แจ้ง 7 ข้อหารุ้ง ชุมนุม “ม็อบ14ตุลา” รวมพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

วันนี้ (21 ธ.ค. 63) เวลา 13.00 น. ที่สน.สำราญราษฎร์ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เดินทางมารับทราบข้อหาตามหมายเรียก จากเหตุการชุมนุม “ม็อบ 14 ตุลา” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวนสน.สำราญราษฎร์เป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุของคดีสืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก 2. ให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยด้วย ซึ่งพริษฐ์และอานนท์ได้รับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้แล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63 

การชุมนุมครั้งนี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 63 หลังนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ และมีผู้ถูกจับกุม ณ สถานที่เกิดเหตุอย่างน้อย 27 ราย 

>> ตร.แจ้ง “ม.112” อานนท์ ส่วนเพนกวินโดน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา

ภาพชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 63

ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 08.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดหมายมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยที่พริษฐ์ (ผู้ต้องหาที่ 1), อานนท์ (ผู้ต้องหาที่ 2) และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ต้องหาที่ 3) เป็นผู้จัดการชุมนุม

ในวันดังกล่าว ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 ตั้งเวทีปราศรัย, ตั้งเต็นท์, จอดรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงบนถนนราชดําเนินกลาง ทั้งยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมจํานวนมากทําการชุมนุมบนถนนราชดําเนินกลางและมีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต 

เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ผิวทางการจราจร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาได้สะดวก แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด อีกทั้งผู้ต้องหาและกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปิดเส้นทางการจราจร

นอกจากนี้ มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในเวลาประมาณ 08.40 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 63 และอานนท์ได้ขึ้นปราศรัยต่อหน้าผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากบนเวทีขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนถนนราชดําเนินกลาง บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดําเนิน สาระสําคัญของการปราศรัย คือ การกล่าวเชิญชวนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ต่อสู้กับเผด็จการ 

ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 13.30 น. ผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 ได้ร่วมกันปราศรัย และมีการสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไว้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ ทําให้ต้นไม้ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจํานวน 223,700 บาท 

รวมถึงมีการตั้งสิ่งของต่างๆ และจอดรถยนต์บรรทุกเครื่องเสียง ลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่ตํารวจได้พยายามแจ้งและประกาศเตือนให้เลิกกระทํา แต่ผู้ต้องหาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกกระทําการดังกล่าว 

จากนั้นเวลาประมาณ  14.30 น. ผู้ต้องหาที่ 1, 2 และ 3 พร้อมด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตามถนนราชดําเนินกลาง มุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าถนนนครสวรรค์ เพื่อจะเดินขบวนไปปิดล้อมที่หน้าทําเนียบรัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปถึงทําเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 18.45 น. ของวันเดียวกัน

อีกทั้งในการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจํานวนมากที่มาเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งถือว่าแออัดและก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อ อันตรายหรือโรคแพร่ระบาด นอกจากนั้นผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นการกระทําผิดกฎหมาย

 

 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 7 ข้อหาแก่ปนัสยา ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับของพริษฐ์ ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรค ต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร
  2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 
    • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
    • ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ 
    • ดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึ่งคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร 
    • บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลาย หรือทําด้วยประการใดๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น 
    • ขัดขวางหรือกระทําการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครอง ความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น 
    • เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  3. พระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ
    • ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
  4. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
    • ร่วมกันกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  5. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
  6. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
  7. มาตรา 4 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”

 

 

ปนัสยาให้การปฏิเสธตลอดข้อหาและจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง

นอกจากนี้ ปนัสยายังไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ลงว่า “สวนสวยจริงๆ” แทน โดยประโยคนี้เคยนำมาใช้ในการชุมนุม “ชมสวนใหม่ยาม 2 ทุ่ม” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63 หลังเจ้าหน้าที่รัฐนำต้นไม้มาวางล้อมไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 

 

X