พี่วันเฉลิม-แม่สยาม-ภรรยาสุรชัย จี้ 3 หน่วยงานรัฐตามหา ‘วันเฉลิม’ และผู้ลี้ภัยที่สูญหาย

ผ่านไปเกือบ 20 วันที่ ‘สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พี่สาวของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมการเมืองและสังคมด้านเยาวชนและสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลาย ซึ่งปฏิเสธการไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557  ยังไม่พบน้องชายผู้ถูกบังคับให้สูญหายอย่างจะแจ้ง ทำให้วันนี้ (23 มิ.ย. 2563) สิตานันรุดเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนติดตามกรณีนายวันเฉลิม ถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับสูญหายไประหว่างพำนักในประเทศกัมพูชา ต่อหลายองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่สอบสวนความผิดนอกราชอาณาจักร และหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยมีญาติผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่น อย่างพ่อแม่ของสยาม ธีรวุฒิ และภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ร่วมเดินทางด้วย

.

พี่สาว พ่อแม่ และภรรยาผู้สูญเสีย

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายสาบสูญไปจากที่พักใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 รวมทั้ง กัญญา และเสถียร ธีรวุฒิ พ่อและแม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกรายที่สูญหายไปหลังถูกจับกุมที่เวียดนาม เมื่อเดือน พ.ค. 2562 ได้เข้าร่วมยื่นหนังสือฯ ต่อ 3 หน่วยงานรัฐ เคียงข้างสิตานัน

แม่ของสยามกล่าวว่าขณะนี้เป็นห่วงผู้ถูกอุ้มหายทุกคน รวมทั้งรังสิมันต์ โรม ในฐานะ ส.ส. ผู้พูดเรื่องการอุ้มหายอย่างร้อนแรงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกระแสข่าวความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นติดตามมา ส่วนความหวังยังคือการได้เจอลูกชายให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด แม้จะเจอเพียงแค่เสื้อผ้าก็ยังดี

.

สำนักงานอัยการสูงสุด

เวลา 10.15 น. สิตานัน คณะญาติของผู้สูญหาย และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์และกล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญา ในความผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักร กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับให้สูญหาย ถูกประทุษร้าย หรือถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ ต่ออัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำการนอกราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ประกอบมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าได้มีบุคคลกระทำความผิดอาญาโดยเฉพาะความผิดต่อร่างกายและความผิดต่อเสรีภาพ ต่อนายวันเฉลิมระหว่างพำนักอยู่ในประเทศกัมพูชา

โดยมีตัวแทนที่รับเรื่อง ได้แก่ นายยงยุทธ ศรีสัตยาชน อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยตัวแทนระบุว่าทางอัยการสูงสุดจะรับเรื่องนี้เพื่อประสานให้ตามหน้าที่อย่างเต็มที่

.

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

เวลา 12.15 น. สิตานันและคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนหน่วยงานที่ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย ชุดปัจจุบันตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 338/2562 ลงวันที่ 15 พ.ย. 62 ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายโดยตรง โดยมีนายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เป็นผู้มารับหนังสือแทน

จากนั้นได้มีการประชุมร่วมกัน โดยมีนางสุจิตรา แก้วไกร ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ, นางนัยนา ภาวินทุ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เข้าร่วมหารือกระบวนการติดตามบุคคลสูญหาย

ตัวแทนจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ ชี้แจงภารกิจของกรม แนะนำคณะอนุกรรมการคัดกรอง คณะอนุกรรมการติดตามและคณะอนุกรรมการเยียวยาญาติผู้เสียหายซึ่งเป็นกลไกของคณะกรรมการฯ โดยนายเกิดโชคกล่าวว่าพร้อมรับเรื่องของนายวันเฉลิมไว้เพื่อหารือต่อในการประชุมคณะอนุกรรมการคัดกรอง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ก.ค. 63 และได้เน้นย้ำกับสิตานันถึงจุดเริ่มต้นการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่าทำอย่างไรให้ประเทศปลายทางยอมรับสถานะของบุคคลที่อาจเชื่อได้ว่าถูกบังคับให้สูญหายว่าได้อาศัยอยู่ในประเทศนั้นจริง และทางครอบครัวควรแจ้งความประสงค์ที่ชัดเจนมาให้ทางคณะกรรมการฯ ว่าต้องการให้ช่วยเหลือและจัดการอย่างไร

นอกจากนี้ นางสุจิตราและนางนัยนาได้กล่างถึงความคืบหน้าในกรณีการติดตามการหายตัวไปของนายสยาม ธีรวุฒิ ว่า ทางสหประชาชาติได้มีหนังสือแจ้งมาถึงรัฐบาลไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ว่าสหประชาชาติได้ขึ้นบัญชีให้นายสยาม ธีรวุฒิ เป็นบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ ตามกลไกของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) ที่ประเทศเวียดนามแล้ว

แต่ในส่วนของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ช่วยเหลือเบื้องต้นประสานงานเรื่องการร้องขอผ่อนชำระค่าปรับผู้ประกันคดีอาญาที่ศาลจังหวัดพัทยาเท่านั้น โดยยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในส่วนการติดตามสืบสวนสอบสวน

.

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เวลา 13.40 น. สิตานันและคณะ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดนมี ชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง

ทางครอบครัวได้มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อ กสม. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือขอให้ กสม. ตรวจสอบว่าทางการไทยได้ขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัวนายวันเฉลิมกลับมาดำเนินคดีด้วยข้อหาใดที่ประเทศไทยด้วยหรือไม่ ด้วยวิธีการใด หรือทางการกัมพูชาได้ส่งตัวตัวนายวันเฉลิมกลับประเทศไทยหรือไม่

ส่วนหนึ่งในหนังสือร้องเรียนฯ ได้ลงท้ายว่า “ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะคุ้มครองและดูแลคนไทยตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ และยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวแก่กรณีนี้”

ส่วนการดำเนินการของนายสยาม ธีรวุฒิและนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งญาติเคยยื่นร้องเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ ได้ชี้แจงว่าทาง กสม. ได้ยุติเรื่องของทั้งสองคนในชั้นการตรวจสอบของ กสม. แล้ว ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษชน ที่ 107-108/2563 ลงวันที่ 1 เม.ย. 63 และได้ส่งข้อเสนอแนะอื่นไปยังคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชน ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายภายในใช้บังคับเรื่องการบังคับให้หายสาบสูญตามกฎหมายระหว่างประเทศ

รวมทั้งยังส่งข้อเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศึกษาและตรวจสอบเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย และคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อ ในเรื่องเร่งรัดให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ต่อไป

 

X