“พลอย” และ “ซี”: สองสมาชิกการ์ดปลดแอก ส่วนเล็กๆ ในขบวน ผู้ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

“ตอนนี้ภายในจิตใจยังโอเคอยู่ พี่ๆ ที่ถูกขังในเรือนจำเค้าคงเอ็นดูแบ่งขนมให้กิน คิดว่าตัวเองต้องเข้มแข็ง จึงคิดถึงประโยคที่ว่า ขังได้แต่ตัว อุดมการณ์ยังอยู่ ก็ทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น ฝากคนข้างนอกไม่ลืมคนข้างในด้วย”

‘พลอย’ หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม

“อยากให้ทุกคนสู้ต่อไป อยากให้ช่วยทุกคนออกมา ตอนนี้ผมพออยู่ได้ ฝากถึงพี่ๆ น้องๆ ว่าผมคิดถึง”

‘ซี’ ร่อซีกีน นิยมเดชา

 

“พลอย” หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม และ “ซี” ร่อซีกีน นิยมเดชา กลายเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีจากการชุมนุมทางการเมืองสองรายล่าสุด หลังจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน จากเหตุการณ์หลังการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่หน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม

ทั้งคู่ถูกจับกุมในช่วงกลางดึกของวันนั้น โดยเจ้าหน้าที่นำตัวไปสน.พหลโยธิน และแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา อาทิ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 

เจ้าหน้าที่ระบุว่าพบทั้งคู่บริเวณทางขึ้นสะพานข้ามคลองลาดพร้าว ภายในซอยรัชดาภิเษก 36 แยก 19 ซึ่งเจ้าหน้าที่จำได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำลายและขว้างปาสิ่งของใส่ และน่าเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกับมวลชนที่รวมตัวกันบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ที่ขว้างปาระเบิดและพลุเข้าใส่ตำรวจ จึงเข้าจับกุม

หลังสองได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม โดยพลอยถูกโล่กระแทกบริเวณปาก ส่วนซีถูกเตะที่หัว หน้า และขา ทั้งถูกเอาศอกฟันมาที่หน้า โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในบันทึกจับกุม   

หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุเรื่องเกรงว่าจะหลบหนี ซีได้ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนพลอยถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

>> สลายชุมนุมหน้าศาลอาญา จับ-แจ้งข้อหา 4 ประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากพื้นที่ #ม็อบ2พฤษภา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 2 ราย

 

ภาพจากเพจ “ทศพร เสรีรักษ์”

 

ทนายความที่เข้าเยี่ยมทั้งสองคนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บอกว่าทั้งสองคนยังถูกคุมตัวไว้ที่แดนกักโรคโควิด จากการพูดคุยเบื้องต้น ทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ไปก่อกวน ขว้างปาสิ่งของ หรือต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตามข้อกล่าวหา แต่ทั้งคู่ยังไม่ได้รับสิทธิในการออกมารวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีตามข้อกล่าวหา

ทั้งพลอยและซี อายุ 20 ปี เป็นหนุ่มสาวซึ่งเพิ่งเลยพ้นวัยเยาวชนมาไม่นาน พลอยพื้นเพเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนซี หลังเรียนมัธยมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ไม่ได้ศึกษาต่ออีก และย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กับแม่ ซึ่งเป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ซีเคยไปช่วยทำงานในร้านเบเกอรี่ย่านรามคำแหง ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน

ทั้งสองคนร่วมชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 และเข้าไปทำหน้าที่ในทีม “การ์ดปลดแอก”

ก่อนหน้านี้ พลอยไม่เคยถูกดำเนินคดีใดมาก่อน ส่วนซีเคยถูกกล่าวหาในคดีทำกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” จัดโดย “การ์ดปลดแอก” บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 64 โดยเขาถูกตำรวจสน.พญาไทออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสอบถามเรื่องราวของทั้งสองคนเพิ่มเติมจากมุมมองของมิตรสหายที่รู้จักทั้งคู่

 

 

ทั้งสองคนเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนขบวน: จากมุมมองของเพื่อนร่วมชุมนุม

“รุ่ง” ระบุว่าเธอเป็นผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่วัยต่างจากทั้งสองคน 20 ปี แต่ได้รู้จักและสัมผัสทั้งสองพอสมควรตั้งแต่ช่วงปี 2563 

เธอเล่าว่าได้รู้จักกับพลอยก่อน จากการที่พลอยไปเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม “วิ่งไปเก็บขยะไป” ซึ่งเป็นกิจกรรมอาสาเก็บขยะในชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ช่วงที่พลอยยังเรียนอยู่ชั้น ม.6 โดยรุ่งได้เจอกับพลอยตอนไปร่วมกันเก็บขยะในงาน “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนรถไฟ โดยพลอยนั่งรถมาจากจังหวัดสมุทรปราการเพื่อร่วมทำกิจกรรมโดยเฉพาะ

หลังจากนั้นเมื่อการชุมนุมเริ่มเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เธอได้เจอพลอย และพบว่าน้องไปได้เรียนรัฐศาสตร์ตามที่เคยบอกไว้ แล้วจึงได้รู้จักกับซี จากการชุมนุมในบริเวณหน้ารัฐสภา เกียกกาย โดยพบว่าทั้งซีและพลอยได้หาบทบาทตนเองในการเคลื่อนไหว โดยเข้าร่วมทำหน้าที่เป็นการ์ดของการชุมนุม ในนาม “การ์ดปลดแอก”

“น้องซีมากับพลอย เจอกันก็ส่งยิ้มๆ คุยกันธรรมดา หลังจากนั้นก็เจอทุกครั้ง ในสายตาเราน้องเป็นหมาโกลเด้นท์ตัวใหญ่ ใจดี พลังเยอะ ไม่มีพิษภัย แต่เวลาอยู่ในม็อบ ด้วยความที่น้องเป็นการ์ด น้องจะค่อนข้างจริงจัง ขึงขังมาก”

รุ่งเล่าว่าเมื่อไปชุมนุม ก็จะเจอทั้งสองคนอยู่เรื่อยๆ เพราะทั้งคู่ไปม็อบแทบจะทุกครั้ง โดยเฉพาะหากไปทำหน้าที่การ์ด ดูแลความเรียบร้อย ทั้งคู่มักจะอยู่โยงกับการชุมนุม แม้จะดึกดื่นแค่ไหน ก็มักจะเดินทางกลับเป็นทีมท้ายๆ เพื่อดูแลให้การชุมนุมผ่านไปได้ดีที่สุด เวลาเกิดปัญหาในม็อบ เช่น มีคนเข้ามาก่อกวน รุ่งบอกว่าซีจะเดินเข้าไปก่อน เพื่อพยายามเจรจาพูดคุย ให้เหตุการณ์สงบลง

ล่าสุดก่อนเกิดเหตุการจับกุม ทั้งสองคนไปนอนเป็นเพื่อนป้าๆ ที่หน้าศาลอาญาหลายวัน โดยรุ่งได้ช่วยสนับสนุนเรื่องข้าวของจำเป็นสำหรับการปักหลักค้างแรมของน้องๆ โดยไม่คาดคิดว่าทั้งสองจะถูกจับกุมและไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ตอนนี้หลายคนที่รู้จักทั้งสองคนก็กังวล เพราะทั้งคู่ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้มีสื่อให้ความสนใจนัก จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันติดตาม

“จากการที่อยู่กับน้องๆ และเด็กกลุ่มนี้ เหมือนมันเป็นภาระหน้าที่ของ Gen นี้ไปแล้วนะ ที่สนใจการเมือง ขับเคลื่อนการเมือง อย่างซี เขาจะไม่ได้มีโค้ดที่เฉียบคม มุมมองที่หลักแหลม หรือไม่สามารถปราศรัยได้ เขาเลยเลือกที่จะมาเป็นการ์ด เขาเป็นคนมีจิตสาธารณะ มีจิตใจดี รุ่งเชื่อว่าทุกคนที่มาม็อบ อยากมาเป็นส่วนเล็กๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนขบวน”

รุ่งเล่าว่า พลอยเคยบอกว่าเธอสนใจรัฐศาสตร์ อยากเป็นนักการเมือง เพราะอยากมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ คำพูดของพลอยทำให้รู้สึกทึ่ง เพราะเด็กวัยนี้คิดในสิ่งที่สมัยเธอวัยเดียวกัน ยังไม่ได้คิดถึงเลย รุ่งบอกว่าเจอกันปีนี้ พลอยก็ยังพูดเหมือนเดิม

“เจอกับพลอยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ตอนนั้นน้องไปร่วมนอนประท้วงที่หน้าศาลอาญา เราก็ไปนั่งกินข้างกัน มันเริ่มมีกระแสเรื่องการย้ายประเทศกัน เมื่อถามกันเล่นๆ ว่าอยากไปอยู่ประเทศไหน น้องพลอยตอบว่าหนูไม่ไปไหนหรอกพี่ อยากอยู่ช่วยพัฒนาประเทศ”

 

 

อีกหนึ่งดวงดาวที่ต้องถูกคุมขัง: จากมุมมองของเพื่อนมัธยม

“พี” ปริยากร เพื่อนในสมัยยังเรียนมัธยมที่จังหวัดสมุทรปราการเล่าถึงพลอย ว่าพลอยเป็นคนที่มีสนใจและมีอุดมการณ์มาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมต้น ทั้งสองคนเรียนคนละห้อง แต่รู้จักกันเพราะมีความสนใจทางการเมืองเหมือนกัน พีเข้าใจว่าพลอยเริ่มสนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะนั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชาที่อยากจะเรียนต่อในอนาคต และพบว่าสนใจด้านรัฐศาสตร์ ทำให้เริ่มติดตามเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 3

พีเล่าว่าพลอยวิจารณ์รัฐบาล มาตั้งแต่ช่วง คสช. ซึ่งสมัยนั้นนักเรียนทั่วไปยังไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง ทำให้ทั้งสองคนเป็นคนกลุ่มน้อยในโรงเรียน เคยถูกด่าว่าเป็น “พวกหัวรุนแรง” ด้วย พลอยมักจะไปฟังวงเสวนาทางวิชาการ หรือไปดูกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย

พีจำได้ว่าพลอยสนใจเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” มาก เธอหาข้อมูลเรื่องนี้ และส่งต่อข้อมูลให้เพื่อนๆ ที่สนใจ เข้าใจว่าพลอยอยากให้เมืองไทยมีสวัสดิการด้านต่างๆ ในสังคม ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นสิทธิที่รัฐดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง นั่นดูเหมือนจะเป็นความฝันและแรงผลักดันของพลอย ที่ทำให้เธอออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พลอยได้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานของผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เธอเริ่มออกไปช่วยรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย

ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้จะไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยปิดที่วาดหวังไว้ได้ แต่พลอยก็ยังเลือกเรียนในทางรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเปิด อย่างรามคำแหง และเธอยังคงทำกิจกรรมเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อเริ่มการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563 พีบอกว่าพลอยไปเข้าร่วมชุมนุมบ่อยครั้ง เธอยังเข้าร่วมกิจกรรมหลากหลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อย่างกิจกรรม #Saveจะนะ และ #Saveบางกลอย ก็ยังเคยไป

ล่าสุด ในช่วงที่เริ่มมีนักกิจกรรมและประชาชนไปอดอาหารและปักหลักหน้าศาล พีทราบว่าพลอยก็ไปร่วมนอนที่หน้าศาลมาหลายวันแล้ว เธอบอกเขาว่าไม่อยากทิ้งพวกป้าๆ แต่พีไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

ในมุมมองของพี พลอยเป็นคนร่าเริง และเป็นคนพร้อมเรียนรู้ เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับความคิดเดิม เวลาพลอยอยากรู้อะไร ก็มักจะทักมาถามความคิดเห็นเพื่อนกันตลอด พลอยคิดว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเธอสามารถช่วยพัฒนา หรือเป็นกระบอกเสียงสำหรับคนอื่นๆ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

“เขาเป็นคนมีอุดมการณ์หนักแน่น และเขาเป็นอีกหนึ่งดวงดาวที่กำลังถูกคุมขัง แต่เราไม่สามารถขังแสงของดวงดาวไว้ได้ เหมือนที่เพนกวินบอกไว้” พีย้ำถึงเพื่อนคนนี้

 

 

X