เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว “อานนท์ นำภา” ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยอ้างเหตุเนื่องจากเข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 10 และ 18 ก.ค. 2564 รวมถึงการโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการนัดชุมนุมและโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
นายพิทยา วีระพงศ์ พนักงานอัยการ ระบุในคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวว่า ภายหลังจาก “อานนท์ นำภา” ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 200,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 โดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ซึ่งประกอบด้วย 1. ไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย 2. ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย 3. ไม่เดินทางออกนอกประเทศ 4. พร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้งนั้น
แต่อัยการอ้างว่า อานนท์ นำภา ได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม 2 ครั้ง ได้แก่
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 เวลา 11.30 น.-20.05 น. ได้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมของกลุ่มเส้นทางสีแดง นําโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งจัดกิจกรรม Car Mob (สมบัติทัวร์) ครั้งที่ 2 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยรวมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นเคลื่อนขบวนไปทํากิจกรรมตามที่หมายได้กําหนดไว้ มวลชนเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน รถยนต์จํานวน 700 คัน รถจักรยานยนต์จํานวน 200 คัน อัยการอ้างในคำร้องว่าเมื่อเวลา 13.09 น. พบนายอานนท์ นําภา เข้าร่วมกิจกรรม
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลา 14.00-18.30 น. ได้เข้าร่วมกิจกรรมประเทศไทยต้องการ “คุณ” มุ่ง หน้าสู่ทําเนียบปรสิต โดยมีข้อเรียกร้องประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข, ปรับลดงบสถาบันฯ – กองทัพ สู้วิกฤตโควิด,เปลี่ยนวัคซีนเจ้าสัว CP เป็นวัคซีน mRNA ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังทําเนียบรัฐบาล มีมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ ประมาณ 1,300 คน โดยภายในกิจกรรมมีเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งการปะทะกับเจ้าหน้าที่และการจุดไฟเผาสิ่งของอย่างต่อเนื่อง
คำร้องอ้างว่าอานนท์ได้ร่วมการชุมนุม โดยมีการประกาศในกลุ่มคลับเฮ้าส์ (Club House) ว่าตัวเองติดอยู่ที่หน้ากองสลากเก่า และมีการประกาศให้ทุกกลุ่มไปรวมกันที่สะพานชมัย ฯ เพื่อรวมตัวกันเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน
อัยการได้แนบเอกสารที่มีเป็นรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหัวข้อ “ความเคลื่อนไหวของนายอานนท์ นำภา” โดยมี พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับสอบสวนสน.ชนะสงคราม เป็นผู้ลงนามในชุดรายงานดังกล่าว
เอกสารดังกล่าวยังมีการรวบรวมภาพสเตตัสเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา ในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป็นสเตตัสที่โพสต์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมคาร์ม็อบในวันและเวลาต่างๆ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงสเตตัสเฟซบุ๊กซึ่งวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ อาทิ เรื่องการนำเข้าวัคซีน การเขียนถึงข้อเสนอต่อการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมจำนวนทั้งหมด 47 ข้อความ
พนักงานอัยการระบุว่าตามเอกสารที่แนบมานั้น จากการเข้าร่วมกิจกรรม ปรากฏความวุ่นวายเกิดขึ้นในการจัดกิจกรรม โดยปรากฏความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งผู้ใช้เส้นทางสัญจรบนถนนที่มีการชุมนุม และมีการโพสต์ข้อความที่มีการยั่วยุและชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมในแต่ละครั้ง รวมทั้งประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ในแนวทางที่ไม่สมควร
อัยการสรุปว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของอานนท์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลที่พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งห้ามจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเป็นการกระทำซึ่งกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสีย จึงขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เนื่องจากผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว
ขณะที่ในเอกสารแนบประกอบของตำรวจที่ลงนามโดย พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ก็ระบุข้อพิจารณาในลักษณะเดียวกัน เห็นควรให้พนักงานสอบสวนยื่นคําร้องขอยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ ตามความผิดพฤติการณ์และความผิด รวมทั้งเงื่อนไขในการได้รับการประกันตัวต่อไป รวมทั้งยังอ้างว่าเป็นการกระทําผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 215 อีกด้วย
ศาลอาญา รัชดา ได้กำหนดให้มีการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวของอัยการดังกล่าว ในวันที่ 7 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังจากนัดสืบพยานถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19
ปัจจุบันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลได้มีการกำหนดนัดไต่สวนถอนประกันจำเลยแล้วอย่างน้อย 2 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล