วันที่ 28 ก.ย. 61 ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล ของ 3 จำเลยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากกรณีที่มีการถ่ายภาพในห้องพิจารณา และนำไปเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊ก ระหว่างการพิจารณาคดีของผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน หรือ RDN50 โดยศาลเห็นว่าผู้ถ่ายภาพและผู้ถูกถ่ายภาพมีความผิด ให้ลงโทษปรับ 500 บาท ส่วนผู้สื่อข่าวที่นำไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก แต่ได้มีการลบโพสต์ออกในเวลาต่อมา และได้ลงข้อความแก้ไขความคลาดเคลื่อนดังกล่าวแล้ว ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
เหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 61 ระหว่างที่ศาลแขวงดุสิตนัดพิจารณาคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน หรือคดี RDN50 นางปัญญารัตน์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในจำเลยในคดีคนอยากเลือกตั้ง ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพนายอนุรักษ์ เจตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” จำเลยอีกคนหนึ่ง ซึ่งใส่เสื้อยืดมีข้อความ “รังเกียจเผด็จการ” ทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว แล้วส่งเข้าไปในกลุ่มไลน์กลุ่มหนึ่ง
จากนั้น นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ หรือ MBK39 และอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าว ได้นำภาพถ่ายของนายอนุรักษ์ไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาล
ต่อมา นายสงวนได้ลบภาพดังกล่าวหลังจากโพสต์ไปในเวลาไม่นาน แต่กองสารนิเทศ สํานักงานศาลยุติธรรมได้บันทึกภาพพร้อมข้อความดังกล่าวไว้ และส่งต่อมาให้ศาลแขวงดุสิต จากนั้นศาลแขวงดุสิตได้ตั้งเรื่องให้ไต่สวนเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 และ 33 โดยมีผู้ถูกกล่าวหารวมสามคนในคดีนี้ ก่อนจะมีการนัดไต่สวนพยานในคดีนี้รวมห้าปากไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 61 และศาลได้นัดฟังอ่านคำพิพากษาในวันนี้
ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันที่เกิดเหตุ นางปัญญารัตน์ จำเลยที่ 2 ได้ถ่ายภาพนายอนุรักษ์ จำเลยที่ 1 และนายสงวน จำเลยที่ 3 ได้โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊ก ประเด็นที่ว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำความผิดหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่าศาลมีระเบียบห้ามถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 และ 2 ไม่สามารถอ้างว่าไม่ทราบได้ เนื่องจากได้ความจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ศาลว่าหน้าห้องพิจารณามีระเบียบห้ามถ่ายภาพ
สำหรับ นายอนุรักษ์ จำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าการชูสามนิ้วทักทายเฉยๆ นั้น ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนโปรแกรมมือถือมาเป็นโหมดถ่ายภาพต้องใช้เวลาพอสมควร จึงฟังไม่ขึ้นว่าไม่ตั้งใจให้ถ่ายภาพ ศาลจึงเห็นว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองคน ปรับคนละ 500 บาท
ส่วนนายสงวน ที่แสดงความเห็นลงในเฟซบุ๊กและเข้าใจว่าเป็นข่าว เนื่องจากจำเลยประกอบอาชีพเป็นนักข่าว แต่เมื่อได้โพสต์เผยแพร่แล้ว เห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง จึงได้ลบโพสต์ดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลแขวงดุสิตได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่พบแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าได้มีการลบข้อความแล้ว ภายหลังยังได้มีการลงข้อความใหม่ แก้ไขความคลาดเคลื่อนดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่าไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) กำหนดว่าผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ โดยขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ส่วนในมาตรา 33 ได้กำหนดบทลงโทษในความผิดนี้ โดยให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธี คือการไล่ออกจากบริเวณศาล หรือให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท