ครอบครัว “สยาม ธีรวุฒิ” ขอ UN ยังคงติดตามหาสยาม หลังรัฐบาลเวียดนามขอให้ยุติ: 2 ปีการสูญหายของ 1 ในผู้ลี้ภัยทางการเมืองยุค คสช.  

7 พ.ค. 2564 ครอบครัวสยาม ธีรวุฒิ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารของ คสช. ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน ในยุคที่ คสช.ยังครองอำนาจ เดินหน้าส่งหนังสือจี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ติดตามผู้สูญหายในสมัยรัฐบาล คสช. และผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชน ในกิจกรรม “สองปีที่สูญหาย สยาม ธีรวุฒิหน้าทำเนียบรัฐบาล 

ภาพกิจกรรมหน้าทำเนียบ โดย iLaw

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ครอบครัวสยาม ได้ส่งหนังสือร้องเรียนเพิ่มเติมถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ ขอให้ยังคงติดตามการหายตัวไปของสยาม และให้ขึ้นทะเบียนสยามเป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามทำหนังสือถึงคณะทำงานฯ สหประชาชาติให้ยุติเรื่องนี้ 

 

ผู้สืบสวนสอบสวนควรต้องรวบรวมหลักฐานพยานแวดล้อมโดยตรงอื่น ๆ ต่อไป แม้ไม่สามารถระบุที่ตั้งศพหรือซากศพได้ เพื่อหาผู้กระทำผิด

สืบเนื่องจากรัฐบาลเวียดนามได้ส่งหนังสือถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ลงวันที่ 16 พ.ย. 2563 ว่าเจ้าหน้าที่ของเวียดนามได้ทำการสืบสวนสอบสวนในกรณีสยาม และไม่พบข้อมูลใดเกี่ยวกับการหายตัวไปของสยาม หรือข้อมูลการสูญหายของเขาในเวียดนาม ดังนั้น เวียดนามจึงขอให้ทางคณะทำงานฯ ยุติเรื่องนี้ 

หนังสือของทางการเวียดนามฉบับดังกล่าวยังได้เน้นย้ำคำตอบเดิมที่เวียดนามได้ส่งให้คณะทำงาน ฯ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 

 

ส่วนหนึ่งของหนังสือจากคณะทำงานฯ ถึงครอบครัวสยาม แจ้งความคืบหน้าของรัฐบาลเวียดนาม

 

ทำให้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ครอบครัวสยามได้ส่งหนังสือถึงคณะทำงานฯ ของสหประชาชาติ โดยระบุในหนังสือว่า ข้อมูลที่รัฐบาลเวียดนามตอบคณะกรรมการฯ มานั้น เป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ การสืบสวนสอบสวนที่รัฐบาลเวียดนามได้กล่าวอ้างไว้ ซึ่งนับระยะเวลาดำเนินการกว่า 1 ปี 6 เดือน (นับถึงวันที่เวียดนามส่งหนังสือถึงสหประชาชาติ วันที่ 16 พ.ย. 2563) หลังจากที่มีการรายงานข่าวว่าสยาม ธีรวุฒิและเพื่อนอีกสองคนได้หายตัวไปเมื่อ 8 พ.ค. 2562 รัฐบาลเวียดนามไม่ได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดใดในกระบวนการสืบสวนสอบสวนและผลการดำเนินการ ที่จะแสดงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทางสาธารณะ และจะทำให้ครอบครัวของสยามได้เข้าใจถึงกระบวนการสืบสวนการบังคับให้บุคคลสูญหายได้แต่อย่างใด

การที่รัฐบาลเวียดนามมีคำขอให้ทางคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ แห่งสหประชาชาติ ยุติเรื่องการติดตามการหายตัวไปของสยามนั้น เป็นสิ่งที่ครอบครัวยอมรับไม่ได้ การระบุถึงผลการสืบสวนว่าไม่พบข้อมูลใดเกี่ยวกับการหายตัวไปของสยาม หรือข้อมูลการสูญหายของเขาในเวียดนาม ไม่ได้ทำให้ทางการเวียดนามหมดหน้าที่ในการตามหาชะตากรรมและที่อยู่ของสยาม

หนังสือถึงคณะทำงานฯ ฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า ครอบครัวของสยามและองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เคยให้ข้อมูลต่อรัฐบาลเวียดนามแล้วถึงรายละเอียดในสำเนาหนังสือเดินทางประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีรูปของสยามปรากฏในหนังสือ หมายเลขหนังสือเดินทางที่ B 0595357 ชื่อผู้ถือบัตรคือ Mr. Liu Chen Siung เกิดวันที่ 31 ต.ค. 2528 สถานที่ทำหนังสือที่ Jakarta Barat วันที่ออกหนังสือวันที่ 23 พ.ย. 2560 วันหมดอายุหนังสือเดินทางวันที่ 23 พ.ย. 2565 โดยการสืบสวนสอบสวนใด ๆ ของรัฐบาลเวียดนามต้องรวมถึงสำเนาหนังสือเดินทางฉบับนี้ด้วย 

ทั้งนี้ พิธีสารมินนิโซตา ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน กรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค.ศ. 2016) ระบุว่าในการสืบสวนสอบสวนกรณีเสียชีวิตที่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย อาจทราบหรือไม่ทราบสถานที่ที่อาจพบร่างหรือศพ แม้ผู้สืบสวนสอบสวนไม่สามารถระบุที่ตั้งศพหรือซากศพได้ พวกเขายังควรต้องรวบรวมหลักฐานแวดล้อมโดยตรงอื่น ๆ ต่อไป โดยหลักฐานเหล่านี้อาจเพียงพอต่อการระบุผู้กระทำความผิดได้ 

อย่างน้อยรัฐบาลเวียดนามควรดำเนินการทันทีและเพียงพอต่อคำถามของครอบครัวของสยามที่ได้ยื่นต่อสถานทูตเวียดนามในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 คำถามเหล่านั้น ได้แก่ 

  1. สยามถูกจับกุมที่เวียดนาม และควบคุมตัวด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง ตามที่ปรากฏเป็นรายงานข่าวจริงหรือไม่ อย่างไร และวันที่เท่าใด 
  2. สยามยังถูกจับและยังอยู่ในการควบคุมตัวของทางการเวียดนามหรือไม่ ขณะนี้เขาถูกควบคุมตัวที่ใดและครอบครัวจะติดต่อเขาได้อย่างไร  
  3. หากสยามไม่อยู่ในการควบคุมตัวของทางการเวียดนามแล้ว ขณะนี้ได้เวียดนามได้ส่งตัวสยามกลับมาที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ เมื่อใด
  4. กฎหมายวิธีการส่งตัวบุคคลของประเทศเวียดนามให้รัฐอื่น โดยเฉพาะการส่งตัวกลับตามกฎหมายเข้าเมืองคืออะไร

 

ครอบครัวของสยามระบุในหนังสือถึงคณะกรรมการฯ กล่าวถึงการดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ว่า คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ประสานงานให้มารดาของสยามเข้าตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรม (DNA) กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลตรวจพบว่าสารพันธุกรรมของมารดาสยามไม่ตรงกับข้อมูลสารพันธุกรรมที่มีของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด 

ดังนั้น กรณีของสยามจึงยังคงอยู่ในกระบวนการคัดกรองของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหายของไทย ว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการใดเชิงก้าวหน้าถึงการระบุถึงชะตากรรมและที่อยู่ของสยาม ครอบครัวยังคงถูกปฏิเสธการแจ้งความคนหายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการแสดงว่ารัฐบาลไทยเองไม่มีความพยายามในการทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา 

ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่า นับแต่นี้ไป จะไม่มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามในการตามหาสยามแล้ว 

ครอบครัวสยาม ธีรวุฒิ จึงมีคำขอให้คณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ ยังคงติดตามการหายตัวไปของสยามและให้ขึ้นทะเบียนสยามเป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติต่อไป  

 

สยาม ธีรวุฒิ เด็กหนุ่มผู้มีฝัน

สยาม ธีรวุฒิ เป็นบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟเขาต้องลี้ภัยการเมืองออกไปตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เนื่องจากถูกออกหมายจับกรณีเข้าร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2556 นอกจากนี้สยามยังถูกออกหมายจับจากกรณีสหพันธรัฐไท ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209

วันที่ 8 พ.ค. 2562 มีรายงานข่าวว่าสยาม พร้อมด้วยเพื่อนอีกสองคน ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามและถูกส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย แต่แล้วกลับไม่มีใครสามารถติดต่อหรือทราบชะตากรรมของทั้งสามคนอีกเลยนับจากนั้น

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

>> พี่วันเฉลิม-แม่สยาม-ภรรยาสุรชัย จี้ 3 หน่วยงานรัฐตามหา ‘วันเฉลิม’ และผู้ลี้ภัยที่สูญหาย

>> สยาม ธีรวุฒิ: จากลูกชายของแม่ สู่ “ศัตรูของชาติ” และการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรม

>> แม่ “สยาม” ร้องกองปราบฯ ช่วยหาตัวลูกชาย จันทร์หน้ายื่นหนังสือถึง กสม.และกต.อีก

>> กองปราบไม่รับแจ้งความ เหตุผู้ลี้ภัย 3 คนหายไปหลังมีข่าวส่งตัวกลับไทย

 

X