วันผู้สูญหายสากล: ความคืบหน้าการหายไปของ “สยาม ธีรวุฒิ” กับการรอคอยของแม่

ความในใจจากผู้เป็นแม่

“แม่จะกอดและหอมแก้มสยามให้หนำใจ” กัญญา มารดาของ “สยาม ธีรวุฒิ” หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมือง และมีข่าวการสูญหายไปพร้อมกับกลุ่มผู้ลี้ภัยอีกสองรายเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตอบคำถามด้วยน้ำเสียงเปี่ยมไปด้วยความคิดถึงลูกชายคนโตของครอบครัว กัญญายังเล่าต่อว่า “ตอนจากกันเราก็กอด ก็หอมกัน รู้ไหม ตอนเราอยู่ด้วยกัน เขาจะกราบแม่ก่อนนอนด้วยนะ”

สยาม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟ ต้องลี้ภัยการเมืองออกไปตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 เนื่องจากถูกออกหมายจับกรณีเข้าร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556 แต่แม้จะอยู่ต่างแดน กัญญาก็ยังคงสามารถติดต่อพูดคุยกับลูกชายได้ตลอดมา โดยสยามมักส่งคลิปวีดีโอ หรือส่งข้อความทางไลน์มาทักทายถามสารทุกข์สุกดิบเป็นประจำ จนกระทั่งขาดการติดต่อไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

เมื่อถามต่อไปว่าแม่อยากรู้อะไรมากที่สุดเกี่ยวกับสยามตอนนี้ สองความในใจของกัญญาที่พรั่งพรูออกมาเพียงเสี้ยวนาที คือข้อความที่ว่า “อยากรู้ว่าสยามอยู่ที่ไหนกันแน่” แล้วตามติดมาด้วยข้อความว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่” 

สยามอยู่ที่ไหน? ดูเป็นข้อเท็จจริงที่ยังต้องหาคำตอบ ว่าลูกชายของตนถูกส่งตัวจากประเทศเวียดนามกลับไทยแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้จริงหรือไม่ หรือยังลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศลาว หรือกระทั่งไม่ได้มีลมหายใจอยู่ ณ ที่ไหนบนโลกนี้แล้ว

สยามยังมีชีวิตหรือไม่? เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจทราบได้ในขณะนี้ เพราะแม่เองไม่ได้รับการติดต่อจากสยามมาตั้งแต่ต้นปี 2562 กระนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อแม่เองก็ยังไม่เคยได้เห็นร่างที่สิ้นลมของเขา  

กัญญายังคงอยู่ด้วยความหวังว่าเขาจะกลับมาในเร็ววัน 

ครอบครัวสยามเข้าให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

หลังจากเริ่มปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ว่าสยาม ธีรวุฒิ พร้อมกับชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินในชื่อ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย สามผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้ถูกส่งตัวจากประเทศเวียดนาม กลับมายังประเทศไทย หลังจากถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามอยู่ระยะหนึ่ง แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว 

ตั้งแต่นั้นกัญญาและครอบครัวก็เริ่ม “ออกเดินทาง” ติดตามหาลูกชายในหลายหน่วยงานหลากองค์กร ทั้งเข้ายื่นหนังสือที่กองบังคับการปราบปราม เข้าร้องเรียนที่กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตเวียดนาม สำนักงานสหภาพยุโรป หรือสำนักงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จนผ่านไปกว่า 3 เดือนเศษแล้วนับแต่เริ่มต้นตามหาลูกชาย ครอบครัวก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2562 ครอบครัวสยามได้เข้าพบกับผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะประธานอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  

ครอบครัวได้เข้าให้ข้อมูลถึงการติดต่อลูกชายผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ทางน้องสาวของสยามครั้งสุดท้าย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ถึง วันที่ 1 ม.ค. 2562 และเพื่อนของสยามติดต่อได้เมื่อวันที่ 24 และ วันที่ 31 ธ.ค. 2561  

อีกทั้ง ครอบครัวได้ให้ข้อมูลถึงหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2562 และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 1 ก.ค. 2562 ที่ส่งมายังครอบครัว 

กองบังคับการปราบปรามแจ้งผลการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของนายสยามและพวกว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดทำการจับกุมตัวนายสยาม ธีรวุฒิ มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนแต่อย่างใด 

ส่วนทางด้านกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ แจ้งผลการตรวจสอบสถานะของนายสยามว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้สอบถามเป็นการภายในไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามเกี่ยวกับข้อมูลการเข้าไปในเวียดนามของสยามและเพื่อน และได้รับการแจ้งว่าทางการเวียดนามไม่มีข้อมูลในกรณีสถานะการเข้าออกดังกล่าวแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ครอบครัวยังให้ข้อสังเกตต่ออนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์ฯ ให้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมไปถึงสถานะการเข้าออกประเทศของนายสยามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามด้วย

เรื่องร้องทุกข์ของสยามยังอยู่ในขั้นตอนการคัดกรอง – หาต้นตอของ Youtube แจ้งข่าว – รอหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานรัฐอื่น 

ในวันเดียวกันนั้น ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ได้แจ้งต่อครอบครัวถึงการดำเนินงานโดยกระทรวงยุติธรรมว่า ขณะนี้กรณีร้องทุกข์การหายตัวไปของสยาม อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนของคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำการทรมานและบังคับสาบสูญ เพื่อพิจารณาว่ากรณีของสยามเข้าเงื่อนไขว่าเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearances, ICPPED) หรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์จะได้ส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นประธาน ให้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกถึงการหายตัวไปของสยามและเพื่อนต่อไป แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขตามอนุสัญญาฯ ว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายแล้ว ก็ต้องจำหน่ายกรณีร้องทุกข์นี้ออกไป   

ขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์ฯ ยังต้องการข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคลที่จัดทำและเผยแพร่ข่าวต้นทางการสูญหายของสยามและเพื่อนทางยูทูบ ซึ่งสำนักข่าวประชาไทนำมารายงานต่อว่า สยามถูกจับกุมที่เวียดนามพร้อมกับนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และนายกฤษณะ ทัพไทย แล้วถูกส่งตัวกลับไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 รวมถึงรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งหนังสือชี้แจงกลับมาที่คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหนังสือถูกส่งออกไปแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2562   

การไม่มีกฎหมายคุ้มครองบุคคลถูกบังคับสูญหาย กับกลไกที่มีอยู่ในประเทศไทย

ผู้อำนวยการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่อไปถึงโครงสร้างของ “คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ” ว่าสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ มีผู้อำนวยการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการเยียวยากรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการชุดป้องกันการกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ มี ศ.ณรงค์ ใจหาญ เป็นประธาน  

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกกลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์กรณีทรมานและการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ เพื่อให้มีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายภายในใช้บังคับเป็นการเฉพาะ เกี่ยวกับการคุ้มครองการทรมานและการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและการบังคับให้หายสาบสูญตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment, CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) ซึ่งประเทศไทยต้องผูกพัน   

อ่านเพิ่มเติม 14 ปี ทนายสมชายหาย: กฎหมายต่อต้านการอุ้มหายยังไม่คืบหน้า ใช้มติคณะรัฐมนตรีตั้งกรรมการทำงานไปก่อน 

การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ องค์ประกอบที่มี ‘รัฐ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) ได้นิยามหมายความของการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญว่า

  1. ต้องมีการกระทำเกิดขึ้นที่เป็นการจับกุม การกักขัง การลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใด ๆ ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ
  2. โดยการกระทำเหล่านั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยปริยายจากรัฐ
  3. ต่อมามีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐนั้น ๆ ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรม หรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญนั้น  อันเป็นการส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย          

วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared) ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ

จากอดีตนักศึกษาผู้ทำกิจกรรมทางสังคม สยาม ธีรวุฒิ กลายเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งกลับบ้านไม่ได้ กระทั่งยังอาจกลายเป็นบุคคลผู้สูญหายและไม่ทราบชะตากรรม พร้อมกับเพื่อนอีกสองคน 

“แม่อยากบอกว่า เรื่องของลูกแม่ กรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยเข้าค้นหาความจริงอย่างรอบด้านและเป็นอิสระเถอะ คนหายทั้งคน ตามหาให้แม่หน่อย แม่อยากรู้ว่าลูกของแม่อยู่ที่ไหน” กัญญากล่าวหลังเข้าให้ข้อมูลกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ตาม เพียงแค่แม่คนหนึ่งอยากรู้ว่าลูกชายของตัวเองอยู่ที่ไหน การออกเดินทางตามหาผู้สูญหายยังไม่สิ้นสุด…

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: 

 

X