อุ้มหาย เรื่องหาย ตั้งแต่ตั้งเรื่อง ผ่านกรณีสยาม

ถ้าคนในครอบครัวเราหายไป และมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการบังคับให้สูญหายโดยรัฐด้วยแล้ว เราจะทำอย่างไร
แจ้งตำรวจ? น่าจะเป็นสิ่งแรกที่หลายๆ คนคิดถึง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนมาดูกันว่า เมื่อคนหาย หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบติดตามให้เราได้บ้าง และจะดำเนินงานอย่างไร ผ่านกรณีคดีของสยาม ธีรวุฒิ ที่ลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไทยหลังจากเกิดการรัฐประหารปี 2557 และหายตัวไปจากประเทศเวียดนามเมื่อต้นปี 2562

สยาม เป็นบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟเขาต้องลี้ภัยการเมืองออกไปตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เนื่องจากถูกออกหมายจับกรณีเข้าร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2556 นอกจากนี้สยามยังถูกออกหมายจับจากกรณีสหพันธรัฐไท ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209

บริบทสยามหายตัวไป ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการบังคับให้สูญหาย เพราะเกี่ยวข้องกับกรณีสหพันธรัฐ ที่รัฐไทยจับตาดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้อย่างเข้มงวด ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาก็มีกรณีผู้ลี้ภัยไทยในลาวหายตัวไป

เริ่มจาก แจ้งตำรวจ แต่ตำรวจไม่รับเรื่อง

เมื่อทราบข่าวว่าสยามหายตัวไป ครอบครัวและทนาย จึงได้ไปแจ้งต่อกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ออกหมายจับสยามในกรณีสหพันธรัฐ ทว่า พนักงานสอบสวนกองปราบบอกว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่นำสยามมาส่ง และทางหน่วยงานไม่รับแจ้งความ พร้อมย้ำอีกว่า หน่วยงานไม่ได้มีหน้าที่รับแจ้งกรณีคนหาย

กล่าวคือ ทางกองปราบไม่รับแจ้งความ เนื่องจากมองว่ายังไม่ได้มีเหตุอะไร ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดบ่งบอกว่าเขาถูกจับ ทั้งสถานะตอนนี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าเขาถูกควบคุมตัว หมายจับก็ยังอยู่ คนก็ยังไม่ได้ถูกจับ ฝ่ายญาติเองก็ไม่ได้มีรายละเอียดมากไปกว่าไม่สามารถติดต่อสยามได้

กลายเป็นความยากลำบากขั้นแรกของญาติเวลาจะไปดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องคนหาย

กสม. กับการคัดกรองที่เนิ่นนาน

เมื่อพึ่งตำรวจไม่ได้ ทางญาติจึงส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งทางคณะกรรมการได้รับเรื่องไว้ แต่ยังอยู่ในฝ่ายคัดกรอง เพื่อนำมาพิจารณาว่าเข้าบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานไหม

เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว กสม. จึงทำหนังสือราชการไปสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่าก็ยังไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อตามหาจริงๆ

ยื่นไปเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ผ่านมาสามเดือนแล้ว ทางครอบครัวก็ไม่ได้รับคำตอบ

นอกจากนี้ ครอบครัวสยามยังตระเวนยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถานทูตเวียดนาม กระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ มีเพียงหนังสือตอบจากกระทรวงต่างประเทศว่า ได้มีหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศเวียดนามเพื่อขอรับข้อมูลของสยาม และได้รับแจ้งว่าทางการเวียดนามไม่มีข้อมูลในกรณีดังกล่าว

ครอบครัวสยามยื่นเรื่องต่อ UN 

“คณะกรรมการอุ้มหาย” ความหวังของครอบครัว ?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ครอบครัวสยามได้ยื่นเรื่องกับประธานอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ อันเป็นส่วนหนึ่งใน “คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหาย” หรือที่เราจะเรียกต่อไปนี้ว่า “คณะกรรมการอุ้มหาย”

คณะกรรมการอุ้มหาย แต่งตั้งขึ้นจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม2560 เพื่อเป็นกลไกติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคลสูญหาย ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีออกมาโดยเฉพาะ
โดยคณะกรรมการอุ้มหาย แยกย่อยออกเป็นคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่
1. คณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ(ผู้อำนวยการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน)
2. คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ (อธิบดี DSI เป็นประธาน)
3. คณะอนุกรรมการเยียวยากรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ(อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน)
4. คณะอนุกรรมการชุดป้องกันการกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ (ศ.ณรงค์ ใจหาญ เป็นประธาน)

