ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”

2 มิ.ย. 2564 ในโอกาส “ครบรอบ 1 ปี การบังคับสูญหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ในวันที่ 4 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีวันเฉลิมถูกบังคับสูญหายในกัมพูชา 

พร้อมกันนี้ กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าให้ปากคำพร้อมยื่นหนังสือให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้ดีเอสไอติดตามกรณีสยามถูกส่งกลับไทยหรือบังคับสูญหายในขณะอยู่ในประเทศเวียดนาม

สุรพงษ์ กองจันทึก ให้สัมภาษณ์ถึงวัตถุประสงค์ในการเข้ายื่นหนังสือว่า “เนื่องจากโดยหลักการรัฐไทยมีหน้าที่คุ้มครองดูแลคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ แต่เราพบว่า คนไทยบางคนที่หายไปในต่างประเทศหรือระหว่างเดินทางกลับมาประเทศไทย กรณีเหล่านี้ไม่มีความคืบหน้าไม่มีความชัดเจนในการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด” 

“ขณะเดียวกันเราพบว่าการหายตัวไปของคนเหล่านี้ไม่ได้หายแบบปกติ มีข้อมูลชี้ว่า เกิดจากการกระทำของขบวนการบางขบวนการซึ่งมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก กรณีของวันเฉลิมมีคลิปที่บอกว่ามีการอุ้มโดยคนบางกลุ่ม ซึ่งมีการจัดการ มีอาวุธ เครื่องมือ ในการทำให้คนเหล่านี้หายไปได้ ยากที่จะสืบสวนสอบสวน ในระหว่างประเทศถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ในวันนี้ญาติจึงมายื่นเรื่องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจ มีกลไกพิเศษในการทำเรื่องที่ยากลำบากให้เกิดความชัดเจนขึ้น” 

ด้านพี่สาวของวันเฉลิมกล่าวว่า อยากให้ดีเอสไอทำให้กรณีวันเฉลิมชัดเจนอย่างเร่งด่วนอย่างที่อธิบดีรับปากไว้ 

เช่นเดียวกับน้องสาวของสยามซึ่งเปิดเผยความรู้สึกว่า ผ่านมา 2 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าอะไรที่ชัดเจน ยังไม่มีอะไรที่บอกว่าสยามยังอยู่หรือไม่อยู่แล้ว จึงอยากให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนกรณีของสยามด้วย

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งออกมาพบและรับหนังสือด้วยตนเอง ชี้แจงว่า ทั้งสองกรณีทางดีเอสไอได้เร่งรัดทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ เพราะกระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าเหตุเกิดขึ้นที่ต่างประเทศทางอัยการสูงสุดจะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยดีเอสไอกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบความเชื่อมโยง รวมทั้งเรื่องเอกสารต่างๆ เช่น พาสปอร์ต ยังยืนยันไม่ได้ว่า ทั้งสองสูญหายในต่างประเทศจริงหรือไม่

ทั้งนี้ อธิบดีได้แจ้งต่อครอบครัววันเฉลิมและสยามว่า ดีเอสไอยังไม่ได้รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษแต่อย่างใด นับแต่เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่รับเรื่องมาจากอัยการสูงสุดและคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งดีเอสไอต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศจริงหรือไม่ และอธิบดีได้ตอบคำถามคณะเข้าพบว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับโดยตรงลงมาที่ดีเอสไอให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ

สุรพงษ์กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ปัจจุบันมีการยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีผู้เสนอรวมทั้งหมด 4 ฉบับ ทั้งของ ส.ส. และรัฐบาล ซึ่งผ่านเข้าสู่สภาแล้ว และอยู่ระหว่างการบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณา เราหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลจะเร่งดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาโดยเร็ว และเป็นไปตามหลักการที่จะคุ้มครองประชาชนที่ถูกซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ไม่ใช่ออกมาเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ 

ในช่วงบ่าย สิตานันยังเดินทางไปยื่นหนังสือทวงถามความหน้าคดีกับอัยการสูงสุดต่อ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาฯ ด้วย หลังต้องรออยู่เป็นเวลานานกว่าชั่วโมง ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองโฆษกอัยการสูงสุด จึงออกมารับหนังสือด้านล่างอาคารสำนักงาน และกล่าวชี้แจงว่า การสอบสวนของพนักงานอัยการจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อเท็จจริงว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งต้องรอผลการไต่สวนของศาลกัมพูชา โดยทางอัยการก็ยังไม่ชัดเจนว่า ขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการดำเนินการศาลกัมพูชา หรือรอฟังคำสั่งของศาล 

สิตานันยังได้สอบถามด้วยวาจาว่า ทางด้านอัยการได้ดำเนินการอะไรบ้าง และมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งรองโฆษกฯ ไม่ได้ให้คำตอบ เพียงแต่รับว่า จะไปประสานกับอัยการที่รับผิดชอบให้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการให้ทางครอบครัวทราบด้วย

     >> พี่สาว ‘วันเฉลิม’ ยื่นหลักฐานสำคัญต่อ อสส. ยืนยันน้องชายถูกบังคับสูญหายที่กัมพูชา

 

แม่ “สยาม” ตอบดีเอสไออีกครั้ง หลังเคยให้ข้อมูลต่อ คกก.อุ้มหาย กรมคุ้มครองสิทธิฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

กรณีของสยาม การยื่นหนังสือร้องเรียน ติดตาม และให้ข้อมูลต่อดีเอสไอครั้งนี้ สืบเนื่องจากกองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีหนังสือที่ ยธ 0807/ล022 ลงวันที่ 5 พ.ค. 2564 เรื่อง ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ระบุว่า กองคดีความมั่นคงอยู่ระหว่างการสืบสวนกรณีของสยาม เป็นเรื่องสืบสวนที่ 12/2564 จึงขอให้แม่สยามให้ข้อมูลเพื่อประกอบการสืบสวน  

ทั้งนี้ ภายหลังครอบครัวยื่นหนังสือเพื่อให้ข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการสอบปากคำน้องสาวและแม่ของสยามเพิ่มเติมอีกด้วย

รายละเอียดของหนังสือที่ยื่นต่อดีเอสไอ ให้ข้อมูลในประเด็นที่ดีเอสไอถามมา สรุปได้ดังนี้

1.ท่านทราบหรือไม่ว่านายสยาม ธีรวุฒิ เดินทางออกจากราชอาณาจักรไทย เมื่อใดและด้วยสาเหตุใด  

สยาม ธีรวุฒิ เป็นเพียงคนหนุ่มที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและทำกิจกรรมด้านสังคมและแรงงาน ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ประมาณปลายเดือนกันยายน สยามต้องออกจากประเทศเมื่ออายุเพียง 29 ปี เพราะมีการเร่งรัดดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  จนกระทั่งมีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครเวทีชื่อ ‘เจ้าสาวหมาป่า’ รวมถึงสยามที่เข้าร่วมแสดงละครดังกล่าวด้วย 

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2561 สยามยังถูกออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และมาตรา 209 (เป็นอั้งยี่) พร้อมนายชูชีพ  ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง  และนายกฤษณะ  ทัพไทย โดยถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมของ ‘กลุ่มสหพันธรัฐไท’

2. ในระหว่างที่นายสยามฯ อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ท่านทราบหรือไม่ว่านายสยามฯ พำนักอาศัยอยู่ใด, ท่านเคยเดินทางไปพบนายสยามฯ ในต่างประเทศหรือไม่ และท่านติดต่อนายสยามฯ โดยเฉลี่ยเดือนละกี่ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อใด 

