผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ พริษฐ์ยังถูกคุมขังมาพร้อมกับอานนท์ เป็นระยะเวลานานที่สุดในกลุ่ม คือรวมถูกคุมขังมาแล้ว 80 วัน ขณะที่เขายังอดอาหารในระหว่างถูกคุมขังเข้าสู่วันที่ 45 แล้ว
*******************
เปิดคำร้องประกันตัวคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
สำหรับเนื้อหาในคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ได้ยื่นเพื่อให้ศาลพิจารณาโดยสรุประบุว่าคดีนี้ จำเลยเคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ศาลนี้และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ในวันนี้ จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวนรายละ 200,000 บาท เป็นเงินจำนวนมากและน่าเชื่อถือ เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี และจำเลยมีความประสงค์ยื่นคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยถือเอาคำร้องประกอบฯ ซึ่งเคยยื่นต่อศาลในคดีนี้ทั้งหมด มาเป็นส่วนหนึ่งในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับนี้ กรณีมีเหตุผลข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต
- คดีนี้ศาลได้ทำการตรวจพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จากการตรวจพยานหลักฐานก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีพฤติการณ์ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
- จำเลยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามกำหนดโดยตลอด จำเลยยืนยันในความบริสุทธิ์ พร้อมจะต่อสู้คดีตามกฎหมาย อีกทั้งคดีนี้โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านประกันตัวแต่อย่างใด
- แม้ก่อนหน้านี้จำเลยจะเคยถูกจับกุมตามหมายจับในคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการออกหมายจับโดยไม่เคยออกหมายเรียกจำเลยมาก่อน และเป็นการจับกุมในความผิดอื่นซึ่งไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อมา เมื่อมีการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตาม มาตรา 112 จำเลยได้เดินทางไปตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด
- สำหรับคดีความผิดลักษณะเดียวกันนี้ จำเลยที่ 1 (พริษฐ์) เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญา ได้แก่ คดีแกนนำชุมนุมเยาวชนปลดแอก และ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์และปนัสยาระหว่างสอบสวน ในคดีจากการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ของศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยก็ไม่เคยหลบหนีแต่อย่างใด ปฏิบัติตามกำหนดนัดของศาลโดยเคร่งครัด
จำเลยที่ 2 (อานนท์) เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญา คดีแกนนำชุมนุมเยาวชนปลดแอก และคดีชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทน ซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ก็ได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย จำเลยก็เดินทางไปศาลในทุกคดีตามกำหนดโดยตลอด
ทั้งหมดนี้จึงเป็นหลักประกันว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นใดอีก รวมถึงการปล่อยตัวครั้งนี้ย่อมจะไม่กระทบต่อการพิจารณาคดีแต่อย่างใด
- จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน พยานหลักฐานในคดีนี้โจทก์ก็ได้ไว้ในความครอบครองทั้งหมดแล้ว พยานบุคคลส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น
- ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 (หมอลำแบงค์ – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) จำเลยที่ 4 (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) และจำเลยที่ 7 (ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ พฤติการณ์และรายละเอียดข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่มีความแตกต่างกัน
- ศาลได้ทำการนัดตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่เพียงการสืบพยานเท่านั้น จำเลยก็ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาร่วมการพิจารณาคดีต่อสู้คดีตามกฎหมาย หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ขอโปรดกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย จำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับรองและดูแลให้จำเลยปฏิบัติตาม
- เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
- ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งนายชูเกียรติ แสงวงศ์ จำเลยในคดีนี้เองก็ติดเชื้อไวรัส และผู้ต้องขังอีกจำนวนหลายคนก็ติดเชื้อเช่นเดียวกัน ทำให้จำเลยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด จึงขอศาลใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวตามแนวปฏิบัติข้างต้น หากต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ศาลอาจออกหมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาไต่สวนประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจ
- พริษฐ์และปนัสยาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามลำดับ ปัจจุบันทั้งคู่อยู่ระหว่างช่วงการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน หากจำเลยต้องถูกคุมขังต่อ จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาอย่างร้ายแรง ประกอบกับพริษฐ์มีโรคประจำตัวป่วยเป็นโรคหอบหืด การถูกขังไว้ในเรือนจำซึ่งแออัดย่อมทำให้เกิดปัญหาใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก หากเกิดอาการของโรคกำเริบขึ้น
ที่มากไปกว่านั้น ปัจจุบันพริษฐ์มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เกิดภาวะขับถ่ายเป็นเลือดและมีเศษบางอย่างคล้ายเนื้อเยื่อออกมาด้วย คาดว่าน่าจะเกิดจากร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหาร ถือเป็นความเจ็บป่วยรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด การถูกฟ้องและกล่าวหาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าจำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีไม่ เพราะจำเลยเชื่อมั่นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องหลบหนีแต่อย่างใด
อนึ่ง ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยคดีในคดีดังกล่าวได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา
- จำเลยที่ 2 (อานนท์) ประกอบวิชาชีพทนายความ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเดินทางมาศาลเป็นประจำ มีภาระหน้าที่จะต้องรับผิดชอบว่าความในคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี และตลอดทั้งเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 จำเลยที่ 2 จะต้องเป็นทำหน้าที่ทนายความในคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง (UN62)
อนึ่ง จำเลยยังเป็นสมาชิกของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Hunman Rights Lawyers Association) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดการเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จำเลยได้รับผิดชอบว่าความ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีสิทธิฯ ชี้ให้เห็นว่า จำเลยมีความสนใจสังคม ตระหนักถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย เคารพต่อกระบวนการยุติธรรม และคำนึงถึงโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนในสังคม จนเป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนทนายความ โดยมีทนายความจำนวนถึง 187 คน ร่วมลงชื่อเพื่อยืนยันสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
- จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือการที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี สิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227
สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มีขึ้น เพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้ได้ทั้งเพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ดังนั้น ศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตยจึงต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิโดยอำนาจรัฐ
การควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องกระทำโดยได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นเท่านั้น กล่าวคือ การคุมตัวในชั้นก่อนพิจารณาและระหว่างพิจารณาคดีต้องทำในเวลาจำกัด ไม่ปล่อยให้เนิ่นช้าจนเกินไป และต้องไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการควบคุมตัวจำเลยไว้ ทั้งนี้ ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และ 108/1 “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” โดย “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” เหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
บทบัญญัติกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุผลตามที่มาตรา 108/1 กำหนด ได้แก่การหลบหนี การไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคการการสอบสวนหรือพิจารณาคดี ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีเหตุผลตามกฎหมายที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
- แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องที่ ปอ 61/2564 โดยให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3 (หมอลำแบงค์) ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน” ซึ่งถ้อยคำลักษณะเดียวกันนั้นยังปรากฏในคำสั่งคำร้องที่ ปอ 62/2564 และ ปอ 63/2564 ที่ศาลได้อ่านในวันเดียวกันด้วย
การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่ามีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า จำเลยทำจริงหรือไม่? การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่? และ จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่?
เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงขอศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ทั้งนี้ หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ขอศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยจำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และหากศาลเห็นสมควรจะทำการไต่สวนจำเลยก็ขอศาลได้ออกหมายเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนหรือทำการไต่สวนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป