ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “ณัฐชนน” ยืนยันความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลส่งเรื่องให้ ศาล รธน. วินิจฉัย

23 มิ.ย. 2564 ศาลอาญา รัชดา มีนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัวในคดีทางการเมืองบริเวณบันไดศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยการไต่สวนเลื่อนมาจากวันที่ 19 พ.ค. 2564 เนื่องจากก่อนหน้านี้ณัฐชนนอยู่ระหว่างการกักตัว เพราะเสี่ยงโควิด-19 

.ศาลอาญามีการตั้งจุดคัดกรองโดยมีโต๊ะลงทะเบียน ตรวจชื่อ และจดรายละเอียดในบัตรประชาชนของผู้ที่จะเข้าฟังการไต่สวน เจ้าหน้าที่สอบถามทุกคนว่ามาทำธุระในคดีใด นอกจากนั้นบริเวณหน้าห้อง พิจารณาคดี 910 ยังมีจุดคัดกรอง ตรวจค้นกระเป๋า และตั้งเครื่องตรวจโลหะ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลทั้งหญิงและชาย ประจำจุดอย่างน้อย 4 นาย  ผู้จะเข้าฟังการพิจารณาต้องปิดเสียงโทรศัพท์และฝากไว้กับเจ้าหน้าที่

เมื่อณัฐชนนเดินทางผ่านจุดคัดกรองบริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย เจ้าหน้าที่ได้วิทยุรายงานมายังตำรวจศาลหน้าห้องพิจารณา และได้บรรยายถึงการแต่งกายของณัฐชนนว่า ใส่เสื้อสกรีนข้อความ “No Military No Democracy” ซึ่งเป็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม และตนได้ตักเตือนแล้ว แต่ณัฐชนนไม่ฟัง 

อย่างไรก็ตามเมื่อณัฐชนนเดินมาถึงห้องพิจารณา พบว่าข้อความบนเสื้อของณัฐชนนสกรีนว่า “No Military Need Democracy” ณัฐชนนยังเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบถามด้วยว่ามีเสื้อตัวอื่นมาเปลี่ยนด้วยหรือไม่ ณัฐชนนยืนยันว่าเป็นสิทธิของตน และไม่เข้าใจว่าการใส่เสื้อสกรีนข้อความนี้ไม่เรียบร้อยอย่างไร 

.

กล่าวหาณัฐชนนร่วมปราศรัยวิจารณ์ตุลาการหน้าศาลอาญา

คดีนี้มี น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหาณัฐชนนว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีมวลชนกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้เชิญชวนกันมาทํากิจกรรมยืนจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัติ” ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา (บริเวณหน้ามุกศาลอาญา) มีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา” 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน. พหลโยธิน ได้อ่านประกาศคําสั่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด

ต่อมาเวลาประมาณ 13.05 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกําหนดของศาล และแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมยังคงมีการทํากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมตะโกนด้วยข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงกล่าวโทษศาลยุติธรรมและตุลาการศาลยุติธรรม ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา 

นายณัฐชนน ไพโรจน์ ได้เข้าร่วมชุมนุมโดยยืนอยู่บริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นหน้าศาลอาญา ได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียง มีข้อความว่า “ผมขอไม่นับว่าท่าน จบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลัง คุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนกับคนทั่วไป” และยังได้ร่วมกันตะโกน “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง 

การกระทําของนายณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564  ฉบับลงวันที่ 17 มี.ค. 2564  จึงให้เรียกมาไต่สวนฐานละเมิดอํานาจศาลและลงโทษตาม กฎหมายต่อไป 

.

ทนายขอนำคลิปฉบับเต็มเข้าสืบ ศาลเน้นประเด็นเจตนาการพูดของจำเลย

เวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยสั่งห้ามผู้เข้าฟังการพิจารณาไม่ให้จดบันทึก ทั้งการจดใส่กระดาษและการใช้อุปกรณ์อัดเสียง 

ศาลเริ่มต้นการไต่สวนโดยให้เจ้าหน้าที่เปิดคลิปที่เกี่ยวข้อง ทั้งคลิปที่ณัฐชนนจับไมค์พูด และคลิปที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดเหตุ โดยมีส่วนการปราศรัยของเบนจาในวันเดียวกันอยู่ด้วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 6 คลิป 

ทนายจำเลยพยายามที่จะขอให้ศาลอนุญาตให้นำคลิปเต็มเข้ามาสืบ แต่ศาลเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นคลิปทั้งหมดหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่ได้กล่าวถ้อยคำตามคลิปหรือไม่ และมีเจตนาอย่างไร 

ขณะศาลและทนายความถกเถียงกันเรื่องดังกล่าว ศาลได้ถามทนายความว่า ทนายคิดว่า ชนาธิปที่เอ่ยถึงใช่ชนาธิปผู้พิพากษาหรือไม่ ทำให้ตัวเองเชื่อได้ก่อน ว่าไม่ใช่แล้วจึงบอกศาล ทนายอยู่กับจำเลยมาหลายเดือนหลายปี น่าจะทราบว่าจำเลยกล่าวถึงใคร แต่กล่าวเพราะอะไรเป็นสิ่งที่ศาลอยากฟัง

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการใช้เครื่องเสียงในศาลว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ศาลกล่าวว่าในคำร้องไม่ได้มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการนำเครื่องเสียงมาใช้ ศาลติดใจเรื่องการใช้คำพูดดังกล่าวภายในศาล เรื่องเครื่องเสียงอาจยกประโยชน์ให้จำเลยได้ว่านำมาใช้ควบคุมฝูงชน อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดชี้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเครื่องเสียงมา อย่างไรก็ตาม ศาลอยากมุ่งประเด็นไปที่สิ่งที่จำเลยได้พูดหรือไม่ มีเจตนาอย่างไร 

ภายหลังดูคลิปจบ ศาลถามณัฐชนนว่าใช่คนตามคลิปหรือไม่ ณัฐชนนรับว่าใช่ ทนายจำเลยได้แถลงขออนุญาตศาลอีกครั้งให้นำพยานจำเลยและคลิปไลฟ์สดฉบับเต็มเข้าประกอบดุลยพินิจ ภายหลังถกเถียงแลกเปลี่ยนกันร่วมชั่วโมง ศาลสรุปว่าอยากขอฟังตัวจำเลยอธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวก่อน จึงจะพิจารณาว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องนำคลิปและพยานจำเลยเข้ามาไต่สวนประกอบ

ศาลกล่าวต่อว่าไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่เรื่องคำพูดหรือตัวผู้พิพากษา เนื่องจากผู้พิพากษาชนาธิปทำงานมาร่วม 30 ปี การถูกว่ากล่าว ถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้อง เป็นเรื่องธรรมดา ผู้พิพากษามีเกราะคุ้มกันมากเพียงพอ สิ่งนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ศาลไม่ได้โกรธเคืองหรือติดใจเรื่องส่วนบุคคลแต่อย่างใด การพิจารณาคดีจะยึดเรื่องหลักความสงบเรียบร้อยภายในศาล

.

พยานปาก ผอ.สำนักอำนวยการศาลอาญา ผู้กล่าวหา

ต่อมาเวลา 11.00 น. น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ได้ขึ้นเบิกความในฐานะผู้กล่าวหา 

ชวัลนาถเบิกความโดยสรุปว่าตนเองไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเนื่องจากในเวลานั้น ตนทำงานอยู่ที่บ้าน ตามมาตรการโควิด-2019 และเมื่อทราบเรื่องผ่านการรายงานทางไลน์ของตำรวจศาล จึงเดินทางมายังศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ตนยืนยันข้อเท็จจริงตามคลิป หลักฐานต่างๆ ตำรวจ สน.พหลโยธิน เป็นผู้นำรายงานการสืบสวนมาส่งให้ จากนั้นตนได้รวบรวมรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อตั้งเรื่องให้มีการไต่สวนละเมิดอำนาจศาล

น.ส.ชวัลนาถ ตอบทนายจำเลยว่าโดยปกติศาลไม่ได้จัดพื้นที่ไว้ให้ผู้ชุมนุม การที่ผู้ชุมนุมจะมาอออยู่ตรงบันไดเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้รับรายงานว่ามีการห้ามใช้เครื่องเสียง หรือมีการแจกเอกสารเรื่องข้อกำหนดของศาลให้กับผู้ชุมนุม รวมถึงไม่ได้มีการประกาศเสียงตามสายของศาลในเรื่องข้อกำหนดดังกล่าว โดยป้ายข้อกำหนดวางอยู่บริเวณหน้าประตูกระจกตรงทางเข้าศาลอาญา และณัฐชนนไม่ได้เดินขึ้นไปยังบริเวณดังกล่าว 

การไต่สวนดำเนินไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจบการซักถามเวลาประมาณ 12.00 น.

.

พยานปากที่สอง ตร.สน.พหลโยธิน ผู้เข้ามาดูแลการชุมนุม

เวลา 12.15 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับงานป้องกันและปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้ขึ้นไต่สวนเป็นพยานปากที่สอง 

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย เบิกความโดยสรุปว่าได้เดินทางมายังศาลอาญาตั้งแต่เวลา 8.00 น. โดยได้รับการประสานจากตำรวจศาล ว่าจะมีผู้ชุมนุมเดินทางมายื่นหนังสือ ตนเป็นผู้อ่านประกาศเรื่องข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฉบับที่ 25 และข้อกำหนดของศาลอาญา

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ตอบทนายจำเลยถามว่า ตนเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดูแลควบคุมการชุมนุม สำหรับการใช้เครื่องเสียงในวันเกิดเหตุ คนที่ทำกิจกรรมจะมีการใช้เพื่อสื่อสารให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจ ว่าจะทำกิจกรรมอะไร อย่างไร

ในช่วงเย็นวันเกิดเหตุ ตนพูดคุยกับมารดาของเพนกวิน พริษฐ์ ว่าให้ช่วยพูดกับผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเรียบร้อย ภายหลังผู้ชุมนุมได้ฟังผลการประกันตัวและสุรีรัตน์กล่าวกับผู้ชุมนุมให้ย้ายออกจากศาล เวลา 19.00 น. ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกลับบ้าน 

.

ณัฐชนนอธิบายถ้อยคำที่ปราศรัยหน้าศาล ยืนยันรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

เวลา 12.50 น. ณัฐชนน ไพโรจน์ ขึ้นเบิกความ โดยเลือกปฎิญาณตนต่อกิโยตินและการปฏิวัติ โดยกล่าวว่าหากตนเบิกความตามจริงขอให้การปฎิวัติสำเร็จ ศาลติงว่าการปฎิญาณตนนั้นเอาไว้ปฎิญาณโดยใช้เกียรติของตนเองไม่ใช่การไปอ้างถึงบุคคลอื่น 

เนื่องจากณัฐชนนได้ชูสามนิ้วขณะปฎิญาณตน ศาลจึงขอให้อธิบาย 3 นิ้วในความหมายของจำเลยด้วย ณัฐชนนได้อธิบายว่า 3 นิ้ว ในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยว่า คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ศาลถามว่า ภราดรภาพหมายถึงสิ่งใด ณัฐชนนตอบว่าความเป็นพี่น้องที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ศาลถามว่า ถ้าศาลไม่เห็นด้วยกับหลักการเดียวกันจะเป็นพี่น้องด้วยได้ไหม ณัฐชนนกล่าวว่า ไม่น่าจะได้

ณัฐชนนเบิกความว่าตนเดินทางไปร่วมชุมนุมที่ศาลอาญา โดยตนและเพื่อน ต้องการยื่นหนังสือราชอยุติธรรม โดยคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 30 นาที ตนยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับในคลิปและได้กล่าวถ้อยคำตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยืนยันว่าการกระทำของตนไม่ได้เป็นการละเมิดอำนาจศาล และในวันดังกล่าวตนไม่ได้เป็นผู้นำเครื่องเสียงไปและจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เอาไป 

ณัฐชนนระบุว่าการใช้เครื่องเสียงนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1.เพื่อสื่อสารให้มวลชนได้รับทราบว่ากลุ่มจะทำกิจกรรมอย่างไร การใช้เครื่องเสียงเป็นการจัดการและควบคุมมวลชน โดยเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า การชุมนุมที่ไม่มีเครื่องเสียงนั้นอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงได้  2. เพื่อคัดกรองผู้ที่ประสงค์ร้ายหรือต้องการมาปั่นป่วนการชุมนุม โดยหากมีเครื่องเสียงจะสามารถแยกได้ว่า ใครที่ไม่ทำตามสิ่งที่กลุ่มได้ประกาศไว้

