สลายชุมนุมหน้าศาลอาญา จับ-แจ้งข้อหา 4 ประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากพื้นที่ #ม็อบ2พฤษภา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 2 ราย

วานนี้ (2 พ.ค. 2564) หลังประกาศยุติการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ในกิจกรรมแห่คาราวานและปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการการรวมตัวของกลุ่มบุคคลประมาณ 20 -30 คน ที่หลงเหลือ บริเวณถนนตรงข้ามศาลอาญา รัชดาภิเษก โดยได้มีการจับกุมบุคคลรวม 4 ราย โดยเป็นเยาวชนชาย 1 ราย แจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่น มั่วสุมเกิน 10 คน และฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน. พหลโยธิน หนึ่งคืน และถูกส่งตัวฝากขังต่อศาลอาญาและศาลแขวงพระนครเหนือ ส่วนเยาวชนถูกส่งตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม

ประชาชน 3 ราย ยังพบอาการบาดเจ็บระหว่างถูกเจ้าหน้าที่จับกุม รายแรกถูกยิงด้วยกระสุนยางและถูกตีหลายจุดพร้อมโล่กระแทกหน้า รายที่สองผู้หญิงถูกโล่กระแทกบริเวณปาก ส่วนรายที่สามถูกเตะที่หัว หน้า และขา ทั้งถูกเอาศอกฟันมาที่หน้า โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้เขียนไว้ในบันทึกจับกุมแต่อย่างใด   

  >>> ลำดับเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าศาลอาญา 2 พฤษภาคม 2564       

แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประชาชน 4 คน สองรายถูกแจ้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและใช้อาวุธ 

ในบันทึกการจับกุม ระบุว่าการจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.อัศวยุทธ นุชพุ่ม ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 และ พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับสน.พหลโยธิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.เดชา พรมโสภา สว.ป.สน.วังทองหลาง, พ.ต.ต ธรรมศพงศ์ เดชวรไพบูลย์ สว.ป.สน.ประเวศ เข้าจับกุมประชาชน 4 ราย บริเวณภายในซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 19 ถนนรัชดาภิเษก       

การดำเนินการถูกแยกเป็นสามคดี ได้แก่ คดีของนายธีรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชน อายุ 16 ปี, คดีของนายร่อซีกีน นิยมเดชา และ น.ส.หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม อายุ 20 ปี และคดีของนายคุณภัทร คะชะนา อายุ 26 ปี 

เจ้าหน้าที่ตำรวจบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า  เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 16.45 น. มีกลุ่มมวลชนรวมตัวกันหน้าศาลอาญา เพื่อจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองจากการที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH” ได้เชิญชวนประชาชนมาทำกิจกรรม ซึ่งมีมวลชนเข้าร่วมประมาณ 300 คน แม้มวลชนส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แต่อยู่ในระยะห่างกันไม่เกิน 1 เมตร จึงถือเป็นการรวมคนที่แออัดเกินยี่สิบคน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อโควิด-19 

ต่อมาเวลา 18.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการจัดกิจกรรมให้มวลชนแยกย้ายออกจากพื้นที่ แต่ยังมีประชาชนบางส่วนคงอยู่ที่หน้าศาลต่อไป ประมาณ 19.00 น. พ.ต.อ. ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศให้ทุกคนออกจากพื้นที่ หากยังคงอยู่ในพื้นที่ตำรวจจะเข้าตรวจสอบ 

มวลชนบางส่วนที่ข้ามถนนไปยังปากซอยรัชดาภิเษก 32 ตรงข้ามศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำกำลังชุดควบคุมฝูงชนเข้าไปในพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อขอคืนพื้นที่ แต่กลุ่มมวลชนที่ข้ามไปยังปากซอยรัชดาภิเษกได้ขว้างปาสิ่งของและวัตถุระเบิดปิงปองเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บจากพลุหรือวัตถุระเบิดที่กลุ่มมวลชนปาเข้ามา เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ 

เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณร้านสะดวกซื้อ 7-11 สาขาซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 19 ที่เชื่อมต่อกับซอยรัชดาภิเษก 32 เดินทางไปถึงพบมวลชนรวมกลุ่มกันประมาณ 30 คน ที่จุดนั้น และมวลชนได้ขว้างปาสิ่งของและวัตถุระเบิด เข้ามาทุบทำลายรถยนต์และรถตู้ที่นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเข้ามาจนได้รับความเสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถลงมาตั้งแถวและทำการกดดันให้กลุ่มมวลชนล่าถอยไป

ต่อมากลุ่มมวลชนได้ขับขี่รถจักรยานยนต์อ้อมมาบริเวณด้านหลังขบวนและได้เข้าทุบทำลายรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง 

เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้พบนายธีรศักดิ์ บริเวณมวลชนที่รวมตัวกันพยายามขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่จำได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำลายและขว้างปาสิ่งของใส่ และน่าเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกับมวลชนที่รวมตัวกันบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ที่ขว้างปาระเบิดและพลุเข้าใส่ตำรวจ จึงได้เข้าทำการจับกุม 

