ลงโทษ 2 นักกิจกรรม “ไบรท์-ฟอร์ด” ละเมิดอำนาจศาล กรณีถ่ายภาพในห้องเวรชี้ ปรับ 500 บาท จำคุก 15 วัน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี

31 พ.ค. 64  ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล 3 นักกิจกรรม  กรณี ถ่ายภาพในห้องพิจารณาระหว่างรอศาลออกพิจารณาคดีหลังอัยการยื่นฟ้องคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 โดยในวันนี้มีเพียง 2 นักกิจกรรม ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ อนุรักษ์ เจนตวนิช ที่มาตามนัด ด้าน ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ ทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากอยู่ในระหว่างกักตัว ก่อนศาลมีคำสั่งให้จำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ผู้กล่าวหาคดีนี้คือ ผู้อำนวยการประจำสำนักงานศาลอาญา เดิมศาลนัดไต่สวนในวันที่ 19 เม.ย. 64 และทนายได้รับแจ้งก่อนวันนัดว่า ศาลเลื่อนนัดคดีนี้ไปเป็นเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

แต่ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. 64 ชินวัตร กลับถูกตำรวจศาลเข้าแสดงหมายจับและทำการจับกุมบริเวณศาลแขวงธนบุรี ภายหลังอัยการยื่นฟ้องคดี #ม็อบ6ธันวา ซึ่งทนายได้รับแจ้งในวันนั้นว่า มีการออกหมายจับ ไบร์ทและฟอร์ด เนื่องจากทั้งสองคนไม่ได้มาตามนัดของศาล  ก่อนศาลสั่งปล่อยตัวชินวัตรชั่วคราว เนื่องจากการเข้าใจวันนัดที่คลาดเคลื่อน  และได้กำหนดวันนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลอีกครั้งเป็นวันนี้ (31 พ.ค. 64)

>>> ออกหมายจับ “ไบร์ท ชินวัตร-ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนทนายศาลขอไต่สวนเพิกถอนหมายจับ เหตุเข้าใจวันนัดคลาดเคลื่อน

 

ไบร์ท-ฟอร์ด รับสารภาพ ก่อนศาลสั่งจำคุกและปรับ แต่รอลงอาญา 1 ปี

เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณา 703 ศาลออกพิจารณาคดี โดยเริ่มชี้แจงพฤติการณ์ที่มีการกล่าวหาต่อชินวัตรและอนุรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองที่มาศาลโดยสรุปว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญาได้ทํารายงานเสนอว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 เวลา 10.30 น. พนักงานอัยการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกรวม 18 คน ฟ้องต่อศาลอาญาในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามอยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือห้องเวรชี้ 2 เพื่อสอบคําให้การ 

ขณะรอผู้พิพากษาอ่านคําฟ้อง ชินวัตรได้นําโทรศัพท์เคลื่อนที่มาถ่ายภาพตนเองและอรรถพล ขณะที่นอนอยู่บนพื้นในห้องพิจารณาคดี 

ต่อมา เมื่อมีการทดสอบระบบการอ่านคําฟ้องผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพระหว่างศาลอาญากับเรือนจําพิเศษธนบุรี เมื่อปรากฏภาพไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่” ในจอภาพ อนุรักษ์ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพนายไชยอมรซึ่งปรากฏบนจอภาพ

จากนั้น ชินวัตร ซึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “ไบรท์ ราษฎร” โพสต์ภาพถ่ายอรรถพลและตน โดยมีข้อความบรรยายภาพว่า “ระหว่างรอพิจารณาคดีผู้พิพากษายังไม่ลง ไบรท์ @ครูใหญ่ จึงลงนอนรอก่อนเลย 5555” และโพสต์ภาพถ่ายของนายไชยอมรดังกล่าวและบรรยายข้อความว่า “และแล้วเราก็ได้พบเพื่อนเรา แอมมี่เดอะบอททอมบลู” ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการละเมิดอํานาจศาล 

ศาลจึงเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมาสอบถามว่าได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวในห้องพิจารณาคดีหรือห้องเวรชี้ 2 แล้วโพสต์ภาพดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่

ก่อนเริ่มสอบถามชินวัตรและอนุรักษ์ ศาลได้พิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของอรรถพล ซึ่งระบุเหตุผลว่า เนื่องจากอยู่ในระหว่างกักตัว เพราะมีประวัติใกล้ชิดกับภัสราวลี หรือมายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่า-19

