วันนี้ (10 พ.ค. 64) เวลาประมาณ 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 7 พ.ค. 64 ให้ประกันตัว “พลอย” หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม วัย 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสมาชิกกลุ่มการ์ดปลดแอก หนึ่งในผู้ถูกจับกุมและไม่ได้รับการประกันตัวในคดีจากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 ที่หน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง
ก่อนหน้านี้ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว หทัยรัตน์มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 3 และ 6 พ.ค. 64 โดยศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองครั้ง และเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ทนายความและตาของหทัยรัตน์ ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
คำสั่งให้ประกันของศาลอุทธรณ์ ทำให้หทัยรัตน์ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงเย็น หลังถูกฝากขังระหว่างสอบสวนมาเป็นเวลา 8 วัน
>> อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน “พลอย” หทัยรัตน์ นศ.ราม หลังถูกจับกุมทำให้บาดเจ็บ กรณีม็อบ 2 พ.ค.
ศาลกำหนด “ไม่ให้ไปกระทำการอย่างใด้ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”
ศาลอุทธรณ์ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างการศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน”
อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขอีกว่า “ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการอันมีลักษณะที่ละเมิดต่อกฎหมาย”
รวมถึง ให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลชั้นต้นทุกสองสัปดาห์ตามเวลานัดของศาล และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับหนังสืออนุญาตจากศาลชั้นต้น หากผิดเงื่อนไขดังกล่าว ศาลจะสั่งเพิกถอนประกันตัว
หลังฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทนายความพร้อมนายประกัน ได้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอาญา ก่อนที่ศาลอาญาจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วครวผู้ต้องหา
ประชาชน 2 รายไม่ได้รับประกัน หลังจากการจับกุมที่ทำให้บาดเจ็บ
สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 มีผู้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จากการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมหน้าศาลอาญา ทั้งหมด 4 ราย โดยเป็นเยาวชน 1 ราย ซึ่งต่างได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม โดยหนึ่งในนั้นคือ หทัยรัตน์ถูกโล่กระแทกบริเวณปาก และร่อซีกีนถูกเตะที่หัว หน้า และขา ทั้งถูกเอาศอกฟันมาที่หน้า ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในบันทึกจับกุม
หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไป สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา ในวันที่ 3 พ.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวฝากขังต่อศาลอาญา ซึ่งมีผู้ต้องหา 2 ราย ไม่ได้ประกันตัว ส่งผลให้หทัยรัตน์ถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และร่อซีกีนถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบัน ร่อซีกีนยังคงถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนเป็นเวลา 8 วันแล้ว จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ายังมีผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 18 คน ซึ่งแบ่งเป็น ผู้ถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 6 คน และข้อหาอื่นๆ จำนวน 12 คน
ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีแล้วได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในภายหลัง แทบทุกรายถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 และถูกกำหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด”
>> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
“พลอย” และ “ซี”: สองสมาชิกการ์ดปลดแอก ส่วนเล็กๆ ในขบวน ผู้ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว