ศาลเลื่อนไต่สวนประชาชน 5 ราย คดี “ละเมิดอำนาจศาล” ให้โอกาสต่อสู้คดี หลัง 1 ในผู้ถูกกล่าวหาติดประจำการทหารเกณฑ์

1 ก.ค. 64 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดไต่สวน ประชาชน 5 ราย ในคดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขคดีดำที่ ลศ.13/2564 จากกิจกรรมแห่คาราวานและปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง ของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 กลุ่มรีสตาร์ตเดโมเครซี่ หรือกลุ่มรีเด็ม (REDEM) ประกาศชุมนุมหน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 แม้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวร่วมเดือนครึ่ง จนมีอาการถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ แต่ศาลอาญาก็ไม่ให้ประกันเพนกวิน รวมทั้งนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ รวม 7 ราย แต่อย่างใด

โดยกิจกรรมในวันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนคาราวานจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่ศาลอาญา จากนั้นมีกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลอาญา พร้อมทั้งปราศรัยโจมตีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้ลงนามในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองหลายครั้ง เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ก่อนยุติการชุมนุมด้วยความสงบ 

ต่อมา 1 ชั่วโมงให้หลังการประกาศยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการรวมตัวของกลุ่มบุคคลประมาณ 20-30 คน ที่หลงเหลือ และจับกุมบุคคลรวม 4 ราย โดยเป็นเยาวชนชาย 1 ราย แจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่, ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่น, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดย 1 ในผู้ถูกจับเพียงแต่เข้าไปขายเสื้อและหนังสือในที่ชุมนุม และ 3 ราย ได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่

>>> 13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินทาง

.

ศาลเลื่อนนัดไต่สวน ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดี

ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญามีการตั้งจุดตรวจคัดกรอง ตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าบริเวณศาล ผู้ถูกกล่าวหา 4 คน เดินทางมาศาล โดย 2 คน แต่งกายด้วยเสื้อเหลืองและเอี๊ยมคล้ายมินเนี่ยน  อีกคนสวมเสื้อโปโลสีเหลืองและพันผ้าพันคอสีเหลืองคล้ายจิตอาสาพระราชทาน โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตักเตือนเรื่องเครื่องแต่งกายแต่อย่างใด ก่อนเข้าห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่ศาลเก็บโทรศัพท์มือถือของทนายความ คู่ความ และผู้สังเกตการณ์ทุกคน

ภายในห้องพิจารณามีเพียงป้ายขอความร่วมมือให้นั่งเว้นระยะเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และป้ายขอความร่วมมือให้ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่พูดคุย และไม่ให้นำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในห้อง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะแจ้งว่า ในวันนี้ศาลไม่ให้คู่ความ ทนายความ ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคน จดบันทึกถ้อยคำของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเหตุการณ์ในห้องพิจารณา

เวลา 13.45 น. ผู้พิพากษา 6 ท่าน ออกนั่งพิจารณาคดี ผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มาศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 ราย คือ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่ได้มาศาล 

ก่อนเริ่มไต่สวน ศาลได้ตรวจสํานวน ก่อนพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกให้ศุภกิจและจุฑาทิพย์ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาศาลและแถลงให้ศาลดําเนินการไต่สวนต่อไป 

นอกจากนี้ วีรภาพยังได้แจ้งว่า ศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่สามารถมาศาลในวันนี้ตามนัดได้ เนื่องจากปัจจุบันศรัณย์เป็นทหารเกณฑ์ ประจําการอยู่ที่กองทัพอากาศ 

จากนั้นศาลได้อธิบายคำกล่าวหาโดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ทราบ มีใจความโดยสรุปว่า วันที่ 2 พ.ค. 64 เวลาประมาณ 16.55 น. หน้าศาลอาญา กลุ่มเยาวชนปลดแอก (REDEM) ได้ร่วมทํากิจกรรม คาราวานประกาศคุณงามความดี ตระกูลเหมือนพะวงศ์ โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเสียงด่าทอ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  อยู่ตลอดเวลา และมีการนําสิ่งของ เช่น มะเขือเทศ ไข่ไก่ และน้ำของเหลวสีแดงมาแจกให้กับมวลชน จากนั้นมวลชนได้นำสิ่งของดังกล่าวขว้างปาใส่บริเวณป้ายศาลอาญา และป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม จนได้รับความเสียหายสกปรกเปรอะเปื้อนไปด้วยสีแดง และภายในบริเวณพื้นที่ด้านหน้าศาลอาญาได้รับความสกปรก มีมะเขือเทศ ไข่ไก่ แตกกระจัดกระจาย และส่งกลิ่นคาวคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ 

