วันที่ 30 ส.ค. ของทุกปีเป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared) ที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศไทยการบังคับให้หายสาบสูญเกิดขึ้นอย่างน้อย 75 กรณี ระหว่างปี 2523 ถึงส.ค. 2563 ตามฐานข้อมูลของคณะทำงานว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือโดยไม่เต็มใจ (UN Working Groups on Enforced or Involuntary Disappearance) รายล่าสุดคือ กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยครอบครัวยังไม่ทราบถึงที่อยู่และชะตากรรมของเขาจนถึงวันนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎทำให้เกิดคำถามว่ารัฐไทยทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
บทความนี้ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหายผ่านคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อคำแนะนำของนานาชาติ ในกระบวนการกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) รอบที่ 2 ปี 2559 และปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข ผ่านการรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ปี 2564
.
ไทยรับข้อเสนอแนะนานาชาติผ่านร่าง พ.ร.บ. ป้องกันทรมานบังคับสูญหายฯ – ให้คำมั่นโดยสมัครใจพร้อมให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (ICPPED) – UPR รอบ 2
ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอแนะทั้ง 10 ข้อ ในประเด็นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ ได้แก่ ให้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติ, การผ่านและนำร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไปบังคับใช้, การกำหนดโทษทางอาญา, การกำหนดคำนิยามของการทรมาน และการแก้ไขปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศโดยสมัครใจว่าประเทศไทยจะร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ
โดยประเทศที่เสนอแนะให้ไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED เพื่อการผูกพันตามสนธิสัญญาและประสงค์จะให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายระหว่างประเทศต่อประเทศของตน มีมากถึง 12 ประเทศ คือ ประเทศญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, คาซัคสถาน, โตโก, อาร์เจนตินา, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, ปานามา, สโลวะเกีย, เซียร์ราลีโอน, เบลเยี่ยม,และ อุรุกวัย ส่วนประเทศที่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทำให้เกิดกลไกภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา กล่าวคือ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ฯ ที่รวมถึงการกำหนดนิยามและโทษทางอาญา มีถึง 8 ประเทศ ได้แก่ แคนนาดา, ชิลี, อุรุกวัย, สโลวาเกีย, คองโก, สเปน, ชิลี, และสาธารณรัฐเกาหลี
จากนั้นรัฐบาลไทยได้วางแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะ UPR รอบ 2 ไว้ในประเด็นการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําใหบุคคลสูญหาย เข้าสู่การพิจารณาของครม. ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 รวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฯ และเสนอร่าง พ.ร.บ. ฯ ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ภายใต้กรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี 2559-2564
ขณะที่ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดําเนินการเพิ่มฐานความผิดทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหายเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยกรอบระยะเวลาการปฎิบัติคือ ระหว่างปี 2561 – 2562
รวมถึงเมื่อปี 2560 คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พ.ค. 60 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการเพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดสิทธิตามอนุสัญญาฯ หลังจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 60
.
ครม. เห็นชอบทั้ง ICPPED และร่าง พ.ร.บ. ป้องกันทรมานบังคับสูญหายฯ แต่ไร้การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม – รายงานคู่ขนานองค์กรสิทธมนุษยชนเสนอใน UPR รอบ 3
เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (UPR) ที่จัดทำทุกสี่ปี่ ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธมนุษยชนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 3 ฉบับ ได้แก่ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ, กรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) 1 ฉบับ และ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ
ในประเด็นการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญนั้นประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ โดยมีข้อบกพร่องในสาระสำคัญ ดังนี้
ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (ICPPED) ในหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED แล้ว แต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 60 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งด้วยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ส่งมอบหรือวางกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการเรื่องนี้ถึงเลขาธิการสหประชาชาติตามที่กำหนดไว้
ประเทศไทยยังไม่ออกกฎหมายภายใน คือ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย วนเวียนพิจารณาไม่สิ้นสุด ซึ่งการออกพระราชบัญญัติเรื่องนี้เป็นขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการป้องกันการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่กฎหมายนี้ก็ยังคงค้างคาอยู่ในระหว่างการพิจารณา จนกระทั่งในเดือน ก.พ 60 สนช. ได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม จนในที่สุด เมื่อวันที่ 23 มิ.ย 63 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฉบับล่าสุดของกระทรวงยุติธรรม แต่ก็ยังรอการพิจารณาอยู่
