จาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ สู่ ‘ผู้กระทำการ’: การก้าวผ่านของครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

เอกทิพย์ เฟื่องฟุ้ง

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครสักคนไปจากครอบครัวตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือความจริง ครอบครัวของเหยื่อพูดตรงกันว่าอยากให้คนในครอบครัวกลับคืนมาอย่างมีชีวิต หรืออย่างน้อยคืนศพให้เราก็ยังดี เด็กๆ จะได้หยุดรู้สึกทุกข์ทรมาน ทุกคนเหมือนถูกพันธนาการด้วยความเจ็บปวด เรามองไม่เห็นอนาคต และการสูญหายของใครสักคนหนึ่งหมายถึงการสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่เราไม่สามารถประเมินได้”  อังคณา นีละไพจิตร [1]

 

การบังคับสูญหาย

ระหว่างปี 2523 – 2561 การบังคับบุคคลสูญหายในรัฐไทยเกิดขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 86 ราย ตามรายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในช่วงหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็น 6 ปีหลังการรัฐประหาร ที่มีผู้ถูกผลักดันให้ลี้ภัยจากสถานการณ์ทางการเมืองและการไล่ล่ากวาดล้างอย่างน้อย 104 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีไม่ต่ำกว่า 9 รายแล้ว ที่ถูกบังคับให้สูญหายและพบกลายเป็นศพถูกฆาตกรรม

การบังคับบุคคลสูญหายเป็นการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองและสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมโดยรัฐอย่างเป็นระบบ การกระทำนี้มีต้นทุนที่ต่ำและและตัวผู้กระทำผิดสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการรับผิดทั้งในขั้นตอนการติดตามผู้กระทำและในขั้นตอนพิจารณาคดี รวมถึงยังยัดเยียดอัตลักษณ์ให้เหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายให้ “เป็นอื่น” อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะผ่านปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงก็ตาม

อย่างในกรณีล่าสุดของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถูกอุ้มหายในกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทั้งยังมีภาพวิดีโอชัดเจนแต่กลับถูกรัฐเมินเฉย ปฏิเสธและตีตราความเป็นอื่น อันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสร้างบาดแผลให้กับการใช้ชีวิตต่อไปของครอบครัวและญาติของเหยื่อ

 

 (ภาพโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

 

มนุษย์ ความขัดแย้ง และการบังคับสูญหายผ่านมโนทัศน์เรื่อง “ความคลุมเครือ”

ในทางปรัชญาการเมือง ได้มีความพยายามอธิบายนัยของการบังคับบุคคลสูญหาย ผ่านมโนทัศน์เรื่อง “ความคลุมเครือ” และ “ความขัดแย้งของมนุษย์” ผ่าน Ethics of Ambiguity งานของซีโมน เดอ โบวัวร์ นักคิดทฤษฎีสายสตรีนิยมชาวฝรั่งเศส กล่าวคือตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว มนุษย์มีความคลุมเครือในการใช้ชีวิต 3 ประการ คือ การใช้ชีวิตสู่ความตาย การปลดปล่อยตัวเองสำหรับอนาคต และการเป็นผู้ให้และผู้ถูกให้ความหมาย ฉะนั้นแล้วความคลุมเครือของมนุษย์คือการที่มนุษย์สามารถนิยามตนเองได้อย่างไม่จำกัดผ่านความเชื่อที่หลากหลายและความจริงต่างๆ มนุษย์สามารถก้าวผ่านความคลุมเครือโดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร้ขอบเขต ฉะนั้นแล้วอิสรภาพจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่หา[2]

มนุษย์ทุกคนต่างทำหน้าที่เพื่ออิสรภาพ ซึ่งการทำหน้าที่เพื่ออิสรภาพของแต่ละคนนั้นได้สร้างความแตกต่าง ผ่านการไม่เห็นพ้องและสร้างเงื่อนไขให้กับอีกฝ่าย ฉะนั้นแล้วเงื่อนไขที่สร้างขึ้นจะต้องถูกก้าวข้ามผ่าน แต่ในขณะเดียวกันแล้วเงื่อนไขนี้ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งได้โดยการที่อีกฝ่ายทำลายความคลุมเครือของมนุษย์ ด้วยการยัดเยียดความชัดเจนอันสัมบูรณ์ ถือว่าเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ฉะนั้นการจะลดความขัดแย้งนี้ได้นั้น มนุษย์ควรจะต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นที่จะเข้าใจความจริงและคุณค่านั้นอย่างไม่จำกัด ทำให้เราอาจได้รับความหมายจากตัวเราและคนอื่นอย่างอิสระ ถือเป็นการทำให้มนุษย์เป็นอิสระ

เมื่อเรามามองในกรณีของการบังคับสูญหาย บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายนั้นส่วนมากแล้วจะเป็นคนที่รัฐให้การตีตราว่า “เป็นอื่น” โดยยัดเยียดอัตลักษณ์ว่าเป็น “ผู้เห็นต่าง” จากรัฐ ทั้งๆ ที่ การเห็นต่างจากรัฐเป็นหนึ่งในอิสรภาพที่มนุษย์พึงมี เพื่อจะนิยามตนเองได้อย่างอิสระ ความคลุมเครือในการใช้ชีวิตของคนหนึ่งถูกลดทอนด้วยการตีตราและให้ค่าผ่านวาทกรรมและการกระทำของรัฐและสังคม

อย่างในกรณีของวันเฉลิม ที่รัฐกัมพูชาปฏิเสธต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนต้นว่าเป็นข่าวปลอม รวมถึงการทำตัวนิ่งเฉยของรัฐไทย และการตีตราว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งอยู่ในระหว่างหลบหนีหรือการเบี่ยงประเด็นไปที่ความขัดแย้งส่วนตัวผ่านปฏิบัติการข่าวสารในโซเชียลมีเดีย การกระทำเช่นนี้ของรัฐถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งการตีตรานี้ไม่เพียงแต่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายเพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างบาดแผลให้กับครอบครัวและญาติด้วย

“การบังคับบุคคลสูญหายนั้นมีความคลุมเครือในเรื่องของชะตากรรมของเหยื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการละทิ้งความคลุมเครือของมนุษย์ผ่านการถูกยัดเยียดความหมายให้โดยผู้กระทำที่มีอำนาจ” [3]

 

 

บาดแผลจากความคลุมเครือและไร้สถานะของเหตุการณ์ต่อญาติ

บาดแผลที่เกิดขึ้นจากภาวะคลุมเครือของการบังคับสูญหายส่งผลต่อครอบครัวและญาติทางจิตใจ ที่เฝ้ารอและมีความหวังในการแสวงหาความจริงและชะตากรรมของเหยื่อ ทำให้อยู่กับความทรมานอันเจ็บปวดอันเกิดจากความคลุมเครือ (The Trauma of the ambiguity) ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการส่งผลทางจิตใจในลักษณะของการย้ำคิด (repeated thoughts) ซึ่งกลายมาเป็นความหมกมุ่นและอาจส่งผลต่อสุขภาพในด้านการนอนไม่หลับหรือความวิตกกังวล

ผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมถึงทางสังคมในด้านวัฒนธรรม อย่างเช่นวัฒนธรรมฮินดูในประเทศเนปาลที่มีความเชื่อว่าหากไม่มีการทำพิธีกรรมให้คนตาย วิญญาณจะสิงอยู่ในบ้านซึ่งจะนำพาสิ่งร้ายมาสู่ครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวถูกประณามจากสังคมรอบข้าง รวมถึงการที่สังคมมองว่าเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายมีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ครอบครัวก็จะถูกประณาม เยาะเย้ย ถากถางและเสียดสี รวมถึงถูกกีดกันออกจากสังคมและในเครือญาติกันเองอีกด้วย

อีกผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นคือทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวต้องทำหน้าที่หารายได้จุนเจือครอบคัรวแทนผู้สูญหายที่เป็นเสาหลักของบ้าน อย่างในกรณีของประเทศเนปาลที่ผู้ถูกบังคับสูญหายส่วนมากเป็นเสาหลักของบ้าน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อหาความจริง อย่างเช่นการเดินทางเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการติดตามผู้สูญหาย เป็นต้น ในหลายประเทศ รัฐพยายามเข้ามาช่วยชดเชยทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องยอมแลกกับสถานะของผู้สูญหายว่าได้เสียชีวิตแล้ว สร้างความกดดันที่ต้องเลือกระหว่างสองทางนี้ต่อครอบครัว

                   

การเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ถูกกระทำ” เป็น “ผู้กระทำการ”

บาดแผลของครอบครัวและญาติของเหยื่อ จากการถูกกระทำสู่การก้าวผ่านโดยการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อจะได้มองเห็นทางเลือกหรือความเป็นไปได้อื่นในการที่จะหาคำนิยามและสร้างอัตลักษณ์อื่นๆ ให้กับตนเอง บรรดาครอบครัวและญาติของเหยื่อผู้ถูกอุ้มหายมีความพยายามและความสามารถที่จะรวมกลุ่มกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านพื้นที่เสวนาต่างๆ หรือเพื่อยืดหยัดต่อต้านการกระทำและแรงกดดันจากรัฐและสังคม

การรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวและผลักดันกระบวนการหาความจริงเพื่อเอาผิดผู้กระทำผิดนั้น สามารถกระทำได้จากความรู้สึกร่วมกันของคนในสังคมที่เคยผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายมาด้วยกัน เป็นตัวเชื่อมโยงกันและกัน และพื้นที่การเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังประสบการณ์ในประเทศอาร์เจนติน่า

 

การเดินขบวนของกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโยอีกครั้ง เมื่อปี 2017 ในประเทศอาร์เจนติน่า (ภาพจาก The Guardian)

 

การผลักดันกระบวนการค้นหาความจริง: ประสบการณ์จากกรณีอาร์เจนติน่า

ในช่วงความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน (Transnational Justice) เป็นช่วงของการแสวงหาความยุติธรรมในสังคมประประชาธิปไตยหลังจากที่ประเทศผ่านพ้นมาจากระบอบเผด็จการที่มีการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองอย่างโหดร้าย[4] เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่กว้างขึ้น เอื้อให้เกิดการก้าวข้ามจากเหยื่อสู่ผู้กระทำการในการนิยามความหมายให้ตนเอง โดยทำได้จากการปฏิสัมพันธ์รวมกลุ่มกันเป็นภาคประชาสังคมอย่างที่ปรากฏอย่างกลุ่ม “แม่แห่งจัตุรัสมาโย และ ย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย (Mothers of Plaza de Mayo, Grandmothers of Plaza de Mayo)”

ในช่วงระบอบเผด็จการในประเทศอาร์เจนติน่า ผู้เห็นต่างกับรัฐถูกบังคับให้สูญหายประมาณ 30,000 คน ในปี 1977 ความโศกเศร้าของครอบครัวได้ถูกพัฒนาให้เป็นจุดยึดโยงของแม่ๆ และย่ายายของลูกที่ถูกทำให้หายไป จนรวมเป็นกลุ่ม “แม่แห่งจัตุรัสมาโย และ ย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย” ซึ่งเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเดินขบวนเป็นวงกลมที่จัตุรัส Plaza de Mayo อย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันพฤหัส แทนการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม

การเดินขบวนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบหาความจริงของเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย เริ่มต้นด้วยการยื่นจดหมายต่อรัฐบาลทหารวิเดลล่าเพื่อสอบถามชะตากรรมของลูกๆ ต่อมาทางกลุ่มเริ่มดำเนินการทางกฎหมายโดยมีการรวมกลุ่มในที่สาธารณะแล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยคำลับที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น บิบ (Bib) หมายถึง เด็กที่ยังไม่เกิด พิ้งค์ (Pink) หมายถึง เด็กผู้หญิง สกาย-บลู (sky-blue) หมายถึง เด็กผู้ชาย เป็นต้น แล้วร่วมกันเตรียมและเซ็นเอกสารยื่นร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยผิดกฎหมาย (habeas corpus petition) แต่ในท้ายที่สุดทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ปฏิเสธการรับรู้ถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางยุติธรรม ทางกลุ่มสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลพลเรือนอัลฟอนซิล ได้เริ่มสืบสวนสอบสวนและเปิดเผยความจริงให้ครอบครัวของเหยื่อเกี่ยวกับรายละเอียดที่คลุมเครือจากการกระทำของรัฐผ่านการบังคับบุคคลสูญหาย โดยการทำงานร่วมกับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการสาบสูญของบุคคล (CONADEP: National Commission on Disappeared Persons) ที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายในรายงาน Nunca Más (“Never Again”) และเรียกร้องให้ American Association for the Advancement of Science (AAAS) ช่วยเหลือทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ศพผู้ถูกบังคับสูญหาย

แต่ด้วยความที่ในตอนต้นรัฐบาลพลเรือนเลือกเอาผิดเพียงเฉพาะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทางกลุ่มแม่แห่งจัตุรัสมาโย และย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย จึงผลักดันให้เอาผิดผู้กระทำทั้งหมด ผ่านการประท้วงซึ่งสร้างความระส่ำระส่ายต่อผู้นำกองทัพที่ต้องยอมรับนโยบายของรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้น ทำให้สามารถเอาผิดก่อนที่กองทัพจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ส่วนด้านการเยียวยาและชดเชยให้เหยื่อนั้น ทางกลุ่มเรียกร้องให้เด็กที่ยังมีชีวิตอยู่กลับสู่ครอบครัวของเขาพร้อมกับเอกสารประจำตัวใหม่ รวมถึงให้มีการเยียวยาช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการฟื้นฟูทางจิตใจ[5]

การเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่และย่ายายแห่งจัตุรัสมาโยแสดงให้เห็นถึงการก้าวผ่านจากผู้ถูกกระทำโดยรัฐสู่ผู้กระทำการ เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมรณรงค์เรื่องของการบังคับการสูญหายให้สังคมรับรู้ในช่วงที่ยังถูกปกครองแบบระบอบเผด็จการ สู่ช่วงความเปลี่ยนผ่านทางยุติธรรมที่ผลักดันการค้นหาความจริง และการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดผู้กระทำการบังคับบุคคลสูญหาย

.

พี่สาววันเฉลิม-แม่ของสยาม-ภรรยาของสุรชัย เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดเพื่อเร่งให้สอบสวนหาผู้ลี้ภัยที่สูญหาย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63

 

กรณีประเทศไทย บทบาทภาคประชาสังคมต่อการหาความจริง

ในปี พ.ศ. 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายไปหลังจากการเข้าไปช่วยเหลือลูกความในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสูญหายของทนายสมชายส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่นำมาสู่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคนหายโดยตรง ได้แก่ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชายเป็นประธาน หน้าที่หลักคือการรวบรวมรายชื่อบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย จัดกิจกรรมช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงการรณรงค์ต่อสาธารณะและรัฐบาล และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance -WGEID) การผันตัวเองของนางอังคณามาเป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของครอบครัวของเหยื่อในการพยายามปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากการยัดเยียดอัตลักษณ์ของรัฐหรือสังคม

ต่อมา เมื่อเกิดการบังคับให้สูญหายในกรณีของนายวันเฉลิม ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ตลอดระยะเวลา 4 เดือนของการสูญหายของเขา ได้ก่อให้เกิดการกล่าวถึงและการเคลื่อนไหวทางสังคมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม การชุมนุมสาธารณะ เพื่อทวงถามความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลเพิกเฉยต่อการหายตัวไปของนายวันเฉลิม

การเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์ผ่านการผูกโบว์ขาว ที่มีความหมายคือการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ เกิดภาพโปสเตอร์ “ตามหาคนหาย” ที่มีภาพและรายละเอียดของบุคคลที่ถูกอุ้มหายไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถูกนำมาใช้ทวงถามความเป็นธรรมในการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และยังเกิดเวทีเสวนาต่างๆ ที่เชิญให้ครอบครัวและญาติของเหยื่อบอกกล่าวเรื่องราวความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทางครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อในเรื่องของการดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนต่อรัฐและ WGEID หรือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยองค์กรภาคประชาสังคม

ขณะเดียวกัน ยังมีการผลักดันพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย เพื่อหาความจริงและนำคนผิดมาลงโทษโดยใช้ร่างของภาคประชาสังคม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอเข้าสภาโดยคณะกรรมาธิการตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2563 แต่กลับยังไม่มีการบรรจุเข้าวาระสภาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เป้าหมายในการหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ที่ยังอาจเกิดขึ้นได้อีก ยังต้องอาศัยความแข็งแรงและการกดดันจากภาคประชาสังคมเพื่อให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้เข้าสู่การพิจารณา และออกมาเป็นกลไกในการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายของประชาชนพลเมืองในสังคมไทยต่อไป

 

——————————

[1] อังคณา นีละไพจิตร กล่าวในกิจกรรมวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
[2] Simone de Beauvoir (1947) Ethics of Ambiguity
[3] ประทับจิต นีละไพจิตร และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน (2559) “การบังคับบุคคลสูญหายและนัยยะของความคลุมเครือ” ใน พื้นที่สันติวิธีหนทางสังคมไทย ความรู้ความลับความทรงจำ, สำนักพิมพ์ของเรา: กรุงเทพฯ.
[4] ประจักษ์ ก้องกีรติ (2553) “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม” ใน https://prachatai.com/journal/2010/11/31944
[5] Valeria Vegh Weis, “The Relevance of Victims’ Organizations in the Transitional Justice Process: The Case of the Grandmothers of Plaza de Mayo in Argentina,” Intercultural Human Rights Law Review 12 (2017): 1-70

 

 

X