ศาลถามถึงความหมายในแต่ละข้อความว่าทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น โดยอ่านทวนข้อความว่า “ผมขอไม่นับว่าท่านจบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผมเพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน” และให้ณัฐชนนอธิบาย 

ณัฐชนนจึงอธิบายว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์มีคำกล่าวที่เหมือนมายาคติที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน” ตนออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะคำๆ นี้ และตนเห็นว่าผู้พิพากษาหลายท่านก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยนี้ จึงรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นหลักการร่วมของผู้ที่เรียนธรรมศาสตร์ ตนพูดออกไปด้วยการมีความรู้สึกร่วมว่าผู้ที่เรียนธรรมศาสตร์ควรมีความรักต่อประชาชน ต่อความเป็นธรรม 

สำหรับประโยค “คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลัง คุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนกับคนทั่วไป” ณัฐชนนได้อธิบายต่อศาลว่า ไร้กระดูกสันหลังหมายถึงผู้ที่ไร้หลักการ ไร้อุดมการณ์ และที่ตะโกนว่า “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” ศาลถามว่า ทำไมต้องเรียกท่านชนาธิป ณัฐชนนอธิบายว่า ตนและประชาชนที่รออยู่ด้านหน้าสังเกตเห็นรองอธิบดีศาลอาญา ยืนอยู่บริเวณประตูกระจกของศาล จึงพากันตะโกนให้มารับเอกสาร เนื่องจากเห็นว่าผู้พิพากษาชนาธิปเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่โดยตรงที่จะรับหนังสือได้

ทั้งนี้พวกตนมายื่นหนังสือหลายครั้ง โดยในวันที่ 30 เม.ย. ก็นำรายชื่อมาอีก แต่ไม่มีใครมารับเอกสารเหมือนเดิม จนรายชื่อเพิ่มมากขึ้นจาก 10,000 กว่ารายชื่อ เป็น 87,000 รายชื่อ แต่ก็ยังไม่มีผู้มารับหนังสือจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นศาลได้กล่าวว่ามีอะไรจะพูดอีกหรือไม่ ณัฐชนนกล่าวว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้างต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีบางคนเจ็บ บางคนถูกกักขัง มีคนเสียชีวิต”

ในห้องพิจารณาศาลได้เอ่ยถามหลายครั้งและมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันต่อกว่าครึ่งชั่วโมงว่า การพูดว่า “ศาลไม่ยุติธรรม” หมายความว่าอย่างไร 

ณัฐชนนตอบว่า ผู้ต้องหาควรได้รับการสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ตามหลักการ Presumption of Innocence และควรมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว แม้แต่คดีของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ได้รับการตัดสินว่ากระทำความผิดแล้ว ศาลยังให้ประกันตัวในการอุทธรณ์คดี แต่คดีที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คดีมาตรา 112 ศาลไม่ให้ประกัน สิ่งนี้จึงไม่ยุติธรรมสำหรับพวกตน

ศาลอธิบายว่า การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเกรงจะไปกระทำความผิดซ้ำตามที่ฟ้องมาแล้ว เป็นการสั่งตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลทุกคนก็เคยสั่งเช่นนี้ ในคดียาเสพติด ก็สั่งเช่นนี้ เป็นคำสั่งธรรมดาที่สั่งในคดีอื่นๆ อยู่แล้ว รองอธิบดีที่สั่งไม่ให้ประกันตัวมีถึง 6 คน และยังมีศาลอุทธรณ์ที่ทำคำสั่งเดียวกันอีก จะกล่าวว่าผู้พิพากษาทั้งหมดไม่ให้ความยุติธรรมอย่างนั้นหรือ การบอกว่าไม่ยุติธรรมเป็นเรื่องความคิดเห็นที่ศาลและตัวจำเลย คิดไม่ตรงกัน แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ผู้พิพากษาตัดสิน ไม่ยุติธรรม 