อีกทั้ง หลังจากการแก้ไขและการพิจารณาของสาธารณชนหลายรอบ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฉบับล่าสุดของรัฐบาล ยังไม่มีการระบุถึง คำจำกัดความของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนเงื่อนไขสำคัญอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงไม่มีบทบัญญัติคำนึงถึงการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าได้แก้ไขกรณีการบังคับให้หายสาบสูญหลายกรณีนับตั้งแต่ UPR ครั้งที่ 2 แต่ทว่ายังคงมีคดีการบังคับให้หายสาบสูญในประเทศไทยอย่างน้อย 75 กรณี เป็นผู้หญิง 9 ราย ที่อ้างอิงตามฐานข้อมูลของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึงส.ค. 2563 โดยมีกรณีใหม่ที่ส่งเรื่องร้องเรียนไปถึงคณะทำงานฯ นี้ 5 ราย ตั้งแต่พฤษภาคม 2559 ถึง พฤษภาคม 2563
กลไกการรับเรื่องราวร้องทุกข์คนหายภายในประเทศไม่มีผลงานเป็นรูปธรรมและทำงานด้อยประสิทธิภาพไม่สอดคล้องกับกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ รูปแบบการแก้ปัญหาคนหายหนึ่งที่รัฐบาลไทยอ้างต่อนานาชาติ คือ คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งขึ้นเมื่อเดือน พฤษภาคม 2560 และแต่งตั้งใหม่อีกครั้งตามอายุของคณะรัฐมนตรีคสช. 2 เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2562 เกิดขึ้นแบบไม่มีผลงานด้านการสืบสวนสอบสวนกรณีบุคคลถูกบังคับให้หายสาบสูญ อย่างทันท่วงที รอบด้านและโปร่งใส เพื่อให้ทราบที่อยู่และชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้น แต่กลไกนี้เกิดขึ้นเพื่อมุ่งลดจำนวนรายชื่อในความดูแลขององค์การสหประชาชาติมากกว่า
รัฐบาลไทยไม่ได้มีความคืบหน้าในการติดตามนักกิจกรรมต่างแดนที่ถูกบังคับให้สูญหายรวม 7 ราย เช่น นายอิทธิพล สุขแป้น หรือ “ดีเจซุนโฮ” ซึ่งหายตัวไปในประเทศลาวเมื่อวันที่ 22 มิ.ย 59 นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” ซึ่งถูกกลุ่มชายติดอาวุธลักพาตัวไปในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 ก.ค 60 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค 61 นายสยาม ธีรวุฒิ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ “ลุงสนามหลวง” และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งถูกทางการเวียดนามจับกุมฐานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายและใช้เอกสารการเดินทางปลอมเมื่อต้นปี 62 และนายวันเฉลิม สัตศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกลักพาตัวโดยบุคคลมีอาวุธไม่ทราบชื่อในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทั้ง 7 นี้ ยังไม่ได้มีความคืบหน้าที่ชัดเจน และไม่มีหลักฐานอะไรบ่งบอกว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการในประเด็นเรื่องบังคับบุคคลสูญหายของรัฐไทยสำหรับ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้
- ให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ภายในรอบการทบสวนสิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 นี้
- เสนอให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาและการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหายทั้งหมดโดยทันที อย่างเป็นอิสระ ยุติธรรมและทั่วถึง และเสนอให้มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด ผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษด้วยบทลงโทษที่เหมาะสมกับความรุนแรงของความผิดนั้น รวมถึงเสนอให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้อย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
- เสนอให้คณะกรรมการจัดการเรื่องร้องเรียนสำหรับการทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ภายใต้กระทรวงยุติธรรมไทย มีทรัพยากรพร้อมที่จะดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศในกรณีของการทรมานและการบังคับให้สูญหาย
- แก้ไขร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทันที และผ่านร่างกฎหมายนี้โดยทันที
- ให้รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับให้สูญหายของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอให้รัฐบาลไทยรับคำแนะนำของนานาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อให้ปัญหาและความท้าทายของการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยและของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านได้รับการแก้ไขโดยทันที
.
อ่านเพิ่ม:
ทวนความหมายของการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ องค์ประกอบที่มี ‘รัฐ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้กฎหมายสากล
ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) ได้นิยามหมายความของการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญว่า
- ต้องมีการกระทำเกิดขึ้นที่เป็นการจับกุม การกักขัง การลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใด ๆ ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ
- โดยการกระทำเหล่านั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยปริยายจากรัฐ
- ต่อมามีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐนั้น ๆ ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรม หรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญนั้น อันเป็นการส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย
วันผู้สูญหายสากล: ความคืบหน้าการหายไป “สยาม ธีรวุฒิ” กับการรอคอยของแม่
เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก
.