คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติรวม 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ, คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวไม่ชอบ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมอย่างรวบรัดและโดยพลการ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ส่งหนังสือ (Joined Allegation Letter) ถึงรัฐบาลไทย, รัฐบาลลาว, รัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ชี้ถึงประเด็นการบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าล้วนเกิดขึ้นในรูปแบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ
คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ยังเสนอแนะให้แต่ละรัฐชี้แจงถึงการหายตัว การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับส่งตัวกลับประเทศโดยไม่ชอบในกรณีที่ได้รับรายงาน ชี้แจงถึงองค์กรที่รับผิดชอบในกระบวนการการสืบสวนสอบสวน และความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวน เพื่อทราบถึงชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมขอคำชี้แจงการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง
ขณะเดียวกัน ยังขอให้แจงข้อมูลการร่วมมือหรือสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลไทย, กัมพูชา, เวียดนาม และลาว พร้อมชี้แจงมาตรการการป้องกันไม่ให้บุคคลที่ถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศไปเผชิญอันตรายที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายอีก
9 รายชื่อ จากกรณี “หายตัว การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับส่งตัวกลับประเทศ” ในหนังสือถึง 4 รัฐบาลอาเซียน
คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ ได้เปิดเผยกรณีที่ได้รับรายงานว่า นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยกว่า 6 คน ถูกบังคับให้สูญหายนอกพรมแดนประเทศไทย ได้แก่
1. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวและสูญหายไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่กรุงพนมเปญ
2. นายสยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม ถูกจับกุมโดยตำรวจเวียดนามในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ก่อนสูญหายไป
3-5. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ), นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยอยู่ใน สปป.ลาว สูญหายไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนถูกพบศพของนายชัชชาญและไกรเดชลอยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนนายสุรชัยยังคงสูญหาย
6. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อาศัยพักพิงอยู่ในประเทศลาว สูญหายไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ซึ่งมีรายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัวไป ก่อนมีการปฏิเสธต่อการจับกุมดังกล่าว
ทั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงรายงานกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ แถบภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ได้แก่
7. นายอ็อด ไชยะวง อดีตสมาชิกของกลุ่ม “ฟรีลาว” นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัยชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สูญหายไปในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 หลังเข้าพบปะกับผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ
8. นายเจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักคุ้มครองสิทธิฯ และนักข่าวชาวเวียดนาม ที่ถูกจับกุมโดยทางการไทย ก่อนถูกส่งตัวกลับให้ทางการเวียดนามในปี 2562 ปัจจุบันยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในประเทศเวียดนาม
9. นายออสมาน คารากา (Osman Karaca) นักธุรกิจผู้ถือสัญชาติเม็กซิกันและตุรกี ถูกจับกุมโดยทางการกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนถูกบังคับให้สูญหายเป็นระยะเวลาหลายวัน ก่อนพบว่าถูกส่งตัวกลับไปที่ประเทศตุรกี
“ความร่วมมือระหว่างรัฐ” คือ รูปแบบการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศแถบภูมิภาคเอเซียอาคเนย์
ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลไทย คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2563 มีนักกิจกรรมชาวไทยหลายคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งนี้เป็นการแสดงถึงรูปแบบการบังคับให้สูญหาย ในจำนวนบุคคลที่หายตัวไปมีความเกี่ยวข้องในด้านใดด้านหนึ่งทางการเมืองทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้น
ในหลายกรณี การสอดส่องและติดตามนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่
- กรณีของนายชัชชาญ บุปผาวัลย์, นายไกรเดช ลือเลิศ, นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, นายสยาม ธีรวุฒิ และนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หมายจับยังคงมีผลอยู่ในประเทศไทย
- กรณีของนายอิทธิพล สุขแป้น ที่ตำรวจไทยเดินทางไปพบครอบครัวที่บ้านของนายอิทธิพลเมื่อปี 2561 เพื่อแจ้งว่ากำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีของเขา ในข้อหาตามมาตรา 112 จากนั้นมีการรายงานข้อมูลเบื้องต้นอีกว่านายอิทธิพลซึ่งสูญหายไประหว่างอยู่ในประเทศลาว ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว แต่ต่อมาทางการไทยกลับปฏิเสธการจับกุมดังกล่าว
- กรณีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ตำรวจไทยเดินทางไปที่บ้านของเขา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะหายตัวไป
รูปแบบการบังคับให้สูญหายยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ โดยมีการประสานงาน การช่วยเหลือกันระหว่างรัฐ หรือการยอมรับให้มีการลักพาตัวเหนือพรมแดนของตน ต่อกลุ่มนักกิจรรมซึ่งนำมาสู่การบังคับบุคคลให้สูญหาย
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคนี้ สะท้อนให้เห็นได้จาก 3 เหตุการณ์
- รัฐบาลไทย-กัมพูชา: รัฐบาลทั้งสองตกลงร่วมกันติดตามบุคคลผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมาย โดยวิธีการข้ามพรมแดน ในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา
- รัฐบาลไทย-ลาว: สหประชาชาติได้รับรายงานว่ารัฐบาลไทยส่งคำร้องขอหลายครั้งถึงรัฐบาลลาวให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองกลับมาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 ก่อนที่ทางการไทยและลาวจะมีการเผยแพร่การลงนามข้อตกลงการร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง ว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันไม่ให้มีบุคคลหรือกลุ่มคนจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลหรือก่อความไม่สงบในอีกประเทศหนึ่ง เมื่อปี 2561
รูปแบบการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศแถบภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลดังกล่าวนั้น ปรากฎอยู่ในหนังสือที่คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ที่ส่งถึงรัฐบาลลาว เวียดนาม และกัมพูชาอีกด้วย
ชี้คดีสืบสวนคนหายไม่คืบ กม.เวียดนามเอื้อให้ควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ ด้านไทยร่างกฎหมายป้องกันการทรมาน-การกระทำให้บุคคลสูญหาย ค้างยาวนานมาตั้งแต่ปี 2553
ในหนังสือทั้ง 4 ฉบับที่ถูกส่งไปให้กับรัฐบาลไทย, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา ได้ระบุถึงการสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงและชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่ไม่มีความคืบหน้า ในกรณีที่ 4 นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกบังคับให้สูญหายนอกพรมแดน และ 2 นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกพบเป็นศพที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึง 1 นักกิจกรรมชาวลาวที่สูญหายในประเทศไทยด้วย ถึงแม้จะมีการยื่นเอกสารต่อองค์กรที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนแล้วก็ตาม
รวมถึง ในหนังสือถึงรัฐบาลเวียดนาม ได้มีการเปิดเผยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศเวียดนามนั้น เปิดโอกาสให้ทางการสามารถคุมขังนักโทษระหว่างการพิจารณา ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศได้ และเอื้อให้เกิดการอนุญาตให้ควบคุมตัวโดยมิชอบ โดยไม่อนุญาตให้ผู้ถูกคุมขังหรือจับกุมติดต่อกับโลกภายนอกได้ (incommunicable detention) รวมถึงยังเปิดโอกาสให้เกิดความล่าช้าในการแจ้งญาติของผู้ถูกจับกุมอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้ถูกจับกุมเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายและถูกทรมาน
ในกรณีของนายเจือง ซุย เญิ๊ต ที่ถูกจับกุมโดยตำรวจไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562 ก่อนที่ทางการเวียดนามจะการแจ้งครอบครัวของเขาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ว่าถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในประเทศเวียดนาม ซึ่งทางการเวียดนามออกมาชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้แจ้งต่อครอบครัวอย่างทันท่วงทีว่า การแจ้งให้ทราบนั้นอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ พร้อมอ้างข้อกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เกิดความล่าช้าในการแจ้งญาติด้วย
ในส่วนหนังสือถึงรัฐบาลไทย ได้มีการชี้แจงถึงร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ว่าร่างฉบับปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมข้อกฎหมายที่พยายามปราบปรามการบังคับบุคคลให้สูญหายและการผลักดันบุคคลให้กลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งไม่มีในร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้า แต่ข้อกังวลของร่างกฎหมายฉบับนี้คือเรื่องการกำหนดอายุความและพนักงานผู้รับผิดชอบในคดีการทำให้บุคคลสูญหาย ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่งผ่านชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 เป็นความคืบหน้าอีกขั้นหนึ่ง แต่ร่างกฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายมามากกว่าสิบปี คือนับตั้งแต่ปี 2553 แล้ว
ข้อเสนอแนะรวมของทุกประเทศ
ในหนังสือที่ส่งถึงทั้งสี่รัฐบาลนั้น ทางคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ เสนอแนะให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ชี้แจงการหายตัว การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับส่งตัวกลับประเทศโดยไม่ชอบ ในกรณีที่ได้รับรายงานดังกล่าว รวมทั้งชี้แจงถึงองค์กรที่รับผิดชอบในกระบวนการการสืบสวนสอบสวน และความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบถึงชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมขอคำชี้แจงการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงอีกด้วย
อีกทั้ง ยังขอให้ชี้แจงข้อมูลการร่วมมือหรือสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลไทย, กัมพูชา, เวียดนาม และ ลาว พร้อมแจงมาตรการการป้องกันไม่ให้บุคคลที่ถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศไปเผชิญอันตรายที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายอีก
นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมในหนังสือที่ส่งถึงเวียดนาม คือ ขอให้ชี้แจงข้อมูลการแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เปิดโอกาสให้มีการบังคับบุคคลสูญหายและการควบคุมตัวที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อโลกภายนอกด้วย
ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในหนังสือที่ส่งถึงไทย คือ ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนรูปแบบการบังคับนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยให้สูญหายในต่างประเทศ ให้รายงานการประกันสิทธิของนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิฯ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกบังคับให้สูญหายไป และให้รายงานความคืบหน้าการร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายที่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2555
การบังคับบุคคลให้สูญหาย คือ อาชญากรรมที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้
ในภาคผนวกของหนังสือที่ส่งไปยังรัฐบาลทั้งสี่ คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติยังได้อธิบายถึงคำประกาศการคุ้มครองบุคคลจากการอุ้มหาย (Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิในความปลอดภัยของร่างกาย ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และสิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม อีกทั้งยังถือว่าเป็นอาชญากรรมในตัวของมันเองด้วย
ฉะนั้นแล้ว รัฐจำเป็นต้องป้องกันหรือต้องยกเลิกการใช้วิธีนี้เป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่างตามหลักการไม่สามารถผ่อนปรนได้ (Non Derogability) และต้องสืบสวนสอบสวนเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหายอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ถึงแม้จะไม่มีการยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการก็ตาม รวมถึงจะต้องไม่ส่งตัวบุคคลกลับไปสู่ที่ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นอันตราย ตามหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย (Non Refoulement)
อีกทั้ง รัฐต้องประกันสิทธิการรับรู้ความจริงต่อครอบครัวและญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย โดยต้องมีการชี้แจงถึงกระบวนการ ความคืบหน้า และผลลัพธ์ของการสืบสวนสอบสวนชะตากรรมของบุคคลสูญหาย รวมถึงชี้แจงเรื่องพฤติการณ์การถูกบังคับให้สูญหายและต้องหาผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมนี้ด้วย เพราะครอบครัวและญาติต่างก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของอาชญากรรมนี้
ต้นฉบับเอกสารจาก OHCHR ถึงรัฐบาลแต่ละประเทศ:
Cambodia : https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=25647
Lao PDR : https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=25648
Thailand : https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=25646
Viet Nam : https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=25649
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม
5 ปีหลังรัฐประหารผ่านไป ชะตากรรมผู้ลี้ภัยยังห่างไกลจากคำว่าปลอดภัยอยู่มาก
เมื่อ พ.ร.บ.อุ้มต้องไม่หาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่การบังคับสูญหายไม่เป็นความผิดทางอาญา
สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง
Brief: MISSING IN CAMBODIA – AN UPDATE สรุปงานเสวนาอัพเดตกรณีอุ้มหาย “ต้าร์” วันเฉลิม