ตั้งขึ้นมากว่า 2 ปีแล้ว ผลงานที่มีคือ รายงานการประชุมและการติดตามคดีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเพื่อเสนอขอถอดถอนชื่อออกจากบัญชีบุคคลสูญหายของUN ซึ่งสองปีที่ผ่านมาถอดถอนได้ 3 รายชื่อ จากทั้งหมด 86 และ จำนวน 3 ที่ถอนออกเป็นคดีที่คนหายตัวไปจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทั้งหมด คนที่ 1 พิสูจน์ว่าเสียชีวิต และอีก 2 คนคือระบุว่าครอบครัวไม่ประสงค์ให้ติดตามอีกต่อไป ที่ถึงแม้จำนวนตัวเลขลดลง แต่คนก็ยังไม่ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอยู่ดี

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการอุ้มหายนี้ มีความจริงจังในการติดตามคนหายเพียงใด เพราะนอกจากจำนวนตัวเลขลดลงแล้ว การติดตามคนหายก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งก็ด้วยขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก อีกทั้งข้อจำกัดของการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการคือ ไม่มีอำนาจเต็มและเชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแล การทำงานเป็นการประชุมตามวาระ ทำให้การดำเนินงานล่าช้า

ส่วนเรื่องของสยามที่ครอบครัวยื่นไป ติดค้างอยู่ที่คณะอนุกรรมการชุดที่หนึ่งส่วนคัดกรองฯ เพื่อพิจารณาว่ากรณีสยามเข้าเงื่อนไขว่าเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายหรือไม่

เมื่อถามว่าจะเป็นความหวังของครอบครัวที่เรียกร้องตามหาลูกที่หายไปไหม บางทีก็ อาจจะไม่

ผ่านมากว่า 5 เดือน เรื่องไม่คืบหน้า

สยามหายตัวไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนบัดนี้ ผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว ทางครอบครัวยังไม่ได้รับความคืบหน้าใดๆ

การยื่นเรื่อง ตั้งเรื่องสืบสวนสอบสวนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า การตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีบังคับบุคคลสูญหาย โดยใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ตอนนี้นั้น เป็นกลไกที่มีปัญหาและกระบวนการที่มีอยู่ ยังไม่ตอบโจทย์​

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการหายตัวไปในต่างประเทศ การติดตามยิ่งยากลำบาก ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และญาติที่จะต้องไปตามหาในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีบังคับสูญหายโดยตรง ไม่เพียงเป็นช่องว่างให้เกิดการกระทำลักษณะนี้ได้โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบแล้ว การบังคับสูญหายยังไม่ได้เป็นความผิดอาญาในไทยอีกด้วย ทำให้ญาติไม่สามารถแจ้งความได้ และการพิจารณาคดี ก็ใช้กฎหมายที่มีความใกล้เคียงกันมาเทียบเคียงแทน เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายในคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือคดีของบิลลี่ ที่ช่วงแรกศาลชั้นต้นก็ยกเลิกคำร้องของภรรยาบิลลี่ เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอทั้งยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน จนสุดท้ายมี DSI รับตรวจสอบ ที่ถ้าเป็นตำรวจธรรมดา จนบัดนี้ก็อาจจะยังไม่ทราบชะตากรรม

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมาย เพราะถ้ามีกฎหมายมารองรับ เราก็จะมีกลไกป้องกัน ตรวจสอบความคืบหน้าของคดีได้มากขึ้น และถ้ามีการกระทำผิด ก็มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาตรวจสอบ และมีมาตรการมารองรับความสูญเสียของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

กรณีสยามที่เป็นที่รู้จักขึ้นมา เพราะเป็นกรณีที่ญาติออกมาตามหา ถึงมีการดำเนินการในหลายๆ ทาง ทว่าก็ยังมีคนหายอีกหลายกรณี ที่แม้กระทั่งญาติก็ไม่กล้าติดตาม เพราะกลัวเดือดร้อนไปด้วย

ในขณะที่ทุกวันนี้ การตามหาสยาม ญาติเป็นฝ่ายออกทุนรอนเองทั้งหมด
ลูกชายก็หายตัวไป เรื่องก็เงียบหาย แถมไร้การเยียวยา
และไม่ได้มีแค่กรณีสยามคนเดียว
ทุกวันนี้คนไทยที่หายไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังไม่เคยได้กลับบ้าน.

 

หมายเหตุ ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ในปี 2555 แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อให้สัตยาบัน และร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้รับการผลักดันให้มีผลบังคับใช้ ทว่าล่าสุด ได้ถูกถอดจากวาระพิจารณาไป เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562

X