ตำรวจสั่งฟ้อง 10 ผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” นัดส่งตัวให้อัยการศาลทหาร

ตำรวจสั่งฟ้อง 10 ผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” นัดส่งตัวให้อัยการศาลทหาร

 

แม้การลงเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญจะจบลง แต่ผู้ต้องหาเกี่ยวกับประชามติยังถูกดำเนินคดี ล่าสุด 10 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพฯ ตร.นัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้อัยการศาลทหาร

3 ก.ค. 60 สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้อัยการมณฑลทหารบกที่ 23  ในวันที่ 11 ก.ค. 60 นี้ โดยมีไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อาคม ศรีบุตตะ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์และเอ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่, ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ อดีตอาจารย์บัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ส่วน ‘โรม’ รังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ปฏิเสธที่จะเข้ากระบวนการตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งไม่มีความชอบธรรมในการออกคำสั่งมาตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ ผู้ต้องหา 8 ราย ได้ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สภ.เมืองขอนแก่นขอเลื่อนวันนัดส่งผู้ต้องหาต่ออัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 เนื่องจาก ปัจจุบันนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ เป็นนักศึกษา อยู่ระหว่างการสอบกลางภาคเรียน เป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกได้ นอกจากนี้ ผู้ต้องหารายอื่นๆ ติดภารกิจไม่สะดวกในวันดังกล่าว จึงจะขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนไปเป็นวันที่ 31 ก.ค.60 พร้อมกัน

ผู้ต้องหาทั้ง 11 คนในคดีนี้ ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขั้นไป จากกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ นับเป็นกิจกรรมเดียวที่ถูกดำเนินคดี และมีนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิถูกดำเนินคดีด้วย

ต่อกรณีการดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็น หรือจัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 นั้น หลังร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการลงประชามติไปอย่างสงบเรียบร้อยตามที่รัฐบาล และ คสช.คาดหวัง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” เสนอให้ ผู้ดำเนินการใน “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งหมด ยุติการดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาประชามติทั้งหลาย โดยพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง เนื่องจากกฎหมายที่รัฐบังคับใช้กับประชาชนที่แสดงออกเกี่ยวกับการลงประชามติ ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ นั้น ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแสดงออกและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสงบสันติต้องได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งการดำเนินคดีผู้ต้องหาขณะที่การทำประชามติผ่านพ้นไปด้วยความสงบ ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ ให้แก่สาธารณะ ทั้งยังไม่เป็นการสร้าง “ความยุติธรรม” และ “ความปรองดอง” ในสังคม

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 60 ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ฉบับที่ 2 ของปะเทศไทย โดยในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก คณะกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลที่มีการขัดขวางการอภิปรายและการรณรงค์ และการตั้งข้อหาอาญาต่อบุคคล ในช่วงก่อนจะมีการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 และมีข้อสังเกตว่า “รัฐภาคีควรจะงดเว้นจากการใช้ข้อบททางอาญา รวมทั้งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการเป็นขบถล้มล้างการปกครอง และกฎหมายอื่น ๆ เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นพ้องกับรัฐ ทั้งยังควรใช้มาตรการทั้งปวงเพื่อยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้เสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออกของตนในระหว่างการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ”

อย่างไรก็ตาม เรายังคงเห็นผู้ต้องหาประชามติทั้งหลายทยอยเดินขึ้นศาล ทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีศูนย์ปราบโกงประชามติ คดีแปะใบปลิวโหวตโน คดีชวนคนโนโหวต คดีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ คดีแจกเอกสารประชามติ คดีแจกสติ๊กเกอร์โหวตโน คดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติ และล่าสุด คดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ จากการจัดกิจกรรมพูดถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุดคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

นศ.-นักกิจกรรม-จนท.ศูนย์ทนายฯ เข้ารับทราบข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน คดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ

10 ผู้ต้องหาพูดเพื่อเสรีภาพปฏิเสธข้อหา เห็นว่าการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญและประชามติเป็นเสรีภาพ

พ.ร.บ.ประชามติฯ รับรองการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” พยานผู้เชี่ยวชาญให้การตำรวจ

 

X