นับตั้งแต่มีกระแสเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในปี 2561 รัฐบาลคสช. ภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามในการที่จะควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาประท้วงโดยสงบ โดยผ่านการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จนส่งผลให้นักกิจกรรมและประชาชนหลายรายที่พยายามจะใช้สิทธิตามกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแทรกแซงการชุมนุม รวมไปจนถึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ตั้งข้อหา และถูกดำเนินคดีในชั้นศาลด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรม
ในขณะเดียวกัน แม้สถานการณ์ความร้ายแรงของโรคโควิด-19 ตอนนี้ จะทุเลาลงตามลำดับ แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกประกาศใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ยังคงไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด อีกทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวก็มีเงื่อนไขสำคัญที่เป็นข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพการชุมนุมไว้อย่างเด่นชัด เช่น “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างจากเงื่อนไขของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ในบทความนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจประเด็นการคุ้มครองปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ผ่านคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อคำแนะนำของนานาชาติ ในกระบวนการกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) รอบที่ 2 ปี 2559 และปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข ผ่านการรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ปี 2564
.
รัฐบาลไทยรับ 2 ข้อเสนอแนะ ดำเนินการให้มีการประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก-สิทธิทางการเมือง โดยสอดคล้องกับ ‘บริบทของประเทศไทย’
ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอจากทั้ง 2 ประเทศ ในประเด็นเกี่ยวกับการเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ได้แก่ ประเทศคอสตาริกา เสนอให้มีการดำเนินมาตราการเพื่อสิทธิการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมโดยสงบ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น เสนอให้มีการปรับปรุงสถานการณสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม รวมทั้งประกันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น เสรีภาพในการแสดงออกและกิจกรรมทางการเมือง โดยภายหลังการตอบรับคำมั่นจากนานาชาติแล้ว รัฐบาลไทยได้กลับมาวางแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะ UPR รอบ 2 ไว้ในประเด็นการปกป้องสิทธิการชุมนุมโดยสงบดังนี้ ดังนี้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทําคู่มือเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตํารวจเข้าใจอํานาจหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิในการชุมนุมให้แก่ประชาชน, จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ตํารวจในการปฏิบัติงานด้านการจัดการกับการชุมนุมและฝูงชน โดยร่วมมือกับ องค์กรต่างๆ เช่น สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ในปี 2559
ทุกหน่วยงาน ได้มีการจัดเวทีหารือและเวทีสาธารณะอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ อย่าง สร้างสรรค์ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชน โดยดําเนินการทั้งใน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น, ส่งเสริมการมีส่วนรวมของภาคประชาสังคมในการดําเนินการต่างๆ ของหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563
คณะกรรมการตุลาการและกระทรวงยุติธรรม มีการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี และกฎหมายของประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อนํามาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563
.
พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกรัฐไทยใช้เป็นกฎหมายห้ามชุมนุม แม้ร่วมเป็นภาคี ICCPR – การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่สอดคล้องกับหลักสากล
เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (UPR) ที่จัดทำทุกสี่ปี่ ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธมนุษยชนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 3 ฉบับ ได้แก่ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ, กรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) 1 ฉบับ และ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เปิดโอกาสให้ตำรวจแทรกแซงการชุมนุม ตามรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลังการยกเลิกมาตรา 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ทางการได้ใช้กฏหมายและข้อบัญญัติ อื่น ๆ เพื่อจํากัดการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอย่างเกินสมควร โดยตํารวจมักใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อจํากัดกิจกรรมทางการเมืองและการรวมตัวในที่สาธารณะโดยสงบ
ทั้งนี้ กําหนดข้อบังคับต่าง ๆ ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ นั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อที่ 21 ของกติกา ICCPR และข้อสังเกตลําดับที่ 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งตํารวจให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง พร้อมระบุรายละเอียดกิจกรรมที่จะจัด หากไม่แจ้งตามเงื่อนไขดังกล่าว จะถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงมีการกำหนดห้ามไม่ให้ชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง หรือชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาล เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที้นั้น อีกทั้งยังห้ามเดินขบวนระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และห้ามผู้ชุมนุม กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้สถานที่ทําการหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และสถานทูต ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษสูงสุดถึง 5 ปี และ/หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ส่งผลให้นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2563 บุคคลอย่างน้อย 40 คนถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยทั่วประเทศเมื่อปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย 67 คนถูกตั้งข้อหาตามพระราชบัญญัตินี้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้จำกัดการชุมนุมทางการเมือง จากความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยกำหนดข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะ และกําหนดโทษผู้ฝ่าฝืนให้ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ณ เวลาที่จัดทํารายงานฉบับนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงมีผลบังคับใช้ ข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะถูกยกเลิกชั่วคราวเมื่อวันที 1 สิงหาคม 2563 และกลับมาบังคับใช้อีกครั้งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 อีกทั้งยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งคาดว่าเกิดจากสถานการณ์การเมืองและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ถูกประกาศใช้ใน เขตกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563
นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 มีบุคคลอย่างน้อย 393 ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนั้น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะยังถูกใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการแจ้งความฟ้องร้องกับผู้ประท้วง ทั้งที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวกําหนดไว้อย่างชัด แจ้งว่าไม่สามารถนํามาบังคับในระหว่างช่วงเวลาที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บุคคลอย่างน้อย 70 คนถูกตั้งข้อหาทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงเวลาเดียวกัน
เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แม้เป็นการชุมนุมโดยสงบ กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยต้องเผชิญกับการใช้กําลังโดยไม่จําเป็นและไม่ได้สัดส่วนของตํารวจ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ ตัวอย่างเช่น ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และเดือนมีนาคม 2564 ตํารวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายผู้ชุมนุมในการประท้วงห้าครั้งในกรุงเทพฯ ในการประท้วงเหล่านั้น มีสามครั้งที่ตํารวจยิง แก๊สนํ้าตาใส่ผู้ประท้วง และสองครั้งที่ตํารวจใช้กระสุนยาง
โดยการใช้กําลังรุนแรงสลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบดังกล่าวนั้น ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศหลายประการว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพ ในการชุมนุมโดยสงบ อาทิ ข้อที่ 21 ของกติกา ICCPR ข้อที่ 15 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ข้อสังเกตลําดับที่ 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วย ข้อที่ 21 ของกติกา ICCPR (UN Human Rights Committee’s General Comment No. 37 on Article 21 of the ICCPR) หลักการ พื้นฐานว่าด้วยการใช้กําลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (UN Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)
.
ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการให้แก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม-ระงับการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ไม่ได้สัดส่วนของเจ้าหน้าที่ กระบวนการ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้
- แก้ไขพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อสังเกตลําดับที่ 37 ต่อข้อ 21 ของกติกา ICCPR
- ยกเลิกข้อบัญญัติของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคําสั่งอื่น ๆ ที่กําหนดข้อจํากัดอย่างกว้างขวางต่อ สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยทันที
- จัดการฝึกอบรมที่จําเป็นแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุม
- ระงับการใช้กําลังอย่างไม่ได้สัดส่วนและไม่จําเป็นในการควบคุมการชุมนุม และรับรองว่าการใช้กําลังของเจ้าหน้าที่จะสอดคล้องกับ มาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด รวมถึงหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กําลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่ำในการบังคับใช้กฎหมาย
- จัดให้มีการเยือนประเทศอย่างเป็นทางการของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและ การสมาคม ในระหว่างวาระการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่สาม
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับคำแนะนำของนานาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ปัญหาและความท้าทายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการชุมนุมทางการเมืองได้รับการแก้ใข
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก