แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุม 7 นักกิจกรรม #ม็อบ14ตุลา “ไผ่” ถูกดำเนินคดีด้วยแม้ถูกจับกุมตั้งแต่13ตุลา

วานนี้ (5 ม.ค. 64) เวลา 10.00 น. ที่สน.สำราญราษฎร์ 7 นักศึกษา-นักกิจกรรม “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมารับทราบข้อหาตามหมายเรียก จากเหตุชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63

มูลเหตุของคดีสืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก 2. เปิดประชุมวิสามัญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น

นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 63 หลังนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 27 ราย (เพิ่มเติม: สถิติผู้ถูกจับกุม-ดำเนินคดี ตั้งแต่การชุมนุม #คณะราษฎร 13 ต.ค.)

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา และมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 10 คน โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 16 และ 21 ธ.ค. 63 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ (ผู้ต้องหาที่ 1), อานนท์ นำภา (ผู้ต้องหาที่ 2) และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ต้องหาที่ 3) ได้เดินทางมารับทราบข้อหาจากการชุมนุมนี้แล้ว โดยอานนท์ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 จากการปราศรัยเกี่ยวกับคำสั่งการสลายการชุมนุมด้วย 

>> ตร.แจ้ง “ม.112” อานนท์ ส่วนเพนกวินโดน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา

>>  แจ้ง 7 ข้อหารุ้ง ชุมนุม “ม็อบ14ตุลา” รวมพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ บรรยายพฤติการณ์คดีให้กับ 7 นักกิจกรรม ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวลาประมาณ 14.30 น. ที่สนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายอานนท์ นําภา (ผู้ต้องหาที่ 2) นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ต้องหาที่ 3), นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ผู้ต้องหาที่ 4), นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ผู้ต้องหาที่ 5), นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี (ผู้ต้องหาที่ 6), นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว (ผู้ต้องหาที่ 7), นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ (ผู้ต้องหาที่ 8), นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์กิจ (ผู้ต้องหาที่ 9) และคณะราษฎร 2563 รวม 10 คน ได้แถลงข่าวกรณี “จัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่ วันที่  14  ตุลาคม” เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้ง 10 คนยังได้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 14 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 08.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดหมายมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยที่ผู้ต้องหาทั้ง 10 คน เป็นผู้จัดการชุมนุม มีการตั้งเวทีปราศรัย, ตั้งเต็นท์, จอดรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงบนถนนราชดําเนินกลางและเริ่มการปราศรัยตั้งแต่เวลา 08.40 น. และยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมจํานวนมากทําการชุมนุมบนถนนราชดําเนินกลางและมีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต 

เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ผิวทางการจราจร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาได้สะดวก แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด อีกทั้งผู้ต้องหาและกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปิดเส้นทางการจราจรและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 13.30 น. ผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 ได้ร่วมกันปราศรัย และมีการสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไว้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ ทําให้ต้นไม้ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจํานวน 223,700 บาท 

รวมถึงมีการตั้งสิ่งของต่างๆ และจอดรถยนต์บรรทุกเครื่องเสียง ลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่ตํารวจได้พยายามแจ้งและประกาศเตือนให้เลิกกระทํา แต่ผู้ต้องหาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกกระทําการดังกล่าว 

จากนั้นเวลาประมาณ  14.30 น. ผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 พร้อมด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตามถนนราชดําเนินกลาง มุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าถนนนครสวรรค์ เพื่อจะเดินขบวนไปปิดล้อมที่หน้าทําเนียบรัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปถึงทําเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 18.45 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งในการชุมนุมผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 10 ได้ขึ้นปราศรัยและ ผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3, 5, 6, 7, 8, 9, 10 ได้เข้ามาร่วมชุมนุมในวันเวลาดังกล่าวข้างต้น

อีกทั้งในการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจํานวนมากที่มาเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งถือว่าแออัดและก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อ อันตรายหรือโรคแพร่ระบาด นอกจากนั้นผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นการกระทําผิดกฎหมาย

ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 7 ข้อหาแก่ ภาณุพงศ์, ทัตเทพและสมยศ

  1. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 
    1. มาตรา 10 ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
    2. มาตรา 15 (2) ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนไม่ดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม, ไม่บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลายทรัพย์สินของผู้อื่น, ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน
  2. ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
    1. ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
  3. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ
    1. ร่วมกันกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  4. ฝ่าฝืนมาตรา 385 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรโดยวาง หรือทอดทิ้ง สิ่งของ หรือโดยกระทําด้วยประการอื่นใด”
  5. ฝ่าฝืนมาตรา 114 พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ “ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทําด้วยประการ ใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร”
  6. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 “ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน”
  7. มาตรา 4 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังแจ้ง 3 ข้อหาแก่จุฑาทิพย์, ภัสราวลี, ชลธิชา, จตุภัทร์ ได้แก่ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ว่าเมื่อวันเกิดเหตุ จตุภัทร์ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 หลังถูกจับกุมจากการชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน  เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 19 ม.ค. 64 ด้านพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนการสอบสวนให้กับอัยการในวันที่ 25 ม.ค. 64 เวลา 10.00 น. โดยจตุภัทร์และภาณุพงศ์ไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อกล่าวหา ด้านภาณุพงศ์ระบุเหตุผลประกอบว่า “การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

X