สยามติดต่อครอบครัวอยู่บ้าง แต่ละครั้งทิ้งระยะเวลานานไม่เท่ากัน บางครั้งเป็นอาทิตย์ บางครั้งเป็นเดือน แต่ไม่ถึงกับขาดการติดต่อกันนานจนเกินไป สยามไม่ได้แจ้งว่าอยู่ที่ตำแหน่งใดของประเทศที่อาศัยอยู่เป็นการเฉพาะ โดยครอบครัวได้รับการติดต่อจากสยามตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงปลายปี 2561  

ในช่วงปี 2558 ครอบครัวได้รับการติดต่อจากสยามว่าจะมาทำธุระที่ประเทศไทย ครอบครัวจึงได้นัดกินข้าวแถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง สยามได้บอกว่าเขาจะเดินทางกลับประเทศลาว หลังจากนั้นครอบครัวก็ไม่ได้พบกับสยามอีกเลย ติดต่อกันผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น 

สยามเคยส่งรูปสถานที่ในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย, เกาหลี, สิงคโปร์, และเวียดนาม มาให้ครอบครัวทางไลน์ ซึ่งครอบครัวคิดว่าเป็นสถานที่ที่สยามได้เดินทางไป ทั้งนี้ ครอบครัวไม่ได้เก็บรูปต่าง ๆ ไว้เพื่อความปลอดภัยของสยามและครอบครัว

3. มีพยานบุคคลรู้เห็นหรือพยานเอกสารใด ยืนยันหรือไม่ว่านายสยามฯ พำนักอาศัยอยู่ในสถานที่/ ประเทศดังกล่าว 

ครอบครัวยืนยันว่าสยามเคยอยู่ในประเทศลาวจริง จากการพบกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยสยามบอกว่าจะเดินทางกลับประเทศลาว

ส่วนข้อมูลการอยู่ในประเทศเวียดนามนั้น ครอบครัวทราบเพียงข้อมูลจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของนายจอม เพชรประดับ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา นายจอมโพสต์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม  2562 ยืนยันจากการสอบถามไปยังบุคคลที่ใกล้ชิดว่า สยาม ธีรวุฒิพร้อมเพื่อนอีก 2 คน เคยปรากฏตัวที่ประเทศเวียดนาม และถูกทางการเวียตนามจับกุมตัวในข้อหาพยายามลักลอบเข้าประเทศด้วยการใช้หนังสือเดินทางปลอม และถูกคุมขังอยู่ในคุกเวียตนามตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562

4. ท่านทราบได้อย่างไร หรือจากบุคคลใดว่านายสยามฯ มีเหตุอันควรเชื่อว่าถูกกระทำทรมาน หรือถูกบังคับให้สูญหาย หรือถูกประทุษร้ายหรือถูกจับกุมอยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

วันที่ 9 พ.ค. 2562 ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ โดยมี เพียงดิน รักไทย ผู้ลี้ภัยและแกนนำภาคีฯ เป็นผู้แถลง ระบุว่า ผู้ลี้ภัยทางการเมือง 3 คน ที่ถูกควบคุมตัวที่เวียดนาม ถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว เมื่อเวลาบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 8 พ.ค. 2562 ตามเวลาประเทศไทย หลังถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามมาระยะหนึ่ง โดยในแถลงการณ์นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงสำเนาหนังสือเดินทางประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีรูปของสยามปรากฏในหนังสือ

ต่อมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยให้สืบสวนสอบสวนชะตากรรมและที่อยู่ของสยามและเพื่อนอีก 2 คน เพื่อป้องกันการถูกกระทำทรมาน หรือถูกบังคับให้สูญหาย

5. ในช่วงระหว่างที่นายสยามฯ พำนักอยู่นอกราชอาณาจักร ท่านมีการติดต่อนายสยามฯ หรือไม่ โดยวิธีการใด มีพยานหลักฐานหรือข้อมูลใดยืนยันการติดต่อดังกล่าวหรือไม่  

