พนง.บริษัทถูกสั่งฟ้องคดี ม.112 กล่าวหาโพสต์ข้อความ “ทำให้เข้าใจว่า กษัตริย์ไม่รักปชช.”

27 ก.ย. 64 – ที่ศาลอาญารัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสุงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทอายุ 26 ปี ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมข้อความพาดพิงถึงความประพฤติของกษัตริย์ โดยคดีนี้มี นายสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 พิทักษ์พงษ์ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าตรวจค้นบ้านพักในช่วงเวลาเช้าครู่ พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเขาไปที่ บก.ปอท. พร้อมให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่างๆ โดยไม่ให้ติดต่อทนายความ และยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ บก.ปอท.จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาตามหลังในเวลาต่อมา โดยพิทักษ์พงษ์ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาในวันที่ 2 เม.ย. 64 และได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับยื่นคำให้การเพิ่มเติมในวันที่ 16 เม.ย. 64

ต่อมา พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ส่งสำนวนการสอบสวนและตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 23 ส.ค. 64 โดยอัยการได้นัดฟังคำสั่งทางคดีในวันที่ 22 ก.ย. 64 ซึ่งในวันดังกล่าว พนักงานอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 27 ก.ย. 64 ก่อนจะมีคำสั่งฟ้องคดีทันทีในวันนัด

ฟ้อง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ชี้ทำให้ปชช.เข้าใจว่า กษัตริย์ไม่รักปชช.-ข้าราชบริพาร

พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พิทักษ์พงษ์” ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

คำฟ้องของพนักงานอัยการได้บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 พิทักษ์พงษ์ได้ดูหมิ่นกษัตริย์ ผ่านการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการพิมพ์และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยเป็นภาพบุคคลชูสามนิ้ว ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความวิจารณ์พฤติกรรมของกษัตริย์ 

พนักงานอัยการระบุ ข้อความและภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความและภาพถ่ายดังกล่าวเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงรักประชาชนและข้าราชบริพาร ทรงหมกหมุ่นในกามารมณ์ ทำให้เกิดการดูหมิ่นไม่เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 

การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ เป็นการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ถูกดูหมิ่น และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยไว้เป็นของกลางอีกด้วย 

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานอัยการได้ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 

ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พร้อมวางเงินสดจำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน ต่อมา เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว โดยวางเงินสดจำนวน 90,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดตามที่ถูกฟ้องอีก 

ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น. 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

พนง.บริษัทวัย 26 ถูกตร.ปอท.แจ้งข้อหา “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” เหตุโพสต์เฟซบุ๊กถึงความประพฤติของกษัตริย์

X