วันนี้ (5 ก.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดา สุทธิเทพ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี เดินทางมารายงานตัวหลังครบกำหนดฝากขัง 84 วัน และรับทราบคำฟ้อง ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 64 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เหตุโพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ประชดกลุ่มรักสถาบันในกลุ่มเฟซบุ๊ก “คณะประชาชนปลดแอก – Free People”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 64 สุทธิเทพ ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เข้าจับกุมในห้างสรรพสินค้าย่านรามอินทราตามหมายจับของศาลอาญา และควบคุมตัวมาที่ บก.ปอท. ก่อนที่วันรุ่งขึ้น (10 เม.ย. 64) จะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ศาลอนุญาตฝากขัง แต่ให้ประกันตัวในวงเงิน 90,000 บาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด
ในวันนี้ หลังสุทธิเทพรับทราบคำฟ้องแล้ว ผู้พิพากษาได้สอบถามคำให้การจำเลยเบื้องต้น โดยสุทธิเทพได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น.
ต่อมา ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางเป็นหลักประกัน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีในเวลาต่อมา
.
คำฟ้องชี้ จำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวไทย
คำฟ้องของพนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุทธิเทพ บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 จำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ด้วยการใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และโพสต์ข้อความในกลุ่ม “คณะประชาชนปลดแอก – Free People” ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
เนื้อหาของข้อความเป็นการประชดประชันคำกล่าวอ้างของกลุ่มรักเจ้าว่า การวิพาษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทยจะทำให้ตกนรก โดยมีข้อความบางส่วนระบุว่า “ถ้าการด่าเจ้า วิจารณ์วิพากษ์วิจารณ์เจ้าแล้วมันต้องตกนรก เอาว่ะ กูยอมตกนรก […ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์…]”
โดยพนักงานอัยการระบุว่า ข้อความข้างต้นถือเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
อีกทั้ง พนักงานอัยการยังระบุอีกว่า จากข้อความดังกล่าว จําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และข้อมูลที่จำเลยนำเข้ายังถือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ดังนั้น การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีความมั่นคง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 25 ที่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และเป็นคดีที่ 8 ที่มีกระทรวงดิจิตัลเป็นผู้เข้าแจ้งความ นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรานี้เพื่อดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เมื่อปลายปี 2563
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.