Brief: MISSING IN CAMBODIA – AN UPDATE สรุปงานเสวนาอัพเดตกรณีอุ้มหาย “ต้าร์” วันเฉลิม

ราวปลายปี 2563 ที่ผ่านมา “เจน” สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ “ต้าร์” วันเฉลิม ผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา ได้เดินทางไปยังประเทศกัมพูชาพร้อมกับตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ส่วนหนึ่งก็เพื่อไปให้ถ้อยคำตามหมายเรียกจากผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) ประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ในขณะที่อีกส่วนก็เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ด้วยตัวเอง

แม้จะย่างเข้าเดือนที่ 9 แล้วตั้งวันที่ต้าร์หายตัวไป แต่เมฆหมอกของความคลุมเครือยังคงลอยปกคลุมอยู่เหนือชะตากรรมของอดีตนักกิจกรรมทางการเมืองรายนี้ ในขณะที่การสอบสวนของทางรัฐไทยและกัมพูชาเองก็ไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เพื่อจะสรุปรวบยอดภารกิจการเดินทางตามหาความจริงของเจนในกัมพูชา สำรวจกลไกการทำงานของ UN ในประเด็นเรื่องการอุ้มหาย รวมไปถึงถ้อยสะท้อนจากมิตรสหายของต้าร์ ศูนย์ทนายฯ ชวนอ่านสรุปใจความจากงานเสวนา MISSING IN CAMBODIA – AN UPDATE จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่

“เจน” สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ – พี่สาวของวันเฉลิม

Badar Farrukh – เจ้าหน้าที่จาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights)

สุณัย ผาสุก – ตัวแทนจากองค์กร Human Rights Watch ประจำประเทศไทย

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง – ตัวแทนจากกลุ่ม Women for Freedom and Democracy

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: “เรายังหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการอุ้มหายที่เกิดขึ้น”

ในช่วงต้นของงานเสวนา “เจน” สิตานัน ได้เริ่มด้วยการแนะนำตัวเอง และเท้าความถึงภารกิจในการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมต่อผู้พิพากษาผู้ทำการไต่สวนคดี โดยทั้งเธอและตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่เดินทางไปด้วยได้เตรียมเอกสารจำนวนหนึ่งเพื่อยืนยันกับทางผู้พิพากษาว่าวันเฉลิมเคยอยู่ที่ประเทศกัมพูชาจริง  และเจนยังได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของทางกัมพูชาเพื่อสอบถามเรื่องความคืบหน้าของการสอบสวน แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

“เอกสารที่เราเตรียมไปด้วยจะเป็นเอกสารรูปถ่ายที่ยืนยันสถานที่ที่วันเฉลิมเคยพักอยู่ พาสปอร์ต เบอร์บัญชีธนาคาร แล้วก็เอกสารของทางการไทย และในวันเกิดเหตุ เราเองเป็นคนที่อยู่ในสายคุยกับวันเฉลิม สิ่งที่ทางทีมทนายได้เตรียมไปยื่นให้ผู้พิพากษาของกรุงพนมเปญ เราคิดว่ามันครบถ้วนพอที่จะสามารถยืนยันได้ว่าวันเฉลิมอยู่ที่กัมพูชาจริง และหายไปจากกัมพูชาจริงค่ะ”

“แต่เมื่อได้เข้าพบกับทางรองผู้บัญชาการตำรวจของกัมพูชา เราก็ได้ทราบว่าทางตำรวจของกัมพูชาไม่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง และถ้าดูจากคำตอบของรัฐบาลกัมพูชาต่อสถานทูตไทยและนานาชาติ ทำให้เรารับรู้อีกว่า การอุ้มหายที่เกิดขึ้นไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังเท่าที่ควร”

ในการเข้าพูดคุยกับทางผู้พิพากษาผู้ไต่สวนคดีประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ทางผู้พิพากษาได้แจ้งให้เจนทราบว่า ในการสืบสวนและพิจารณาคดีต่อไปนั้น จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานและพยานบุคคลเพิ่มเติม เพื่อยืนยันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน เจนเองก็ตั้งคำถามต่อกระบวนการสืบสวนของทางกัมพูชา ซึ่งอ้างว่าในหลักฐานที่รวบรวมมาได้นั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวันเฉลิมเคยพักอยู่ในคอนโดบริเวณที่เกิดเหตุอุ้มหายที่พนมเปญจริง

“ทางเราได้เข้าพบกับผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรารู้สึกว่าทางการกัมพูชาไม่ได้เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญเท่าไหร่ และไม่ได้สนใจหลักฐานที่เราเตรียมไป ท่านแจ้งว่า ถ้าเราไม่สามารถหาหลักฐานเพิ่มเติมมาได้หรือมีพยานบุคคลยืนยัน เขาก็จะไม่สืบสวนคดีนี้ต่อ”

“หลังจากที่ทางทีมเรากลับมาประเทศไทย เราได้ยื่นเอกสารเพิ่มเพื่อจะให้ผู้พิพากษาเรียกพยานบุคคลในวันที่เกิดเหตุมาให้ปากคำเพิ่มเติม และมอบหมายให้ตำรวจไปขอดูกล้อง CCTV บริเวณถนนใกล้กับที่เกิดเหตุในวันที่วันเฉลิมถูกอุ้มหาย ก่อนหน้านี้ ทางเราเคยคุยกับตำรวจซึ่งให้ข้อมูลว่า ในกล้อง CCTV ของคอนโด ไม่ปรากฏว่ามีวิดีโอภาพเคลื่อนไหวของวันเฉลิมถูกบันทึกไว้เลย เขาแจ้งว่าดูตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2563 แต่ภาพที่ทางเราได้มาคือภาพของรถคันสีดำที่วันเฉลิมถูกอุ้มเมื่อวันที่ 4 เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาสอบสวนอะไรแบบไหน”

ในส่วนของทางการฝั่งไทย ทางเจนเองก็ได้ดำเนินการทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการค้นหาความจริงกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเธอได้รับแจ้งว่า ขณะนี้กรณีของวันเฉลิมได้ถูกส่งต่อให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว และอยู่ในขั้นตอนพิจารณา แต่ยังไม่ได้ตั้งเรื่องเป็นคดีความ

