13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินทาง

14 พฤษภาคม 2564 – ราว 11.00 น. ที่ สน. พหลโยธิน ประชาชน 13 ราย ซึ่งทราบว่าถูกออกหมายจับโดยศาลอาญา ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เหตุจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 หรือ #ม็อบ2พฤษภา ได้แก่ 1. ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ 2. วีรภาพ วงษ์สมาน 3. ปรณัท น้อยนงเยาว์ 4. พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล 5. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 6. อิทธิกร ทรัพย์แฉ่ง 7. ปรีชญา สานจิตรสัมพันธ์ 8. สุทธิตา รัตนวงศ์ 9. โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 10. ยงยุทธ อังนนท์ 11. ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ 12. ชนกันต์ เคืองไม่หาย และ 13. ชาติชาย แกดำ เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน

นอกจากนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรม ก็เดินทางเข้ามอบตัวเช่นกัน หลังทราบว่าถูกศาลอาญาออกหมายจับจากการเข้าร่วมการชุมนุมด้านหน้าศาลอาญา จัดโดยกลุ่ม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยเป็นคดีเดียวกับที่ เบนจา อะปัญ กับณัฐชนน ไพโรจน์ 2 นักศึกษา สมาชิกกลุ่มฯ ได้เข้ามอบตัวไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อคืนวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน กำหนดวงเงินคนละ 100,000 บาท

>>> 3 นศ.มธ.เข้าแสดงตัว ก่อน ตร.แสดงหมายจับ ดูหมิ่นศาล2 คดี จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุม ระบุว่า ก่อนการจับกุมในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาเดินทางมามอบตัวที่ สน.พหลโยธิน เนื่องจากได้ทราบว่าตัวเองเป็นบุคคลตามหมายจับดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงแสดงหมายจับให้ดู และเมื่อผู้ต้องหายืนยันว่าเป็นคนเดียวกันกับที่ระบุในหมายจับ ชุดจับกุมจึงได้ข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหารับทราบ แล้วนําตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทั้ง 13 ราย ทราบถึงพฤติการณ์ของคดี โดยบรรยายถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าวันเกิดเหตุว่า ได้มีการนัดหมายในโลกออนไลน์ว่าจะมีม็อบแบบรถเคลื่อนที่จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่ด้านหน้าของศาลอาญา และตามวันที่นัดชุมนุม พบว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนหลักร้อยมาชุมนุมที่ด้านของหน้าศาลอาญา และมีการปราศรัยถึงผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ และผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ผู้ชุมนุมยังได้ขว้างปามะเขือเทศ ข้าวของ และยิงหนังสติ๊กไปเข้าไปในบริเวณของศาลอีกด้วย 

ผู้ร่วมชุมนุมทั้ง 13 ราย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 2 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไปแต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ด้านสมยศถูกตั้งข้อกล่าวหา 5 ข้อหาเช่นเดียวกัน แตกต่างกันที่ข้อหาตามมาตรา 215 สมยศถูกกล่าวหาตามวรรค 1 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังต่างจากเบนจาและณัฐชนนในคดีเดียวกัน โดยไม่มีข้อหา ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139  

ภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและทำบันทึกการจับกุมจนเสร็จสิ้น ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมอีกครั้งภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 สำหรับกรณีผู้ต้องหากรณีม็อบ REDEM และวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ในกรณีของสมยศ

+++ ส่งผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย ขออำนาจศาลฝากขัง ก่อนได้รับการประกันตัวแบบมีเงื่อนไข วางเงินประกัน 6 แสน+++

ต่อมาในช่วงเวลาราวบ่ายโมง พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 14 รายไปยังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องดังกล่าว

ในระหว่างการไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการขอฝากขัง ผู้ต้องหาและทนายได้แถลงคัดค้านการฝากขังด้วยวาจาว่า พยานหลักฐานในคดีนี้อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว พยานบุคคลหลายคนก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ต้องหาไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่ชัด วันนี้ได้เข้ามามอบตัวกับพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นการจับตามหมายจับแต่อย่างใด กรณีของสมยศ เป็นคดีที่มีมูลเหตุคล้ายกันกับคดีของเบนจาและณัฐชนน ซึ่งทั้งสองได้รับการประกันไปในชั้นพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกฝากขังแต่อย่างใด

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด ทางทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดรายละ 40,000 บาท สำหรับผู้ต้องหาคดีม็อบ REDEM 13 ราย ส่วนกรณีสมยศ ทนายวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท

เหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีม็อบ REDEM ระบุในคำร้องว่า พฤติการณ์ในคดีเป็นการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ รวมถึงสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ตามหลักการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อีกทั้งบริเวณศาลอาญาเป็นสถานที่สาธารณะเปิดโล่ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งผู้ต้องหาทั้งหมดยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือก่ออาชญากรรมร้ายแรงในบ้านเมืองแต่อย่างใด

ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ไม่ได้ถูกจับตามหมายจับ ก่อนถูกดำเนินคดี ผู้ต้องหาบางรายเป็นนักศึกษา ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นเดินทางไปทำงานโดยเปิดเผย ไม่ได้ปกปิดอำพรางตัว ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีตั้งแต่ต้น

ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดา 6 ราย เป็นนักศึกษา ที่เหลือประกอบอาชีพรับจ้าง ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่อความเสียหายต่อสอบสวน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อย่างแน่นอน แต่หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทําให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว รายที่เป็นนักศึกษาต้องเข้าศึกษาและเข้าสอบ หากไม่ได้รับการปล่อยตัว ย่อมกระทบสิทธิในการศึกษา

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดว่า ขณะนี้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 1,795 ราย และที่ทัณฑสถานหญิงกลางมีจำนวนสูงถึง 1,040 ราย ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอาจมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะติดเชื้อไวรัสจากการถูกคุมขัง

อีกทั้ง พนักงานสอบสวน สน. พหลโยธิน  และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจากเหตุคดีชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 29 และ 30 เมษายน 2564 ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดต่อกฎหมายในฐานความผิดเดียวกันกับผู้ต้องหาในคดีนี้ 

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า ศาลอาจจะให้ประกันตัวโดยให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเลคทรอนิกส์ (EM) ด้วย ทนายความจึงได้แถลงต่อศาลว่า ในกรณีของผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาและพยาบาล หากติด EM แล้วอาจจะส่งผลต่อการเข้าเรียนและปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำกับดูแลแทนวิธีการติด EM ส่วนกรณีของพยาบาล เนื่องจากหัวหน้างานต้องลงพื้นที่ตรวจโควิด จะให้ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล เป็นผู้กำกับดูแล 

ต่อมาในช่วงราว 18.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และเงื่อนไขอื่นแตกต่างกันดังนี้

กรณีของสมยศ ให้ประกันวงเงิน 80,000 บาท และติด EM เป็นเวลา 30 วัน มีเงื่อนไข ห้ามออกนอกเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ศาลนัดให้มาติด EM ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 

กรณีผู้ชุมนุม REDEM ให้ประกันวงเงิน 40,000 บาท โดยกลุ่มประชาชนทั่วไป รวม 6 ราย กำหนดให้ติด EM เป็นเวลา 30 วัน นัดติด EM วันที่ 17 พฤษภาคม เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งมีเงื่อนไข ห้ามออกนอกเขตกรุงเทพฯ กรณี 2 ราย ที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ให้เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ได้ แต่จำกัดเวลาให้อยู่บ้านในยามวิกาล (22.00 น. – 04.00 น.)

ส่วนกลุ่มนักศึกษา 5 ราย ไม่ต้องติด EM แต่ต้องมีผู้กำกับดูแล โดยศาลนัดให้นำผู้กำกับดูแลมาไต่สวนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. 

2 รายสุดท้าย ซึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มแพทย์และพยาบาล ไม่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมใดๆ

ทั้งหมดใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ รวมเงินประกันที่ต้องวางต่อศาลทั้งสิ้น 600,000 บาท ศาลนัดผู้ต้องหาทั้งหมดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ค. 2564

เหตุของการออกหมายจับและดำเนินคดี 13 ผู้ชุมนุม มาจากการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง หลังศาลอาญาไม่ให้ประกัน 7 นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 แม้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาแล้ว 45 วัน และมีอาการไม่สู้ดีจากการอดอาหารดังกล่าว โดยผู้ชุมนุมเคลื่อนคาราวานประจานรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่ศาลอาญา จากนั้นมีกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลอาญา เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ก่อนยุติการชุมนุมด้วยความสงบ 

นอกจากผู้ชุมนุม 13 รายนี้ ในวันเกิดเหตุ หลังประกาศยุติการชุมนุมแล้วกว่า 1 ชม. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการรวมตัวของกลุ่มบุคคลประมาณ 20 -30 คน ที่หลงเหลือ และจับกุมบุคคลรวม 4 ราย โดยเป็นเยาวชนชาย 1 ราย แจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่น มั่วสุมเกิน 10 คน และฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดย 1 ในผู้ถูกจับเพียงแต่เข้าไปขายเสื้อและหนังสือในที่ชุมนุม และ 3 ราย ได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่

>>> สลายชุมนุมหน้าศาลอาญา จับ-แจ้งข้อหา 4 ประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากพื้นที่ #ม็อบ2พฤษภา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 2 ราย

 

 

 

X