รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

วันนี้ (11 พ.ค. 64) นักกิจกรรมรวม 3 ราย ได้ทยอยถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ซึ่งระบุ 6 ข้อกล่าวหา รวมทั้งข้อหา “ดูหมิ่นศาล” จากเหตุชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา

ผู้ถูกจับกุมในวันนี้มีทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และ เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก ทั้งหมดถูกควบคุมตัวมาที่ สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา ก่อนถูกยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศาล

ต่อมา เวลา 16.27 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตร ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามที่ถูกกล่าวหาอีก ส่วนเอฐ์เรียฐ์และพิสิฎฐ์กุลได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน โดยกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 24 พ.ค. 64  

 

08.30 น. จับกุม “ไบรท์-ชินวัตร” ที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี

เวลาประมาณ 8.30 น. ที่จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี (กก.สส.ภ.จว.นนทบุรี) ประมาณ 10 นาย นำโดย พ.ต.ท.ธรรศ รัฐปัตย์ ได้เข้าควบคุมตัว “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 29 ปี นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรี ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 7 พ.ค. 64 ร้องขอพนักงานสอบสวนสน.พหลโยธิน กรณีร่วมชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาฯ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย 64 

ในบันทึกการจับกุมระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุม โดยได้รับแจ้งจาก สายลับ (ประสงค์เงินรางวัล) แจ้งว่า ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับศาลอาญา ได้หลบหนีการจับกุม โดยพักอาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรี

เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น พร้อมนํากําลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโดยทําการซุ่มโป่งสังเกตการณ์อยู่บริเวณใกล้เคียง กระทั่งเวลา 08.00 น. ชินวัตรได้เดินออกมา บริเวณหน้าบ้านพัก เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้แสดงตัว, แสดงบัตรประจําตัว, แสดงความบริสุทธิ์ใจ และแสดงหมายจับของศาลอาญาให้ชินวัตรดู

หลังจากสอบถามชินวัตรแล้ว ผู้ต้องหารับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับหมายจับดังกล่าวจริง และไม่เคยถูกจับกุมตามหมายจับดังกล่าวมาก่อน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตํารวจได้นำตัวชินวัตรไปที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี (กก.สส.ภ.จว.นนทบุรี) เพื่อจัดทําบันทึกจับกุม แล้วนําตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ซึ่งเป็นท้องที่เจ้าของคดี

ทั้งนี้ ในคำร้องฝากขังระบุว่า ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน ขณะที่ในบันทึกจับกุมกลับระบุว่า ชินวัตรให้การรับสารภาพ ต่อมาชินวัตรได้ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขบันทึกจับกุมดังกล่าว

 

13.15 – 13.30 น. จับกุม “กระเดื่อง” และ “เอฐ์เรียฐ์” กลุ่มศิลปะปลดแอก 

เวลาประมาณ 13.15 น. พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง “กระเดื่อง” สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 3 นาย นำโดย ด.ต.เดวิท ไชยสาร เข้าจับกุมที่บ้านพัก โดยมีการแสดงหมายจับของศาลอาญา ในคดีเดียวกับที่จับกุมชินวัตรช่วงเช้านี้ 

ต่อมา เวลา 13.30 น. เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอกอีกคนหนึ่ง ก็ได้ถูกจับกุมด้วยเหตุเดียวกันจากบ้านพัก  ทั้งสองถูกควบคุมตัวมาที่ สน.พหลโยธิน เพื่อทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และขอฝากขังต่อศาล

ในบันทึกการจับกุมระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า ก่อนทําการจับกุม เจ้าพนักงานตํารวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับ (ประสงค์เงินรางวัล) เอฐ์เรียฐ์ จะมาปรากฏตัวที่บริเวณหน้าบ้านพักเขตบางกะปิ จึงได้นํากําลังเจ้าหน้าที่จำนวนทั้งหมด 6 นาย ไปตรวจสอบ พบผู้ต้องหาอยู่บริเวณดังกล่าวจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจ และได้แสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับกุมดู ผู้ถูกจับกุมรับว่าตนเป็นบุคคลตามที่ระบุในหมายจับ และไม่เคยถูกจับกุมหรือเข้ามอบตัวในคดีนี้มาก่อนแต่อย่างใด จึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน

ทั้งนี้ขณะจับกุมตัว ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เปิดพฤติการณ์คดี ชี้มีการปราศรัยตำหนิด่าทอศาล และตะโกนบังคับศาล

ในคำร้องขอฝากขัง พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ จูสกุลวิจิตร์ พนักงานสอบสวน ได้บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุพนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องนายพริษฐ์หรือ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 

ศาลได้ออกหมายขังนายพริษฐ์ไว้ ณ เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นมารดาของพริษฐ์ได้ยื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาได้พิจารณาแล้ว ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งก็ได้มีการอุทธรณ์คําสั่งไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน แต่มารดาของพริษฐ์ก็ยังคงพยายามยื่นคําร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวอีกหลายครั้ง

กระทั่งวันที่ 29 เม.ย. 64 ซึ่งเป็นวันเวลาเกิดเหตุ มารดาของพริษฐ์ได้ขอยื่นคําร้องขอให้ศาลปล่อยตัวอีกครั้ง ในวันดังกล่าว ได้มีกลุ่มมวลชนจํานวนประมาณ 200 คน เข้ามารวมตัวชุมนุมกันบริเวณหน้ามุกตรงบันได อาญา มีการจัดกิจกรรมโดยมีนางสาวเบนจา อะปัญ, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง และนายภัทรพงศ์ น้อยผาง ทำหน้าที่เป็นแกนนำใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยบริเวณหน้าที่ชุมนุม เนื้อหาสาระในคําปราศรัยเป็นการตําหนิการทําหน้าที่ของศาลที่ใช้ดุลพินิจไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว และมีการปลุกเร้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นพ้องกับเนื้อหาที่ปราศรัย และมีการโห่ร้อง ด่าทอ และตําหนิการปฏิบัติหน้าที่ของศาล และตะโกนในลักษณะบังคับให้ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด

ในการปราศรัยนั้น มีถ้อยคําบางคําที่เป็นการหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคําร้อง ซึ่งในการชุมนุมปราศรัยดังกล่าวนั้นกระทํากันภายในบริเวณที่ทําการของศาล ซึ่งมีข้อกําหนดในการปฏิบัติตัวของศาล คือมิให้ประพฤติตน ใช้คําพูด หรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ส่งเสียงดัง 

ระหว่างที่มีการชุมนุม ได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจที่เข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ทําการประกาศข้อกําหนดให้ผู้ที่ชุมนุมดังกล่าวได้ทราบแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็มิได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด ทั้งยังแสดงอาการ และวาจา ที่ก้าวร้าว ด่าทอ ทํานองขู่เข็ญ ให้ศาลต้องยินยอมตามคําเรียกร้องของตน 

ในการมารวมกลุ่มชุมนุมกันในครั้งนี้ มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายวันเวลาให้มาพบกันบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาที่มาร่วมกันนี้ จากทางการสืบสวนพบว่าเป็นกลุ่มบุคคลเดิมๆ ที่เคยร่วมกันเป็นแกนนําในการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ และถูกดําเนินคดี มาก่อนหน้านี้แล้ว แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ต้องหานี้มีเจตนาร่วมกันมาชุมนุมโดยใช้จํานวนคน เข้ามาแสดงอาการ คําพูด เพื่อพยายามกดดัน ขู่เข็ญศาล 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันในขณะที่มีประกาศข้อกําหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนมากกว่า 50 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยไม่ได้รับ อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับต่อศาลอาญา 

อีกทั้งยังระบุว่า หากผู้ต้องหายื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป เกรงว่าจะหลบหนี อีกทั้งกรณีของชินวัตรยังมีพฤติการณ์กระทําความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ

ในชั้นสอบสวน ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในเวลา 30 วัน 

 

ทั้งสามถูกแจ้งทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 80,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  6. มาตรา 4 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ทั้งนี้ ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” นั้นมีโทษรุนแรงมากกว่าข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” สำหรับข้อหาแรกนั้นถือเป็นคดีอาญา ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท ส่วนข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ถือเป็นกฎหมายที่บัญญัติในประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่มีบทลงโทษอาญา หรือลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน (อ่านเพิ่มเติม: 10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”)

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) กำหนดประเภทคดีส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจศาลนี้ว่า “คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําใด ตามประมวลกฎหมายอาญา” ทำให้เจ้าหน้าที่มีการขอฝากขังผู้ต้องหาในคดีนี้ไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ

มูลเหตุของคดีมาจากการชุมนุมหน้าศาลอาญารัชดาหรือ #ม็อบ29เมษา เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 หลังทนายความและครอบครัวของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยื่นประกันตัว 7 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ และ “พอร์ท ไฟเย็น” ปริญญา ปฐมชีวินกุล 

ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 7 ในเย็นวันนั้น แม้มีการแจ้งว่าจะเลื่อนไปในวันถัดไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 เม.ย. 64 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธการประกันตัวมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือน และปนัสยาได้อดอาหารมาร่วม 1 เดือนกว่าแล้ว 

นอกจากนี้ยังมีรายงานการออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 3 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, และ ภัทรพงศ์ น้อยผาง ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พหลโยธิน ในช่วงค่ำนี้

X