สยาม ธีรวุฒิ: จากลูกชายของแม่ สู่ “ศัตรูของชาติ” และการเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรม

ภายหลังการรัฐประหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงจุดเริ่มต้นของการออกเดินทางของเหล่า “ศัตรูของชาติ” – ฐานันดรพิเศษซึ่งถูกสถาปนาขึ้นมาโดย คสช. เพื่อนิยามเหล่าผู้ต่อต้านอำนาจของรัฐเผด็จการ  ซึ่งต้องกลายสภาพเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ออกระหกระเหินผ่านทางช่องทางธรรมชาติ เซซัดกระจัดกระจายกันไปในหลายประเทศทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ “สยาม ธีรวุฒิ” ชายหนุ่มวัย 29 ปี ณ เวลานั้น ผู้มาพร้อมกับแว่นตาสายตากรอบเหลี่ยม บุคลิกสุภาพที่คู่มากับการพูดด้วยเสียงเรียบ ๆ โทนเดียวที่กลายเป็นจุดเด่นของเขา

อดีตบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟเริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2552 จากการวนเวียนตามงานเสวนาทางการเมือง ก่อนที่จะถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่มประกายไฟ  ด้วยความที่สนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์และการเมือง บวกกับความหลงไหลในประเทศกัมพูชาจนถึงขนาดที่ต้องหาทางเรียนภาษากัมพูชาด้วยตัวเอง สยามจึงอยากที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะต้องการที่จะมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของสยามบนเส้นทางของนักกิจกรรมเพื่อสังคม

ทางด้านการเมือง สยามได้มีส่วนร่วมสังเกตการณ์เหตุการณ์ชุมนุมหลายครั้ง เช่น การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 รวมไปถึงกิจกรรมคัดค้านความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาในปีต่อมา และยังได้เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิและสามารถต่อรองกับทางนายจ้าง รวมไปถึงเรื่องการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม ชีวิตของสยามถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อคราวที่เขาได้ร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556 ผลจากกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เพื่อนของสยามสองคนที่ร่วมเล่นละครด้วยกันถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถูกจำคุกเป็นเวลากว่า 2 ปี ในขณะที่สยามเองต้องหลบหนีออกจากประเทศไทยเหตุเพราะถูกรัฐออกหมายจับในข้อหาเดียวกัน

และด้วยเหตุนั้น การเดินทางอันแสนยาวนานของสยามจึงได้เริ่มขึ้น…

.

“สยาม” ในทรงจำของแม่

“สยามเขาสนิทกับแม่มากนะ เวลามีอะไรเขาจะเล่าให้ฟังตลอด แม่เคยถามสยามว่า หนูมองหาความรักมั่งไหม สยามบอกว่าไม่หรอกครับแม่ (หัวเราะ) สยามยังโสด ตัวแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาอยากทำกิจกรรมทางการเมือง ตอนแรกเราก็ห้ามนะ อย่าไปเล่นละครเลย มาช่วยพ่อทำงานก่อน แม่จำได้ว่าเพื่อนเขาโทรมา ถามว่าทำไมถึงไม่ไปซ้อม ตอนนั้นแม่ขับรถอยู่แล้ว เขาบอกว่า เนี่ย เดี๋ยวก็เล่นไม่ได้ สยามก็เลยบอกไปว่าขอมาทำธุระกับแม่ก่อน เดี๋ยวตามไป”

กัญญา ธีรวุฒิ เล่าถึงเรื่องราวในหนหลังระหว่างเธอกับลูกชายที่บ้านในย่านอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อครั้งที่ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าไปพบเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสยามเพิ่มเติม

.

.

ในห้วงก่อนที่ยังเป็นแค่ลูกชายของครอบครัวช่างแอร์ นักเขียนผู้กระหายใคร่รู้ในเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กัญญาเล่าว่า เธอสัมผัสได้ถึงความชอบในเรื่องการเมืองและรัฐศาสตร์ของลูกชายชัดเจนตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนมัธยม อาจจะเพราะด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือตั้งแต่เมื่ออายุเพียง 3 ขวบ กัญญาชี้ให้เห็นหนังสือกองพะเนินซึ่งถูกจัดเรียงในตู้ที่เธอเก็บรักษาไว้แม้ในวันที่ลูกชายไม่อยู่ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง สังคม รวมไปถึงทฤษฎีของนักคิดคนสำคัญจากหลากหลายสกุลทางความคิด และที่เตะตาที่สุด หนังสือดิกชันนารีสารพัดภาษาเล่มเขื่องหลายเล่มที่กัญญาเล่าว่าเป็นของรักของหวงของสยาม ด้วยความที่ชอบอะไรที่ไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน สยามจึงไม่มีเพื่อนที่พร้อมจะแชร์เรื่องราวที่สนใจร่วมกัน กระทั่งเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาจึงได้พบพื้นที่ของตัวเอง

“พอไอซ์ (ชื่อเล่นของสยาม) เข้ามหาลัยก็ไปร่วมกิจกรรม ประมาณปี 2553 – 2554 อย่างที่ใต้ ตอนมีประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาก็ไปช่วย เวลาสยามไปทำกิจกรรมอะไรจะบอกแม่ตลอด เราก็ไปรับไปส่งเขา จุดนี้น่าจะเป็นประกายที่ทำให้เขาเลือกฝ่าย เมื่อก่อนเขาเคยชอบประชาธิปัตย์นะ แต่แล้วก็เปลี่ยน เหมือนเราตอน 15 20 ความชอบมันก็เลื่อนก็เปลี่ยนกันได้ แต่เรื่องเขมรนี่เขาชอบมาก เขาพูดได้ด้วยเพราะเรียนด้วยตัวเอง”

“ตอนที่เขาออกไปต่างประเทศ เขาไปแบบกระทันหันเลย เราก็ไม่คิดว่าเขาจะไปนาน ครั้งสุดท้ายก่อนจะแยกกัน สยามบอกว่าจะไปที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ไปหาอาจารย์ ตอนนั้นแม่มีเงินติดตัวแค่ 400 ก็ให้ลูกไปเท่านั้น เดี๋ยวว่าจะโอนให้ เขาพยายามบอกไม่ให้เราห่วง แต่เขารู้แล้วว่าเขาจะไป แต่พยายามเบี่ยงความสนใจแม่”

ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ กัญญายังได้เล่าถึงความรู้สึกของเธอ เธอยอมรับว่า ในช่วงที่สยามออกมาทำกิจกรรม เธอเองก็เป็นห่วง แต่ไม่เคยคิดจะปิดกั้นลูก เพราะเชื่อว่าสยามคิดและคำนวณในหัวของเขาอยู่แล้วถึงผลที่จะตามมา และสามารถชั่งน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง กระนั้นก็ตาม ในฐานะคนเป็นแม่ กัญญายังสัมผัสได้ถึงกระแสความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับลูกชายก่อนการออกเดินทางที่จะทำให้เขาห่างจากอกแม่นานถึงกว่า 5 ปี

“เราสังเกตเห็นนะ เขาเคยพูดว่าอยากให้แม่เอาเงินไปแลกไว้ เราก็ถามว่าเขาจะไปไหน แต่เรารู้แล้วแหละว่าเขาเครียด พอเรานอน เขาก็มาเกาะข้างเตียง เขาพูดกับเราว่า ‘ถ้าผมไปหลายวัน แม่จะคิดถึงผมไหม?’ เราก็เลยถามเขากลับ ‘แล้วเราอะจะคิดถึงแม่ไหมล่ะ? ถ้าจะไปก็ต้องไป’ เขาพูดเป็นนัยๆ ว่าถ้าไป คงต้องไปหลายวัน เราก็ต้องคิดถึงอยู่แล้ว ตอนนั้นช่วงหลังรัฐประหาร เขาพูดเรื่องนี้ในเดือนที่จะไปนั่นแหละ แม่ว่าเขาเองก็ชั่งน้ำหนักอยู่ในตอนนั้น ถ้าอยู่ต่อก็ไม่ปลอดภัย เสี่ยงจะโดนซ้อม เขาบอกว่าถ้าโดนจับก็ไม่รู้จะเป็นหรือจะตาย เขาเลยขอหนีไปเรื่อย ๆ เพราะคนพวกนี้ไม่ฟังน้ำหนักคนจนหรอก”

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่กัญญาต้องแบกความคาดหวังอันหนักอึ้งในการตามหาลูกชายที่หายตัวไป แต่กัญญาก็ยังยิ้มและหัวเราะ แม้จะทราบว่าตัวเองมีข้อจำกัด แต่หัวใจของเธอยังคงมีความหวังและปฏิเสธที่จะยอมแพ้

“ตัวแม่เป็นคนนครปฐม เราจบแค่ ป.4 แต่แม่ทำได้หมดเลยนะ ทั้งทำนา ดำนา เกี่ยวข้าว ซ่อมแอร์ติดแอร์ รถเกี่ยวรถตักแม่ก็ขับได้ แม่บอกลูกทุกอย่างว่าทำอะไรได้บ้าง ที่ไม่ได้ก็เห็นจะมีแต่ ปั่นจักรยานกับเขียนหนังสือ (หัวเราะ) แล้วก็ลูกนี่แหละที่ยังหาไม่เจอ”

.

สู่การเดินทางของแม่

Timeline: เส้นทางการต่อสู้ของ “สยาม ธีรวุฒิ” และการเดินทางของแม่เพื่อทวงถามความยุติธรรม
พ.ศ. 2552 – 2556 – สยามเข้าร่วมกับกลุ่มประกายไฟในปี 2552 ก่อนจะเข้าร่วมเพื่อสังเกตการณ์เหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปีต่อมา นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง สยามและเพื่อนยังมีส่วนในการผลักดันเรื่องสิทธิของแรงงานและชาวบ้าน รวมไปถึงการเรียกร้องเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ14 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – สยามและเพื่อนๆ ในกลุ่มประกายไฟการละครขึ้นเล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 – เกิดการรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเผด็จการได้ทำการเร่งรัดการดำเนินคดี 112 และได้ออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สยามและเพื่อน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุมาจากการขึ้นแสดงละครเวทีเมื่อปี 2556 เมื่อไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับความยุติธรรมจากกฎหมาย สยามจึงได้เดินทางออกจากประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2561 – ชื่อของสยามหรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” ร่วมกับชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ปรากฏอยู่ในรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในฐานะที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งและเผยแพร่อุดมการณ์ทางความคิด “สหพันธรัฐไท” (อ่านเรื่องคดีสหพันธรัฐไทเพิ่มเติมได้ที่ 1 ปี ความเคลื่อนไหวคดี ‘สหพันธรัฐไท’: ดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี) ร่วมกัน ผ่านทางสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ข่าวการหายตัวไปของนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 3 ราย ได้แก่ สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่าผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนที่ในปลายเดือนเดียวกันนั้น ได้มีการพบศพของนักกิจกรรม 2 รายหลัง ซึ่งในช่วงนี้เองที่สยามเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลง ก่อนจะเงียบหายไปในที่สุด

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – “เพียงดิน รักไทย” หรือเสน่ห์ ถิ่นแสน ประธานภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แจ้งข่าวผ่านยูทูบช่องมหาวิทยาลัยประชาชน ว่าตำรวจเวียดนามได้ส่งตัวสยาม และพวก ให้ทางการไทยแล้ว

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวของสยามได้เข้าขอข้อมูลเรื่องการจับกุมสยามกับทางผู้บังคับการกองปราบปรามในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่าได้มีการจับกุมตัวสยามกลับมาประเทศไทยหรือไม่

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวของสยามได้เข้ายื่นเรื่องต่อสถานทูตเวียดนามเพื่อเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบกรณีการจับกุมตัวสยามและพวก โดยระบุคำถาม 1. การที่สยามและพวกถูกจับเป็นเพราะการเข้าเมืองโดยใช้พาร์สปอตปลอมหรือไม่? 2. ขณะนี้ สยามยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เวียดนามหรือไม่? และทางครอบครัวจะขอติดต่อได้ไหม? 3. หากสยามไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทางเจ้าหน้าที่เวียดนามแล้ว ขณะนี้ เขาได้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศไทยแล้วใช่หรือไม่? หากใช่ เขาถูกส่งตัวกลับเมื่อไหร่และอย่างไร? พร้อมกันนั้น ยังได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสหภาพยุโรปเพื่อให้ช่วยติดตามประเด็นข้างต้น

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ทางครอบครัวได้เดินทางเข้าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสยามต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อให้ช่วยติดตามกรณีนี้ต่อไป

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – กองบังคับการปราบปรามฯ ได้แจ้งผลการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของสยามและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน กับทางครอบครัว ระบุว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานใดระบุว่าได้ทำการจับกุมตัวสยามมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามได้เข้ายื่นคำร้องต่อกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเพื่อให้ทำการตรวจสอบไปยังทางประเทศเวียดนามเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศของสยามและพวกอีก 2 คน ในวันเดียวกันนี้เอง ทางครอบครัวและศูนย์ทนายฯ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวสยาม

ทางครอบครัวได้รับแจ้งจากทางผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมว่า กรณีของสยามจะถูกพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของการคัดกรองเรื่อง ว่าเข้าข่ายการอุ้มหายตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearances, ICPPED) หรือไม่ หากไม่ใช่ก็จำเป็นต้องปิดกรณีนี้ และไม่ส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการสอบสวนเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ ที่จะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการ

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – กรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้กับทางครอบครัว ระบุว่า หลังจากที่สอบถามไปยังทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามซึ่งได้สอบถามต่อเป็นการภายในไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่าทางการเวียดนามยังไม่พบข้อมูลกรณีการเข้าออกประเทศของสยามและพวกแต่อย่างใด

21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามเข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยแนบหลักฐานได้แก่ บันทึกการติดต่อระหว่างสยามกับแม่และเพื่อนครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงสิ้นปี 2561 หนังสือตอบกลับจากทางกองปราบปราม และหนังสือตอบกลับจากทางกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ

19 กันยายน พ.ศ. 2562 – เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงว่า คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ (คณะกรรมการฯ) และอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ ที่คณะกรรมการฯ แต่งตั้งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ในปัจจุบันได้หมดวาระไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฯ อีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

หลังจากที่ได้ทราบเรื่องลูกชายจาก ”เพียงดิน รักไทย” หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ได้กระจายข่าวผ่านช่องทางยูทูบระบุว่า สยามและนักจัดรายการวิทยุใต้ดินชื่อดัง “ลุงสนามหลวง” พร้อมกับผู้ติดตามอีกหนึ่งคนถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับมาที่ไทยแล้วในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อทราบเรื่อง กัญญาได้ออกตระเวนยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งทั้งตำรวจและทหารล้วนต่างปฏิเสธว่าได้ควบคุมตัวสยามและผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีก 2 ราย