“ในส่วนการติดต่อฝั่งทางการไทย เมื่อวันที่ 27 มกรา 2564 เราได้ทำหนังสือถึงองค์กรและหน่วยงานรัฐไทย คือสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการคุ้มครองคนหายฯ ที่กรมคุ้มครองสิทธิดูแลอยู่ เพื่อทวงถามความคืบหน้าของการตั้งเรื่องในคดีของวันเฉลิม เราทราบมาพอคร่าว ๆ ว่าทั้งสององค์กรได้ส่งต่อเรื่องให้กับ DSI แล้ว ทางนั้นก็ได้ติดต่อประสานมาว่า อยากขอแชร์ข้อมูลที่เราไปยื่นกับทางศาลแขวงพนมเปญและขอคุยกับเราในเรื่องข้อมูลที่เราได้มา แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับกรณีของวันเฉลิมเป็นเป็นคดีความพิเศษเพื่อสืบหาความจริง”

แม้ว่าในการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจะไม่ได้ช่วยไขข้อสงสัยถึงความเป็นไปของวันเฉลิม รวมไปถึงยังมีข้อมูลอีกมากมายที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในเวลานี้  แต่เจนได้ยืนยันผ่านงานเสวนาว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางนานาชาติ รวมไปถึงองค์กรด้านสิทธิจะต้องเฝ้าจับตากรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ทางกัมพูชาเร่งทำการสืบสวนอย่างจริงจัง

“การที่เราได้มาพูดในวันนี้ เราอยากจะขอให้ทางองค์การสหประชาชาติ (UN) นานาชาติ และองค์กรสิทธิฯ ให้ความสนใจต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เพื่อให้ทางรัฐบาลกัมพูชาทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง อยากให้เขาเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้”

“เราอยากจะเห็นการไต่สวนและพิจารณาอย่างเป็นธรรมโดยศาลกัมพูชา และคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการอุ้มหายที่เกิดขึ้น”

สุณัย ผาสุก: “ถึงเวลาที่ไทยต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหากรณีอุ้มหาย

สำหรับผู้ร่วมพูดคุยรายต่อมาที่ให้ความเห็นในงานเสวนาครั้งนี้คือ สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ประจำประเทศไทย สุณัยเริ่มด้วยการสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวหลังจากที่ทราบข่าวเรื่องการอุ้มหายของ “ต้าร์” วันเฉลิม มิตรสหายที่รู้จักกันมานานนับสิบปี ก่อนที่จะพูดถึงสถานการณ์การอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน และข้อสังเกตในประเด็นเรื่องความต่างระหว่างกรณีของวันเฉลิมและกรณีการอุ้มหายอื่นๆ

“ผมทราบกรณีของต้าร์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และรู้สึกตกใจมาก เพราะเราเป็นเพื่อนกันมานานกว่า 10 ปี พอได้ลองสอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง มันชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เขาไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ แต่ถูกเอาตัวไปโดยกลุ่มของชายที่คาดว่าน่าจะมีอาวุธ ท่ามกลางสายตาของผู้คนในย่านที่อยู่อาศัยที่พลุ่กพล่าน และเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวัน”

“ทำไมข้อเท็จจริงเหล่านี้ถึงสำคัญ นั่นก็เพราะต้าร์ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายแรกที่ถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เขาคือรายที่ 9 ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้ เนื่องจากความกังวลเรื่องการถูกดำเนินคดี และการที่ถูกจับตามองในฐานะที่เป็นศัตรูของรัฐ เป็นศัตรูที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่ร้ายแรงที่สุด ทั้งในสายตาของรัฐไทย ผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่กลุ่มนิยมเจ้า นั่นก็คือการแสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์”

“ก่อนหน้ากรณีของต้าร์ มีกรณีของผู้ลี้ภัยรายอื่นอย่าง ดีเจซุนโฮ โกตี๋ สุรชัยและสหายอีกสองรายที่ลี้ภัยอยู่ในลาว 2 ใน 5 รายชื่อข้างต้นถูกพบเป็นศพในสภาพที่ถูกฆ่าขว้านท้อง ก่อนที่ร่างจะถูกทิ้งลงแม่น้ำโขง จากผลการตรวจ DNA ยืนยันได้ว่าทั้ง 2 ร่างนี้คือผู้ลี้ภัยชาวไทย ต่อมามีกรณีของผู้ลี้ภัยอีก 3 ราย คือลุงสนามหลวง – ชูชีพ ชีวสุทธิ์ และผู้ติดตามอีก 2 ราย ซึ่งได้สาบสูญไปขณะที่อยู่ในเวียดนาม ทั้งหมดรวมแล้ว 8 ราย”

“อย่างไรก็ตาม เทียบกับกรณีการอุ้มหายกรณีอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เกิดขึ้นต่อหน้าพยานหลายราย และอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ คือเกิดขึ้นในตอนกลางวันโดยเหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทักไว้ผ่านกล้องวงจรปิด อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่ที่ที่ห่างไกลจากผู้คน แต่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่พลุกพล่าน”

สุณัยยังได้เปิดเผยอีกว่า ทางเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกัมพูชาเองรับรู้มาโดยตลอดว่าวันเฉลิมได้ลี้ภัยและอยู่อาศัยในประเทศกัมพูชา แต่เมื่อเกิดกรณีการอุ้มหาย และมีการทวงถามจากทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทางกัมพูชากลับตอบกลับด้วยความคลุมเครือและไม่ได้มีท่าทีชัดเจนในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น สุณัยยังมองในแง่ดี เพราะปฏิกิริยาที่ว่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เทียบกับกรณีการอุ้มหายกรณีอื่นที่แทบไม่เคยได้รับความสนใจทั้งในทางสื่อและทางสาธารณะ