ขณะที่นายร่อซีกีน และ น.ส.หทัยรัตน์ เจ้าหน้าที่ระบุว่าพบทั้งคู่บริเวณทางขึ้นสะพานข้ามคลองลาดพร้าว ภายในซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 19 ซึ่งเจ้าหน้าที่จำได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำลายและขว้างปาสิ่งของใส่ และน่าเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกับมวลชนที่รวมตัวกันบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ที่ขว้างปาระเบิดและพลุเข้าใส่ตำรวจ จึงได้เข้าทำการจับกุม นำตัวไปที่สน.พหลโยธิน

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้ง 6 ข้อหา ต่อผู้ถูกจับกุม 3 ราย

ทั้งสามคนได้ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่ 

  1. “ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป” มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 ของ ป. อาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  2. “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289 ป.อาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     
  3. “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ” ตามมาตรา 215 วรรคสอง ป.อาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. “เมื่อเจ้าหน้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามมาตรา 215 เลิกแล้วไม่เลิก” ตามมาตรา 216 ป.อาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ    
  5. “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” มาตรา 358 ป.อาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   
  6. ร่วมกันมั่วสุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดเกินยี่สิบคน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อ ตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

อดีตอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิ ไปขายเสื้อในงานกิจกรรม ถูกรวบพร้อมกล่าวหาว่าจะหลบหนี 

ในส่วนนายคุณภัทร คะชะนา เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเดียว ได้แก่ ข้อหาข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

บันทึกจับกุมของคุณภัทร ระบุถึงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเป็นคนละชุดกับคนอื่นๆ นำโดย ร.ต.อ.จีรวัฒน์ ธนทัตพงศา ผบ.กองร้อยที่ 3, ส.ต.ต.นครินทร์ พิมเสน ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.คฝ2 บก.อคฝ. 

เจ้าหน้าที่ตำรวจบรรยายพฤติการณ์การจับกุมว่า พบคุณภัทรหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปตรวจสอบ แต่เขาได้ทำการวิ่งหลบหนี ตำรวจจึงได้เข้าควบคุมตัว เนื่องจากมีท่าทีต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดและได้เข้าร่วมการจัดกิจกรรม 

ทั้งนี้ เมื่อคุณภัทรถูกนำตัวไปถึง สน. คุณภัทรได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบสิ่งของที่เขาพกพาในกระเป๋าสะพาย ซึ่งทั้งเสื้อมือสอง, สายวัดความยาว และหนังสือหลายเล่ม โดยเขายืนยันว่าตนไปจำหน่ายเสื้อและหนังสือในระหว่างการชุมนุม มิได้มีส่วนในการก่อเหตุวุ่นวายใดๆ ภายหลังการชุมนุม

แต่ตำรวจยืนยันจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขา จึงดำเนินการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในข้อหาเดียว

ทั้งสี่คนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป และทั้งหมดไม่ประสงค์จะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม กระบวนการจัดทำบันทึกการจับกุม สอบคำให้การ พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันเสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 05.30 น. ของวันที่ 3 พ.ค. 64  ผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 ราย จึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.พหลโยธิน ตลอดคืน

ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา 2 ราย อ้างเหตุเกรงจะหลบหนี

ในวันนี้ (3 พ.ค. 2564) พนักงานสอบสวนสน.พหลโยธิน ทำการขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่อซีกีนและหทัยรัตน์ ต่อศาลอาญา เป็นระยะเวลา 12 วัน และนำตัวคุณภัทรไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นระยะเวลา 6 วัน ส่วนธีรศักดิ์ที่ยังเป็นเยาวชน ถูกส่งตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับกุม

ต่อมา ทั้งศาลอาญา และศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสามตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามคน 

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวคุณภัทร คะชะนา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 10,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปวันที่ 7 พ.ค. 2564  

ขณะที่ศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวร่อซีกีนและหทัยรัตน์ ซึ่งใช้ตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายประกัน โดยศาลระบุว่าพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับการคัดค้านการประกันตัวของพนักงานสอบสวน เห็นว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองไปมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ผลของการไม่ได้ประกันตัว ทำให้ร่อซีกีนจะถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานาคร และหทัยรัตน์ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ด้านธีรศักดิ์ หลังไต่สวนการจับกุม ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ชอบแล้ว และให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ ที่ปรึกษากฎหมายจึงยื่นขอประกันตัวชั่วคราวธีรศักดิ์ ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ด้วยคดีนี้มีหลายข้อหา จึงกำหนดหลักประกันจำนวน 10,000 บาท

ผู้ปกครองของธีรศักดิ์ได้ขอวางเงินประกันไว้ 2,000 บาท ส่วนอีก 8,000 บาทได้ขอขยายระยะเวลาวางหลักประกัน 15 วัน ต่อศาลเยาวชนฯ ช่วงบ่ายของวันนี้ ธีรศักดิ์จึงได้รับการปล่อยตัว 

X