นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ ชูป้ายคัดค้าน รปห.กระทบแค่ คสช. ไม่กระทบชาติ

สืบพยานจำเลยปากสุดท้ายคดี ‘ไผ่’ ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ ชูป้ายคัดค้าน รปห.กระทบแค่ความมั่นคงของ คสช. ไม่กระทบความมั่นคงของชาติ ด้านไผ่ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย 3/58 ที่ห้ามชุมนุม ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 

.

18 ก.ย. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) นัดสืบพยานจำเลยในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกถูกอัยการศาล มทบ.23 กล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12

ทนายจำเลยนำ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เข้าเบิกความ โดยแถลงขออนุญาตให้จำเลยถามพยานปากนี้ด้วยตนเอง จากนั้น จตุภัทร์ได้ถาม อ.นิธิ ถึงประวัติศาสตร์การรัฐประหารในประเทศไทย และบทบาทของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในการคัดค้านรัฐประหาร  

หลัง อ.นิธิ เบิกความตอบจำเลยและโจทก์เสร็จแล้ว ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน โดยพยานจำเลยอีก 2 คน ตามบัญชีระบุพยาน ทนายจำเลยไม่ประสงค์จะนำเข้าสืบ

นอกจากนี้ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนี้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 หรือไม่ และขอให้ศาลเลื่อนการพิพากษาคดีออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลให้โจทก์ทำคำร้องคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน หากไม่ยื่นถือว่าโจทก์ไม่คัดค้าน และเนื่องจากคำร้องของจำเลยมีรายละเอียด ศาลต้องใช้เวลาพิจารณา จึงจะนัดให้คู่ความมาฟังคำสั่งต่อคำร้องดังกล่าวในภายหลังต่อไป

หลังเสร็จกระบวนการในห้องพิจารณาคดี นางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่’ ใน 2 คดีของศาล มทบ.23 คือ คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร และคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” จากการจัดเวทีในช่วงรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559  ซึ่งจตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เช่นเดียวกัน คดีแรกสืบพยานเสร็จสิ้นในนัดนี้ ส่วนคดีที่สองยังไม่เริ่มสืบพยาน โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคดีละ 10,000 บาท ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า การขอประกันตัวในทั้งสองคดีในวันนี้ ก็เพื่อให้จตุภัทร์ถูกขังตามหมายจำคุกในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  เพียงคดีเดียว ซึ่งจะทำให้สามารถยื่นเรื่องขอพักโทษจำคุกในคดีดังกล่าวต่อกรมราชทัณฑ์ได้

เวลาต่อมา ตุลาการศาล มทบ.23 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ในทั้งสองคดี เนื่องจากคดีมีอัตราโทษไม่สูง มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล, ห้ามชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบ และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวิธีอื่นใด อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในหมู่ประชาชน

.

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Manus Klaeovigkit

.

นิธิเบิกความชี้ คนหนุ่มสาวมีหน้าที่โดยสำนึกในการคัดค้านรัฐประหาร การชูป้ายกระทบความมั่นคงของ คสช. แต่ไม่กระทบความมั่นคงของชาติ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จบการศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ จากมหาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความตอบจำเลยถาม โดยจตุภัทร์ถามว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้วกี่ครั้ง พยานตอบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งหมด 13 ครั้ง แต่ครั้งที่มีนัยยะสำคัญมี 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศระงับใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2475 นายกฯ ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นได้

หลังจากนั้น พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็เข้ายึดอำนาจและกอบกู้รัฐธรรมนูญกลับคืนมา การรัฐประหารในครั้งนั้นของพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงเป็นไปเพื่อรื้อฟื้นระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญกลับคืนมา เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กองทัพมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งในเวลาต่อมาไม่มีใครทำตามแบบอย่างนั้นอีก พยานอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การระงับใช้รัฐธรรมนูญในยุคของพระยามโนปกรณนิติธาดา ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ โดยให้ระงับใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา ยกเว้นในหมวดของพระมหากษัตริย์ และให้ปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งให้ให้อำนาจตนเองออกกฎหมายโดยไม่ผ่านสภา เนื่องจากสภาปิดไปแล้ว

ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เบิกความต่อว่า การรัฐประหารที่มีนัยยะสำคัญครั้งที่สองคือ รัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า เนื่องจากก่อนหน้านั้น ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างต่อเนื่องถึง 17 ปีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโอกาสที่ประชาธิปไตยและการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจะดำรงต่อไปอย่างมั่นคงแข็งแรง แม้จะมีการรัฐประหารในปี 2549 แต่เพียงปีเดียวก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีเนื้อหาไม่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มากนัก การรัฐประหารในปี 2557 จึงเป็นการตัดโอกาสอนาคตที่สำคัญของประเทศไทย ผลของการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากไม่รู้อนาคตที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังเป็นการตัดโอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้การใช้สิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ริดลอนอำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมการบริหารประเทศ

จตุภัทร์ถามพยานต่อไปว่า การรัฐประหารทุกครั้งจะมีการอ้างเหตุผลความจำเป็น พยานคิดว่าการรัฐประหารในปี 2557 มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ อ.นิธิ ตอบว่า การรัฐประหารครั้งนี้อ้างการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ นักการเมือง และความแตกแยกของประชาชน ซึ่งทั้งสองอย่างสามารถแก้ไขได้ในระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นจตุภัทร์ได้ถามพยานว่า นประวัติศาสตร์เยาวชนหรือนักศึกษามีบทบาทอย่างไรบ้าง อ.นิธิ ตอบว่า เยาวชนมีบทบาทมาตั้งแต่อย่างน้อยสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรัชกาลที่ 5 ทรงแย่งอำนาจการปกครองจากขุนนางได้ โดยความร่วมมือจากคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา คนหนุ่มสาวมีบทบาทตลอดมา ที่เห็นได้ชัดคือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคนหนุ่มสาวได้ร่วมมือกับผู้สำเร็จราชการ นายปรีดี พนมยงค์ ในการสร้างขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านและขับไล่ญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยในขณะนั้น ขบวนการเสรีไทยทำให้สัมพันธมิตรซึ่งชนะสงครามยอมรับว่าประเทศไทยยังเป็นเอกราชอยู่

จตุภัทร์ถามต่ออีกว่า นักศึกษามีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาใช่หรือไม่  นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ตอบว่า ใช่ ก่อนหน้านั้นในปี 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รัฐประหารยึดอำนาจ ต่อมา ปี 2516 นักศึกษาได้เริ่มต้นร่วมมือกับประชาชนขับไล่รัฐบาลเผด็จการถนอมออกไป หลังจากนั้นมาในการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2535 ก็อาศัยนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกเช่นกัน คนหนุ่มสาวมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองมาตลอด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาซึ่งไม่ยอมรับที่จะเห็นประเทศชาติเดินถอยหลัง และจะระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในทุกแห่ง โดยคนเหล่านี้มีสำนึกตลอดมาว่า ตนเองมีหน้าที่ที่จะต้องทำ สังคมที่นิ่งดูดาย เป็นสังคมที่เดินไปไหนไม่รอด หน้าที่ดังกล่าวมีทั้งที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ 2540  กำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่ต่อต้านรัฐประหาร และหน้าที่ที่เกิดขึ้นโดยสำนึก

.

ที่มาภาพ: ประชาไท

.

จำเลยถามว่า การออกมาทำหน้าที่คัดค้านรัฐประหารของจำเลย ซึ่งรัฐเห็นว่าผิดกฎหมาย ในทางสังคมจะอธิบายอย่างไร พยานตอบว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกสังคมและเป็นผลดีเสมอมา ดังนั้นแม้ปัจจุบัน คสช. จะเห็นว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นความผิด แต่ในระยะยาวแล้วอาจจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และในความเป็นจริงการกระทำของจำเลยที่ถูกมองว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งชัดเจนว่าโดยสภาพก็เป็นเพียงกฎหมายชั่วคราว

นอกจากนี้ พยานยังเห็นว่า การชูป้ายคัดค้านรัฐประหารของจำเลย ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินถอยหลัง พยานมีความเห็นด้วยว่า คณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองและอำนาจของรัฐ การคัดค้านรัฐประหารของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้น ถ้าเรายอมรับว่า คสช. คือชาติ การกระทำของจำเลยผิดแน่นอน แต่เรายอมรับหรือว่า คสช. คือชาติ

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ตอบคำถามจำเลยในตอนท้ายว่า การทำรัฐประหารไม่เคยสำเร็จตามเหตุผลที่อ้างสักครั้ง อันที่จริงการรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ทางออกของการแก้ไขปัญหาก็คือ ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศมากขึ้น

ต่อมา พยานตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และพยานทราบว่า จำเลยถูกจับกุมเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งมีการประกาศทางสื่อต่างๆ ให้ทราบกันทั่วประเทศ

สุดท้าย อ.นิธิ ตอบคำถามติงของจตุภัทร์ ว่า ที่ตอบอัยการไปว่า พยานทราบว่าจำเลยถูกจับกุมเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จริงคือพยานทราบว่า จำเลยถูกจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งนี้ เป็นเพราะตำรวจมีความเข้าใจกฎหมายดังกล่าวคลาดเคลื่อน จึงจับกุมจำเลย โดยตีความผิดว่า แค่ไปชูป้ายก็จะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วน ทั้งที่กฎหมายไม่ได้ให้ใช้แบบนี้

ดูลิงค์คำเบิกความพยานปากอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่นี่

.

ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดรัฐธรรมนูญ 2560

.

ที่มาภาพ: Mthai

ในการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย จตุภัทร์ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาล มทบ.23 ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 หรือไม่ โดยที่เป็นกรณีที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นขัดต่อนิติรัฐและนิติธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 44 ศาลจึงนำมาบังคับใช้กับคดีไม่ได้ ตามเหตุผลดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองว่า บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ ยกเว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยกำหนดว่าผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกเว้นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ตรากฎหมายเพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ดังกล่าว โดยไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น  

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ยังไม่สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม (Rule of Law) และไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินจำเป็น เนื่องจาก

  1. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 กำหนดให้การชุมนุมกระทำได้หากได้รับจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวางในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุคคลใช้เสรีภาพในการชุมนุม ทั้งที่ หากบุคคลชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับปัจจุบันมีกฎหมายที่ใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะทั้งในภาวะปกติและภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว อันได้แก่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2557, พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ดังนั้น การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงเป็นการเพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินจำเป็น
  2. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ ได้แก่  “ชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งไม่เคยมีนิยามในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่มีรูปแบบหรือเนื้อหาอย่างใดจึงจะเป็นการผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักความชัดเจนแน่นอนของกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของหลักนิติธรรม

.

ยื่นประกัน แม้ ‘ไผ่’ ยังไม่ได้ออกจากคุก แต่เป็นผลดีต่อการพักโทษ

การยื่นประกันตัวใน 2 คดี ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มทบ.23 มีเหตุผลตามที่ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลก็คือ เพื่อให้จตุภัทร์ถูกขังตามหมายจำคุกในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทวิเคราะห์ของ BBC Thai เพียงคดีเดียว ซึ่งจะทำให้สามารถยื่นเรื่องขอพักโทษจำคุกในคดีดังกล่าวต่อกรมราชทัณฑ์ได้

รายละเอียดในเรื่องนี้นางพริ้ม หรือ ‘แม่ไผ่’ อธิบายว่า ขณะนี้ไผ่อยู่ระหว่างการรับโทษจำคุกในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งศาลขอนแก่นตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ถูกจำคุกมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน และได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว ทำให้ไผ่สามารถขอรับการพักโทษได้หากเหลือโทษ 1 ใน 5 หรือถูกจำคุกไปแล้ว 4 ใน 5 ของโทษ ตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็คือ 2 ปี โดยไผ่จะถูกจำคุกครบ 2 ปี ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ แต่หากถูกขังหรือจำคุกในคดีอื่นด้วยก็จะไม่ได้รับการพักโทษ ตอนนี้คดีประชามติที่ศาลจังหวัดภูเขียวยกฟ้องสิ้นสุดไปแล้ว ไผ่ยังถูกขังในระหว่างพิจารณาของศาลทหารขอนแก่นอีก 2  คดี คือ คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร กับคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” เราก็เลยยื่นประกัน เมื่อศาลอนุญาต ศาลก็จะออกหมายปล่อย ทำให้หมายขังในระหว่างพิจารณาของทั้งสองคดีนั้นสิ้นผลไป เหลือหมายจำคุกคดี 112 คดีเดียว เราก็จะยื่นเรื่องขอพักโทษรอไว้ได้ ซึ่งเรือนจำและกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาทันทีเมื่อวันจำคุกของไผ่เข้าเกณฑ์

ทั้งนี้ เหตุผลในคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ได้ชี้แจงว่า จำเลยถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ พฤติการณ์ในคดีจึงเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งจำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิด ซึ่งตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ว่า ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

.

X