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตํารวจสามารถสืบสวนและสามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่ร่วมกันกระทําการอันไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณและรอบบริเวณศาลอาญา คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ซึ่งได้ร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา โดยการนําสิ่งของประกอบด้วย มะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดงและวัตถุอื่น ๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ซึ่งการกระทําดังกล่าวถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา 

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ให้การปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว ประสงค์ขอต่อสู้คดี พร้อมทั้งแถลงขอเลื่อนคดี เนื่องจากเพิ่งทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาในวันนี้ โดยจะยื่นคําให้การต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนครั้งใหม่ไม่น้อยกว่า 7 วัน 

ศาลได้ให้ทนายความโทรศัพท์ติดต่อศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เพื่อสอบถามว่า จะมาศาลได้ในวันใด ศรัณย์แจ้งว่า ไม่สามารถมาศาลได้โดยพลการ ขอให้ศาลมีหนังสือไปถึงกรมกองที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แต่ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างเลือกสังกัดกองประจําการ โดยยังไม่ทราบผลว่าจะได้สังกัดกรมกองใด จึงไม่สามารถให้ที่อยู่ไว้ได้ แต่ประสงค์ที่จะเข้ามาต่อสู้คดี

ด้านทนายแถลงว่า หากผู้ถูกกล่าวหาแจ้งที่อยู่ที่แน่นอน หลังแยกย้ายปฏิบัติหน้าที่ในกรมกองแล้ว ทนายจะแจ้งให้ศาลทราบโดยด่วน เพื่อให้ศาลได้มีหมายเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลในนัดหน้า 

เวลา 15.35 น. ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่สามารถมาศาลได้โดยมีเหตุขัดข้อง ดังที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และทนายแถลงต่อศาลแล้ว แม้บทบัญญัติเรื่องละเมิดอํานาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) เป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอํานาจค้นหาความจริงที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทําการละเมิดอํานาจศาล โดยไม่จําต้องกระทําต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้โอกาสให้ศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหา และมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านและต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงเห็นสมควรให้ส่งหมายเรียกไต่สวนให้ศรัณย์ใหม่อีกครั้ง และให้เลื่อนไปนัดไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น. และวันที่ 13 ส.ค. 64 เวลา 13.30 น

ทั้งนี้ ในนัดหน้าศาลกําหนดไต่สวนผู้กล่าวหาและพยานผู้กล่าวหาจำนวน 3 ราย ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับสถานีตํารวจนครบาลพหลโยธิน เจ้าพนักงานดูแลผู้ชุมนุมสาธารณะ และ ร.ต.อ.ศาศวัตร โครตวงศ์ รอง สว.สส.สน.พหลโยธิน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าและพยานผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีละเมิดอํานาจศาล โดยพฤติการณ์การกระทําตามที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี โดยผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ซึ่งได้รับหมายเรียกมาศาลตามกําหนดนัด ส่วนอีก 2 ราย แม้ไม่ได้รับหมาย แต่ทั้งสองมาศาลและแถลงประสงค์จะต่อสู้คดี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ติดประจำการทหารเกณฑ์ จึงยังไม่มีเหตุต้องคุมขังผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไว้ในระหว่างไต่สวน 

พร้อมกันนี้ ศาลได้กําชับทนายผู้ถูกกล่าวหาให้รีบติดตามหาที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ตามที่แถลงต่อศาล เพื่อที่ศาลจะได้ออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มาศาลในวันนัด

อนึ่ง สำหรับประชาชนทั้ง 5 ราย ที่ถูกตั้งเรื่องไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลในคดีนี้ ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนี้อีกด้วย โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับประชาชนทั้งหมด 13 ราย ภายหลังทั้ง 13 รายได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่  14 พ.ค. 64 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา นำตัวไปฝากขังกับศาลอาญา และได้รับการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขระหว่างสอบสวน โดยช่วงบ่ายวันนี้อัยการยังได้ยื่นฟ้องประชาชนทั้ง 13 ราย และอีก 2 รายที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ ต่อศาลอาญาแล้ว 

.

อ่านเรื่องข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

X