“ก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีอุ้มหายกรณีนี้ เป็นที่รู้กันว่าวันเฉลิมอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐของกัมพูชา การที่สาธารณะและทางสื่อให้ความสนใจกับเคสนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะการลี้ภัยของวันเฉลิมอยู่ภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่ฝั่งนั้น จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ‘ทำไมอาชญากรรมที่ร้ายแรงขนาดนี้ถึงถูกอนุญาตให้เกิดขึ้น?’ ‘ทำไมถึงไม่มีการตอบกลับทันทีโดยเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา ภายหลังจากเหตุการณ์?’ กระแสความไม่พอใจมันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน”

“ไทยเป็นประเทศที่เกิดกรณีการอุ้มหายหลายกรณี แต่กรณีของวันเฉลิมถือเป็นกรณีแรกที่ไทยแสดงท่าทีตอบสนองภายใน 24 ชั่วโมง กระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ได้สื่อสารไปทางสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ให้ช่วยส่งคำถามต่อเพื่อยืนยันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม นี่เป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

“เรายังได้เรียนรู้อีกว่า ทางฝั่งกัมพูชาได้ตอบกลับด้วยท่าทีที่ค่อนข้างนิ่งเฉย เป็นการตอบกลับทั่วไปว่า ยังไม่ทราบเรื่องนะ แต่ก็สัญญาว่าจะตรวจสอบดู อย่างน้อยที่สุด ก็ยังมีการตอบกลับ อาจพูดได้ว่า ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นจากทางสากล การโทรพูดคุยทางการทูต ความสนใจจากสื่อ จากครอบครัวของเหยื่อ ความสนใจเหล่านี้มีความสำคัญทั้งหมด และเราจะต้องรักษากระแสความสนใจนั้นไว้”

ในการเคลื่อนไหวของมวลชนคณะราษฯ 2563 หนึ่งในประเด็นที่ถูกผลักดันคู่ไปกับข้อเสนอการปฏิรูปเชิงโครงสร้างนั่นก็คือการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกรณีของวันเฉลิม กระแสที่ถูกผลักดันจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ทางกัมพูชาต้องมีท่าทีตอบสนองต่อสถานการณ์การอุ้มหาย อย่างไรก็ตาม สุณัยมีข้อสังเกตว่า ภายหลังจากที่กระแสดังกล่าวจืดจางลงด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เคี่ยวงวดขึ้น ปรากฏว่าทางกัมพูชากลับใช้จังหวะนี้เตะถ่วงเรื่องการสืบสวนให้ยืดเยื้อออกไปอีก

“ในช่วงเดือนแรกๆ ที่เกิดการอุ้มหาย กรณีของวันเฉลิมได้รับความสนใจอย่างมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้รวมเอาเรื่องราวของวันเฉลิมเข้าไปร่วมด้วยในการต่อสู้ พวกเราเห็นโปสเตอร์สีเหลืองที่พูดถึงการอุ้มหายแทบทุกม็อบ เราเห็นเสื้อที่สกรีนรูปวันเฉลิมถูกแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุม แม้แต่ตัวผมเองก็ยังมีเสื้อที่ว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสนใจกลับค่อยๆ ลดน้อยลง กลายเป็นโอกาศที่ทำให้ทางกัมพูชาเฉื่อยชาเรื่องกระบวนการค้นหาความจริง”

“พวกเขาไม่ได้ตีตกคดีนี้ แต่อย่างที่คุณเจนได้พูดไป เขาเลี่ยงด้วยการตอบประมาณว่า ทางนั้นยังต้องการหลักฐานเพิ่ม เพราะหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่พอ มันยังมีความคลุมเครืออยู่ในการตอบคำถาม เขาอาจไม่ได้ปฏิเสธเด็ดขาดว่าการอุ้มหายครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเราดูจากหนังสือที่กัมพูชาตอบต่อนานาชาติคือ เขาไม่ได้ยอมรับว่าวันเฉลิมเคยอาศัยอยู่ในกัมพูชา แต่พอมาตอนนี้ ก็กลับมาพูดว่า โอเค ทางเราจะช่วยดูแลกรณีนี้ให้ แต่คุณต้องหาหลักฐานมาให้เราเพิ่ม ดังนั้น เราจำเป็นต้องดึงความสนใจจากทางนานาชาติกลับมาอีกครั้ง เราจำเป็นต้องดึงความสนใจจากสื่อกลับมาอีกครั้งเพื่อสร้างแรงกดดัน เช่นเดียวกันกับที่ต้องกดดันทางเจ้าหน้าที่รัฐไทยด้วย”

ไม่ใช่แค่กระบวนการสืบสวนหาความจริงในประเทศกัมพูชาเท่านั้นที่ถูกแช่แข็ง แต่เมื่อลองหันกลับมามองกลไกของประเทศไทยในการติดตามกรณีอุ้มหายเอง สุณัยระบุว่า ยังมีปัญหามากมายซ่อนอยู่ในกระบวนการดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาล่วงจนเข้าสู่ปีใหม่ แต่องค์กรที่มีหน้าที่ในการติดตามเรื่องอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานอัยการสูงสุดกลับยังคงไม่ได้ออกรายงานชี้แจงใดๆ แม้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะมอบหมายให้ DSI เป็นผู้สอบสวนกรณีของวันเฉลิมเพิ่มเติม แต่ทางฝั่ง DSI กลับยังไม่ได้ตั้งเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ทำให้ขาดอำนาจในทางกฎหมายเพื่อสืบสวนหาความจริงในพื้นที่นอกราชอาณาจักรอย่างทันท่วงที กรณีอุ้มหายของวันเฉลิมในเวลานี้จึงยังคงสถานะเป็นแค่เรื่องคงค้างที่เฝ้ารอการดำเนินการต่อไป

“ขณะนี้ เราเห็นแล้วว่ามีปฏิกิริยาจากทางกระทรวงการต่างประเทศ เราเห็นแล้วว่าเคยมีกระบวนการประชุมรับฟังความคิดเห็นในระดับรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับต้าร์ ซึ่งก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาในกรณีอุ้มหายกรณีอื่น คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะต้องมีกระบวนการอะไรในทางรัฐสภาที่จะใช้ติดตามความคืบหน้าของกระบวนการสืบหาความจริง? ท่าทีของทั้งทาง DSI และสำนักอัยการสูงสุดที่ดูแลเรื่องนี้จำเป็นต้องถูกติดตามและซักถามโดยรัฐสภาเพื่อคอยเช็คว่ากระบวนการมันไปถึงไหนแล้ว ดูว่าการทำงานในตอนนี้ถือว่าเป็นไปตามที่รัฐสภาได้คาดหวังไว้หรือไม่?”

