สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แวดวงของนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเผชิญกับข่าวร้ายครั้งสำคัญ เมื่อมีรายงานข่าวว่า ตำรวจเวียดนามได้จับกุมและส่งตัว ไอซ์ หรือ สยาม ธีรวุฒิ พร้อมนักเคลื่อนไหวอีก 2 ราย คือ “ลุงสนามหลวง” หรือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ “สหายยังบลัด” หรือ กฤษณะ ทัพไทย ให้ทางการไทยแล้ว

ทั้ง 3 คือกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในกรณีของสยาม เขาถูกดำเนินคดีจากการร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง #เจ้าสาวหมาป่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556 กระทั่งต่อมาภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผลจากการเล่นละครในครั้งนั้น ทำให้เพื่อนของสยาม 2 ราย ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ย้อนหลังและถูกจำคุก ในขณะที่สยามเลือกที่จะระหกระเหินออกจากประเทศไปยังประเทศลาวเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

ภายหลังจากทราบข่าวว่าสยามพร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทย กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยามได้พยายามทุกทางเพื่อที่จะตามหาว่าลูกชายของเธอนั้นถูกส่งตัวไปที่ไหนกันแน่ เพราะเมื่อสอบถามต่อไปยังทางกองปราบปรามเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับสยาม กลับไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัด (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/12267)

 

>>> อ่านเส้นทางการต่อสู้ของกัญญาเพื่อตามหาลูกชาย และเรื่องราวในหนหลังของสยาม จากนักศึกษาผู้ตื่นรู้สู่การเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง: https://tlhr2014.com/archives/14100

 

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวของสยามได้เข้ายื่นเรื่องต่อสถานทูตเวียดนามเพื่อเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบกรณีการจับกุมตัวสยามและเพื่อนอีก 2 คน โดยระบุคำถาม 1. การที่สยามและพวกถูกจับเป็นเพราะการเข้าเมืองโดยใช้พาร์สปอตปลอมหรือไม่? 2. ขณะนี้ สยามยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เวียดนามหรือไม่? และทางครอบครัวจะขอติดต่อได้ไหม? 3. หากสยามไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทางเจ้าหน้าที่เวียดนามแล้ว ขณะนี้ เขาได้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศไทยแล้วใช่หรือไม่? หากใช่ เขาถูกส่งตัวกลับเมื่อไหร่และอย่างไร? พร้อมกันนั้น ยังได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสหภาพยุโรปเพื่อให้ช่วยติดตามประเด็นข้างต้น (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/12322)

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ทางครอบครัวได้เดินทางเข้าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสยามต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อให้ช่วยติดตามกรณีนี้ต่อไป (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/12357)

24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – กองบังคับการปราบปรามฯ ได้แจ้งผลการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของสยามและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน กับทางครอบครัว ระบุว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานใดระบุว่าได้ทำการจับกุมตัวสยามมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามได้เข้ายื่นคำร้องต่อกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเพื่อให้ทำการตรวจสอบไปยังทางประเทศเวียดนามเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการเดินทางเข้าออกประเทศของสยาม ในวันเดียวกันนี้เอง ทางครอบครัวและศูนย์ทนายฯ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวสยาม

ทางครอบครัวได้รับแจ้งจากทางผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมว่า กรณีของสยามจะถูกพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของการคัดกรองเรื่อง ว่าเข้าข่ายการอุ้มหายตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearances, ICPPED) หรือไม่ หากไม่ใช่ก็จำเป็นต้องปิดกรณีนี้ และไม่ส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการสอบสวนเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ ที่จะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการ

26 มิถุนายน 2562 –  ครอบครัวสยามส่งหนังสือร้องเรียนถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามทำการติดตามการหายตัวไปของสยาม และครอบครัวได้ทำการส่งข้อมูลเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ  

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – กรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้กับทางครอบครัว ระบุว่า หลังจากที่สอบถามไปยังทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามซึ่งได้สอบถามต่อเป็นการภายในไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่าทางการเวียดนามยังไม่พบข้อมูลกรณีการเข้าออกประเทศของสยามและพวกแต่อย่างใด

21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 – ครอบครัวสยามเข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทางอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยแนบหลักฐานได้แก่ บันทึกการติดต่อระหว่างสยามกับแม่และเพื่อนครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงสิ้นปี 2561 หนังสือตอบกลับจากทางกองปราบปราม และหนังสือตอบกลับจากทางกรมการกงสุล กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/13563)

19 กันยายน พ.ศ. 2562 – เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงว่า คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ (คณะกรรมการฯ) และอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ ที่คณะกรรมการฯ แต่งตั้งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ช่วยเหลือเยียวยา และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ในปัจจุบันได้หมดวาระไปโดยปริยาย พร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฯ อีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/13827)

23 มิถุนายน 2563 แม่ของสยาม พร้อมด้วยญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีก 2 ราย คือภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน และ เจน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เดินทางไปยัง 3 องค์กรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยเร่งติดตามและสืบสวนเกี่ยวกับกรณีการอุ้มหายทั้ง 3 กรณีที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แจ้งครอบครัวสยามและสุรชัย ว่าได้ยุติเรื่องการตามหาบุคคลทั้งสองตามอำนาจหน้าที่ของตนแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นดำเนินการต่อ (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/18854)

30 กรกฎาคม 2563 – ณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ (คณะกรรมการฯ) ประสานงานให้กัญญา มารดาของสยามเข้าตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรม (DNA) กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลตรวจพบว่าสารพันธุกรรมของแม่สยามไม่ตรงกับข้อมูลสารพันธุกรรมที่มีของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด 

23 เมษายน 2564 ครอบครัวสยาม ได้ส่งหนังสือร้องเรียนเพิ่มเติมถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ขอให้ยังคงติดตามการหายตัวไปของสยาม และให้ขึ้นทะเบียนสยามเป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามทำหนังสือถึงคณะทำงานฯ สหประชาชาติให้ยุติเรื่องนี้

7 พฤษภาคม 2564 ครอบครัวสยามเดินหน้าส่งหนังสือจี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ติดตามผู้สูญหายในสมัยรัฐบาล คสช. และผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชน ในกิจกรรม “สองปีที่สูญหาย สยาม ธีรวุฒิ” หน้าทำเนียบรัฐบาล (อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/29412 )

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

อุ้มหาย เรื่องหาย ตั้งแต่ตั้งเรื่อง ผ่านกรณีสยาม: https://tlhr2014.com/archives/13844

ฟังเพื่อนพูดถึง ‘สยาม ธีรวุฒิ’ : 1 ปี ที่เพื่อนหายไป คำถามในเสียงเพลง คำตอบในสายลม: https://tlhr2014.com/archives/17673

 

 

X