รอกำหนดโทษ 2 ปี “กระเดื่อง” ศิลปิน #ศิลปะปลดแอก ฐานละเมิดอำนาจศาล เหตุตะโกนด่าตำรวจเรื่องมาตรการโควิด ศาลชี้ ข้ออ้าง “ใช้สิทธิตาม รธน.” ฟังไม่ขึ้น

วันนี้ (25 มิถุนายน 2564) ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ กระเดื่องพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง ศิลปินและดีเจเพลงอิเลคทรอนิคส์ ผู้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎร 7 คน โดยในคำฟ้อง ระบุว่า เขาได้ตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังอ่านประกาศเรื่องข้อห้ามในการชุมนุมตามประกาศของกรุงเทพมหานครและข้อกำหนดเรื่องความเรียบร้อยในศาล พ.ศ. 2564

คดีนี้ ศาลนัดไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 แต่ เนื่องจากกระเดื่องเพิ่งได้รับทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว ศาลจึงให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 โดยทำการไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 3 ปาก ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน พยานฝ่ายผู้กล่าวหา และกระเดื่อง ผู้ถูกกล่าวหา

>>> เปิดบันทึกไต่สวนละเมิดอำนาจศาล กระเดื่องศิลปะปลดแอก เหตุ ร้องให้ประกันแกนนำ #ม็อบ29เมษา เจ้าตัวชี้ วิจารณ์มาตรการโควิด ไม่ใช่ศาล

>>> ศาลเลื่อนไต่สวน กระเดื่องศิลปะปลดแอก คดีละเมิดอำนาจศาล แต่ต้องประกันตัวด้วยวงเงิน 1 หมื่นบาท ขณะมีผู้ถูกตั้งเรื่องไต่สวนรวม 6 คน

ในวันนี้ ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ศาลยังคงมีมาตรการคุมเข้มในการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าฟังการพิจารณาคดี โดยบริเวณก่อนเข้าสู่โถงบันไดศาล เจ้าหน้าที่ได้ตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อบันทึกข้อมูลและเลขบัตรประชาชน พร้อมทั้งยังบันทึกภาพวิดีโอโดยให้ผู้ที่มาสังเกตการณ์ถือบัตรประชาชนไว้หน้ากล้อง

ที่ห้องพิจารณา 704 ก่อนหน้าที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา ศาลได้เรียกกระเดื่องไปพูดคุยเพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ อาชีพการงาน และผลกระทบด้านรายได้จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดโดยภาครัฐ และชี้แจงว่า ในคดีนี้ ศาลพิจารณาลงโทษเป็นรายบุคคลไป (ในคดีละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาลที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 6 รายด้วยกัน แยกเป็นคนละคดี) ไม่ได้ดูจากภาพรวมทั้งหมด

ต่อมา ศาลเริ่มต้นอ่านคำพิพากษาโดยเท้าความเกี่ยวกับมูลเหตุของคดี ระบุว่า คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายผ่านเฟซบุ๊กให้มวลชนมาติดตามให้กำลังใจการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และจัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ โดยเวลา 12.30 น. มีมวลชนราว 300 คนมารวมตัวกันที่หน้าอาคารศาลอาญา โดยในบริเวณดังกล่าว มีตำรวจรักษาการณ์ในพื้นที่ประมาณ 50 นาย และมีการวางแผงเหล็กกั้นที่ด้านหน้า

พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ออกมาประกาศข้อกฎหมายคือ ประกาศกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดของศาลอาญา โดยอ่านซ้ำอยู่หลายครั้ง แต่สถานการณ์ยังคงดำเนินไป เวลาประมาณ 15.00 น. ณัฐชนน ไพโรจน์ ได้กล่าวข้อความว่า “ไม่นับว่า ท่านจบธรรมศาสตร์เหมือนกันกับผม…” สื่อถึงผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์  ต่อมาภัทรพงศ์ น้อยผาง อ่านบทกลอนตุลาการภิวัฒน์ [บทกวีถึงมหาตุลาการ] และตามมาด้วยเบนจา อะปัญ ที่ได้กล่าวว่า “ตุลาการเช่นนี้อย่างมีเลย”

เวลา 18.25 น. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง กล่าวทำนองว่า วันที่ 30 เมษายน 2564 เขามีนัดหมายจะต้องมาที่ศาลอาญาแห่งนี้ แต่เขาจะไม่แสดงความเคารพต่อศาลอาญา ต่อมาเมื่อสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวินมาขอร้องให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับ สถานการณ์จึงคลี่คลาย ส่วนของพิสิฏฐ์กุล ในตอนที่ พ.ต.ท.ศักดิ์ชัยประกาศข้อกฎหมายในครั้งที่ 5 นั้น พิสิฏฐ์กุลได้ตะโกนว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” อยู่หลายครั้ง ด้วยโทสะจากมาตรการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของภาครัฐที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยคนหนึ่ง เป็นการด่าตำรวจไม่ได้พาดพิงผู้พิพากษา รวมทั้งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  จากนั้นจึงเดินออกไปสูบบุหรี่ที่ลานจอดรถศาลอาญา

คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ศาลระบุว่า การกระทำของตำรวจเป็นการกระทำเพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการและประชาชนที่ต้องมาบริเวณศาล แม้พิสิฏฐ์กุลให้การว่า การตะโกนด่านั้นเป็นการด่าตำรวจไม่ได้พาดพิงหรือโจมตีการทำงานของศาล แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด่าทอตำรวจด้วยเสียงดังเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ก่อให้เกิดความเดือดร้อนสำหรับผู้ที่มาติดต่อราชการ และเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาที่ได้ประกาศไว้ ไม่สามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ได้มีพฤติการณ์จัดการชุมนุมที่ใช้เครื่องเสียงโจมตีด่าทอการทำงานของศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ และมีพฤติการณ์ไม่เทียบเท่าบุคคลอื่น จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวกลับใจ  พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณภายในระยะเวลากำหนดโทษ

เวลา 10.45 น. เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จแล้ว ผู้พิพากษาถามพิสิฏฐ์กุลว่า เข้าใจไหมที่ศาลตัดสิน พอใจไหมที่ศาลตัดสินเช่นนี้ พิสิฏฐ์กุลพยักหน้ารับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ศาลได้อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวน แต่ให้ออกหมายขังกระเดื่องไว้ระหว่างรอการไต่สวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ก่อนที่ศาลจะให้ประกัน โดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 10,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ  ทำให้ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา กระเดื่องจะต้องไปดำเนินการขอถอนเงินประกัน และยกเลิกเงื่อนไขห้ามเดินทางดังกล่าวต่อไป

การชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 มีนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมชุมนุมตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ และพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง โดยคดีของพิสิฎฐ์กุลเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ มีคดีของ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยเงินสดจำนวน 10,000 บาท 

ส่วนคดีของเบนจาและณัฐชนน ศาลทำการไต่สวนแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษฐานละเมิดอำนาจศาลให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 หรือไม่ โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา 

นอกจากนี้ ทั้ง 6 คน ยังถูกศาลอาญาออกหมายจับในคดีดูหมิ่นศาลจากเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกัน ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม

>> รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

>> 3 นศ.มธ.เข้าแสดงตัว ก่อน ตร.แสดงหมายจับ “ดูหมิ่นศาล” 2 คดี จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

 

 

X