“ผมคิดว่าคำถามเหล่านี้จำเป็นต้องถูกถาม และนี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะถาม เพราะตอนนี้ก็ครึ่งปีผ่านไปแล้ว ควรที่จะต้องถามได้แล้วว่า ตอนนี้สถานะและความคืบหน้าในการตามหาความจริงเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เรารู้ว่า DSI กำลังติดตามเคสนี้ของต้าร์ แต่เมื่อไหร่ล่ะที่จะออกมาประกาศตั้งคดีพิเศษอย่างเป็นทางการ? ใครกันที่นั่งเก้าอี้ประธาน DSI ? คนนั้นคือประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเปล่า? นี่คือความรับผิดชอบโดยตรงของพลเอกประยุทธ์ใช่หรือไม่?”

“ทาง DSI ยังได้มาขอข้อมูลเพิ่มเติมกับทางครอบครัวผู้เสียหายและสอบถามเรื่องการเข้าให้ถ้อยคำกับทางเจ้าหน้าที่กัมพูชา จากข้อมูลตรงนั้น ประเทศไทยจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง? แล้วเมื่อไหร่นายกจะเรียกประชุมบอร์ดของ DSI? เมื่อไหร่ที่กรณีของ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม จะได้รับการรับรองในฐานะที่เป็นคดีพิเศษ เพื่อที่ทาง DSI จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นทางการ? แล้วจะต้องมีการกระบวนการอะไรตามมาหลังจากนี้บ้าง? นั้นคือสิ่งที่ต้องถูกถาม”

ในส่วนท้ายของการพูดคุย สุณัยได้ทิ้งประเด็นเรื่องกลไกที่ประเทศไทยนำมาใช้เพื่อจัดการกระบวนการนอกกฎหมายอย่างการอุ้มหาย หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าการบังคับให้สูญหาย “Enforced Disappearance” แม้ไทยจะอ้างตลอดมาว่ามีกลไกด้านสิทธิที่คอยติดตามกรณีดังกล่าว แต่ทว่าในความเป็นจริง รูปแบบการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรงนี้ไม่เคยหมดไปจากประเทศไทย และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อเมื่อลองมองในแง่ของกฎหมายก็พบว่า การบังคับให้สูญหายที่จริงไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ถึงจะมีความพยายามของทางรัฐบาลในการร่างกฎหมายเฉพาะขึ้นมาเพื่อประกันสิทธิ แต่ในความเห็นของสุณัย ตัวร่างของทางฝั่งรัฐบาลยังมีจุดอ่อนอยู่มาก และจำเป็นต้องอาศัยแนวทางในร่างอีกฉบับที่ภาคประชาชนและประชาสังคม เป็นผู้ยื่นเข้ามา นำมาพิจารณาร่วมด้วย

“ประเทศไทยมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่อง ‘คนหาย’ แต่เราไม่สามารถใช้คำว่า ‘การบังคับให้สูญหาย’ ได้จนกระทั่งวันนี้ ไม่ว่าเราจะมีกรณีของการอุ้มหายเพิ่มขึ้นอีกมากเท่าไหร่ นั่นเพราะการบังคับอุ้มหายไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นการกระทำความผิดในทางกฎหมายของประเทศไทย ประเทศนี้ไม่มีกลไกทางกฎหมายที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอุ้มหาย ไม่ได้มีการนิยามอาชญากรรมชนิดนี้ไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีความร้ายแรงมากแค่ไหน เราเคยมีกรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีการอุ้มหายบิลลี่ที่บางกลอย และตอนนี้เราก็ยังมีกรณีของวันเฉลิม และกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี กรณีเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการหรือทำการสืบสวนได้ในฐานะที่เป็นคดีความการบังคับให้สูญหายตามนิยามของสากล เพราะที่ไทยไม่มีกฎหมายที่นิยามความผิดในรูปแบบนี้”

“ทางรัฐบาลเคยสัญญาหลายรอบหลายครั้งกับทางสหประชาชาติและกับทางสาธารณะ ว่าไทยจะหยุดยั้งกรณีอุ้มหายไม่ให้เกิดขึ้น แต่การทำเช่นนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อการกระทำดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแต่แรกด้วยซ้ำ”

“ความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมาน และการอุ้มหายฯ ตอนนี้ก็ยังติดค้างอยู่ในรัฐสภา และเนื้อหาของตัวกฎหมายเองที่ถูกเสนอโดยรัฐบาล ก็ไม่ได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เรียกได้ว่าเป็นร่างที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกร่างหนึ่งที่เกิดจากความร่วมมือกันของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นร่างที่ดีกว่า และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อชี้แจงจากทางรัฐบาลว่าจะรวมเอาแนวทางของทั้งสองร่างเข้ามาใช้เพื่อช่วยออกแบบกฎหมายผ่านทางกลไกของรัฐสภา”

“เราอยากจะได้ยินว่า อย่างน้อย รัฐบาลจะต้องชี้แจงว่าพร้อมที่จะผลักดันให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายของรัฐบาลเองช่วยกันสนับสนุนการรวมของตัวกฎหมายทั้ง 2 ร่าง ทางฝ่ายค้านชัดเจนว่าสนับสนุนร่างกฎหมายนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่ทางรัฐบาลที่จะต้องยืนยันความจริงใจผ่านทางสมาชิกรัฐสภาว่าพวกเขาพร้อมที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายที่ดีตามมาตรฐาน ด้วยการรวมทั้ง 2 ร่างเข้าด้วยกัน และทำงานร่วมกับสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านเพื่อทำให้การอุ้มหายกลายเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญารองรับ”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง: “พวกเราทุกคนล้วนคือ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม”

นอกจากความคืบหน้าในกระบวนการค้นหาความจริง รวมไปถึงการวิพากย์กลไกในการปกป้องสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายในประเทศไทยจากวิทยากรทั้ง 2 ท่านก่อนหน้า วิทยากรรายต่อมาคือ “วาดดาว” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนจากกลุ่ม Women for Freedom and Democracy ได้เข้าร่วมพูดคุยในงานเสวนานี้ในฐานะหนึ่งในมิตรสหายนักกิจกรรมทางการเมืองของ “ต้าร์” วันเฉลิม หลังจากแนะนำตัว วาดดาวได้เท้าความถึงจุดเริ่มต้นที่พาให้เธอและต้าร์ได้มารู้จักกัน ชีวิตการทำงานของต้าร์ในองค์กรภาคประชาสังคม ปรารถนาดีของเขาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักกิจกรรม และความสนใจของชายหนุ่มที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเด็นที่ทำงานด้วย แต่ยังรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเช่นกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เรารู้จักวันเฉลิมเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว คล้ายกับพี่สุณัย ต้าร์เคยทำงานเป็น NGO ด้านผู้ติดเชื้อ HIV และประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราเจอต้าร์ครั้งแรกตอนที่เขายังทำงานกับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association) ต่อมาได้กลายมาเป็นเพื่อนกันเพราะมุมมองทางการเมืองที่เหมือนกัน ในสมัยก่อนหน้ารัฐประหารปี 2557 คนที่ทำงานในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV และผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะสนับสนุนกลุ่ม กปปส. กองทัพ และรูปแบบรัฐอนุรักษ์นิยม แต่นั่นไม่ใช่สำหรับกรณีของต้าร์”
“สิ่งที่ต้าร์ต้องแลกในการลี้ภัย เขาต้องจากเพื่อน ครอบครัว เพราะเขาเลือกที่จะยืนข้างสิทธิเสรีภาพ ยืนสู้เพื่อคนอื่น มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราจำได้ไม่เคยลืม เคยมีกรณีที่เพื่อนนักกิจกรรมหญิงรักหญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกโจมตีบนโลกออนไลน์จากฝ่ายผู้นำทางศาสนาหัวอนุรักษ์นิยม เขาพยายามอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักกิจกรรมรายนั้นและสนับสนุนในแถลงการณ์เพื่อปกป้องกลุ่ม NGO ที่ทำงานประเด็นสิทธิของหญิงรักหญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดปัตตานี”
“จากจุดนั้น ที่เราตระหนักได้ต่อมาคือ ต้าร์ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานเพื่อกลุ่มเพศหลากหลายหรือกลุ่มผู้ติดเชื้อเท่านั้น เขาเคยเล่าให้ฟังว่า เคยเดินทางไปปัตตานีหลายรอบเพื่อทำงานกับกลุ่มเยาวชน เพื่อต่อสู้และแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
วาดดาวเล่าต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรณีการอุ้มหายของวันเฉลิมกลายเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ นั่นก็เพราะเรื่องราวของต้าร์และแรงบันดาลใจของตัวเขาในการอุทิศตัวช่วยเหลือผู้อื่นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการรัฐประหารที่พัดพาให้วันเฉลิมต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การตัดสินใจในวันนั้นทำให้เขาต้องสูญเสียงานที่ทำโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ นั่นคือความเสียใจที่ติดค้างอยู่ในใจของวาดดาวและมิตรสหายรายอื่นที่ต้องทนเห็นเพื่อนสูญเสียทุกสิ่งจากการต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง
“ชีวิตการทำงานเพื่อคนอื่นของต้าร์เริ่มต้นเมื่อสมัยที่เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เขาเคยเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซึนามิในภาคใต้ เข้าร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ทำงานสนับสนุนประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศ และร่วมให้ความรู้ประเด็นสุขศึกษาสำหรับเยาวชนทั่วประเทศ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จำนวนมากถึงร่วมในแคมเปญ #SaveWanchalerm บนทวิตเตอร์ เพราะตลอดชีวิตของต้าร์ เขาต่อสู้เพื่อผู้ที่ถูกกดขี่มาโดยตลอด”
“วันที่เขาต้องลี้ภัยที่พนมเปญ ต้าร์ต้องออกจากงานโดยที่ไม่ได้รับการชดเชยช่วยเหลือใดๆ วันที่ได้ยินว่าต้าร์เดินทางออกจากประเทศไปกัมพูชา เราเคยลองถามเพื่อนร่วมงานเขาที่สมาคมฟ้าสีรุ้งว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือต้าร์ที่กัมพูชาได้อย่างไรบ้าง แต่พวกเขาก็ไม่ตอบ เรารู้ว่าต้าร์อาจไม่เคยเสียใจที่ต้องลี้ภัย แต่เราอยากให้เขาได้รู้ว่าพวกเรารู้สึกเสียใจมากแค่ไหน และอยากให้คนที่อุ้มตัวต้าร์ไปได้รับรู้ถึงความเสียใจของพวกเรา”
ในช่วงสุดท้าย วาดดาวได้ทิ้งท้ายถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับวันเฉลิมที่ยังคงต้องทำต่อไป หนึ่งในคือการการส่งต่อเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ในแง่หนึ่งก็เพื่อไม่ให้ต้องมีคนต้องมากลายเป็นเหยื่อของการอุ้มหายรายต่อไป และการที่นักกิจกรรมทางการเมืองทั่วโลกต้องลุกขึ้นยืนหยัดในการเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อการสร้างโลกที่ดีกว่านี้ ในฐานะที่ทุกคนต่างล้วนคือ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
“ทางเดียวที่เราและทุกคนจะสามารถร่วมในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับต้าร์และครอบครัวคือการพูดความจริงนับจากนี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องสูญเสียเพื่อนคนไหนไปอีก เราอยากจะบอกต้าร์ว่า พวกเราภูมิใจในตัวเขามาก และจนถึงวันนี้ เขาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงคนรุ่นใหม่ เราเห็นว่าเพื่อนสนิทของต้าร์หลายคนร้องไห้เมื่อตอนได้เห็นภาพของต้าร์ปรากฏในที่ชุมนุม นี่คืออีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรื่องราวของเขายังคงถูกเล่าต่อๆ ไป”
“เวลานี้ พวกเราในฐานะนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในประเทศไทย ในประเทศพม่า และคนอื่นๆ จากทั่วโลก พวกเราต้องเข้มแข็งและพร้อมจะยืนหยัดเพื่อเปล่งเสียงเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม และเพื่อเรียกร้องต่อโลกที่ดีกว่านี้ เพราะพวกเราคือ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม”
“ท้ายที่สุด เราหวังว่ากรณีของต้าร์จะเป็นกรณีสุดท้าย เรารู้ว่าต้าร์จะไม่มีวันรู้สึกเหงา เพราะเขาจะอยู่กับเราเสมอ จนกว่าจะพบกันใหม่”