ศาลยังได้สอบถามทนายความว่าคิดเห็นอย่างไร ทนายออกตัวว่าเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนั้น จึงไม่อยากออกความเห็น แต่เมื่อศาลถาม ทนายคิดว่า ในท้ายที่สุดศาลได้กำหนดเงื่อนไขอยู่แล้ว โดยศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขเหล่านั้นได้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่มีการยื่นประกันตัว ไม่ต้องรอให้ถึง 3-4 เดือน หรือการยื่นประกันครั้งที่ 10 จึงจะสั่งอนุญาต ข้อกฎหมายที่ศาลกล่าว ทนายเห็นว่ามีส่วนที่น่าจะเข้าข่ายอยู่บ้างเรื่องการกระทำความผิดซ้ำ แต่ตามระบบกฎหมายที่ไทยยกมาจากอเมริกานั้น การป้องกันกระทำความผิดซ้ำมักใช้ในเรื่องการกระทำผิดต่อชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช่เรื่องการแสดงความคิดเห็น

.

ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โทษในคดีละเมิดอำนาจศาลขัดต่อ รธน. หรือไม่

ก่อนจบการพิจารณา ทนายความได้ยื่นเรื่องขอให้ศาล ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ที่ใช้บังคับในคดีละเมิดอำนาจศาล มีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีของเบนจา ที่มีการส่งเรื่องไปก่อนหน้านี้ 

ศาลสอบถามทนายความ ว่าการส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสัดส่วนการลงโทษคดีละเมิดอำนาจศาล จะได้รับการเห็นชอบหรือไม่ ศาลแต่ละศาลมีเกณฑ์การกำหนดโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลของตนเอง การกระทำผิดคดีละเมิดอำนาจศาล แต่ไม่มีการกำหนดโทษเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่ควรส่งคำร้องลักษณะนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก

>> เปิดคำร้อง “เบนจา” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บทลงโทษฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จำคุกสูงสุด 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

ช่วงใกล้เวลา 16.00 น. ยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินมาบริเวณห้องพิจารณา เพื่อสอบถามผลการพิจารณา โดยตำรวจศาลจะนำตัวณัฐชนนไปยังห้องเวรชี้ เพื่อรอคำสั่งอนุญาตประกันตัว เนื่องจากศาลสั่งออกหมายขังในช่วงเวลา 15.00 น. 

ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยการวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 10,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนณัฐชนนจะได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวในเวลา 17.15 น.

และต่อมา ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีต่อไปในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น.

หากนับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา มีการดำเนินคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 18 คน ใน 14 คดี จำนวนนี้เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการเรียกร้องสิทธิประกันตัว 12 คดี (ดู สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564)

.

อ่านรายละเอียดคดีละเมิดอำนาจศาลที่ผ่านมา

ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เบนจา” ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ศาลส่งคำร้องชี้โทษละเมิดอำนาจศาลไม่ได้สัดส่วน ให้ศาลรธน.วินิจฉัย นัดอีกครั้ง 30 ส.ค. 64

เปิดบันทึกไต่สวนละเมิดอำนาจศาล “กระเดื่อง” ศิลปะปลดแอก เหตุ ร้องให้ประกันแกนนำ #ม็อบ29เมษา เจ้าตัวชี้ วิจารณ์มาตรการโควิด ไม่ใช่ศาล

เปิดเนื้อหาไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เลิศศักดิ์-ไดโน่” เหตุร่วมให้กำลังใจแกนนำในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร

ลงโทษจำคุก 4 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 แต่ไม่ถอนประกันคดี 19 กันยาฯ


ไต่สวนละเมิดอำนาจศาล ‘อะดิศักดิ์’ หนึ่งในจำเลยคดี 19 ก.ย. ยันเพียงแตะไหล่จนท.ราชทัณฑ์ เพราะยืนบังการพิจารณา

ลงโทษ 2 นักกิจกรรม “ไบรท์-ฟอร์ด” ละเมิดอำนาจศาล กรณีถ่ายภาพในห้องเวรชี้ ปรับ 500 บาท จำคุก 15 วัน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี

.

X