อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน “พลอย” หทัยรัตน์ นศ.ราม หลังถูกจับกุมทำให้บาดเจ็บ กรณีม็อบ 2 พ.ค.

วันนี้ (7 พค 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน “พลอย” หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสมาชิกกลุ่มการ์ดปลดแอก หนึ่งในผู้ถูกจับกุมและไม่ได้รับการประกันตัว ในคดีจากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 ที่หน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. หทัยรัตน์ และ ร่อซีกีน นิยมเดชา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธิน แจ้ง 6 ข้อกล่าวหา ก่อนไม่ได้รับการประกันตัวหลังพนักงานสอบสวนส่งตัวขอฝากขังต่อศาลอาญา ต่อมาวันที่ 6 พ.ค. ตาของหทัยรัตน์และทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมวางหลักทรัพย์ 50,000 บาท ก่อนศาลยกคำร้องเป็นครั้งที่ 2 โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

>> “พลอย” และ “ซี”: สองสมาชิกการ์ดปลดแอก ส่วนเล็กๆ ในขบวน ผู้ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

ทนายความและตาของหทัยรัตน์ ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันนี้ โดยศาลอาญาจะส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยจะใช้เวลาพิจารณา 1-3 วัน ก่อนมีคำสั่ง

 

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โต้แย้งคำสั่งศาลอาญา โดยยืนยันว่า

ผู้ต้องหาอาศัยอยู่กับตา ซึ่งเป็นผู้ร้อง และยาย ที่เลี้ยงดูและส่งเสียค่าเล่าเรียนตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงปัจจุบันผู้ต้องหากำลังศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 1 ซึ่งมีความสนใจทางด้านการเมืองเป็นอย่างมากและให้ความสนใจในการติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอด ผู้ต้องหาจึงเข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรมการชุมนุม เพื่อจะนำศึกษาต่อยอดในสาขาวิชาที่เรียนต่อไป

ประกอบกับที่ผ่านมานั้น ผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่เชื่อถือได้ ไม่เคยกระทำความรุนแรงแต่อย่างใด และมีพฤติกรรมเป็นที่รักของครู อาจารย์ และเพื่อน ซึ่งในวันนั้นผู้ต้องหาได้เดินทางจากบ้านไปเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม โดยไม่พบว่ามีการพกอาวุธใดเข้าไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ และยืนยันว่ามิได้กระทำการตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เพียงแต่อยู่ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น

จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะชี้ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีเพราะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และสามารถติดตามผู้ต้องหาได้อย่างสะดวก รวมถึงตา ซึ่งเป็นผู้ร้อง ให้สัญญาว่าจะพาผู้ต้องหามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุกนัดและจะตักเตือนผู้ต้องหาไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายอีก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน  เพื่อให้ได้กลับมาเรียนต่อและเพื่อเตรียมหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงถึงความบริสุทธิ์ด้วย

ขณะที่กรณีของร่อกีซีนยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลในวันนี้ เนื่องจากรอประสานงานญาติและรอผลของคำสั่งกรณีของหทัยรัตน์

 

ประชาชน 2 รายไม่ได้รับประกัน หลังจากการจับกุมที่ทำให้บาดเจ็บ

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 มีผู้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จากการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมหน้าศาลอาญา ทั้งหมด 4 ราย โดยเป็นเยาวชน 1 ราย ซึ่งต่างได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม โดยหนึ่งในนั้นคือ หทัยรัตน์ถูกโล่กระแทกบริเวณปาก และ ร่อซีกีนถูกเตะที่หัว หน้า และขา ทั้งถูกเอาศอกฟันมาที่หน้า ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในบันทึกจับกุม

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปสน.พหลโยธินเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อกล่าวหา ในวันที่ 3 พ.ค. 64 พนักงานสอบสวนส่งตัวฝากขังต่อศาลอาญา ซึ่งมีผู้ต้องหา 2 ราย ไม่ได้ประกันตัว ส่งผลให้ หทัยรัตน์ ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และ ร่อซีกีน ถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

>> สลายชุมนุมหน้าศาลอาญา จับ-แจ้งข้อหา 4 ประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากพื้นที่ #ม็อบ2พฤษภา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 2 ราย

ปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลากว่า 5 วันแล้ว ที่ทั้งสองคนถูกขังระหว่างการสอบสวน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ายังผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 21 คน ซึ่งแบ่งเป็น ผู้ถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 8 คน และ ข้อหาอื่นๆ จำนวน 13 คน

>> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

 

X