ศาลเลื่อนไต่สวน “กระเดื่อง” ศิลปะปลดแอก คดีละเมิดอำนาจศาล แต่ต้องประกันตัวด้วยวงเงิน 1 หมื่นบาท ขณะมีผู้ถูกตั้งเรื่องไต่สวนรวม 6 คน

20 พ.ค. 64 เวลา 13.30 น.  ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดไต่สวนนายพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือ “กระเดื่อง” สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก หลังจากก่อนหน้านี้เขาได้รับหมายเรียกไต่สวนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ประกันแกนนำราษฎร 7 คน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ที่บริเวณหน้าศาลอาญา โดยคดีมีผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ประชาชน และกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน เข้ารวมตัวกันเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ศาลอาญา นอกจากนี้ยังมีความพยายามยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งมีการยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัตน์” ที่บริเวณหน้าศาลอาญา

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ต่อมาศาลมีการออกหมายเรียกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรมทั้งหมด 6 คน ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง นักศึกษาสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรี,  “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และ เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอก โดยแยกดำเนินคดีเป็นรายบุคคล รวมเป็น 6 คดี

สำหรับกรณีของพิสิฎฐ์กุล ต่อมาได้ทราบพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุปว่า พิสิฏฐ์กุลได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลบริเวณหน้าบันไดบริเวณทางขึ้น ด้านหน้าศาลอาญา ในลักษณะที่ก่อความวุ่นวาย โดย พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกัน และปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่เชื่อฟังและไม่ปฏิบัติตาม 

ผู้กล่าวหายังกล่าวหาว่า พิสิฏฐ์กุลได้พูดตะโกนด่าด้วยถ้อยไม่สุภาพอยู่หลายครั้ง และยังได้ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ทั้งได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์กับกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อก่อความ วุ่นวายให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 จึงให้เรียกมาไต่สวนฐานละเมิดอํานาจศาลและลงโทษ ตามกฎหมายต่อไป

 

ศาลเลื่อนนัดไต่สวน เหตุ ทนายเพิ่งได้รับคำร้อง

ในวันนี้ ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจกระเป๋าผ่านเครื่องสแกนโลหะเท่านั้น ไม่ได้มีแผงเหล็กกั้น หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตรึงกำลังในจุดตรวจใดๆ พร้อมทั้งไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิหรือการลงทะเบียนก่อนเข้าพื้นที่ศาลอย่างวันที่มีการตัดสินคดีใหญ่ๆ 

เวลา 14.10 น. ห้องพิจารณา 704 ศาลขึ้นบัลลังก์ วันนี้ทนายความและผู้ถูกกล่าวหามาศาลตามนัด แต่เนื่องจากผู้กล่าวหาได้รับเพียงหมายนัด และเพิ่งได้ทราบรายละเอียดข้อกล่าวหา สำหรับการไต่สวน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเช่นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอื่น ทนายความและผู้ถูกกล่าวหาจึงแถลงขอเลื่อนการไต่สวนคดีออกไป

ทนายความยัง ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาเพิ่งได้รับสําเนาคําร้อง และได้ดูภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริงมากพอสมควร จึงขอเวลาไปตรวจสอบพยานหลักฐาน พร้อมทั้งแถลงขอคัดถ่ายดีวีดีทั้งสองแผ่นและขอคัดถ่ายบันทึกรายงานการสืบสวนกรณีกลุ่มบุคคลมาชุมนุมหน้าศาลอาญา และข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 และขอให้ศาลสอบคําให้การในนัดหน้า โดยผู้กล่าวหาไม่ได้คัดค้านการเลื่อนคดี

ศาลจึงได้สั่งเลื่อนการไต่สวนออกไป ระบุกรณีมีเหตุอันสมควรเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนในวันที่ 18 มิ.ย. 64 เวลา 9.00 น. ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน 

พร้อมทั้งกําชับให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนําพยานหลักฐานมาให้พร้อมไต่สวน รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ หมายขังเว้นแต่มีประกัน และให้ออกหมายเรียก พ.ต.ต.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปรามสน.พหลโยธิน มาในนัดหน้าตามที่ผู้กล่าวหาแถลง

เวลา 17.17 น. หลังศาลสั่งให้รับตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ ทำให้ต้องมีการขอประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกัน 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เท่าสัญญาประกัน ผิดสัญญาประกันปรับเต็มสัญญาประกัน

ทั้งนี้ข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33  กำหนดโทษจำคุกไว้ได้ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล โดยศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวน และลงโทษผู้กระทำผิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง ข้อหานี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเป็นกฎหมายในส่วนแพ่ง แต่มีกำหนดบทลงโทษทางอาญาคือจำคุกเอาไว้ด้วย แม้ในทางทฤษฎีจะถือว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม

สำหรับทั้ง 6 นักกิจกรรม ที่ถูกตั้งเรื่องไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลนั้น ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย และศาลอาญาได้ออกหมายจับทั้งหก โดยกรณีของพิสิฎฐ์กุลได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา และฝากขังกับศาลอาญาทุจริตฯ โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน

ย้อนดู รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา

อ่านเรื่องข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

X