 

บาดาร์ ฟาร์ลุคห์: “ความเฉยชาของไทยและกัมพูชาต่อผู้ตกเป็นเหยื่ออุ้มหาย”

สำหรับผู้เชี่ยวชาญรายสุดท้ายที่ร่วมในงานเสวนาครั้งนี้คือ บาดาร์ ฟาร์ลุคห์ (Badar Farrukh) เจ้าหน้าที่จาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights) ในฐานะที่เป็นตัวแทนขององค์การสหประชาชาติ

ในตอนต้นของการสนทนา บาดาห์ได้แบ่งประเด็นที่จะพูดถึงเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่กลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนในกรณีของวันเฉลิม คำตอบของทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่อนานาชาติ รวมไปถึงคำตอบที่เกี่ยวข้องกับกรณีการอุ้มหายกรณีอื่นในประเทศไทย

“หากพอจะจำได้ หรือหากติดตามความคืบหน้าของกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม ได้มีการใช้กลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN the special procedures of the human rights council) เข้าดำเนินการต่อทั้งรัฐบาลกัมพูชาและไทย”

“ทางคณะทำงานว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือโดยไม่เต็มใจ (Working Groups on Enforced or Involuntary Disappearance) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมาน (Special Rapporteur on Torture) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย อย่างรวบรัดและโดยพลการ (Special Rapporteur on Extrajudicial Killing) และ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก (Special Rapporteur on Freedom of Opinion and Expression)

คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ส่งหนังสือเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับกรณีของวันเฉลิมถึง 2 ครั้งไปยังทั้ง 2 รัฐบาล แสดงให้เห็นว่ากรณีนี้ได้รับการจับตาและติดตามอย่างสูง โดยเฉพาะจากกลไกพิเศษ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ตอบกลับการสื่อสารของคณะทำงานและผู้รายงานพิเศษก็เฉพาะเมื่อหลังจากมีการทวงถามเป็นครั้งที่ 2 แล้ว”

นอกเหนือจากกลไกพิเศษ บาดาร์ยังได้กล่าวถึงกลไกตามสัญญาระหว่างประเทศที่ถูกใช้เพื่อติดตามกรณีการอุ้มหายของวันเฉลิม รวมไปถึงเนื้อหาในหนังสือที่ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ตอบกลับต่อทางผู้เชี่ยวชาญพิเศษทั้ง 4 อ้างว่าจากข้อมูลที่ทางการกัมพูชารวบรวมมา ไม่สามารถยืนยันได้ว่าวันเฉลิมได้อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาภายหลังจากปี 2560 อีกทั้งในรายชื่อของที่พักในบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ก็ไม่ปรากฏรายชื่อของวันเฉลิมในฐานะที่เป็นผู้พักอาศัย รวมไปถึงความไม่ชัดเจนอื่นๆ ของหลักฐาน ทำให้กระบวนการค้นหาความจริงต้องล่าช้าออกไป ทว่าเมื่อทางครอบครัววันเฉลิมพยายามยื่นหลักฐานที่รวบรวมมาเองไปให้ทางกระบวนการยุติธรรมกัมพูชาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม กลับไม่ได้รับการยอมรับหรือสนใจให้น้ำหนัก

“ไม่เพียงแต่การใช้กลไกพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหายแห่งสหประชาชาติ (The Committee under the Convention on Enforced Disappearance) ซึ่งได้ดำเนินการติดต่อกับกัมพูชาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ขณะที่กัมพูชาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงมีการส่งจดหมายลับเกี่ยวกับกรณีนี้ไปยังกัมพูชา แต่เนื่องจากเนื้อหาในจดหมายถูกส่งเป็นการลับ ผมจึงไม่สามารถอภิปรายถึงมันได้ แต่การสื่อสารจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษทั้ง 4 ครั้งต่อทั้งสองประเทศได้เผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว และเราสามารถอภิปรายถึงมันแทนได้”

“มีประเด็นสำคัญบางประเด็นในการสื่อสารเหล่านั้นที่น่าพิจารณา อย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระบุแก่ทั้งสองรัฐบาลว่า การสืบสวนกรณีนี้จะต้องเป็นไปอย่างเร่งด่วน ละเอียดถี่ถ้วน และเป็นธรรม โดยเฉพาะในฝั่งกัมพูชา ผู้รายงานพิเศษยังเน้นย้ำว่า ครอบครัวของนายวันเฉลิมมีสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง หมายรวมถึงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนและผลลัพธ์จากกระบวนการดังกล่าว ชะตากรรมหรือตำแหน่งที่บุคคลสูญหายอยู่ สภาพแวดล้อมการสูญหาย และตัวตนผู้กระทำความผิดหากมีข้อมูล กัมพูชาได้ตอบกลับการสื่อสารฉบับดังกล่าวและได้เปิดเผยการไต่สวนเบื้องต้น”

“กัมพูชาระบุผ่านกลไกระหว่างประเทศว่า จากรายงานบันทึก วันเฉลิมเดินทางเข้ากัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เขาได้รับวีซ่าสำหรับพำนักชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 หลังจากนั้นเขาไม่ได้ขอต่ออายุวีซ่าอีก ดังนั้นในทางหลักการแล้ว กัมพูชายอมรับว่าวันเฉลิมอยู่ในประเทศจนถึงเดือนธันวาคม 2560 เท่านั้น กัมพูชายังระบุว่า รมต. มหาดไทยของตนได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนถึงสถานที่ที่คาดว่าวันเฉลิมอาศัยอยู่ พวกเขาพบว่า ในรายชื่อที่พักอาศัยบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ไม่มีชื่อของนายวันเฉลิมในฐานะผู้อยู่อาศัย ดังนั้นในทางหลักการแล้ว กัมพูชากำลังบอกว่าวันเฉลิมไม่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น”

