ออกหมายจับ “ไบร์ท ชินวัตร-ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนทนายศาลขอไต่สวนเพิกถอนหมายจับ เหตุเข้าใจวันนัดคลาดเคลื่อน

วานนี้ (22 เม.ย. 2564) เวลาประมาณ 12.40 น. ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ถูกตำรวจศาลเข้าแสดงหมายจับและทำการจับกุมบริเวณศาลแขวงธนบุรีภายหลังอัยการยื่นฟ้องคดี #ม็อบ6ธันวา บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 และไบร์ทได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไบร์ทถูกจับกุมในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีถูกกล่าวหาว่าถ่ายภาพในห้องพิจารณาระหว่างการฟังคำสั่งฟ้องคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 และไม่มาในนัดไต่สวนวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

ในคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีปรากฏภาพถ่ายในห้องพิจารณาคดีระหว่างรอศาลออกพิจารณาคดีหลังอัยการยื่นฟ้องคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 โดยผู้อำนวยการประจำสำนักงานศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา และมีผู้ถูกกล่าวหารวม 3 คน คือ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์, ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทรกระจ่าง และอนุรักษ์ เจนตวนิช หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ 

โดยคดีดังกล่าวศาลนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ซึ่งทนายได้รับแจ้งก่อนวันนัดว่า ศาลเลื่อนนัดไปเป็นเดือนมิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. 2564 กลับได้รับแจ้งว่ามีการออกหมายจับ ไบร์ทและฟอร์ด เนื่องจากทั้งสองคนไม่ได้มาตามนัดของศาล

เวลาประมาณ 13.00 น. ไบร์ท ชินวัตร ถูกตำรวจศาลประมาณ 5 นายนำตัวขึ้นรถมาที่ศาลอาญา โดยได้พบกับทนายและถูกนำตัวไปทำบันทึกรับมอบตัวก่อนจะถูกควบคุมที่ห้องเวรชี้ ขณะที่เวลาประมาณ 15.00 น. อนุรักษ์ได้เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ว่าตนไม่ได้คิดจะหลบหนีแต่อย่างใด ทนายความได้เขียนคำร้องต่อศาล ระบุว่า 

“คดีนี้ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 19 เม.ย. 2564 เนื่องจากในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ทนายความได้โทรศัพท์มาสอบถามเจ้าหน้าที่ของศาลอาญา โดยได้รับแจ้งว่าศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีหลักฐานเป็นคลิปบันทึกเสียง

ประกอบกับศาลอาญาได้ออกประกาศศาลอาญา เรื่องแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ข้อ 1 กำหนดให้เลื่อนคดีพิเศษ คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษทุกคดีที่นัดระหว่างวันที่ 16 เม.ย.- 30 เม.ย. 2564 โดยให้เลื่อนนัดพิจารณาไปในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 เป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 (อนุรักษ์) ไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากเข้าใจว่า ศาลได้เลื่อนการพิจารณาคดี โดยไม่มีเจตนาจะหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงการไม่มาศาลตามกำหนดแต่อย่างใด

ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจึงขอศาลได้โปรดเมตตาเพิกถอนหมายจับให้แก่ผู้กล่าวหาที่ 3 ด้วย เพื่อมิให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกจับกุมและต้องประกันตัวซึ่งเป็นภาระแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างยิ่ง โดยผู้ถูกกล่าวหาได้มาปรากฏตัวต่อศาลแล้วในวันนี้”

เวลา 16.20 น. ศาลได้เริ่มการพิจารณาในห้อง 703 โดยมีการนำตัวชินวัตรขึ้นมาจากห้องเวรชี้เพื่อไต่สวนพร้อมกับอนุรักษ์ โดยศาลได้สอบถามสาเหตุที่อนุรักษ์และชินวัตรไม่ได้มาตามนัดศาลในวันที่ 19 เม.ย. 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองคนได้แถลงต่อศาลถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวันนัดหมาย 

ศาลกล่าวว่าเข้าใจว่าอาจจะมีการเข้าใจผิดกัน แต่ในวันที่ 19 เม.ย. ไม่สามารถโทรติดตามพวกจำเลยหรือทนายความมาได้ จึงไม่แน่ใจว่าจะมีการหลบหนีหรือไม่ จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานเกี่ยวกับพวกจำเลยในวันดังกล่าว ก่อนให้มีการออกหมายจับ  

อย่างไรก็ตาม จำเลยมาแสดงตัวในวันนี้แล้ว ศาลจึงอนุญาตเพิกถอนหมายจับ ในส่วนของชินวัตรซึ่งถูกจับกุมตัวมาแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 10,000 บาท พร้อมกำชับทนายความให้ติดตามจำเลยมาในวันนัดครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลอีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค. 2564 เวลา 9.00 น.  

คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร  สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง โดยประกาศ “ทวงคืนสนามหลวง” มาเป็น “สนามราษฎร” รวมทั้งมีการฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เป็นสัญลักษณ์ในการทวงคืนจิตวิญญาณประชาธิปไตยกลับสู่สังคมไทย ตลอดจนแกนนำได้ยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถึงประธานองคมนตรี การชุมนุมต้องเผชิญการปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุม ทั้งการปิดกั้นพื้นที่ คุกคามประชาชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม สกัดรถห้องน้ำ-รถเครื่องเสียง ยึดหนังสือ ฯลฯ

ปัจจุบันคดีนี้ มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีและตกเป็นจำเลยทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมี 7 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง โดยผู้ที่ถูกคุมขังมาแล้ว 74 วันได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข,อานนท์ นำภา และ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ส่วน ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา, รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกคุมขังมาแล้ว 47 วัน 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทนายคดีชุมนุม 19 กันยา ยื่นหนังสือร้องเรียนอธิบดีศาลอาญา ขอให้ไต่สวน-ทบทวนมาตรการ ยึดหลักพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เป็นธรรม

บันทึกสังเกตการณ์ 16 ชั่วโมง ก่อน “ราษฎร” 21 คน ประกาศถอนทนายความคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ศาลให้ประกันเฉพาะ “หมอลำแบงค์” ด้าน “สมยศ-ไผ่” ถูกยกคำร้อง แม้แถลงรับเงื่อนไขเช่นเดียวกัน ระบุเหตุคำแถลงไม่น่าเชื่อถือ

“ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”: จำเลยคดีชุมนุม 19 ก.ย. แถลงขอถอนทนาย เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

X