ครอบครัวได้รับการติดต่อจากสยามเป็นครั้งสุดท้ายช่วงสิ้นปี 2561 เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ข้อมูลเหล่านั้นถูกลบทิ้งไปแล้วเนื่องจากครอบครัวได้เปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ใหม่ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากเพื่อนสยามเป็นบันทึกหน้าจอโทรศัพท์มือถือในกล่องข้อความส่วนตัวทางเฟซบุ๊ก ซึ่งระบุว่ามีการติดต่อกับนายสยามครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 และ 31 ธ.ค. 2561 เพื่อสวัสดีปีใหม่ แต่สยามก็ไม่ได้เปิดอ่านข้อความนี้จนถึงปัจจุบัน 

6. มีพยานบุคคลอื่นใดอีกหรือไม่ ที่ยังคงติดต่อนายสยามฯ ขณะพำนักอยู่นอกราชอาณาจักร หากมีขอทราบชื่อสกุลหรือเบอร์ติดต่อ

ครอบครัวไม่ทราบ

7. ครอบครัวของสยาม ธีรวุฒิ ขอยืนยันให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามดำเนินการทันทีและเพียงพอต่อคำถามของครอบครัวที่ได้ยื่นต่อสถานทูตเวียดนามในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ในคำถามต่อไปนี้ 

  1) นายสยามถูกจับกุมที่เวียดนาม และควบคุมตัวด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและปลอมแปลงเอกสารการเดินทาง ตามที่ปรากฏเป็นรายงานข่าวจริงหรือไม่ อย่างไร และวันที่เท่าใด 

  2) นายสยามยังถูกจับและยังอยู่ในการควบคุมตัวของทางการเวียดนามหรือไม่ ขณะนี้เขาถูกควบคุมตัวที่ใดและครอบครัวจะติดต่อเขาได้อย่างไร 

  3) หากนายสยามไม่อยู่ในการควบคุมตัวของทางการเวียดนามแล้ว ขณะนี้ได้เวียดนามได้ส่งตัวสยามกลับมาที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ เมื่อใด

  4) กฎหมายวิธีการส่งตัวบุคคลของประเทศเวียดนามให้รัฐอื่น โดยเฉพาะการส่งตัวกลับตามกฎหมายเข้าเมืองคืออะไร

ท้ายหนังสือระบุว่า ครอบครัวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะสืบสวนสอบสวนการถูกส่งกลับไทยหรือบังคับสูญหายนายสยาม ธีรวุฒิ พร้อมเพื่อนอีก 2 คน ในขณะอยู่ในประเทศเวียดนาม และดูแลผลประโยชน์คนไทยตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

     >> ครอบครัว “สยาม ธีรวุฒิ” ขอ UN ยังคงติดตามหาสยาม หลังรัฐบาลเวียดนามขอให้ยุติ: 2 ปีการสูญหายของ 1 ในผู้ลี้ภัยทางการเมืองยุค คสช. 

     >> สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติรวม 7 หน่วยงาน ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย, รัฐบาลลาว, รัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา เปิดเผยกรณีที่ได้รับรายงานว่า นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทย 6 คน ถูกบังคับให้สูญหายนอกพรมแดนประเทศไทย โดยมีชื่อของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และสยาม ธีรวุฒิ เป็น 2 ใน 6 นักกิจกรรมที่ลี้ภัยการเมืองและสูญหายไปดังกล่าวด้วย

คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ ยังชี้ถึงประเด็นให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเห็นว่า การบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนเกิดขึ้นในรูปแบบที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล โดยมีการประสานงาน การช่วยเหลือกันระหว่างรัฐ หรือการยอมรับให้มีการลักพาตัวเหนือพรมแดนของตน ต่อกลุ่มนักกิจรรมซึ่งนำมาสู่การบังคับบุคคลให้สูญหาย

     >> ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเผย “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ในอาเซียน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงการหายไป-การจับกุมคุมขังไม่ชอบนักกิจกรรม นักข่าว นักธุรกิจ

 

X