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีการเลื่อนมาหลายครั้ง และผู้กล่าวหาพร้อมไต่สวนวันนี้ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ล่าช้า จึงเห็นควรให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดี และให้จำหน่ายคดีของอรรถพลออกจากสารบบความ ก่อนเริ่มไต่สวนชินวัตรและอนุรักษ์

ด้านชินวัตรและอนุรักษ์ ยอมรับว่าได้กระทําตามที่ถูกกล่าวหาจริง แต่ทําไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และได้ลบภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กออกแล้ว 

เวลา 12.55 น.  ศาลมีคำสั่งว่า ชินวัตรและอนุรักษ์ถ่ายรูปในบริเวณศาล เป็นความผิดตามข้อกำหนดศาลอาญาฉบับลงวันที่ 13 ส.ค. 63 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ให้จำคุกทั้งสองคนละ 15 วัน ปรับคนละ 500 บาท พิเคราะห์แล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสเพื่อกลับตนเป็นคนดีโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

หลังเสร็จการไต่สวนคดีละเมิดศาลดังกล่าวแล้ว ชินวัตรยังถูกเรียกให้ไปไต่สวนอีก 2 คดี โดยคดีแรกศาลได้เรียกให้ไปที่ห้องพิจารณา 805 เพื่อไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 จากที่เดิมมีนัดในวันที่ 8 มิ.ย. 64 แต่เนื่องจากชินวัตรเดินทางมาศาลในวันนี้แล้ว ศาลก็จะทำการไต่สวนในวันนี้เลย แต่ชินวัตรขอให้ศาลเลื่อนไปทำการไต่สวนตามกำหนดนัดเดิม ก่อนศาลกำหนดไต่สวนในวันที่ 8 มิ.ย. 64 เช่นเดิม 

จากนั้น ตำรวจศาลพยายามจะควบคุมตัวชินวัตรไว้และขอให้ไปที่ห้องพิจารณา 807 โดยเมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ทนายซื้อข้าวให้กิน โดยจะขอให้ชินวัตรนั่งรออยู่ในศาล แต่ทนายโต้แย้งว่าขณะนี้ชินวัตรไม่ได้ถูกควบคุมตัว ก่อนเจ้าหน้าที่จะปล่อยให้ไปทานข้าว ไม่ควบคุมตัวไว้ในห้อง และแจ้งว่าศาลนัดให้มาที่ห้องพิจารณา 807 ในเวลา 13.30 น.

เวลา 13.30 น. ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอถอนประกันชินวัตรในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ยื่นคำร้องไว้ เนื่องจากชินวัตรเข้าร่วมการชุมนุมหน้าศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ซึ่งต่อมาถูกศาลอาญาได้ออกหมายจับในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” อย่างไรก็ตาม ชินวัตรแถลงขอเลื่อนการไต่สวนในวันนี้ เนื่องจากไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน และยังมิได้แต่งทนายเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ศาลจึงให้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 8 มิ.ย. 64 เวลา 13.00 น. 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 64 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกัน สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ณัฐชนน ไพโรจน์ และภัทรพงศ์ น้อยผาง ในคดีดังกล่าว แต่เนื่องจาก สมยศเพิ่งได้รับหมายนัดในวันนั้น ส่วนณัฐชนนป่วย กำลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ชินวัตรและภัทรพงศ์ก็ต้องกักตัวเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด ทั้งสามคนจึงไม่ได้มาศาล โดยศาลให้เลื่อนนัดไต่สวนคําร้องขอถอนประกันดังกล่าวไปเป็นวันที่ 22 มิ.ย. 64 มาแล้ว แต่ในวันนี้ศาลกลับเรียกชินวัตรมาไต่สวน ก่อนเลื่อนการไต่สวนเป็นวันที่ 8 มิ.ย. 64

>>> ตำรวจร้องขอถอนประกัน 4 จำเลย คดี 19 ก.ย. เหตุถูกดำเนินคดีชุมนุมหน้าศาลอาญา ศาลเลื่อนนัดไต่สวนไป 22 มิ.ย.

สำหรับข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33  กำหนดโทษจำคุกไว้ได้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล โดยศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวน และลงโทษผู้กระทำผิดเอง ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้องหรือสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาข้อหานี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเป็นกฎหมายในส่วนแพ่ง แต่มีกำหนดบทลงโทษทางอาญาคือจำคุกเอาไว้ด้วย 

 

อ่านเรื่องข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม
>>> ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

>>> ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

>>>  สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

 

X