“กัมพูชายังระบุต่อผู้เชี่ยวชาญพิเศษอีกด้วยว่า ความพยายามที่จะเก็บหลักฐานจากกล้องวงจรปิดล้มเหลว ในส่วนของรถยนต์โตโยต้า ไฮแลนเดอร์ สีน้ำเงินเข้ม ป้ายทะเบียน 2x/2307 ที่คาดว่าเป็นพาหนะที่ใช้ในการบังคับพาตัววันเฉลิมก็ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อของกระทรวงการขนส่งและกิจการสาธารณะ ดังนั้นรถคันดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนในกัมพูชา”

“พวกเขากล่าวต่อไปอีกว่า จากคำให้การของพยานบุคคล 3 คนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่คาดว่าเกิดเหตุขึ้น ได้รับการยืนยันว่าไม่มีการลักพาตัวเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว ในส่วนของหลักฐานที่ทางครอบครัวของวันเฉลิมยื่นต่อศาลที่กรุงพนมเปญให้พิจารณา ทางกัมพูชากลับตอบปฏิเสธ ไม่ยอมรับข้อมูลหรือหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่ครอบครัวรวบรวมมา”

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงสุดท้าย บาดาร์ได้สะท้อนถึงเนื้อหาที่ทางผู้เชี่ยวชาญพิเศษได้ทวงถามไปยังรัฐบาลไทย ความจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการสืบค้นตามหาความจริงต่อการอุ้มหายที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่กลับไม่สามารถทำได้ เนื่องจากในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุการกระทำดังกล่าวในฐานะที่เป็นความผิดทางกฎหมาย แม้จะมีความพยายามในการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อลบช่องโหว่ แต่ร่างฯ ที่ว่าก็ติดค้างอยู่ในกระบวนการมานับสิบปี ซึ่งไทยได้ชี้แจงเหตุผลของความล่าช้าไว้ในรายงานที่ตอบกลับไปยังคณะกรรมการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture – CAT) พร้อมชี้ว่าไทยยังมีกลไกอย่างอื่นอีกที่สามารถนำมาใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่กลายเป็นเหยื่อ

“ในส่วนของไทย ผู้เชี่ยวชาญตามกลไกพิเศษให้ความเห็นว่า ไม่เพียงแต่กรณีของวันเฉลิมเท่านั้น แต่ไทยควรต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีบังคับบุคคลให้สูญหายทุกกรณีอย่างเร่งด่วน เป็นธรรม และละเอียดถี่ถ้วน โดยไม่รีรอ แต่อย่างที่สุณัย วิทยากรท่านก่อนได้กล่าวไปว่า การสืบสวนโดยทันทีหรือละเอียดถี่ถ้วนต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายทุกกรณีในไทย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นถูกกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น”

“ถึงจะมีความพยายามในการร่างกฎหมายเอาผิดทางอาญาต่อการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่กระบวนการก็ใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว สองวันที่แล้ว ทางเราได้พูดคุยกับ DSI และเจ้าหน้าที่จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ทางนั้นได้แจ้งว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่งผ่านชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า เป็นความคืบหน้าอีกขั้นหนึ่ง แต่ร่างกฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้มามากกว่าสิบปี”

“เนื่องจากไทยมีพันธกรณีที่จะต้องส่งรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ต่อคณะกรรมการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ในต้นปี 2561 แต่ไทยหน่วงเวลาส่งไปถึง 3 ปี เพราะประเด็นเหล่านี้ ไทยเพิ่งจะส่งรายงานดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 4 มกราคมของปี 2564 ถ้าเราลองพิจารณาดูเนื้อหาในย่อหน้าที่ 7 ของรายงาน กล่าวว่า หากการกระทำบุคคลให้สูญหายและการทรมานจะถูกบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาในไทย รัฐบาลไทยก็จะต้องกำหนดใช้อายุความต่อความผิดทั้งสองรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ความผิดประเภทนี้ไม่มีกำหนดอายุความไว้ รายงานดังกล่าวยังพยายามอธิบายถึงความล่าช้าในการออกกฎหมายต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยอ้างว่าเหยื่อของการถูกบังคับให้สูญหายและการทรมานยังสามารถใช้ตัวเลือกกลไกคุ้มครองสิทธิอื่นได้”

ในรายงานที่ทางไทยส่งต่อให้กับคณะกรรมการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ บาดาร์ได้ขยายความถึงตัวเลือกกลไกสิทธิ 2 ประการ ที่ไทยอ้างว่าสามารถใช้เพื่อป้องกันการละเมิดดังกล่าวได้ ตัวเลือกแรกคือ คณะกรรมการระดับชาติภายใต้กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการต่อกรณีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และตัวเลือกที่สองคือ มาตรา 25 ในรัฐธรรมนูญที่สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาสิทธิของผู้ถูกละเมิด ในกรณีที่การละเมิดนั้นไม่ได้ถูกบัญญัติความผิดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในทางกฎหมาย ทว่าในความเป็นจริงนั้นมีปัญหาหลายอย่างที่ซ้อนทับอยู่ในกลไกทั้ง 2 จึงน่าตั้งคำถามว่าสามารถใช้คุ้มครองสิทธิให้ผู้ถูกละเมิดได้จริงหรือไม่

“ในคณะกรรมการระดับชาติมีอนุกรรมการ 4 คณะ หนึ่งในนั้นมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนกรณีการทรมานและการบังคับให้สูญหาย คณะอนุกรรมการนี้มีอธิบดี DSI เป็นประธาน แต่ถ้าถามว่าคณะอนุกรรมการนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน? คำตอบถูกกล่าวถึงอยู่เล็กน้อยในรายงาน ระบุว่า คณะอนุกรรมการได้ถอดชื่อ 12 ชื่อจากทั้งหมด 87 ชื่อซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะทำงานเกี่ยวกับการสูญหายโดยบังคับหรือไม่เต็มใจ แม้จะเป็นความจริง แต่รายงานไม่ได้กล่าวถึงว่า 12 ชื่อที่ถูกนำออกไปนั้น ถูกนำออกไปได้อย่างไร คนเหล่านั้นเป็นใคร? และพวกเขาบรรลุสิ่งนี้ได้อย่างไร?”

“จากนั้น รายงานได้นำเสนอ 3 กรณีที่คณะอนุกรรมการบรรลุความคืบหน้าอยู่บ้าง (ย่อหน้าที่ 31 ของรายงาน) คือกรณีของบิลลี่ พอละจี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทำให้สูญหาย รายงานระบุว่า DSI ได้ส่งสำนวนคดีไปยังอัยการพร้อมความเห็นให้ฟ้องผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คน แต่อัยการไม่เห็นควรให้ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ DSI จึงทำความเห็นแย้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาและยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป นี่เป็นความสำเร็จประการหนึ่ง”

“กรณีที่ 2 คือกรณีของสมชาย นีละไพจิตร รายงานระบุว่าการสืบสวนสอบสวนถูกยุติลง และ DSI ได้ให้ความคุ้มครองแก่ครอบครัวมากว่าสิบปี ส่วนกรณีที่ 3 คือกรณีของ แดน คัมเล่ย์ (Dan Khamlae) รายงานระบุว่าคณะอนุกรรมการได้ค้นพบกระดูก การพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ากระดูกนั้นเป็นของเขาจริง จึงสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าแดนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนต้องหยุดชะงัก เนื่องจากหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ไม่สามารถปะติดปะต่อได้ว่า สาเหตุของการเสียชีวิตคืออะไร”

“ในทั้งสามกรณี การสืบสวนต้องหยุดลง ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด นี่เป็นสถานะโดยรวมของการสืบสวนสอบสวนในไทย”

“อีกตัวเลือกที่รายงานกล่าวถึงคือ เหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายและถูกทรมาน สามารถใช้มาตรา  25 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2560 เพื่อคุ้มครองสิทธิ แต่ถามว่า มาตรา 25 หมายถึงอะไร? สะท้อนให้เห็นอะไร? พูดแบบง่าย ๆ คือ มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน กำหนดว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง แต่หากเกิดการละเมิดสิทธิที่ไม่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นความผิดในระดับอาญาหรือแพ่งโดยกฎหมายหรือข้อกำหนดใด บุคคลนั้นก็ยังสามารถไปฟ้องต่อศาลได้ บนฐานที่ว่า สิทธินั้นได้รับความคุ้มครองโดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

“ฟังดูดีมาก แต่ปัญหาก็คือในประเทศไทย เหยื่อการทรมานหรือการบังคับให้สูญหายส่วนใหญ่เสียชีวิตหรือไม่ก็หายตัวไป แล้วคนที่ถูกฆ่าจากการทรมานหรือการบังคับให้สูญหายจะออกมายื่นฟ้องคดีได้อย่างไร? เช่น นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตในค่ายทหารที่ปัตตานีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 จะใช้มาตรา 25 นี้ได้อย่างไร? สุรชัย แซ่ด่าน จะขึ้นศาลแล้วใช้มาตรานี้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกฎหมายเอาผิดการบังคับให้สูญหายและการทรมาน? ดังนั้นสถานการณ์จึงเหมือนเดิม”

“ผมจะขอจบส่วนของผมเท่านี้ แต่ขอกล่าวถึงส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษบรรจุไว้ในการสื่อสารต่อไทยและกัมพูชา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระบุว่า ความกลัดกลุ้มและทุกข์ใจของครอบครัวนั้น อาจเข้าข่ายการทรมาน สิทธิที่จะได้รับรู้ความจริงเป็นสิทธิเด็ดขาดที่จะต้องไม่ถูกจำกัด และ [รัฐ] มีพันธะโดยเด็ดขาดที่จะต้องกระทำการทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อหาบุคคลนั้น เป็นความโชคร้ายที่แม้เวลาจะผ่านไปเกือบแปดเดือนแล้ว และแม้ครอบครัวจะพยายามต่อสู้อย่างมากมาย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และความกลัดกลุ้มและทุกข์ใจของพวกเขาก็ยังไม่มีที่สิ้นสุด”

รู้จัก “กลไกพิเศษ” ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่เป็นกลไกระหว่างรัฐ ได้มีการจัดตั้งกลไกหลายอย่างที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยกลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ (Country Situations) หรือสถานการณ์ในรายประเด็น (Thematic Issues) โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Independent Expert) หรือในรูปแบบคณะทำงาน (Working Group) ซึ่งโดยมากจะประกอบด้วยสมาชิก 5 คน จากแต่ละภูมิภาค เน้นความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินงาน

กลไกพิเศษเหล่านี้จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ตลอดจนสามารถขอเยือนประเทศต่างๆ เพื่อทำการศึกษาและตรวจสอบสถานการณ์ได้ ภายใต้การอนุญาตของรัฐผู้รับ

ปัจจุบัน มีกลไกพิเศษที่ทำงานติดตามสถานการณ์รายประเทศจำนวน 14 ประเทศ เช่น ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ หรือในพม่า ส่วนกลไกพิเศษที่ติดตามรายประเด็นเฉพาะ มีจำนวนทั้งหมด 41 ประเด็น อาทิเช่น ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความมีอิสระของตุลาการและทนายความ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง, ผู้เชี่ยวชาญอิสระว่าด้วยประเด็นชนกลุ่มน้อย, คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย เป็นต้น

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

พี่สาวยืนยันจะให้การต่อตุลาการผู้ไต่สวนคดี กรณีบังคับสูญหาย “วันเฉลิม” ณ ศาลกรุงพนมเปญ

4 สิ่งควรรู้ในคดี “วันเฉลิม” ก่อนสิตานันเข้าพบผู้พิพากษาไต่สวนที่กรุงพนมเปญ

พี่สาววันเฉลิมพบ กต. หารือเดินทางไปกัมพูชาหลังได้รับหมายเรียกจากศาลแขวงพนมเปญ

X