พนง.บริษัทวัย 26 ถูกตร.ปอท.แจ้งข้อหา “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” เหตุโพสต์เฟซบุ๊กถึงความประพฤติของกษัตริย์

วันนี้ (2 เม.ย. 64) เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี พนักงานบริษัท ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 นายสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความพาดพิงถึงความประพฤติของกษัตริย์

.

บุกค้นบ้าน พร้อมยึดมือถือ-คอมพิวเตอร์ หลังฉลองวันเกิด

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจาก บก.ปอท. จำนวนราว 12 นาย ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา เพื่อเข้าค้นบ้านพักของพิทักษ์พงษ์ โดยได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ และให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่บอกเพียงแค่ว่าเป็นความผิดตาม “มาตรา 14” เท่านั้น

จากนั้น จึงควบคุมตัวพิทักษ์พงษ์ขึ้นรถตู้ตำรวจ พร้อมมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย นั่งประกบ เพื่อเดินทางไปที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ได้ให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่างๆ เช่น รูปภาพข้อความในเฟซบุ๊ก บันทึกตรวจค้น และรูปถ่ายส่วนตัว โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด และไม่ได้ให้ติดต่อทนายความ มีเพียงแค่เพื่อน 1 คน นั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วยเท่านั้น

หลังลงลายมือชื่อในเอกสาร เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวพิทักษ์พงษ์ไป และแจ้งว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อหาต่อไป

พิทักษ์พงษ์ทวนเหตุการณ์ขณะถูกตรวจค้นห้องพักเพิ่มเติมว่า เมื่อคืนวันที่ 10 มี.ค. 64 เขาเพิ่งกลับจากงานเลี้ยงฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 26 ปี แต่วันถัดมากลับมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าค้นห้องพัก

“เจ้าหน้าที่มาเยอะมาก เหมือนผมไปฆ่าคนตายมา”  พิทักษ์พงษ์เผย

นอกจากนี้ เขายังระบุอีกว่า ในวันที่ถูกตรวจค้น เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วย และถ้าหากให้ความร่วมมือเดินทางไปที่บก.ปอท. จะเผยชื่อผู้กล่าวหาให้พิทักษ์พงษ์

แต่ต่อมาเขาได้รับหมายเรียกลงวันที่ 10 มีนาคม 2564 ออกโดย พ.ต.ท.หญิงอัมพร จันทะวงศ์ ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาสองข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) โดยวันที่ออกหมายเรียกนั้นเป็นวันที่ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา

.

แจ้ง 112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์พาดพิงผู้ปกป้องสถาบัน เอี่ยวความประพฤติกษัตริย์

วันนี้ พิทักษ์พงษ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.หญิง อัมพร จันทะวงศ์ พนักงานสอบสวนจากกองกำกับการ 1 บก.ปอท. ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่พิทักษ์พงษ์  

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทราบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความพร้อมภาพ วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ โดยมีการกล่าวสั้นๆ ถึงความประพฤติของกษัตริย์และรัฐบาลด้วย​ จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด 

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อพิทักษ์พงษ์ ได้แก่  “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

พิทักษ์พงษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำให้การภายในวันที่ 16 เม.ย 64 

หลังจากการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวัน ก่อนปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และจะนัดหมายเพื่อส่งตัวอัยการในภายหลัง

ในวันนี้ พนักงานสอบสวนบก.ปอท. ได้คืนซีพียูคอมพิวเตอร์ ที่ถูกยึดจากการตรวจค้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 ให้พิทักษ์พงษ์ ส่วนโทรศัพท์มือถือ พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่าต้องยึดไว้เป็นของกลางก่อน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 82 คน ใน 74 คดี 

โดยมีจำนวน 7 คดีแล้วที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี เป็นผู้เข้าแจ้งความในข้อหานี้ 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X