“ตอนที่แม่เดินเรื่องที่กองปราบ เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาไม่ยอมรับแจ้งความเรื่องสยาม บอกว่าไม่ได้มีหน้าที่ทำเรื่องคนหาย เพราะคลิปที่เราให้เขาดู [คลิปของเพียงดิน] ที่ว่าสยามถูกส่งตัวมาเมื่อวันที่ 8 เขาถามว่า คนในคลิปเป็นใคร เอามาจากไหน ใครเป็นคนเอามา แล้วตัวตนเป็นใคร เขาพูดกับเราแบบนี้ เขาบอกแม่ว่าคลิปมันดูเลื่อนลอย ตอนที่เราไปถึงกองปราบ สันติบาลบอกให้เราไปเดินเรื่องชั้นบน พอไปถึงเขาก็พูดกับเราอีกอย่าง เขาถามเราว่าอะไรคือหลักฐานที่ว่าลูกเราหาย เสร็จแล้วเขาก็บอกให้เรามายื่นเรื่องอีกทีพรุ่งนี้ ยื่นเสร็จ เราก็รอจนเขามีหนังสือตอบมายังไม่มีหน่วยงานไหนที่คุมตัวสยามไว้”

จากการที่ทางศูนย์ทนายฯ ได้ติดตามกัญญาไปเพื่อขอความช่วยเหลือในการตามตัวสยามที่สถานทูตเวียดนามและต่อคณะกรรมการสิทธิเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 พบว่า มีตำรวจสันติบาลหลายนาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เฝ้าติดตามครอบครัวโดยตลอด อีกทั้งยังมีการเข้าไปพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่สถานทูตก่อนที่จะอนุญาตให้ครอบครัวได้เข้าพบ โดยกำชับว่าห้ามถ่ายรูป ไม่อย่างนั้นทางสถานทูตเวียดนามจะไม่ยอมรับว่าเซ็นเอกสารให้ อีกทั้งทางสถานทูตไม่มีธรรมเนียมการออกเลขรับหนังสือให้ หากมีความคืบหน้า เจ้าหน้าที่สถานทูตจะติดต่อกับทนายและตัวครอบครัวเอง อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว ทางศูนย์ทนายฯ และกัญญาสามารถเข้าไปยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ได้แค่เพียงบริเวณป้อมยามของสถานทูตเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้เวลาผ่านมาหลายเดือนแล้ว ทางครอบครัวยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าใด ๆ ทั้งทางศูนย์ทนายฯ และกัญญาจึงได้เดินทางต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

“ตอนที่แม่ไปที่กรมคุ้มครองสิทธิ เจ้าหน้าที่เขาพูดกับแม่ว่า เรื่องมันยังอยู่ระหว่างคัดกรอง อย่าเอาเรื่องคดีไปพูดกับที่อื่นนะ เดี๋ยวประเทศจะเสียชื่อเสียง ตอนที่เขาบอกแม่อย่างนั้น มันตื้อขึ้นมาเลย มันคือความโกรธ ปกติแม่เป็นคนไม่ร้องไห้ แต่พอเขาบอกว่าอย่าไป เราต้องรักประเทศของเรา น้ำตาเราตกเลย ห่วงภาพลักษณ์ประเทศ แล้วลูกของฉันล่ะ ลูกที่หายไปล่ะ ใครจะมาช่วยเหลือ

.

ภารกิจที่ยังต้องดำเนินต่อ

ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ กัญญาได้สะท้อนความรู้สึกของตัวเธอออกมา สิ่งที่ลูกชายของเธอเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ รวมไปถึงความตั้งใจของเธอที่จะคืนความยุติธรรมให้กับลูกชาย

“ไอซ์เขาเป็นเด็กดี ไม่ว่าพ่อแม่จะอยากได้อะไร เขาก็ทำให้ แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นในตัวเองนะ มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะเขาอ่านหนังสือมาก ทำให้เขามั่นใจในสิ่งที่ทำ เพราะในหนังสือมันก็คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เคยเกิดขึ้น มันตอกย้ำความคิดของเขา เขาอยากจะสื่อสาร แม่ไม่รู้ว่าคนที่ตามจับเขาคิดยังไง หรือไม่ได้คิด เขามองหรือเปล่าว่าตัวเขาก็คน คนที่เขาตามล่าก็คน”

“เขาเล่นละครแค่นี้ ไปเอาหลักฐานอะไรมาบอกว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วให้เขาติดคุกตั้ง 15 ปี เกินไปหรือเปล่า ไม่ได้ตรวจสอบ ออกหมายจับเลย สยามเขาไม่ใช่ยาพิษหรือระเบิดที่จะปล่อยเอาไว้แล้วพุพองไปทั่วประเทศ”

แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ราวกับหลุดออกมาจากอุดมคติ แต่เริ่มแรกที่สุดที่สยามออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง กัญญาบอกเราว่า ที่เขาทำแบบนั้นก็เพราะเขาเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน และประชาธิปไตยแท้จริงแล้วคือสิ่งที่จะทำให้เราสามารถยืนหยัดเคียงข้างกันได้อย่างเท่าเทียม

“ไอซ์เขาอยากเห็นไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เราสามารถมานั่งคุยกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ออกกฎหมายโดยไม่ได้มีการเอามาตรวจสอบ”

“ประชาธิปไตยมันควรต้องเป็นประโยชน์กับทุกคน คนที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งหมด แม่เห็นด้วยกับสยามในสิ่งที่เขาทำนะ ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป เพราะเขาอยากให้ประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ทุกคนเสมอกัน อยากให้เป็นอย่างนั้น เราเองก็มั่นใจในความเชื่อของเขา”

ถึงแม้ว่ารัฐจะมองว่าสยามคือ “ศัตรูของชาติ” อันเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่สำหรับคนเป็นแม่ สยามคือลูกชาย– เด็กเรียนบุคลิกหนอนหนังสือที่มักจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “ครับ” เสมอแม้กระทั่งกับเพื่อนฝูง นักเขียนผู้ถ่อมตนและให้เกียรติผู้อ่าน และปุถุชนผู้เชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียมในสายตาของคนใกล้ชิด

ท่ามกลางสภาวะทางการเมืองที่หลายคนเริ่มรู้สึกว่าได้เดินมาจนถึงทางตันจนต่างเริ่มถอดใจ แต่ไม่ใช่สำหรับกัญญา เพราะเธอยังคงยืนยันที่จะเดินทางต่อเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูกชาย

พร้อมกับความหวังว่าจะได้พาเขากลับมาบ้านอีกครั้ง…

————————————

[1] อ่านงานเขียนของสยามได้ที่  ประชาไท บล็อกกาซีน

[2] เจ้าหน้าที่ยังได้กล่าวเพิ่มเติมโดยระบุว่า กองปราบไม่มีหน้าที่ที่จะไปติดตามว่าหน่วยงานไหนจับกุมตัวผู้ต้องหามาหรือไม่  ถ้ามีการจับกุมจริง หน่วยงานที่จับกุมจะต้องประสานงานกับพนักงานสอบสวน ผู้ออกหมายจับ และนำตัวมาส่งเพื่อดำเนินคดี ดูเพิ่มเติมที่ กองปราบไม่รับแจ้งความ เหตุผู้ลี้ภัย 3 คนหายไปหลังมีข่าวส่งตัวกลับไทย

[3] อีกข้อสังเกตหนึ่งที่สมควรนำมาพิจารณาร่วมในเรื่องการหายตัวไปของสยาม นั่นก็คือ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จอง ดวย เงิด บล็อกเกอร์แอคทิวิสท์ชาวเวียดนาม วัย 55 ปี ก็ได้หายตัวไปขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนที่ทางครอบครัวจะให้ข้อมูลว่าได้พบตัวของเขาแล้วอยู่ในคุกที่ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562

นอกเหนือจากนักกิจกรรมชาวเวียดนาม ในวันที่ 26 เดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา อ็อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งได้ลี้ภัยอยู่ในไทยก็ได้หายตัวไปเช่นกัน ขณะที่กำลังรอย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม

X